7 แนวทางปฏิบัติเบื้องต้น สำหรับ “คนตกงาน”
ในยุคข้าวยากหมากแพง เศรษฐกิจเมืองไทยไม่กระเตื้อง เนื่องจากด้วยปัจจัยภายนอกต่าง ๆ ทำให้ระยะหลังมีข่าวการปลดพนักงานของบริษัทและองค์กรต่าง ๆ ให้ได้ยินกันอยู่บ่อย ๆ
ยิ่งหลังจากการระบาดของ COVID-19 มีบริษัทต่าง ๆ ที่ยื่นล้มละลายเพื่อขอฟื้นฟูกิจการ นั่นแปลว่า ลูกจ้างของบริษัทเหล่านี้กลายเป็นคนตกงานทันที ทำให้ประมาณการตัวเลขของคนว่างงานในประเทศไทยขณะนี้อยู่ที่ 8.3 ล้านราย และในอนาคต หากสถานการณ์ไม่ดีขึ้น ตัวเลขคนว่างงานอาจมีมากกว่านี้
แม้ต้องเผชิญกับช่วงเวลาที่ยากลำบาก แต่ Tonkit360 มี 7 แนวทางปฏิบัติสำหรับคนตกงาน เพื่อจะได้มีกำลังใจลุกขึ้นสู้ต่อไป
1. หยุดใช้เงินฟุ่มเฟือย ตัดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น
การใช้จ่ายแบบไม่ยั้งคิด ใช้จ่ายเกินตัว ในช่วงที่กำลังตกงานอยู่นั้นเป็นสิ่งที่ต้องระมัดระวังเป็นอย่างยิ่ง เพราะขณะนี้คือช่วงที่เราต้องประหยัดเงินไว้เพื่อสิ่งที่สำคัญกว่า คือไว้ใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน และค่ารถค่าเดินทางไปสัมภาษณ์งาน ฉะนั้นควรหักห้ามใจตัดรายจ่ายที่ไม่สมควรหรือไม่จำเป็นออกไปก่อน
2. ส่งเรซูเม่ไปเรื่อย ๆ แค่ได้สัมภาษณ์ก็คือประสบการณ์แล้ว
อย่าย่อท้อต่ออุปสรรค เดินหน้าโปรยเรซูเม่ในอินเทอร์เน็ตไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะมีสำนักงานหรือบริษัทใดบริษัทหนึ่งเรียกสัมภาษณ์ หรืออาจจะสมัครงานตามป้ายประกาศที่เห็นจากบริษัทต่าง ๆ โดยอาจเริ่มหาจากบริษัทที่อยู่ใกล้ที่พักก่อน แต่ถ้ามีที่ไหนในใจอยู่แล้วลองเข้าไปเขียนใบสมัครทิ้งไว้ ก็เป็นการเพิ่มโอกาสให้ตนเองเช่นกัน
3. เพิ่มสกิลภาษาอังกฤษ ด้วยการเรียนเพิ่มเติม
การใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ถือเป็นสิ่งควรปฏิบัติ นอกจากนี้ในปัจจุบันมีคอร์สเรียนออนไลน์จำนวนมากที่ไม่เสียค่าใช้จ่าย แค่ลงทะเบียน จะเรียนที่ไหนก็ได้ หากมีเวลาว่างยาว ๆ ควรหาทักษะเพิ่มเติมให้กับตนเอง เพื่อไม่ให้เวลาที่ผ่านไปเสียเปล่า ซึ่งภาษาอังกฤษถือเป็นภาษาสากลที่ควรเรียนรู้ เพราะทุกวันนี้ทุกบริษัทต่างให้ความสำคัญกับเรื่องนี้อย่างมาก ยิ่งถ้าสามารถสื่อสารภาษาที่สองได้คล่องแคล่ว ก็ยิ่งเพิ่มโอกาสได้งานมากขึ้น
4. ทำสิ่งที่ชอบ และเริ่มธุรกิจเป็นของตัวเอง
มองหาสิ่งที่ตัวเองชื่นชอบแล้วลงมือทำอย่างมีความสุข เพราะการได้ทำในสิ่งที่ตัวเองรักมักจะทำได้ดีเสมอ ดังนั้น หากค้นพบว่าตัวเองชอบอะไรและพอจะมีลู่ทางเริ่มต้นที่ดี ก็อาจต่อยอดด้วยการวางแผนทำธุรกิจเป็นนายของตัวเองไปเสียเลย และที่สำคัญ ใครที่เริ่มลงมือก่อนก็มีโอกาสประสบความสำเร็จก่อนคนอื่น ทั้งนี้ต้องศึกษาความต้องการของตลาดก่อนด้วย
5. อย่าจมปลักกับงานในตำแหน่งเดิม
ลองหางานในตำแหน่งใหม่ที่น่าจะเหมาะกับตัวเอง อย่ายึดติดหรือจมปลักอยู่กับตำแหน่งเดิม ๆ ที่เคยทำมาแล้ว เพราะบางคนทำงานไม่ตรงกับสายที่เรียนมา แต่กลับทำผลงานได้ดี และประสบความสำเร็จ ก็มีให้เห็นอยู่ถมไป หรือในช่วงนี้ที่งานหายาก คนตกงานมีมากขึ้น หากพอจะมีตำแหน่งงานไหนที่ทำได้ ก็ควรจะทำไปก่อน หากสถานการณ์ดีขึ้น ค่อยหาทางขยับขยายต่อไป
6. ทำงานพาร์ทไทม์ เป็นอาสาสมัคร
การทำงานพาร์ทไทม์ ฝึกงาน หรือไปเป็นอาสาสมัคร ถือเป็นการฆ่าเวลาที่เกิดประโยชน์มาก ๆ เช่นกัน แม้ว่าอาจไม่ได้เงินเดือนเป็นกอบเป็นกำเหมือนตอนทำงานประจำ แต่อย่างน้อยงานพาร์ทไทม์ก็ได้ค่าตอบแทนที่พอจุนเจือปากท้องได้บ้าง ดีกว่าตกงานอยู่เปล่า ๆ
7. ไปงานสัมมนา พบปะผู้คนใหม่ ๆ
ออกไปพบปะผู้คนใหม่ ๆ หาช่องทางการติดต่อจากคนอื่นด้วยการไปสัมมนา โดยลองไปหาไอเดียใหม่ ๆ จากงานสัมมนาที่จัดขึ้นแบบไม่เสียค่าใช้จ่าย เพื่อเป็นการหาความรู้เพิ่มไปในตัว ด้วยการเลือกหัวข้อสัมมนาที่เราสนใจ เลือกหัวข้อที่จะเป็นประโยชน์ต่อตนเองและทิศทางตำแหน่งของงานที่วางไว้ในอนาคต