คุยกับ หมู-พลพัฒน์ อัศวะประภา กับชีวิต 12 ปี ในวงการแฟชั่นไทย
หมู อาซาว่า หรือ หมู-พลพัฒน์ อัศวะประภา เจ้าของอาณาจักร ASAVA Group ซึ่งมีธุรกิจในเครือตั้งแต่แบรนด์เสื้อผ้า ASAVA, ASV, White ASAVA, Uniform by ASAVA, MOO นอกจากนี้ยังธุรกิจร้านอาหารอีก 2 ร้าน คือ Sava All Day Dining และ Co Limited ชีวิตการทำงานดูเหมือนจะสวยงาม โรยด้วยกลีบกุหลาบ แท้จริงแล้ว มันแลกมาด้วยความตั้งใจ ความการทุ่มเท และความรักที่จะทำมาโดยตลอด
หมู พลพัฒน์ จบการศึกษาปริญญาตรี จากคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก่อนที่จะบินไปศึกษาต่อระดับปริญญาโท คณะบริหารธุรกิจ ที่ Claremont Graduate School of Management ประเทศสหรัฐอเมริกา นอกจากนี้ยังมีโอกาสได้เรียนสาขาแฟชั่นดีไซน์ ที่ Persons School Design อีกด้วย
ชีวิตที่สหรัฐอเมริกาทำให้เขามีโอกาสได้ฝึกงานกับดีไซน์ Marc Jacobs และได้ทำงานกับแบรนด์ดัง Max Mara ก่อนที่ 11 ปีให้หลัง เขาจะกลับมาเป็นดีไซเนอร์และก่อตั้ง ASAVAGroup ในปี 2008
ทำไม่ ASAVA Group ถึงต้องมีแบรนด์ลูกหลายแบรนด์
จริงๆ ถ้าถามในเหตุผลที่เป็นตรรกมันคงไม่มีตรรกมารองรับ 100 เปอร์เซ็นต์ ต้องบอกว่าทุกอย่างที่เกิดขึ้นภายใน ASAVA Group มันเกิดมาเพราะเชื่อว่า มันเป็นสิ่งที่พี่รัก และก็อยากจะทำ และก็เชื่อว่า ต้องบอกว่าการมาเริ่มต้นทำเสื้อผ้า และก่อตั้งแบรนด์ ASAVA Group มันมาจากความชอบและสิ่งที่ตัวเองเป็นทั้งหมด ทุกวันนี้กิจกรรมที่มันเกิดขึ้นรอบตัวๆ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างแบรนด์หรืออะไรที่มันที่มันเกี่ยวพันกับแบรนด์ทั้งหมด ต้องยอมรับว่ามันเกิดมาจากความชอบ ความหลงใหลส่วนตัวจริงๆ มันคงไม่มีเหตุผลใดว่าทำอันนี้แล้วบริษัทจะเติบโตขึ้น ทุกอย่างที่มันเกิดขึ้นภายใต้ ASAVA Group มันมีความ ออร์แกนิค และมันไปอย่างที่มันควรจะเป็น พี่ไม่เคยมองธุรกิจในเชิงของงบกำไรขาดทุน คือความจริงก็มอง แต่อันนั้นไม่ใช่เหตุผลหลักในการดำเนินธุรกิจ แต่ว่าสุดท้ายแล้วสิ่งต่างๆ เหล่านั้นนั้นมันก็คงมีความจำเป็นที่เราต้องให้ความสนใจ แต่ต้องบอกว่าทั้งหมดมาจากสิ่งที่เรามองเห็นคุณค่าและอยากจะทำมากกว่า
หาแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์คอลเลคชั่นใหม่ๆ มาจากไหน ?
ส่วนใหญ่เรื่องที่มันเกิดขึ้นใน ASAVA Group มันเป็นสิ่งที่เราชอบ ไม่ว่าจะเป็นงานศิลปะ ไม่ว่าจะเป็นดนตรี ไม่ว่าจะเป็นอาหาร ไม่ว่าจะเป็นงานสถาปัตยกรรม ไม่ว่าจะเป็นงานเขียน ทุกสิ่ง ทุกอย่าง มันเป็นที่เราเสพ เป็นทุกสิ่งทุกอย่างที่เราบริโภค สะสมมาเป็นระยะเวลานาน เพราะฉะนั้นเราก็หยิบจับสิ่งที่เราเคยเสพหรือว่าวิ่งที่เราเคยบริโภค หรือสิ่งที่มันกำลังเกิดขึ้นรอบๆ ตัว นำมาเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างงานในแบบต่างๆ
ปัจจุบัน ASAVA Group มีแบรนด์อยู่ภายใต้สิ่งที่พี่ต้องทำงาน 7 แบรนด์ เพราะฉะนั้นเราอาจจะนั่งรอแรงบันดาลใจไม่ได้ หน้าที่ของพี่คือ การออกกำลังกายความคิดและจินตนาการอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้มีแง่มุมทางความคิดที่มาถ่ายทอดและตีเป็นชิ้นงานต่างๆ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าทุกอย่างที่มันเกิดขึ้นรอบตัวมันเป็นสิ่งที่เราชอบ รสนิยมส่วนตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิ่งที่มันมีคาแรคเตอร์แรงๆ ต่างๆ ที่เราเคยดู เคยเก็บ เคยเสพ หรือเก็บไว้ในคลังสมอง สิ่งต่างๆ เหล่านี้เราก็เอามาตีเป็นงานในคอลเลคชั่นต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น Moo, ASAVA, ASV
หลักในการทำงานที่ยึดมั่นมาตลอดคืออะไร
พี่เชื่อว่าคำว่า Authentic หรือ ความมีเนื้อแท้ ความมีตัวตนที่ชัดเจน แง่มุมที่เราอยากจะนำเสนออย่างชัดเจน แต่ก็ต้องบอกด้วยว่า เมื่อเราโตขึ้นแง่มุมที่เราอยากจะนำเสนอมันต้องมีคุณค่ากับกลุ่มคนที่เรานำเสนอด้วย ความเที่ยงตรงกับสิ่งที่ตัวเองเป็นมันเป็นสิ่งที่สำคัญ ในยุคที่มันมีแบรนด์เกิดขึ้นทุกวัน สิ่งเร้าหรือสิ่งต่างๆ ที่มันเกิดขึ้นรอบตัวมากมายมหาศาล
ผู้บริโภคสามารถมองเห็นจับต้อง หรือว่าบริโภคสิ่งใดสิ่งหนึ่งก็ได้ สิ่งหนึ่งที่มันจะดำรงอยู่ได้ ต้องเป็นสิ่งที่มันมีความเที่ยง มันต้องมีความแท้ มันต้องมีความสม่ำเสมออยู่ในชิ้นงานที่เราทำ เพราะฉะนั้นอันนี้เป็นสิ่งที่สำคัญคือ ความเที่ยงตรง ซื่อสัตย์ต่อตัวตนของเรา บวกกับความสม่ำเสมอ ความยืนยันในสิ่งที่เราเป็น โดยที่ไม่ได้เปลี่ยนไปตามกระแสหรือบริบทที่มันเปลี่ยนแปลงไป อันนี้สุดท้ายแล้วมันจะเป็นสิ่งที่ยืนยันความชัดเจนของตัวตนเรา
ในการทำงานเคยมีจุดอิ่มตัวบ้างไหม จัดการกับความรู้สึกนั้นอย่างไร
สิ่งหนึ่งที่คำว่า Passion มันมีประโยชน์ต่อชีวิต คือ เมื่อเราล้ม หรือว่าเมื่อเราเหนื่อย สิ่งที่มันจะช่วยฉุดเราให้ขึ้นมากลับมามีแรงหรือปัดแผลของเราและลุกขึ้นมาทำงานต่อไปได้ อันนั้นก็น่าจะเป็นสิ่งเดียวที่ Passion น่าจะมีประโยชน์ต่อชีวิต ไม่ได้หมายความว่าการมี Passion แล้วเราจะเป็นทุกข์กับงานที่เราทำหรือเกิดความเบื่อหน่าย แต่ว่า Passion มันจะช่วยเราในกรณีเมื่อเรา ล้ม หรือเราเบื่อหน่ายมันจะทำให้เราลุกขึ้นมาได้เร็วหรือหายเจ็บเร็ว
เพราะฉะนั้นพี่เป็นคนโชคดีที่มีโอกาสได้ทำในสิ่งที่ตัวเองรัก เมื่อตัวเองเหนื่อยหรือรู้สึกว่าถึงจุดอิ่มตัว ความรักความหลงใหลที่มีต่องาน อีกอย่างเราเชื่อว่าเราไปทำอย่างอื่นก็ไม่เป็น สิ่งนี้คือสิ่งที่เราชอบทำที่สุด เพราะฉะนั้นเราควรจะอยู่กับมันให้ได้อย่างมีความสุขและหาสมดุลให้ได้อย่างมีความสุข อันนี้เป็นเรื่องสำคัญ เพราะว่า ถ้าทำในสิ่งที่ตัวเองรักแล้วยังถึงจุดอิ่มตัว ถึงจุดเบื่อหน่าย ลองคิดว่าว่าถ้าเราไปทำอย่างอื่นในสิ่งที่เราไม่ชอบล่ะ เราจะถึงจุดอิ่มตัวและเบื่อหน่ายมากแค่ไหน ถือว่าเราเป็นคนที่โชคดีที่มีโอกาสแบบนี้
อะไรคือความท้าทายขั้นต่อไป ในเมื่อ ชื่อเสียง เงินทอง การยอมรับ คุณมีหมดแล้ว
ความท้าทาย คือ การนำสิ่งที่เรามองเห็นคุณค่ามาถ่ายทอดผ่านชิ้นงานของเราแล้วก็ให้คนอื่นมองเห็นคุณค่า จริงๆ งานทุกชิ้นที่ทำ ถึงแม้ว่ามันจะดูมีคุณค่าในเชิงพาณิชย์ แต่ว่าจริงๆ แล้วทุกอย่างที่อยู่ภายใต้ ASAVA Group รวมทั้งแบรนด์ MOO ด้วย เป็นการถ่ายทอดมุมมองในการใช้ชีวิตอย่างหนึ่ง เพราะฉะนั้นการจะทำให้สิ่งที่เรามองเห็นว่ามันมีคุณค่า ซึ่งเราเชื่อว่ามันมีคุณค่ากับคนเสพเนี่ย มันมีความยั่งยืนและก็มีมูลค่าในเชิงพาณิชย์ได้ในอนาคต แล้วก็สามารถที่จะแผ่ไพศาลหรือว่าเติบโตได้มากยิ่งๆ ขึ้นไปอีกเนี่ย ก็เป็นความท้าทาย
จะทำอย่างไรให้แบรนด์ของเราหรือความคิดของเราไม่แก่ตามตัวเรา นั่นหมายความว่า ถ้าเราลองสังเกตแบรนด์ที่มันมีอิทธิพลที่ตั้งอยู่บนโลกนี้ บางทีแบรนด์บางแบรนด์อายุ 100 ปี แต่เราก็ยังรู้สึกว่าแบรนด์ยังมีความเป็นหนุ่มเป็นสาว มันยังเข้ากับคนในยุคสมัยนี้ยุคปัจจุบันได้ นั่นหมายความว่าถึงแม้ว่าคนทำแบรนด์จะแก่ หรือวันหนึ่งถ้าพี่ไม่อยู่แล้ว ตัวตนของแบรนด์มันต้องมีความชัดเจนและมีความเกี่ยวโยงกับผู้บริโภคในรุ่นต่อๆ ไป อันนี้เป็นสิ่งที่ยากที่สุด
10 ปีที่ผ่านมา คุณเห็นอะไรในวงการแฟชั่นไทยบ้าง ?
ณ วันนี้พี่ตั้งแบรนด์มาได้ 10 กว่าปีแล้ว เริ่มต้นการทำงานในเชิงของงานออกแบบที่เมืองไทยมาเป็นเวลากว่า 12 ปี ก็มีความเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัด สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัด มันไม่ใช่เฉพาะในเมืองไทยอย่างเดียว การเปลี่ยนแปลงของระบบอุตสาหกรรมแฟชั่นทั่วโลกมันเปลี่ยน มันมีผู้เล่นที่เป็น Fast Fashion เพิ่มเข้าในรอบ 10 ปี ปฏิทินแฟชั่นเปลี่ยน วิธีการบริโภคเปลี่ยน ผนวกกับการเปลี่ยนแปลงของโซเชียลมีเดียและการติดต่อสื่อสารของมนุษย์เปลี่ยน
เพราะฉะนั้นเมื่อการสื่อสารเปลี่ยน ลักษณะการใช้ชีวิตเปลี่ยน สิ่งที่มันอยู่รอบๆ เหล่านี้ซึ่งก็หนีไม่พ้นสินค้าในหมวดหมู่ไลฟ์สไตล์หรือสินค้าบริโภคมันก็คือการต้องถูกเปลี่ยนแปลงไปด้วย เมื่อปฏิทินแฟชั่นเปลี่ยน ระบบการบริโภคเปลี่ยน งานออกแบบก็ต้องเปลี่ยน เราจะทำยังไงให้เสื้อผ้าของเรามันเกี่ยวโยงกับเจเนอเรชั่นยุคใหม่ เข้ากับไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่
ก็ต้องบอกว่า ณ วันนี้มันไม่มีคำว่า แบรนด์ไทยหรือแบรนด์นอก การตั้งตัวขึ้นมาเป็นแบรนด์เนี่ยมันไม่ได้มีสัญชาติอีกต่อไปแล้ว เราจะเห็นว่าลักษณะทางภูมิศาสตร์หรือที่ตั้งของแบรนด์มันไม่ได้มีความสำคัญ แบรนด์ไทย ณ วันนี้ก็แข่งกับแบรนด์นอก แบรนด์เกาหลี แบรนด์อเมริกา แข่งกับแบรนด์จากยุโรป เพราะฉะนั้นความยากอยู่ที่จะทำอย่างไรให้แบรนด์เรามีความสามารถ มีความเป็นสากล ต่อสู้กับแบรนด์ต่างๆ รอบโลกได้ ในขณะเดียวกันก็มีแต้มต่อของความเป็นแบรนด์ไทยที่ทำให้คนไทยด้วยกันเอง มองเห็นคุณค่าในสิ่งที่เราทำ นั่นหมายความว่า ทั้งในประเทศและนอกประเทศ แบรนด์เรามันต้องมีความหมายเพียงพอที่จะทำให้ทุกคนรู้สึกอยากจะบริโภคสินค้าของเรา
คนไทยชอบมองข้ามสินค้าจาก “ดีไซเนอร์ไทย” คุณเห็นด้วยหรือไม่อย่างไร?
จริงๆ มันไม่ใช่คนไทยมองข้างแบรนด์ไทยด้วยกันเอง แต่ว่ามันเป็นธรรมชาติของมนุษย์ว่า สิ่งไหนอยู่ใกล้ตัว สิ่งไหนที่เราอยู่เติบโตมาด้วยกัน เราก็มักจะมองไม่ค่อยเห็นคุณค่าเพราะว่ามันอยู่กับเรามาโดยตลอด เหมือนคนไทยอาจจะมีความรู้สึกว่า ถ้าให้ออกไปกินอาหารนอกบ้าน อาจจะไม่อยากรับประทานอาหารไทย เพราะเรารับประทานอาหารไทยอยู่ตลอดทุกวัน หรือว่าอาหารไทยไม่ควรจะแพง เพราะว่ามันมีรอบตัวไม่ว่าจะเดินไปซอก ตรอก ถนนตรงไหน มันก็มีหมด
ฉะนั้นหลายคนๆ อาจจะมองไม่เห็นค่าความสำคัญของมัน แต่ว่าวันใดวันหนึ่งถ้าเราขาดอาหารไทยไป ถ้าถามคนไทยทุกคนว่าถ้าวันใดเราไม่มีอาหารไทยกิน ไม่มีผัดกะเพรา ไม่มีผัดซีอิ๊ว ไม่มีอาหารไทยให้เรากิน แล้วให้เรากินอาหารญี่ปุ่นทุกวัน อาหารฝรั่งทุกวัน ถามว่าเราอยู่ได้ไหม เราก็อยู่ไม่ได้ เพราะตัวตนที่แท้จริงของคนไทยก็คือความชอบแบบไทยๆ การรู้จักบริโภคของแบบไทยๆ
วันใดถ้าเราอยากจะให้วัฒนธรรมของเราเป็นวัฒนธรรมที่มีอิทธิพลกับคนทั่วโลก สิ่งนี้มันจะเกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าเรายังมองไม่เห็นคุณค่าของตัวตนของเราอย่างแท้จริง ไม่รู้ว่าตัวตนของเราคือใคร มีประวัติศาตร์อย่างไร มีความเป็นมาของประเทศชาติอย่างไร การที่เราจะไปเคารพอารยธรรมของคนตะวันตก โดยที่ขาดความรู้จักตัวเองอย่างถ่องแท้ มันจะเป็นหลุมพรางอันใหญ่ที่ไม่สามารถนำพาให้ประเทศไทย วัฒนธรรมไทย แฟชั่นไทย ไปถึงความที่เราจะมีอิทธิพลในระดับโลกหรือระดับสากลได้
หลายคนติดภาพงานในวงการแฟชั่นเป็นเรื่องสนุก สวยงาม อะไรที่เขาเหล่านั้นควรรู้เพิ่มเติม
พี่ไม่ได้คิดว่าอาชีพใดอาชีพหนึ่ง เมื่อเราพูดถึงการประกอบอาชีพ หรือคำว่า “สัมมาอาชีพ” มันไม่มีคำว่า “สนุก” อยู่แล้ว คำว่าสนุกมันคือสิ่งที่เราทำนอกเหนือจากสิ่งที่มันควรจะเป็นหรือสิ่งที่มันควรจะทำ คำว่า สนุก เนี่ยมันเป็นสิ่งที่ไม่ได้มีตัวตนไม่ได้มีสาระสำคัญกับชีวิต ฉะนั้นถ้าเราเลือกประกอบอาชีพใดอาชีพหนึ่งหรือยึดถือสิ่งที่จะทำมันตลอดชีวิต คำว่า สนุก มันคงมาด้วยล่ะ ด้วยความที่เราชอบ เราอยากจะอยู่กับมัน เราทำไปแล้วก็สนุกไป แต่นั่นไม่ใช่สาระสำคัญ สิ่งที่สำคัญคือ เรามีความเพียน มีความพยายามจะทำในสิ่งที่เรารักให้มันดีที่สุด ให้มันเป็นไปได้อย่างที่ใจหวังมากที่สุด
การที่จะมีคอลเลคชั่นสัก 1 คอลเลคชั่น จะมีการทำเสื้อสักหนึ่งตัว มันประกอบไปด้วยหยาดเหงื่อแรงงานของคนจำนวนมากมาย มันเริ่มต้นตั้งแต่คนทอผ้า จนทอผ้ามาเป็นผืนเสร็จ คนออกแบบเสื้อผ้า คนทำกระดุม คนทำซิป คนทำสิ่งต่างๆ ประกอบเข้าเป็นเสื้อผ้าหนึ่งตัวมันมีส่วนประกอบมากมายกว่าที่จะเป็นเสื้อหนึ่งตัว เมื่อเสื้อเป็นตัวแล้ว ไหนจะมาตั้งวางขายอีก มันประกอบไปด้วยหยาดเหงื่อแรงกายของคนจำนวนเยอะมาก
เพราะฉะนั้นเสื้อหนึ่งตัวมัน Represent ความพยายามและก็หยาดเหงื่อของคนเป็นจำนวนมาก จริงๆ หลายคนมองว่าวงการแฟชั่นมันฉาบฉวย แต่จริงๆ มันคือ อุตสาหกรรมซึ่งมีมูลค่ามหาศาล แล้วก็สามารถเลี้ยงปากเลี้ยงท้องของคนได้เป็นจำนวนมาก พี่ในฐานะคนทำงานในวงการแฟชั่นคนหนึ่งพี่ก็รับผิดชอบปากท้องของคนในออฟฟิศพี่อีกเป็นร้อยเป็นพัน เมื่อเรามีความรับผิดชอบที่ยิ่งใหญ่ขนาดนี้ แล้วก็ความรับผิดชอบต่อผู้บริโภคของเราหรือว่าคนที่เสพแบรนด์ของเราถามว่ามันสนุกไหม มันสนุกอยู่แล้ว เพราะว่าเรามีความสุขที่จะทำและนำเสนอ แต่ว่าความสนุกคงไม่ใช่หัวใจสำคัญในการใช้ชีวิต สิ่งที่เราตั้งใจทำมันคือคุณค่าในตัวตนของเราที่เราอยากจะส่งมอบให้กับผู้บริโภคให้มองเห็นคุณค่าในสิ่งที่เราทำ
มาจนถึงวันนี้ แบรนด์ ASAVA มอบอะไรให้กับคุณบ้าง?
แน่นอนที่สุดมันก็ให้อาชีพ ให้พี่สามารถเลี้ยงปากเลี้ยงท้องได้ ให้ความสุขในการทำงาน จริงๆ มันเป็นทุกอย่างที่อยู่ภายใต้ ASAVA Group มันเป็นตัวตนมันเป็นจิตวิญญาณของพี่ เพราะฉะนั้นถามว่ามันให้อะไร มันคงให้ชีวิตทั้งชีวิตกับพี่ ให้เงินพี่ซื้อข้าวปลารับประทาน ให้เงินพี่แจกจ่ายไปให้ทุกคนในองค์กร ที่สำคัญมันทำให้พี่แจกจ่ายความสุขหรือสิ่งที่พี่เชื่อ ไม่ว่าจะเป็นแบรนด์ MOO หรือแบรนด์อะไรภายใต้ ASAVA เนี่ย มันก็สามารถเป็นการแจกจ่ายสิ่งที่พี่เชื่อว่ามันเป็นความสุขและก็สุนทรีภาพของชีวิตกับคนทุกคนที่ได้มีโอกาสเสพ
อาจจะเป็นคนที่ซื้อเสื้อของพี่ หรือไม่ได้ซื้อเสื้อของพี่ก็ตาม แต่พี่เชื่อว่าคนที่มองเข้ามาแล้วก็มีความชื่นชมหรือว่ามีความชื่นชอบ เมื่อเขาเห็นผลงานของเราเขาก็อาจจะมีความสุขกับสิ่งที่เราทำไปด้วย และก็หวังว่าวันหนึ่งเขาจะเป็นลูกค้าหรือมาเป็นผู้ที่บริโภคสินค้าเรา อันนั้นก็เป็นอีกเลเยอร์หนึ่ง แต่วันนี้ บริษัทนี้มันไม่ใช่แค่ อาชีพ งาน แต่มันคือทั้งหมดในชีวิตพี่มากกว่า
ถ้ามีใครสักเดินมาบอกว่าอยากเป็น หมู ASAVA คุณจะบอกกับคนคนนั้นว่าอะไร เพราะอะไร
พี่เชื่อว่าไม่มีใครเป็นใครได้ ทุกคนเป็นตัวของตัวเองและก็ทำในสิ่งที่เป็นตัวตนของตัวเองให้ดีที่สุด เอาศักยภาพของตัวเองออกมาใช้ให้ได้มากที่สุด เราเอาตัวเองเป็นแม่บทและก็พัฒนาตัวเองในสิ่งที่เราอยากเป็น พี่เชื่อว่าคนเราจะประสบความสำเร็จได้ จะทำอะไรได้นานๆ และก็มีความสุขและก็ไม่เบื่อ หรือเบื่อแล้วก็กลับมาทำใหม่ได้ มันต้องมีความเป็นธรรมชาติในตัวตนของคนนั้นๆ
สิ่งที่มันจะเกิดขึ้นกับคนและยั่งยืนได้มันต้องมีความออร์แกนิค เพราะฉะนั้นมองหาสิ่งที่ตัวเองเป็น สิ่งที่ตัวเองชอบ สิ่งที่ตัวเองเชื่อว่าจะอยู่กับมันได้ตลอดทั้งชีวิตได้ ถ้าเจอจุดนั้นได้ และก็พัฒนาในสิ่งนั้นให้ได้มากที่สุดที่มันควรจะเป็น เขาก็จะก้าวไปถึงจุดที่เขาอยู่กับตัวตนของเขา เขาสนุกกับสิ่งที่เขาทำแล้วมีความสุข สุดท้ายแล้วถ้ามันจะประสบความสำเร็จ มันจะนำมาซึ่งชื่อเสียง มันจะนำมาซึ่งเงินทอง มันก็เป็นผลพวง หรืออีกเลเยอร์หนึ่งของความสุข
แต่สุดท้ายเนี่ยพี่เชื่อว่าเราทุกคนเวลาถามถึงความสุขจริงๆ ไม่เคยมีใครตอบว่าเรามีเงินในบัญชีเท่าไหร่ หรือว่าเราประสบความสำเร็จหรือมีใครชื่นชมเรามากเท่าไหน สุดท้ายถ้าถามว่า เรามีความสุขอย่างไร ทุกคนก็จะอธิบายความสุขที่มันเกิดขึ้นในตัวตนของเรา พี่ก็เชื่อว่าอันนี้มันเป็นสิ่งที่สำคัญที่จะทำให้ตัวเราดำรงอยู่กับงานได้อย่างมีคุณค่าอย่างยั่งยืนในอนาคต