คุณลดน้ำหนักถูกไหม?
คอลัมน์ ทอล์ค ออฟ เดอะ ทาวน์ โดย สง่า ดามาพงษ์ มติชน 29 มีนาคม 2558
"อ้วน" หรือ "ภาวะโภชนาการเกิน" กลายเป็นปัญหาระดับโลกไปแล้ว เพราะเป็นต้นเหตุสำคัญที่ทำให้มนุษย์ทั่วโลกเจ็บป่วยและเสียชีวิตมากที่สุด และมีแนวโน้มพุ่งสูงขึ้นอย่างน่าตกใจ เรียกว่า "เอาไม่อยู่"
องค์การอนามัยโลกฟันธงมานานว่า สาเหตุแห่งอ้วน ร้อยละ 70-80 เกิดจากพฤติกรรมสุขภาพที่ไม่พึงประสงค์ ส่วนที่เหลือน้อยนิดเกิดจากกรรมพันธุ์และความผิดปกติของร่างกาย มนุษย์ส่วนมากไม่ได้แก้ปัญหาอ้วนที่ต้นเหตุ คือปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกิน อยู่แบบเคลื่อนไหวร่างกายให้ถูกต้อง แต่กลับไปแก้ปัญหาที่ปลายเหตุแบบผิดๆ จึงไม่มีวันเอาชนะโรคอ้วนได้
การมีดารา นางแบบ นายแบบ หรือบุคคลสาธารณะ พาเรดกันอวดอ้างวิธีการลดน้ำหนักว่าได้ผลนั้น หากวิเคราะห์เจาะลึกให้ละเอียดแล้ว ส่วนมากมักจะขาดหลักการลดน้ำหนักที่ถูกต้อง ที่วงการแพทย์และนักโภชนาการยอมรับไม่ได้ โดยเฉพาะลดน้ำหนักโดยการอดอาหารบางมื้อ หรือกินอาหารจำกัด
แคลอรีต่ำจนเกินที่คนทั่วไปจะมีชีวิตอยู่รอดได้ และที่ฮิตตลอดกาลคือ กินยาหรืออาหารเสริมลดน้ำหนักจนเกิดผลข้างเคียง
ลดน้ำหนักโดยการอดอาหารหรือจำกัดแคลอรีมากเกินเหตุ เป็นการลดที่ผิดธรรมชาติ ไม่สามารถจะลดน้ำหนักอย่างยั่งยืน น้ำหนักคุณลดลงได้จริงในช่วงที่อดอาหาร ลดได้เยอะด้วย แต่คุณไม่สามารถจะมีชีวิตอยู่ได้ในระยะยาว เพราะการกินอาหารให้ได้พลังงานเพียงวันละ 400-500 กิโลแคลอรี
ปกติคนทั่วไปกินอาหาร 1,600-2,000 กิโลแคลอรี แต่ถ้าจะลดน้ำหนัก ควรจำกัดให้เหลือ 1,200-1,600 กิโลแคลอรีต่อวัน น้ำหนักคุณจะลดได้แบบไม่โหย การลดน้ำหนักได้เพราะจำกัดพลังงานที่ได้จากอาหารเพียง 400 แคลอรีต่อวัน สักพักหนึ่งคุณจะต้องกลับมากินอาหารให้มากขึ้นกว่าเดิม เพราะร่างกายไม่สามารถทนต่อการขาดพลังงานในระยะยาวได้ คราวนี้น้ำหนักคุณก็จะดีดขึ้นมามากกว่าเดิม อาการนี้เรียกว่า "โยโย้เอฟเฟ็กต์" เพราะร่างกายจะสะสมมวลไขมันมากกว่าเดิม และถ้าจะลดอีกรอบจะยากขึ้น
คนที่อดอาหารมื้อเช้าเป็นประจำในระยะยาว จะมีความเสี่ยงต่อภาวะอ้วนมากกว่าคนที่กินอาหารเช้าด้วยเหตุผล 3 ประการ 1.ไม่กินอาหารเช้า สายๆ พลังงานที่สะสมไว้ตั้งแต่มื้อเย็นจะหมด แสดงอาการออกมาด้วยการโหยหิว เลยไปกินเบรกอาหารว่าง กาแฟ ขนมหวานที่มีแต่แป้ง น้ำตาล ไขมัน จึงอ้วน 2.ไม่กินมื้อเช้า จะกินจุบจิบและกินชดเชยมื้อเที่ยงและมื้อเย็น กินเสร็จนอน ไม่ได้เผาผลาญก็อ้วนตามระเบียบ และ 3.ไม่กินมื้อเช้า การเผาผลาญจะลดลงร้อยละ 30 เลยเก็บไว้ในรูปไขมัน
การกินยาและอาหารเสริมลดน้ำหนัก วงการแพทย์ไม่แนะนำ แต่มียาบางตัวที่แพทย์ใช้ในการลดน้ำหนักในผู้ป่วยที่อยู่ภายใต้การควบคุมของแพทย์ แต่พฤติกรรมการซื้อยาลดน้ำหนักมากินเองของคนไทย คือปัญหาใหญ่มากในขณะนี้ ส่วนมากเป็นยาอาหารเสริมที่ผิดกฎหมาย อย. ฤทธิ์หรือกลไกการทำงานของยา คือจะไปทำให้ประสาทส่วนกลางไม่รู้สึกหิว พอไม่กินหรือกินน้อย น้ำหนักจึงลดได้ แต่พอกินติดต่อกันนานๆ เข้า นอกจากสิ้นเปลืองเงิน เริ่มเกิดอาการข้างเคียงต้องหยุดกิน คราวนี้จึงกลับมาอ้วนใหม่
หลักการลดน้ำหนักที่ถูกต้อง 1.เป้าหมายการลดน้ำหนักต้องมุ่งลดเพื่อสุขภาพในระยะยาว 2.ต้องลดให้ได้แบบยั่งยืนไม่กลับมาอ้วนใหม่ 3.วิธีการลดน้ำหนักต้องอยู่ในวิถีชีวิต ค่อยเป็นค่อยไป ไม่หักดิบ และ 4.ต้องมีความมุ่งมั่นอดทน
กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) รณรงค์การลดอ้วนลดพุงด้วย 3 อ. มาตั้งแต่ปี 2549 แต่ก็ยังไม่บรรลุเป้าหมาย เพราะขาดยุทธศาสตร์ที่ต่อเนื่อง 1.อ.อารมณ์ คือ
ต้องทำโดยการหาแรงจูงใจให้ตัวเองว่าลดน้ำหนักเพื่ออะไร 2.อ.อาหาร ต้องลดการกินแป้ง อาหารหวาน อาหารไขมันสูง หันไปกินผักผลไม้ที่หวานน้อยให้มากขึ้น และลดปริมาณอาหารให้น้อยลง และ 3.อ.ออกกำลังกาย ต้องออกกำลังแบบแอโรบิกที่ให้ร่างกายได้ออกซิเจนเข้าไปเผาผลาญไขมันในร่างกาย ออกให้ได้สัปดาห์สัปดาห์ละ 4-5 วัน วันละ 1 ชั่วโมง
โปรดจำไว้ เป้าหมายสำคัญของการลดน้ำหนักคือ มีสุขภาพดี พอลดได้ถูกวิธี ความสวย ความหล่อ ก็จะตามมาเอง