ถุงยางอนามัย จากความหรูสู่ความ MASS

ถุงยางอนามัย จากความหรูสู่ความ MASS

ถุงยางอนามัย จากความหรูสู่ความ MASS
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ประโยชน์และความดีงามของถุงยางอนามัยเป็นที่รับรู้กันมาตั้งแต่สมัยโบราณกาลแล้ว  แต่ในปี 1564  กาเบรียล ฟัลโลปิโอ (Gabriele Fallopio) นักกายวิภาคศาสตร์ชาวอิตาเลียนเป็นคนแรกที่แนะนำด้วยหลักวิชาการให้ใช้ถุงยางอนามัยระหว่างการมีเพศสัมพันธ์

ถุงยางอนามัยยุคแรกๆ ทำจากผ้าลินิน และใช้เพื่อป้องกันการติดโรคซิฟิลิส ต่อมามีการคิดค้นวัสดุใหม่อย่างปลอกเนื้อ เยื่อกระดูก หรือลำไส้ของสัตว์มาทำ ยัดไส้ในด้วยกำมะหยี่หรือไหม ยุคนั้นถุงยางอนามัยไม่เป็นที่แพร่หลายมากนัก เหตุเพราะราคาแพง นิยมใช้กันเฉพาะในสังคมชนชั้นสูง นักวิจัยเคยค้นพบซากถุงยางอนามัยที่เก่าแก่ที่สุดภายในห้องสุขาของปราสาทโอฬารในเบอร์มิงแฮม ประเทศอังกฤษ และบันทึกไว้ว่าเป็นซากจากปี 1646

จนเวลาผ่านมาเกือบสองศตวรรษ ในปี 1839 ชาร์ลส์ เนลสัน กูดเยียร์ (Charles Nelson Goodyear) ชาวอเมริกัน ผู้ผลิตยางรถยนต์ที่มีชื่อเสียง ได้แปรรูปน้ำยางจากยางพาราเพื่อพัฒนาเป็นถุงยางอนามัยจนสำเร็จ ผลิตเป็นสินค้าแมสส์ออกจำหน่ายในราคาที่ทุกคนจับต้องได้

ต้นกำเนิดถุงยางอนามัย

การผลิตถุงยางอนามัยเกิดขึ้นบนพอร์ซเลนในกระบวนการแช่หรือในแม่พิมพ์แก้ว ด้วยการเติมกำมะถันและสารเติมแต่งอื่นๆ โมเลกุลของยางจะเชื่อมข้ามกันภายใต้ความร้อนเพื่อทำให้ยางยืดหยุ่น และชาร์ลส์ กูดเยียร์สามารถทำให้น้ำยางคั้นจากยางพารามีความยืดหยุ่นอย่างถาวรเป็นครั้งแรก

ความหนาของถุงยางอนามัยในขณะนั้นยังอยู่ที่ 1 ถึง 2 มิลลิเมตร เทียบกันแทบไม่ติดฝุ่นกับยุคนี้ที่ความหนา 0.06 มิลลิเมตรคือมาตรฐาน และบางยี่ห้อยังผลิตออกมาเหลือความบางที่ 0.01 มิลลิเมตรก็มี

จูเลียส ฟรอมม์ (Julius Fromm) นักเคมีชาวโปล-เยอรมัน คิดค้นและผลิตถุงยางอนามัยให้สมบูรณ์แบบมากขึ้นในปี 1901 โดยการจุ่มขวดแก้วลงในสารละลายลาเท็กซ์ (Vulcanization) กระบวนการนี้ทำให้สามารถผลิตถุงยางอนามัยแบบบางลงได้ และในปี 1919 เขาก็ได้เปิดตัวถุงยางอนามัยที่ผลิตด้วยเครื่องจักรเป็นครั้งแรก และเป็นสินค้าที่เราคุ้นเคยกันในปัจจุบัน

ไม่กี่ปีถัดมา ‘Fromms Act’ ถุงยางอนามัยของฟรอมม์ก็กลายเป็นแบรนด์แรกที่ผลิตในปริมาณมากออกวางตลาด (กำลังผลิตถึง 150,000 ชิ้นต่อวัน) ต่อมาปี 1960 ถุงยางอนามัยบรรจุสารหล่อลื่นเริ่มได้รับความนิยม และมีการพัฒนาให้การใช้สอยสะดวกมากยิ่งขึ้น

ปี 1981 ถุงยางอนามัยใส่กลิ่น อย่างสตรอว์เบอร์รี เพิ่มเข้ามาสร้างปรากฏการณ์

มาตรฐานความปลอดภัยของถุงยางอนามัย

วิวัฒนาการของถุงยางเกิดขึ้นตามกาลเวลาที่หมุนผ่าน นับแต่ปี 1995 กลุ่มประเทศในยุโรปได้กำหนดมาตรฐานสำหรับถุงยางอนามัยไว้ว่า ถุงยางอนามัยมาตรฐานจะต้องมีความยาว 170-180 มิลลิเมตร และมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 52 มิลลิเมตร นอกจากนี้ยังต้องสามารถบรรจุอากาศได้ 18 ลิตรโดยไม่ระเบิดในระหว่างการทดสอบ อย่างไรก็ตามยังมีถุงยางอนามัยขนาดใหญ่พิเศษด้วย

ถุงยางอนามัยแบบลาเท็กซ์ได้ปฏิวัติตลาดครั้งใหญ่ ที่ทั้งไร้ตะเข็บ บางมาก และทนต่อการฉีกขาด ทุกวันนี้ถุงยางอนามัยลาเท็กซ์มีให้เลือกหลากหลายรูปทรงและขนาด เพื่อให้ผู้คนจำนวนมากใช้ถุงยางอนามัยที่ทำจากยางธรรมชาติ และความจริงที่ว่าถุงยางอนามัยที่มีคุณภาพสามารถป้องกันเชื้อเอชไอวีได้ดีนั้น ได้รับการยืนยันมานานแล้วจากกรณีศึกษาที่กว้างขวางทั่วโลก นอกจากนั้นมันยังช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ได้ หากใช้ถุงยางอนามัยอย่างสม่ำเสมอและถูกต้อง รวมถึงการป้องกันการตั้งครรภ์ที่ไม่พึงปรารถนา

ในประเทศไทยมีการใช้ถุงยางเริ่มแรกเพื่อวัตถุประสงค์การวางแผนครอบครัว ต่อมาการแพร่ระบาดของโรคเอดส์รุนแรงขึ้น กระทรวงสาธารณสุขจึงนำมาใช้ในโครงการถุงยางอนามัย 100% ในหมู่ผู้ขายบริการทางเพศ และถือเป็นนโยบายระดับชาติ

ถุงยางอนามัยแบ่งชนิดตามลักษณะผิวเป็นสองชนิด คือผิวเรียบ และผิวไม่เรียบ ปัจจุบันทำจากน้ำยางธรรมชาติ และน้ำยางสังเคราะห์ มีให้เลือกหลายสี และหลายแบบ ทั้งแบบปลายเรียบมน ปลายเป็นกระเปาะหรือเป็นติ่งยื่นออกมา แบบชโลมด้วยสารหล่อลื่น และแบบที่เคลือบน้ำยาฆ่าตัวอสุจิ

ถุงยางอนามัยในเมืองไทยที่จำหน่ายในตลาดขณะนี้มีขนาดให้เลือก ได้แก่ 49, 51, 52, 53 และ 56 มิลลิเมตร

เกร็ดย่อยเกี่ยวกับถุงยางอนามัย

•ภายหลังการค้นพบทวีปอเมริกาของโคลัมบัสในปี 1492 ลูกเรือชาวสเปนก็นำโรคซิฟิลิสกลับสู่ภูมิลำเนายุโรปด้วย ที่ต่อมาเรียกโรคร้ายนี้ว่า “ของขวัญจากโลกใหม่” หรือ “ความแค้นของอินเดียนแดง”

•ปี 1495 ทหารสเปนเข้าร่วมรบกับกองทัพฝรั่งเศสสามารถเอาชนะอาณาจักรเนเปิลส์ได้นั้น มีส่วนสำคัญในการแพร่เชื้อซิฟิลิส ผลที่ตามมาทำให้ซิฟิลิสมีชื่อเรียกใหม่ว่า “โรคฝรั่งเศส” และผู้ที่ถูกประณามในการแพร่ระบาดของซิฟิลิสไปทั่วยุโรปครั้งนั้นคือ กษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 8 (1470-1498)

•ปี 1706 มีการกล่าวถึงถุงยางอนามัยเป็นครั้งแรกในวรรณกรรมอังกฤษ นั่นคือคำว่า ‘Condum’ ในบทกวี ‘A Scots Answer to a British Vision’ ของจอห์น แฮมิลตัน

•แดเนียล เทอร์เนอร์ แพทย์ชาวอังกฤษ ใช้คำว่า ‘Condom’ ครั้งแรกในตำราวิชาการเกี่ยวกับโรคซิฟิลิส เมื่อปี 1717

•จิโอวานนี เจียโคโม คาซาโนวา (1725-1798) นักรักชื่อก้องโลก เคยใช้ถุงยางอนามัยทำจากไส้ของสัตว์เพื่อป้องกันการติดโรคซิฟิลิส 

•ราวปี 1750 มิสซิส ฟิลิปส์เปิดร้านขายถุงยางอนามัยแห่งแรกของโลกในกรุงลอนดอน สำหรับลูกค้าจากทั่วยุโรป ต่อมาได้แบ่งกิจการรวบยอดให้กับมิสซิส เพอร์กินส์

•ไฮน์ริช ไฮน์ (1797-1856) กวีชาวเยอรมัน ใช้ถุงยางอนามัยทำจากไหมที่สั่งทำกับช่างตัดเย็บ แต่ดูเหมือนจะไม่ปลอดภัยเพียงพอ ไฮน์เสียชีวิตด้วยโรคซิฟิลิส

•Meyers Lexikon ซึ่งเป็นหนังสือเอ็นไซโคลพีเดียภาษาเยอรมันของโยเซฟ ไมเยอร์ (1796-1856) จำต้องเพิ่มศัพท์ ‘Kondom’ (ถุงยางอนามัย) ลงไปในเล่มปี 1851 อธิบายถึงสิ่งที่ห่อหุ้มอวัยวะเพศชายด้วยถุงที่ทำจากไส้ของสัตว์ แม้ว่าในช่วงเวลานั้นถุงยางอนามัยจะยังไม่เป็นที่รู้จักแพร่หลายมากนักก็ตาม

•ระหว่างสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง (1914-1918) กองทัพเยอรมัน ฝรั่งเศส และอังกฤษจัดส่งถุงยางอนามัยให้กับทหารของตนอย่างเหลือเฟือ ในขณะที่ทหารอเมริกันไม่มีใช้ ผลลัพธ์คือมีทหารล้มตายด้วยโรคทางเพศจำนวนมาก

•ปี 1922 ศาลในเยอรมนีมีคำตัดสิน ห้ามโฆษณาขายถุงยางอนามัยอย่างเด็ดขาด แต่ในฝรั่งเศสออกกฎหมายห้ามเรื่องนี้มาตั้งแต่ปี 1920

•ปี 1992 ‘Femidom’ ถุงยางอนามัยสำหรับผู้หญิงเปิดตัวครั้งแรก

•วันที่ 16 พฤษภาคม 2001 ในรัฐบาวาเรียของเยอรมนี บังคับใช้กฎหมาย ‘ถุงยางอนามัย’ สำหรับโสเภณีหญิงและชาย รวมถึงลูกค้า (มาตรา 6 เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรค

•ในยุคที่โรคเอดส์เขย่าขวัญชาวโลก ความตื่นกลัวทำให้ยอดจำหน่ายถุงยางอนามัยพุ่งสูงขึ้น โดยเฉพาะในเยอรมนี ระหว่างปี 1986-1987 ยอดขายเพิ่มขึ้นจากเดิม 59 ล้านเป็น 155 ล้านชิ้น จนถึงปี 1993 ยอดขายถุงยางอนามัยในเยอรมนีเพิ่มขึ้นเป็น 173 ล้านชิ้น และปี 2009 ขึ้นถึง 215 ล้านชิ้น

•ผลสำรวจตลาดถุงยางอนามัยในเมืองไทยจากปี 2561 มูลค่าทางการตลาดสูงถึง 1,400 ล้านบาท และเป็นมูลค่าจากการจำหน่ายผ่านช่องทางร้านค้าปลีกแบบดั้งเดิมและสมัยใหม่ ยอดขายรวมทั้งสิ้นราว 70 ล้านชิ้น

•แบรนด์ที่ครองตลาดเมืองไทย ได้แก่ ดูเร็กซ์ (Durex) สัดส่วน (49.4%) วันทัช (Onetouch) 27.1% โอกาโมโต (Okamoto) 11% เพลย์บอย (Playboy) 6.5% และอื่นๆ อีก 5.1%

เรื่อง : บุญโชค พานิชศิลป์

อ้างอิง:

https://www.geo.de/

https://kondom-guru.net/

https://www.vinico.com/

https://www.konline.de/

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook