เบียร์โบราณ จากสวัสดิการแรงงานทาสสู่เครื่องดื่มสำนักบาทหลวง

เบียร์โบราณ จากสวัสดิการแรงงานทาสสู่เครื่องดื่มสำนักบาทหลวง

เบียร์โบราณ จากสวัสดิการแรงงานทาสสู่เครื่องดื่มสำนักบาทหลวง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
  • ชาวโลกก็เข้าใจกันมาตลอดว่า เบียร์เกิดที่อียิปต์ แต่มีการสันนิษฐานกันว่าชนกลุ่มแรกจริง ๆ ที่ดื่มเบียร์ คือ ชาวสุเมเรียน ในดินแดนเมโสโปเตเมีย หรือก็คือพื้นที่ที่เป็นประเทศอิหร่านในปัจจุบัน
  • เบียร์ยุคโบราณสไตล์สุเมเรียนทำจากมอลต์ที่ได้จากการหมักข้าวบาร์เลย์ เสิร์ฟในไหหรือชามใบโต และมีการใช้หลอดที่ทำจากโลหะทั้งทองและทองแดงในการดื่มเบียร์

หากพูดถึงหมวดอาหาร เครื่องดื่มที่เก่าแก่ที่สุดในโลก แน่นอนว่าต้องมี เบียร์ ปรากฏอยู่และมีการบันทึกอย่างละเอียดตั้งแต่วิธีการหมักบ่มไปจนถึงการดื่ม โดยหลักฐานเก่าแก่ที่สุดเกี่ยวกับวิธีการหมักถูกค้นพบในอียิปต์ที่ย้อนไปราว 5,000 ปี แต่อียิปต์เองไม่ใช่ชนกลุ่มแรกที่หมัก เบียร์ สันนิษฐานกันว่าชนกลุ่มแรกจริงๆ ที่ดื่มเบียร์ คือ ชาวสุเมเรียน ในดินแดนเมโสโปเตเมีย หรือก็คือพื้นที่ที่เป็นประเทศอิหร่านในปัจจุบัน ทั้งนี้ก่อนจะเจอหลักฐานเบียร์ในไหของสุเมเรียนโบราณ ชาวโลกก็เข้าใจกันมาตลอดว่า เบียร์เกิดที่อียิปต์ เพราะได้อ่านแต่บันทึกประวัติศาสตร์ที่ชาวกรีกเป็นผู้เขียนไว้


ครั้งนั้นวารสาร Nature ได้มีการเผยแพร่ข่าวใหญ่คือการตรวจสอบทางเคมีของสารใน “ไหโบราณ” ซึ่งพบบนภูเขาซากรอส (Zagros Mountains) ในประเทศอิหร่าน โดยสารที่พบนี้เป็นสารที่เกิดจากการหมักเบียร์ด้วยข้าวบาร์เลย์ ตั้งแต่สมัยสุเมเรียนนับอายุย้อนไปได้ประมาณ 3,500-3,100 ปี ก่อนคริสตกาล ทั้งยังพบสารประกอบของไวน์ทำจากองุ่นในบริเวณเดียวกัน

เบียร์โบราณ สไตล์สุเมเรียนทำจากมอลต์ที่ได้จากการหมักข้าวบาร์เลย์ เสิร์ฟในไหหรือชามใบโต และมีการใช้หลอดที่ทำจากโลหะทั้งทองและทองแดงในการดื่มเบียร์ ซึ่งชาวสุเมเรียนก็เป็นกลุ่มชนแรกที่คิดค้นหลอดขึ้นมาในโลกนี้ เพื่อใช้ในการดื่มเบียร์โดยเฉพาะ เพราะเบียร์โบราณจะยังมีมอลต์หรือกากจมูกข้าวบาร์เลย์ลอยฟ่องอยู่บนผิวหน้า และน้ำเบียร์หมักเข้มข้นเหมือนน้ำโจ๊กบาร์เลย์ จึงต้องใช้หลอดดูดดื่มเข้าไป

เบียร์ ไม่ได้เป็นเพียงเครื่องดื่มดับกระหาย แต่อียิปต์โบราณยังสร้างวัฒนธรรมการดื่มเบียร์ขึ้นมา เช่น การดื่มเบียร์วันละ 2 เหยือกเพื่อเพิ่มพลังงานให้เหล่าแรงงานทาส โดยยุคประชาชนควรดื่มเบียร์วันละ 2 เหยือก เกิดขึ้นในสมัยอาณาจักรกลางของอียิปต์โบราณที่มีฟาโรห์เป็นประมุข โดยฟาโรห์มีเบียร์เป็นเหมือนสวัสดิการรัฐแจกจ่ายแก่แรงงานทาส เป็นเบียร์หมักจากบาร์เลย์คนละ 2 เหยือกต่อวัน เพื่อให้แรงงานเหล่านั้นมีแรงในการสร้างพีระมิด


ในสมัยอียิปต์นั้นหลักฐานเกี่ยวกับการดื่มและหมักเบียร์มีให้เห็นอยู่เยอะมาก เช่น ภาพแกะสลักบนผนังหลุมศพอียิปต์โบราณ แสดงกรรมวิธีผลิตเบียร์ที่มีการทุบจมูกข้าวหรือบาร์เลย์ บางส่วนจะถูกทุบหรือตำจนละเอียดแล้วผสมน้ำและปั้นเป็นก้อนตากแห้งทิ้งไว้ นำมาต้มกับน้ำเปล่าและเติมเชื้อจุลินทรีย์เพื่อให้เกิดการหมักตัว ทำให้เบียร์สูตรอียิปต์โบราณมีความเข้มข้นน้อยกว่าเบียร์สไตล์สุเมเรียน สามารถเทใส่ถ้วยและยกดื่มได้โดยไม่ต้องใช้หลอดดูดอีกต่อไป

จากสวัสดิการของแรงงานทาส เมื่อเบียร์เดินทางมาถึงยุโรปยุคกลาง (ราว ค.ศ.600-1,300) เบียร์ก็ได้กลายมาเป็นเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพโดย  พาราเซลซุส (Paracelsus) นักวิทยาศาสตร์การแพทย์ชาวสวิส เคยกล่าวว่า “เบียร์เป็นโอสถขนานวิเศษชนิดหนึ่ง”  สถานะความเป็นยาของเบียร์ เป็นผลพวงจาก  สุขอนามัยที่แย่มากในยุโรปยุคกลาง  น้ำดื่มประปาไม่สะอาด ก่อให้เกิดโรคได้ง่าย


ยุโรปยุคนั้นปรับสูตร เบียร์โบราณ ให้มีแอลกอฮอล์เข้มข้นขึ้นกว่าเดิม เบียร์จึงกลายเป็นเครื่องดื่มนิยมแทนน้ำเปล่า เพราะน้ำประปายุคนั้นไม่สะอาด  ส่วนโรงต้มเบียร์ก็ได้แพร่หลายในสำนักบาทหลวงของคริสตศาสนา เพื่อบริการชุมชนและเป็นธุรกิจหล่อเลี้ยงสำนักบาทหลวงในยุคนั้นด้วย

สูตรเบียร์ของสำนักบาทหลวงบางแห่งในเขตประเทศเบลเยียม กลายมาเป็นต้นตำรับ สุดยอดเบียร์ของโรงงานเบียร์ยุคปัจจุบัน อย่างแบรนด์ คาร์ลสเบิร์ก ไฮเนเกน  ที่กลับไปรื้อประวัติศาสตร์และตำราเก่ามาปรับปรุงและตีตราขายกันใหม่อย่างคึกคัก ไม่ว่าจะเป็น The Grimbergen Abbey ที่มีตรานกฟีนิกซ์เป็นสัญลักษณ์ (สูตรของโบสถ์กริมเบอร์เจน อยู่ชานเมืองบรัสเซลล์) ที่เฟื่องฟูมากๆ สมัยศตวรรษที่ 12 จนกระทั่งถูกกองทหารฝรั่งเศสบุกไปเผาทำลายสำนักสงฆ์วายวอดในช่วงศตวรรษที่ 18 แต่ยังเหลือตำราหมักเบียร์เก่าให้นายทุนยุคศตวรรษที่ 21 ได้เปิดโรงเบียร์สูตรเด็ดนี้อีกครั้งเมื่อปี 2019

อ้างอิง

นิตยสารสารคดี ฉบับ พฤศจิกายน 2555 พฤศจิกายน 2544 และ พฤศจิกายน 2530
https://www.ancient.eu/article/1033/beer-in-ancient-egypt/
https://www.npr.org/sections/thesalt/2019/05/21/725439880/belgian-monastery-will-brew-beer-again-after-a-220-year-pause

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook