อากาศน่านอนต่อจริง ๆ จะเอาชนะความขี้เกียจยังไงดี
การที่ต้องตื่นนอนแต่เช้ามืด ลุกมาอาบน้ำ แต่งตัว ไปทำงานในแต่ละวันมันช่างยากลำบากซะเหลือเกิน เพราะอากาศช่วงเช้ามืดไม่สมควรอย่างยิ่งที่เราจะตื่นนอน แต่…จะไม่ตื่นก็ไม่ได้ใช่ไหมล่ะ ถึงจะขี้เกียจลุกยังไงก็ตามที ดังนั้น เรามาดูวิธีเอาชนะความขี้เกียจตอนตื่นนอนกันหน่อยดีกว่า อากาศน่านอนต่อขนาดนี้ เราจะฝืนตัวเองลุกขึ้นมายังไงดี
1. วางนาฬิกาปลุกให้ไกลมือ
วิธีนี้คือการพยายามให้การปิดนาฬิกาปลุกเป็นเรื่องที่ยากที่สุด ให้เอานาฬิกาปลุกไปไว้ให้ไกลมือ ถ้าไม่ใช่คนนอนขี้เซา ตื่นยาก จะเอาไปไว้ไกล ๆ เตียงเลยก็ได้ ถึงจะดูยุ่งยากไปหน่อย แต่ผลลัพธ์ที่ได้คือดีเลยล่ะ เพราะเวลานาฬิกาปลุกแผดเสียงดังสามบ้านแปดบ้านขึ้นมา เราก็ต้องปิด คลำ ๆ หาข้างตัวก็ไม่เจอ เราก็จะรำคาญจนต้องลุกไปปิดเอง เมื่อต้องลุกจากที่นอน เท้าจะสัมผัสกับความเย็นของพื้น จะกลับไปนอนต่อก็ใช่ที่ ตาสว่างในที่สุด
2. ฝืนตัวเองให้ได้ ตื่นแล้วก็ลุกทันที
โตแล้วต้องรู้จักบังคับตัวเอง ถึงเวลาตื่นนอนก็อย่าพิรี้พิไร กดเลื่อนนาฬิกา 5 นาทีบ้าง 10 นาทีบ้าง แต่รู้ไหมว่าเวลาน้อยนิดนั้นไม่ได้ช่วยให้เราได้นอนมากขึ้นเลย ที่สำคัญยังอันตรายต่อสมองด้วย เนื่องจากเวลาที่เรานอนหลับ ช่วงเวลาที่ใกล้จะตื่น จะเป็นช่วงที่เราหลับลึกที่สุด เรียกว่าระยะ REM (Rapid Eye Movement Sleep) คือภาวะกรอกตาอย่างรวดเร็ว
จากภาวะที่ร่างกายหลับลึก ทำให้ร่างกายตอบสนองต่อสิ่งเร้าภายนอกช้า ถ้าถูกปลุกในช่วงนี้จะตื่นลำบากและง่วงซึม อย่างไรก็ตาม สมองถูกปลุกให้ทำงานแบบช่วงที่เราไม่หลับแล้ว หากเราฝืนที่จะนอนต่อ ก็จะเป็นการหลับแบบหลับ ๆ ตื่น ๆ เป็นคุณภาพการนอนที่แย่กว่าการนอนไม่หลับอีก เมื่อเราทำบ่อย ๆ จะส่งผลต่อการทำงานของสมอง ทั้งเรื่องการจดจำ สมาธิ และอารมณ์ รู้สึกง่วงซึมได้ทั้งวัน บางทีอาจง่วงกว่าการที่ไม่ได้นอนเสียอีก เพราะฉะนั้น ถ้านาฬิกาปลุกแล้วก็เลิกอาลัยอาวรณ์เตียง เด้งตัวเองออกจากที่นอนทันที ถ้ายากมากก็ใช้วิธีข้อแรก
3. เข้านอนให้เร็วขึ้น
ปัจจัยแรก ๆ และปัจจัยสำคัญที่ทำให้เรารู้สึกง่วง ขี้เกียจ จนไม่อยากจะลุกจากเตียง ก็เพราะเรานอนดึกนั่นแหละ เมื่อนอนไม่พอก็รู้สึกอยากนอนต่อ ขี้เกียจลุก แล้วยิ่งอากาศเช้ามืดก็น่านอนต่อด้วย ฉะนั้น ถ้าไม่อยากกลายเป็นคนขี้เกียจ ต้องเข้านอนให้เร็วขึ้น อย่างต่ำที่สุดคือ 5 ชั่วโมง แต่ถ้าวันไหนไม่สะดวกนอนเร็ว จะลองใช้กฎการนอน 90 นาทีมาช่วยก็ได้ แต่วิธีนี้จะใช้ได้ผลเฉพาะคนที่หลับได้ทันทีหลังหัวถึงหมอน
สำหรับกฎการนอน 90 นาที คือ เวลาที่เรานอนหลับ สมองจะยังทำงานต่อไป ซึ่งสมองของเราจะทำงานเป็นรอบ ๆ รอบละประมาณ 90 นาที แบ่งเป็นช่วงหลับลึก 80 นาที และช่วงเวลาหลับตื้นอีก 10 นาที ซึ่งถ้าเราถูกปลุกในช่วง “หลับลึก” จะทำให้รู้สึกอ่อนเพลีย ไม่สดชื่น ง่วงนอนได้ทั้งวัน แต่ถ้าเราตื่นขึ้นมาในช่วง “หลับตื้น” จะเป็นช่วงที่ร่างกายรู้สึกว่านอนเต็มอิ่มแล้ว เราจึงตื่นมาแบบสดชื่น ตื่นตัว และงอแงนั่นเอง
4. ดื่มน้ำอุ่นหลังจากตื่นนอน
ที่จริงแล้ว เราก็ควรจะดื่มน้ำทันทีหลังจากตื่นนอน (จะก่อนหรือหลังแปรงฟันแล้วแต่ศรัทธา) เพราะช่วยให้ร่างกายได้รับน้ำหลังจากที่อดมาทั้งคืน ทั้งยังให้ประโยชน์ในการกระตุ้นให้ร่างกายสดชื่น ลดความเข้มข้นของเลือด ถ้าอย่างนั้นลองเปลี่ยนจากน้ำอุณหภูมิห้องมาเป็นน้ำที่อุ่นกว่านั้นอีกสักนิด เพื่อขยายหลอดเลือด กระตุ้นการไหลเวียนของเลือด และเพิ่มประสิทธิภาพการเผาผลาญพลังงาน ช่วยแก้อาการมือเย็นเท้าเย็นหลังตื่นนอน และปรับสมดุลอุณหภูมิภายในให้อุ่นขึ้น เวลาอาบน้ำจะได้ไม่รู้สึกหนาวจนเกินไป
5. อาบน้ำเย็น ๆ นั่นแหละ
ต่อให้ง่วง งัวเงีย งอแงแค่ไหน ลองเจอน้ำเย็นเจี๊ยบ ๆ สักหน่อย เป็นใครก็ตื่นทั้งนั้นแหละ การอาบน้ำเย็นในตอนเช้าจะช่วยกระตุ้นให้ร่างกายตื่นตัว แต่อย่าเปิดน้ำเย็นราดทั้งตัวทันที ให้ค่อย ๆ เอาน้ำราดมือ แขน ขา เท้าก่อน แล้วราดตัวทีหลัง ร่างกายจะได้ค่อย ๆ ปรับอุณหภูมิ เพราะถ้าร่างกายต้องปรับอุณหภูมิอย่างฉับพลันอาจจะป่วยเป็นไข้หวัด หรือหนักกว่านั้นอาจเกิดภาวะช็อกหมดสติ เสียชีวิตได้ นอกจากจะตื่นเพราะเจอน้ำเย็นแล้ว เรายังต้องรีบอาบเพื่อไม่ให้หนาวนาน รีบขนาดนั้นใครจะมามัวงัวเงียอยู่ล่ะจริงไหม