ความลับที่คุณควรรู้ เมื่อต้องตอบคำถามสัมภาษณ์งาน
เชื่อได้ว่าเมื่อมีโอกาสถูกเรียกเข้าไปสัมภาษณ์งาน ทุกคนจะต้องเตรียมตัวเตรียมใจเป็นอย่างดีเพื่อที่จะเข้าไปเผชิญหน้าในห้องสัมภาษณ์ที่ยากจะคาดเดาได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ทำให้คนที่ได้มีโอกาสถูกเรียกสัมภาษณ์บ่อย ๆ ก็น่าจะมีประสบการณ์มากกว่าคนที่เพิ่งเคยถูกเรียกสัมภาษณ์ไม่กี่ครั้ง
แต่มีความลับบางอย่างที่เกิดขึ้นในห้องสัมภาษณ์ที่คุณอาจไม่เคยรู้มาก่อน ว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่กรรมการในห้องสัมภาษณ์ปฏิบัติต่อคุณมีความหมายทุกอย่าง ไม่ใช่ว่าเขาทำเพียงเพราะอยากทำ สรุปได้คร่าว ๆ ดังนี้
ทุกการสัมภาษณ์ ต้องควบคุม “เวลา”
สิ่งที่คุณต้องทำการบ้านก่อนไปสัมภาษณ์งาน คือ “จะนำเสนอตัวเองอย่างไรให้ได้มากที่สุดในเวลาอันจำกัด” แม้ว่ากรรมการจะไม่บอกคุณว่าเขามีเวลาให้คุณมากเท่าไรในการพูด แต่คุณต้องควบคุมเวลาด้วยตนเอง คุณจึงต้องอธิบายเกี่ยวกับตัวเองให้สั้น กระชับ ตรงประเด็น และน่าสนใจ โดยหลักแล้วคุณมีเวลาไม่เกิน 3 นาที! หากคุณควบคุมเวลาได้ดี ตรงส่วนนี้จะทำให้คุณแตกต่างจากผู้สมัครคนอื่น ๆ คุณอาจใช้หลักง่าย ๆ คือ
- มีเพียงประเด็นหลัก เน้นข้อมูลไม่เน้นรายละเอียด ฟังแล้วไม่น่าเบื่อ
- ไม่ว่าจะถูกสัมภาษณ์เรื่องใด ควรมีความคิดยืนหนึ่งเพียงความคิดเดียว และให้ข้อมูลที่เป็นจริง
- มุ่งเน้นให้เห็นภาพ คือ ตอบคำถามให้กรรมการเห็นความคิดของคุณออกมาเป็นภาพที่พวกเขาสามารถสัมผัสได้
การสัมภาษณ์แบบยกสถานการณ์
คำถาม “เมื่อคุณถูกปลดจากงาน”
ไม่ใช่เรื่องแปลกที่กรรมการสัมภาษณ์งานจะถามคุณว่า “คุณจะมีแนวทางอย่างไรต่อจากนี้เมื่อถูกปลดจากงาน” การตอบคำถามในลักษณะนี้เพื่อให้เป็นประโยชน์กับตัวเองมากที่สุด คือ การอิงสถานการณ์ความเป็นอยู่ของคุณที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับปัญหาเศรษฐกิจ กรรมการสัมภาษณ์งานหลายคนรู้สึกเห็นอกเห็นใจผู้ที่กำลังตกงานในสถานการณ์แบบนี้
คำถามแนว “เมื่อคุณอยากจะเติบโต”
ผู้สมัครงานจำนวนไม่น้อยรู้สึกอึดอัดที่จะต้องมาอธิบายว่าทำไมพวกเขาจึงลาออกจากงาน การตอบคำถามในลักษณะนี้ คือ เน้นไปที่ประเด็นของความต้องการจะเติบโตในหน้าที่การงาน โดยมีเหตุผลว่า “นี่เป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุด ที่ฉันจะเห็นตนเองออกจากตำแหน่งปัจจุบันและไปสู่ตำแหน่งที่ดีกว่า”
เมื่อเจอกับคำถามที่ไม่คาดคิดว่าจะถูกถาม
แม้ว่าคุณจะเตรียมตัวเตรียมใจมาบ้างแล้วว่าจะต้องเจอคำถามแปลก ๆ ที่เตรียมคำตอบไว้ล่วงหน้าไม่ได้ (สิ่งที่เตรียมได้มีเพียงสติเท่านั้น) แต่บ่อยครั้งที่คุณอาจต้องเผชิญกับคำถามที่แปลกกว่านั้น เพราะไม่คาดคิดว่าจะเป็นคำถามได้ เช่น การสัมภาษณ์งานตำแหน่งหนึ่งในภาควิชาธุรกิจแห่งมหาวิทยาลัยชิคาโก รองคณบดีที่เป็นกรรมการสัมภาษณ์ได้เปิดเพลงสถาบันให้ผู้สมัครฟัง แล้วถามว่า “คุณคิดว่าสิ่งนี้คืออะไร”
คำถามสัมภาษณ์งานลักษณะนี้ เหมือนเป็นการปิดสคริปต์ที่ผู้สมัครเตรียมมาทั้งหมด เพราะคงไม่มีใครคาดคิดว่าจะต้องมาตอบคำถามจากเพลง แต่สิ่งที่กรรมการกำลังจะประเมินจากคำถามนี้ คือ ให้คุณแสดงความมีส่วนร่วมกับองค์กร จากคำตอบที่คุณตอบ สามารถแสดงนัยยะที่เกี่ยวกับการทำประโยชน์ให้องค์กรได้ หรือพูดง่าย ๆ ก็คือ ถ้าคุณได้เป็นส่วนหนึ่งในทีมแล้ว คุณจะช่วยพัฒนาองค์กรได้อย่างไร
ข้อมูลประกอบจาก Forbes.com