Stussy : จากเซิร์ฟบอร์ดสู่แบรนด์สตรีทแวร์เก่าแก่ขวัญใจวัยรุ่น

Stussy : จากเซิร์ฟบอร์ดสู่แบรนด์สตรีทแวร์เก่าแก่ขวัญใจวัยรุ่น

Stussy : จากเซิร์ฟบอร์ดสู่แบรนด์สตรีทแวร์เก่าแก่ขวัญใจวัยรุ่น
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เมื่อเอ่ยถึง “สตรีทแวร์” หนึ่งในแบรนด์ที่มักจะโผล่ขึ้นมาอยู่ในอันดับต้นๆ เสมอจนกลายเป็นเหมือนสัญลักษณ์ของวัฒนธรรมแฟชั่นแนวนี้ไปแล้วยังไงก็ต้องมีชื่อของ “STUSSY” แบรนด์ดังจากรัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริการวมอยู่ในนั้นด้วย

ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะนี่คือแบรนด์สตรีทแวร์ที่มีอายุกว่า 40 ปี เดินทางผ่านประวัติศาสตร์ยาวนาน และถ้านำไปเปรียบเทียบกับสตรีทแวร์แบรนด์อื่นๆ ต้องบอกว่า Stussy คือ “พี่ใหญ่แห่งวงการ” อย่างแท้จริง

ถึงแม้ว่าทุกคนจะคุ้นเคยกับ Stussy กันมาบ้าง แต่เชื่อว่าคงมีน้อยคนที่รู้ว่าต้นกำเนิดของพวกเขามาจากเซิร์ฟบอร์ด หนึ่งในกีฬากลางแจ้งยอดนิยมของชาวอเมริกัน 

ติดตามเรื่องราวของ Stussy ได้ที่ Main Stand

นักโต้คลื่นแห่งแคลิฟอร์เนีย
หากจะเล่าถึงเรื่องราวความเป็นมาของแบรนด์ Stussy คงต้องเริ่มจากผู้ชายคนหนึ่งที่มีชื่อว่า ชอว์น สตูสซี่ (Shawn Stussy) เขาเกิดเมื่อปี 1954 ณ เซาท์เทิร์น แคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา เรียกได้ว่าตั้งแต่ลืมตาดูโลก สภาพแวดล้อมของเขาไม่ว่าจะมองไปทางไหนก็มีแต่สายลม หาดทราย และแสงแดด สิ่งเหล่านี้เองที่ได้หล่อหลอมให้เขาหลงรักการเล่นกีฬากลางแจ้งมาตั้งแต่จำความได้ โดยเฉพาะการเล่นสกีและเซิร์ฟบอร์ด 


Photo : alchetron.com

ชอว์น เริ่มเล่นเซิร์ฟบอร์ดครั้งแรกตั้งแต่อายุ 10 ขวบ และเพียง 3 ปีหลังจากนั้นเขาก็มีเซิร์ฟบอร์ดที่ตัวเองเป็นคนลงมือผลิตและออกแบบภายในโรงรถเล็กๆ หลังบ้านของเขา เรียกได้ว่า ชอว์น ค้นพบเส้นทางชีวิตของตัวเองตั้งแต่ยังเป็นเด็ก 

ชอว์น ไม่รอช้าที่จะเดินตามเส้นทางนั้นอย่างแน่วแน่ หลังจากที่เขาจบการศึกษาระดับชั้นมัธยม ชอว์น ตัดสินใจที่จะไม่เข้าศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัย แต่เลือกที่จะออกมาทำงานในบริษัทผู้ผลิตเซิร์ฟบอร์ดยักษ์ใหญ่อย่าง Russell Surfboard ควบคู่ไปกับการเป็นครูสอนสกีที่ Mammoth Mountain และเมื่อมีเวลาว่างเมื่อไรเขาก็ไม่รอช้าที่จะแบกเซิรฟ์บอร์ดคู่ใจมาโต้คลื่น ณ ชายหาดลากูน่าบีช 

นอกเหนือจากเซิร์ฟบอร์ดแล้ว อีกหนึ่งสิ่งที่ ชอว์น หลงใหลคือแนวเพลงพังค์ร็อค ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับการใช้ชีวิตแบบขบถสังคม ไม่สนใจผู้อื่น ในช่วงเวลาดังกล่าวเขาตัดสินใจย้อมผมเป็นสีส้มทั้งหัว ซึ่งเขาได้จำกัดความการกระทำของตัวเองสั้นๆ ว่า “อนาธิปไตยในแบบที่เลือกเส้นทางชีวิตตัวเอง” 

ชอว์น ใช้ชีวิตอยู่อย่างนั้นเรื่อยมาจนกระทั่งล่วงเข้าสู่ปี 1979 จากเด็กหนุ่ม ชอว์น เติบโตขึ้นกลายเป็นชายหนุ่มวัย 24 ปี และในตอนนี้เขาคิดว่าเขาเรียนรู้สิ่งต่างๆ จากประสบการณ์ทำงานที่ Russell Surfboard มากพอแล้ว เขาพร้อมแล้วที่จะก้าวเดินต่อไป

ชอว์น ตัดสินใจลาออกจากการทำงานประจำของมาสร้างธุรกิจเล็กๆ เป็นของตัวเอง ซึ่งก็ไม่ใช่อะไรอย่างอื่นนอกจากการออกแบบเซิร์ฟบอร์ดของตัวเอง และนำมาวางจำหน่าย ณ ลากูน่าบีช ซึ่งเป็นแหล่งรวมตัวของบรรดานักเล่นเซิร์ฟบอร์ดชั้นนำในละแวกชายฝั่งเวสต์โคสต์


Photo : www.wearebasket.net

เซิร์ฟบอร์ดของ ชอว์น ไม่ใช่เซิร์ฟบอร์ดที่เห็นได้ทั่วไปตามท้องตลาด แต่เขาได้สร้างเอกลักษณ์ให้กับสินค้าด้วยวิธีการเขียนลายเซ็นของตนเองลงบนบอร์ดที่เขาทำขึ้น ซึ่งจุดเด่นของลายเซ็นดังกล่าวคือการเขียนโดยไม่ยกปากกาขึ้นเลย ส่งผลให้ลายเส้นของเขามีความคล้ายคลึงกับการเขียนแท็กของศิลปินกราฟฟิตี้ตามกำแพงหรือรถไฟใต้ดินสมัยนั้น แน่นอนว่า ชอว์น ได้รับอิทธิพลของลายเส้นเหล่านี้มาจากวงดนตรีพังค์ร็อคที่เขาชื่นชอบอย่างวง Sex Pistol และ The Clash

“วันที่ผมเปิดบริษัทเซิร์ฟบอร์ดเป็นของตัวเอง ในตอนนั้นเหมือนเด็กคนหนึ่งที่พยายามทำในสิ่งที่ถูกต้อง ต้องใช้การดิ้นรน ทักษะการเอาตัวรอด และความตั้งมั่นอย่างสูงว่ามันจะไม่ล้มเหลว” ชอว์น ได้โพสต์ข้อความย้อนความหลังผ่านทาง Instagram ส่วนตัวของเขา

หลังจากมีธุรกิจเป็นของตัวเองได้ไม่นาน ชอว์น ก็ได้รับโอกาสให้ไปเปิดบูธจำหน่ายสินค้าในงาน Action Sport Retailer มหกรรมสินค้าเกี่ยวกับเซิร์ฟบอร์ดที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของแคลิฟอร์เนีย โดยในงานดังกล่าวนอกจากเซิร์ฟบอร์ดแล้วเขาได้ตัดสินใจนำเสื้อยืดเปล่าสีดำมาสกรีนลายเซ็นของเขาลงไป พร้อมนำไปวางจำหน่ายข้างเซิร์ฟบอร์ด โดยไม่ได้คาดหวังเลยแม้แต่น้อยว่ามันจะขายดี หรือมีผู้คนให้ความสนใจ

“ผมสกรีนลายลงไปบนเสื้อยืด แต่ผมไม่คิดเรื่องขายมันจริงๆ จังๆ เลย ผมแค่อยากจะดึงความสนใจของผู้คนมาที่เซิร์ฟบอร์ดของผม” ชอว์น ให้สัมภาษณ์กับ WWD ในปี 1993

แต่ปรากฏว่าภายในระยะเวลา 3 วันที่เขามาเปิดบูธ กลับมีผู้ให้ความสนใจจับจองเป็นเจ้าของเสื้อยืดรุ่นนี้เป็นจำนวนมาก และด้วยราคาที่ตั้งไว้ที่แค่ตัวละ 8 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 250 บาท) เมื่อเสื้อยืดขายหมดเกลี้ยง ชอว์น จึงตระหนักได้ถึงกำไรมหาศาลที่เขาได้รับ


Photo : www.wearebasket.net

6 เดือนหลังจากงานดังกล่าว ชอว์น ได้กลับมาอีกครั้งพร้อมเสื้อยืดลายใหม่อีกสองลาย และสินค้าใหม่ล่าสุดอย่างกางเกงสำหรับเล่นเซิร์ฟบอร์ดที่ ชอว์น นำกางเกงทหารจากสงครามเวียดนามมาตัดขาแปลงโฉมให้กลายเป็นกางเกงสำหรับการเซิร์ฟ 

“ผมกับเพื่อนมักจะไปเดินดูของที่ร้านจำหน่ายสินค้ามือสองของเหล่าทหาร และในตอนนั้นไอเดียนี้มันก็เกิดขึ้น”

“เมื่อทดลองดู ผลคือมันเวิร์คสุดๆ ไปเลย หลังจากนั้นแม่ผมก็รับหน้าที่เป็นคนตัด ส่วนผมเป็นคนหาลูกค้า” ชอว์น เผย

ในช่วงเวลาดังกล่าวนี่คือดีไซน์สดใหม่ที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน ผลลัพธ์ที่ได้จึงเป็นยอดขายมหาศาล กางเกงล็อตแรกที่เตรียมมาหมดอย่างรวดเร็ว ก่อนที่ ชอว์น จะต้องรีบไปผลิตมาเพิ่มอีกนับร้อยตัวเพื่อสนองความต้องการของลูกค้า

หลังจากทำธุรกิจไปได้สักพัก ชอว์น ก็เริ่มจับทางได้แล้วว่าเขาจะทำอย่างไรกับแบรนด์ของเขาต่อไป...ชอว์น ตั้งใจจะขายสินค้าเซิร์ฟบอร์ดควบคู่ไปกับเสื้อผ้าแนวสตรีทแวร์ที่ได้รับความนิยมสูง และตลาดกำลังเติบโต อย่างไรก็ตามการจะนำพา Stussy ให้ก้าวไปไกลกว่านี้ ความคิดในแง่ศิลปินของ ชอว์น เพียงคนเดียวนั้นไม่เพียงพอ จำเป็นที่จะต้องมีอีกหนึ่งเสาหลักซึ่งเชี่ยวชาญในเรื่องการตลาดเข้ามาช่วยด้วยอีกแรง

STUSSY ที่ทุกคนรู้จัก
ในช่วงต้นยุค 80s แบรนด์เล็กๆของ ชอว์น ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างสูงทั้งในแง่รายได้และชื่อเสียง อย่างไรก็ตามด้วยความเป็นคนสบายๆ ทำให้ ชอว์น ไม่ได้มีความทะเยอทะยานที่จะนำพา Stussy ไปไกลกว่านี้เท่าไรนัก เขาไม่สนใจการโปรโมตหรือลงโฆษณาตามสื่อต่างๆ ด้วยซ้ำ จนกระทั่งการมาถึงของชายที่ชื่อว่า “แฟรงก์ ซินาตร้า จูเนียร์” (Frank Sinatra Jr. ไม่มีความเกี่ยวข้องกับศิลปินระดับตำนาน แฟรงก์ ซินาตร้า) 

แฟรงก์ คือเพื่อนสนิทของ ชอว์น มาตั้งแต่เด็ก แต่ถึงอย่างนั้นพวกเขาก็มีความแตกต่างกันพอสมควร โดย แฟรงก์ ไม่ได้มาในมาดนักเซิร์ฟบอร์ดศิลปินจอมเซอร์ แต่ในตอนนั้นเขาทำงานประจำเป็นพนักงานบัญชีให้กับบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง 


Photo : graduatestore.fr

แฟรงก์ มองเห็นศักยภาพแบรนด์ Stussy ว่าสามารถเติบโตไปได้ไกลกว่านี้อีกมาก ถ้ามีการใช้กลยุทธ์การตลาดอย่างถูกต้อง เขาจึงไม่รอช้าลาออกจากงาน พร้อมทุบหม้อข้าวตัวเอง กำเงินจำนวน 5,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ เข้ามาขอร่วมทุนเป็นห้นส่วนแบรนด์ Stussy กับ ชอว์น จนในที่สุด Stussy ก็ได้จดทะเบียนบริษัทอย่างเป็นทางการในปี 1986

การเข้ามาถือหุ้นและมีบทบาทของ แฟรงก์ ส่งผลให้แบรนด์ Stussy เริ่มมีทิศทางที่ชัดเจนยิ่งขึ้นกว่าเดิม ด้วยวิสัยทัศน์ทางด้านการตลาดและฝีมือการบริหารของเขา โดยทั้งสองคนร่วมมือกันผลักดันให้ Stussy เริ่มกลายเป็นที่รู้จักของผู้คนทั่วโลกโดยที่ ชอว์น รับตำแหน่งเป็นครีเอทีฟดูแลด้านการออกแบบ ส่วนแฟรงก์เป็นผู้ดูแลด้านการตลาดโดยเขาได้นำเอาวิสัยทัศน์ในการเป็นนักธุรกิจของเขามาใช้ร่วมกับการสร้างแบรนด์แฟชั่น 

Stussy ได้มีการเริ่มร่วมงานกับศิลปินวงหรือดนตรีที่มีความเกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมป๊อบคัลเจอร์ของโลกในช่วงเวลานั้น โดยพวกเขาเรียกวัฒนธรรมนั้นว่า International Stussy Tribe หรือ IST หนึ่งในผลงานเด่นของ Stussy ในช่วงแรกที่ทำร่วมกับศิลปินคือการออกแบบหน้าปกอัลบั้มให้กับ มัลคอม แมคลาเรน (Malcolm Mclaren) แฟนหนุ่มของ วิเวียน เวสต์วูด ดีไซน์เนอร์ผู้ทรงอิทธิพลมากที่สุดในวงการพั้งค์

อีกหนึ่งกำลังสำคัญที่ช่วยผลักดันวัฒนธรรมในแบบของ Stussy ให้ประสบความสำเร็จนอกจาก ชอว์นและ แฟรงก์ แล้วคงต้องยกเครดิตให้กับดีไซน์เนอร์รุ่นใหม่ในยุคนั้นอย่าง ฮิโรชิ ฟูจิวาระ (Hiroshi Fujiwara)  โดยดีไซน์เนอร์หนุ่มจากแดนปลาดิบคนนี้มีส่วนร่วมผลักดันให้ Stussy กลายเป็นที่ยอมรับในประเทศญี่ปุ่น 


Photo : @NottheSamo

เมื่อเข้าสู่ยุค 90s ก็เริ่มขายธุรกิจพวกเขาไปไกลกว่าเดิมด้วยการตั้งร้านทั้งในนิวยอร์ก รวมถึงหัวเมืองใหญ่ๆ ในทวีปยุโรป อย่างไรก็ตามสิ่งนี้ก็ได้ส่งผลกระทบให้บทบาทของเซิรฟ์บอร์ดในแบรนด์ค่อยๆ ถูกลดความสำคัญลงเรื่อยๆ จนกระทั่งสุดท้ายพวกเขาก็ตัดสินใจลดการผลิตลงเหลือในสเกลเล็ก กลายเป็นสินค้าแรร์ไอเท็มที่ในแต่ละเดือนจะมีการผลิตออกมาเพียง 25 ชิ้นเท่านั้น แต่ทุกชิ้นก็ยังคงผ่านการควบคุมดูแลโดย ชอว์น อย่างไม่ขาดตกบกพร่อง ส่วนเสื้อผ้าแนวเซิร์ฟก็ค่อยๆ ถูกลดการผลิตลงไปเช่นกัน ก่อนจะแทนที่ด้วยสตรีทแวร์เต็มรูปแบบ

ในปี 1997 ชอว์น ตัดสินใจที่จะลาออกจากการเป็นผู้บริหาร Stussy เนื่องจากเหตุผลด้านครอบครัว ประกอบกับแบรนด์ Stussy ในตอนนี้เติบโตมาไกลกว่าที่เขาคิดไว้มาก ซึ่งเขาก็เข้าใจดีว่าเมื่อมันกลายเป็นองค์กรธุรกิจเต็มรูปแบบ ก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องทำอะไรตามกระแส ตามกลยุทธ์การตลาด เพียงแต่ว่าเขาไม่มีความสุขกับการทำเช่นนั้นก็เท่านั้นเอง

“หลังจากวางมือจาก Stussy ผมก็กลายเป็นคุณพ่อธรรมดาคนหนึ่ง เลี้ยงลูกๆ อย่างสงบ ใช้ชีวิตในฮาวาย” 

“ผมทุ่มเทชีวิต 20 ปีให้กับมัน แต่ตอนนี้มันกลายเป็นว่าแบรนด์อยู่นอกเหนือความตั้งใจของผมไปหมดแล้ว ผมไม่เสียใจเลยสักครั้งเดียวที่ก้าวออกมา” ชอว์น กล่าวกับ นิตยสาร Honeyee ในปี 2009


Photo : sg.carousell.com

แม้ ชอว์น จะวางมือจากการเป็นผู้บริหารและครีเอทีฟของแบรนด์ไปแล้ว แต่ก็ดูเหมือนจะไม่มีผลกระทบเท่าไรนักต่อยอดขายเท่าไรนัก Stussy ยังคงเดินหน้ากอบโกยกำไรจากสินค้าของพวกเขาอย่างต่อเนื่อง ด้วยทิศทางของแบรนด์ซึ่งถูกวางไว้อย่างแน่ชัดตั้งแต่สมัยที่ ชอว์น ยังทำหน้าที่อยู่ โดยเฉพาะลายเซ็นของเขาที่เปรียบเสมือนสัญลักษณ์ของ Stussy ไปและมันก็ไม่ได้จากไปพร้อมกับตัวเขา ส่งผลให้เอกลักษณ์ของ Stussy ยังคงชัดเจน แม้ว่าจะมีการเปลี่ยนผ่านอาร์ตไดเร็คเตอร์กี่รุ่นก็ตาม

นอกจากลายเซ็นของ ชอว์น แล้ว อีกหนึ่งความโดดเด่นในแฟชั่นของ Stussy คือการหยิบเอาสัญลักษณ์ของแบรนด์ไฮเอ็นด์อย่าง Chanel มาล้อเลียนจนเกิดเป็นลายกราฟิกของตนเองที่คุ้นตาเหล่าแฟชั่นนิสต้าทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นอักษร C ไขว้ รวมไปถึงเครื่องหมาย No.5 บนขวดน้ำหอมของแบรนด์ดัง ซึ่งสิ่งเหล่านี้ถูก Stussy หยิบมาดัดแปลงเล็กน้อยเกิดเป็นสัญลักษณ์ Double S และ Stussy No.4 อันโด่งดัง

การเดินทางยังไม่สิ้นสุด
เมื่อเข้าสู่ยุคมิลเลเนี่ยม Stussy ยังคงชูจุดเด่นด้วยการผสมผสานตัวตนของแบรนด์เข้ากับวัฒนธรรมดนตรี เพียงแต่คราวนี้ไม่ใช่แนวพังก์ร็อคเหมือนในอดีต แต่เป็นดนตรีฮิปฮอปที่เข้ากับความเป็นสตรีทแวร์มากกว่า 

ตัวอย่างคอลเลคชั่นที่ Stussy  ร่วมกับรายการ YO! MTV Raps โดยพวกเขาได้นำเอาภาพของศิลปินฮิปฮอปชื่อดังในยุคนั้นอย่าง Pubilc Enemy, Rakim, Eric B, De La Soul มาสกรีนลงบนเสื้อพร้อมด้วยลวดลายกราฟิกที่เป็นเอกลักษณ์ของแบรนด์ และแน่นอนว่ามันได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี


Photo : wear.jp

นอกจากการร่วมงานกับศิลปินและโลกดนตรีแล้ว การจับมือเป็นพันธมิตรกับแบรนด์แฟชั่นแบรนด์อื่นๆ ก็ถือเป็นอีกหนึ่งจุดแข็งของ Stussy

นับตั้งแต่ปี 2000 Stussy กลายเป็นพาร์ทเนอร์สำคัญของแบรนด์มหาอำนาจอุปกรณ์กีฬาโลกอย่าง Nike โดยมีการผลิตรองเท้ารุ่นพิเศษร่วมกันอยู่บ่อยครั้ง โดยรองเท้าที่ทั้งคู่ร่วมงานกันเป็นครั้งแรกคือการหยิบเอารองเท้าโมเดลคลาสสิคอย่าง Air Huarache LE มาปรับเปลี่ยนคู่สีใหม่เน้นความเรียบง่ายด้วยสีสันสไตล์เอิร์ธโทน ซึ่งแนวทางนี้ได้กลายเป็นจุดขายของงานคอลแลบในยุคถัดมาที่ส่วนใหญ่จะเน้นที่การเล่นกับคู่สีและวัสดุเกรดพรีเมี่ยมมากกว่าการสร้างความโดดเด่น


Photo : www.alfac.edu.sa

ไม่ใช่เฉพาะแต่ Nike เท่านั้นที่ทาง Stussy มีโอกาสร่วมงานด้วย แต่รวมถึงรองเท้าแบรนด์ดังอื่นๆ อย่าง Vans, Converse, New Balance, Timberland, Dr. Martens รวมไปถึงการจับมือกับงานศิลปะแขนงต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการ์ตูนดัง Bravis and Butthead ซูปเปอร์ฮีโร่จากค่ายมาร์เวล และศิลปินสตรีทอาร์ตชื่อก้องโลกอย่าง Kaws

ยิ่งไปกว่านั้น Stussy ก็ไม่เกี่ยงกับการร่วมมือกับแบรนด์สตรีทแวร์อื่นๆ ที่เปรียบเสมือนคู่แข่งโดยตรงในสนามการค้าอย่าง Neighborhood, BAPE, G-Shock, Porter, Carharrt  หรือคอลเลคชั่นฉลองครบรอบ 30 ปี กับแบรนด์สตรีทชื่อดังอย่างอย่าง Supreme ผลิตสินค้าออกมากวาดเงินจากกระเป๋าแฟนๆ เป็นว่าเล่น


Photo : hypebeast.com

นอกจากสินค้าแฟนชั่นแล้ว Stussy ยังไปไกลกว่าที่ทุกคนคิด พวกเขายังเปิดร้านที่ชื่อว่า Stussy Livin’ General Store ขึ้นที่ประเทศญี่ปุ่น โดยสินค้าที่พวกเขาจำหน่ายจะเป็นเครื่องใช้เกี่ยวข้องกับไลฟ์สไตล์ในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นชุดจานชาม ไปจนถึงเฟอร์นิเจอร์ขนาดใหญ่อย่างเช่นโต๊ะและเก้าอี้ นอกจากนั้นยังมีสินค้าสำหรับการแคมป์ปิ้งจำหน่ายอีกด้วย โดยสินค้าส่วนใหญ่จะเน้นไปที่ดีไซน์และความเรียบง่าย สามารถใช้สอยได้ทุกวันและไม่เป็นสินค้าแฟชั่นมากเกินไป


Photo : hypebeast.com

ปัจจุบัน Stussy คือหนึ่งในแบรนด์สตรีทแวร์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก ด้วยมูลค่าบริษัทกว่า 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 1,500 ล้านบาท มีร้านค้ามากกว่า 60 ร้านทั่วโลก ยังไม่นับรวมตัวแทนจำหน่ายอีกหลายร้อยแห่ง 

ย้อนกลับไปในวันแรกที่ ชอว์น สกรีนลายเซ็นเขาลงไปบนเสื้อยืด การเดินทางมาไกลขนาดนี้คงเป็นเรื่องเกินกว่าจินตนาการ แต่สุดท้ายพวกเขาก็พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่ามันเป็นไปได้ ถึงแม้ว่าในช่วงเวลาอาจจะต้องยอมสูญเสียความเป็นตัวตนบ้าง ตามกระแสสังคมบ้างก็ตาม 

ถ้าเป็นเรื่องอุดมการณ์คงไม่สามารถพูดได้เต็มปากว่าพวกเขาคือผู้ชนะ แต่สำหรับในเกมธุรกิจ Stussy นั้นเป็นยิ่งกว่าผู้ชนะเสียอีก นี่คือแบรนด์ที่มีส่วนสำคัญยิ่งต่อการวางแนวทางวัฒนธรรมสตรีทแวร์ให้กับคนรุ่นหลัง


Photo : hypebeast.com

ล่าสุด Stussy เพิ่งปล่อยคอลเลคชั่นฤดูใบไม้ร่วงปี 2020 ออกมาสดๆ ร้อนๆ เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา สามารถแวะไปเยี่ยมชมได้ที่เว็บไซต์ทางการของแบรนด์ ส่วนช่องทางการจับจองเป็นเจ้าของ ในประเทศไทยมีร้านชื่อว่า SLUM LTD ที่เป็นตัวแทนจำหน่ายของ Stussy ตั้งอยู่ที่สยามแควร์ซอย 7 หรือจะสั่งจากเว็บทางการให้ส่งตรงมาถึงหน้าบ้านคุณก็ทำได้เช่นเดียวกัน 

 

แหล่งอ้างอิง:

https://www.sneakthestreet.com/history-of-stussy/
https://streetsq.com/surf-to-street-the-stussy-story/
https://www.highsnobiety.com/tag/stussy/
https://www.businessoffashion.com/articles/intelligence/how-stussy-became-a-50-million-global-streetwear-brand-without-selling-out
https://aligeorgehinkins.com/home/the-streetwear-world-s-love-and-hate-relationship-with-stussy
https://i-d.vice.com/en_uk/article/9395m5/history-stussy-streetwear-culture
https://hypebeast.com/2020/9/stussy-fall-2020-lookbook
https://www.sneakthestreet.com/history-of-stussy/

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook