5 วิธีจัดการ “ความว้าวุ่นใจ” อุปสรรคใหญ่ต่อการทำงาน
ไม่ว่าจะทำอะไรก็ตาม ย่อมมีอุปสรรคเกิดขึ้นเป็นเรื่องปกติธรรมดา แต่ส่วนใหญ่แล้วอุปสรรคที่ใหญ่และเป็นปัญหาที่สุดก็คือ “ตัวเราเอง” นี่แหละ แบบที่เรามักจะแก้ปัญหาให้คนอื่นได้ แต่ปัญหาตัวเองกลับคิดไม่ตก ความว้าวุ่นกังวลใจก็เลยตามมา
โดยเฉพาะเวลาทำงาน อารมณ์วุ่นวายใจเป็นสิ่งที่น่ารำคาญที่สุด เพราะทำให้เสียสมาธิในการทำงาน สติไม่อยู่กับเนื้อกับตัว ทำอะไรก็ไม่สำเร็จ ดังนั้น Tonkit360 จะมาแนะนำวิธีกำจัดความรู้สึกว้าวุ่นกังวลใจออกไปเสีย เพื่อที่จะได้ทำงานต่อได้อย่างราบรื่นมาฝากกัน
1. มองให้เป็นเรื่องธรรมดา
ไม่ว่าจะกำลังว้าวุ่นใจอยู่กับเรื่องอะไรก็ตาม บางทีการยอมรับและปลงเป็นเรื่องที่ดีที่สุดแล้ว เริ่มที่ตัวเองนี่แหละ ไม่ต้องพยายามดิ้นรนตลอดเวลาก็ได้ ทำตัวปกติ ปล่อยให้ทุกอย่างเป็นไป อะไรจะเกิดก็ให้มันเกิด ลองคิดว่ากว่าจะมายืนตรงจุดนี้ เราก็ผ่านอะไรมาตั้งเยอะแยะ ตอนนี้ก็เหมือนกัน ปล่อยวางอย่าไปยึดติด ยิ่งยึดติดความรู้สึกแย่ ๆ ก็ยิ่งอยู่นาน เดี๋ยวมันก็ผ่านไป
2. สงบสติอารมณ์
บ่อยครั้งที่เรารู้สึกว้าวุ่นกังวลใจจนไม่มีสมาธิทำงาน เป็นเพราะเรากำลังเอาอารมณ์ส่วนตัวแว่บเข้ามาในหัวขณะทำงาน ซึ่งเวลาทำงานเราก็ต้องใช้สติใช้สมาธิกันอยู่แล้ว เรื่องที่เข้ามาจะทำให้งานสะดุดได้ ดังนั้นถ้ารู้สึกว่าอารมณ์ส่วนตัวกำลังคุกคาม ให้สงบสติอารมณ์ เปลี่ยนอิริยาบถ จะลุกไปเดินเล่นสักประเดี๋ยวก็ได้ ดีกว่าพยายามจะทำงานทั้งที่ไม่พร้อม อารมณ์แบบนั้นงานก็ไม่เดินอยู่ดี
3. อย่าเพิ่งตีตนก่อนไข้
อะไรที่ยังไม่เกิดขึ้นก็ไม่ต้องไปคิดล่วงหน้าว่าจะทำอะไร เลิกคิด เลิกกลัว เลิกกังวลกับสิ่งที่ยังมาไม่ถึง บางครั้งคนเราก็ชอบจินตนาการไปเองก่อนว่า “ถ้า…ต้อง…แน่เลย” อย่าเพิ่งไปคิดให้วุ่นวายใจเปล่า ๆ ควรกลับมาโฟกัสกับสิ่งที่อยู่ตรงหน้า เพื่อที่จะได้ทำงานตรงหน้าให้ดีที่สุดก่อน ส่วนผลลัพธ์ที่ได้หลังจากนั้นก็เป็นสิ่งที่ต้องยอมรับให้ได้ เพราะอย่างน้อยที่สุดเราก็เต็มที่กับมันแล้ว
4. จัดการสิ่งที่ควบคุมได้ก่อน
ในการทำงาน มีปัจจัยต่าง ๆ ที่เราควบคุมได้และควบคุมไม่ได้ ดังนั้น ให้ประเมินในสิ่งที่ตัวเองกำลังทำ ดูว่าต้องทำอะไรก่อน-หลังแล้วค่อย ๆ ไล่จัดการไปทีละอย่างตามลำดับ โดยเลือกจัดการกับสิ่งที่เราควบคุมได้ ตัดสินใจเองได้ก่อนเพื่อความรวดเร็ว ส่วนอะไรที่อยู่เกินควบคุมให้เอาไว้จัดการที่หลังสุด เพราะบางทีอาจต้องรอปรึกษากับทีม หรือต้องใช้เวลาในการตัดสินใจ
5. พูดคุย ทำความเข้าใจตัวเองบ้าง
วัน ๆ หนึ่งเราได้พบปะพูดคุยกับผู้คนมากมาย แต่เราเคยคุยกับตัวเองบ้างหรือเปล่า ส่องกระจกเคยยิ้มให้ตัวเองบ้างไหม เคยถามตัวเองไหมว่าเหนื่อยหรือเปล่า จะทำอะไร อยากได้อะไร พยายามอย่าลุกจากที่นอนอย่างไร้จุดมุ่งหมาย ถ้าให้คำตอบกับตัวเองได้แล้ว ก็ให้ตัวเองได้ทำสิ่งที่ต้องการ อยากเที่ยวก็ไปเที่ยว อยากกินของอร่อยก็ไปกิน อย่าฝืนในสิ่งฝืนไปก็ไม่มีประโยชน์ ตัดขาดกับโลกภายนอกบ้าง โดยพาตัวเองออกมาจากจุดนั้น