ดับฝันวิถีหมูที่แข็งแรง? การศึกษาชี้ อ้วนแต่ออกกำลังสม่ำเสมอยังไม่ดีพอต่อหัวใจ
หลายคนอาจเคยเชื่อว่าการออกกำลังอย่างสม่ำเสมอและการรักษาความฟิตของร่างกายจะช่วยทดแทนผลเสียต่อสุขภาพของหัวใจที่เกิดจากความอ้วนและการมีน้ำหนักตัวเกินพอดีได้
แต่ผลการศึกษาชิ้นใหม่ของนักวิจัยด้านการแพทย์ในสเปนซึ่งเพิ่งตีพิมพ์ในวารสารสุขภาพหัวใจ European Journal of Preventive Cardiology โต้แย้งความเชื่อที่ว่านี้ โดยผลการศึกษาชิ้นใหม่จากนักวิจัยของมหาวิทยาลัย European University ที่กรุงมาดริดของสเปน แสดงว่าเรื่องนี้อาจไม่เป็นความจริงเสมอไป เพราะผลเสียต่อสุขภาพจากการมีน้ำหนักตัวเกินพิกัดนั้นไม่อาจถูกลบล้างได้ด้วยการมีไลฟสไตล์ที่แอคทีฟหรือการเคลื่อนไหวร่างกายอย่างกระฉับกระเฉงเท่านั้น
อาจารย์ Alejandro Lucia ผู้สอนวิชาสรีระวิทยาการออกกำลังกายของมหาวิทยาลัยดังกล่าวซึ่งศึกษาเรื่องนี้ ชี้ว่า เราไม่สามารถจะมีสภาวะที่อ้วนแต่แอคทีฟแล้วมีสุขภาพหัวใจที่ดีไปพร้อมกันได้ นักวิจัยได้ข้อสรุปดังกล่าวจากการศึกษาผู้ใหญ่วัยทำงานในสเปนซึ่งมีอายุเฉลี่ย 42 ปีกว่า 520,000 คนและแบ่งกลุ่มตัวอย่างออกเป็นสามกลุ่มตามระดับ BMI หรือดัชนีมวลกาย
BMI นั้นมาจากน้ำหนักตัวเป็นกิโลกรัม หารด้วยส่วนสูงเป็นเมตรยกกำลังสอง โดยค่า BMI เฉลี่ยระหว่าง 18.5 ถึง 24.9 ถือว่าปกติ ค่า BMI ระหว่าง 25 ถึง 29.9 คือน้ำหนักตัวเกิน และค่า BMI ตั้งแต่ 30 ขึ้นไปบ่งชี้ถึงการเป็นโรคอ้วน
นักวิจัยได้พิจารณาความสัมพันธ์ระหว่างดัชนีมวลกายของกลุ่มตัวอย่างที่จัดว่าปกติ น้ำหนักตัวเกิน และเป็นโรคอ้วนนี้กับลักษณะความกระฉับกระเฉงของไลฟสไตล์และการออกกำลังกาย โดยโยงเข้ากับปัจจัยความเสี่ยงต่อสุขภาพสามอย่าง คือโรคเบาหวาน ระดับโคเลสเตอรอล กับความดันโลหิต ซึ่งล้วนแต่เป็นปัจจัยที่ทำให้หัวใจวายและเกิดอาการสมองขาดโลหิตหล่อเลี้ยงได้
นักวิจัยพบว่าการเคลื่อนไหวร่างกายไม่ว่าจะมากน้อยเพียงใดล้วนแต่ดีต่อสุขภาพทั้งสิ้นแต่ในกลุ่มคนที่มีน้ำหนักตัวเกินและเป็นโรคอ้วนนั้น การออกกำลังกายไม่ว่าจะมากเพียงใดก็ไม่ช่วยลดความเสี่ยงของโรคหลอดเลือดหัวใจแต่อย่างใด
นักวิจัยยังพบข่าวร้ายด้วยว่า กลุ่มตัวอย่างที่เป็นโรคอ้วนถึงแม้จะแอคทีฟก็ยังมีโอกาสความเสี่ยงมากกว่าคนที่มีน้ำหนักตัวพอดี ๆ ถึงสองเท่าที่จะมีโคเลสเตอรอลสูง มีความเสี่ยงมากกว่าสี่เท่าที่จะเป็นเบาหวาน และเพิ่มโอกาสขึ้นห้าเท่าที่จะมีความดันโลหิตสูงเมื่อเทียบกับคนที่มีน้ำหนักตัวพอดีแม้จะไม่ค่อยออกกำลังกายก็ตาม
จากข้อมูลที่ได้นี้ นักวิจัยด้านการแพทย์ของสเปนจึงสรุปว่า การออกกำลังกายแต่เพียงอย่างเดียวจะไม่สามารถทดแทนหรือลดผลเสียหรือความเสี่ยงต่อสุขภาพจากการมีน้ำหนักตัวเกินพอดีได้ และเรื่องนี้ก็เกิดขึ้นทั้งในเพศหญิงและเพศชายคล้ายๆ กัน
ส่วนอาจารย์ Michael Pencina รองคณบดีฝ่ายข้อมูลวิทยาศาสตร์และสารสนเทศของคณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัย Duke ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับงานวิจัยนี้ ก็ให้ความเห็นว่า สิ่งที่เราได้เห็นก็คือปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพของหัวใจนั้นจะเพิ่มขึ้นตามน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้น โดยกลุ่มที่จัดว่าเป็นโรคอ้วนจะมีภาระความเสี่ยงมากที่สุด
และเมื่อกลางเดือนมกราคมนี้ นักวิทยาศาสตร์ของมหาวิทยาลัย Oxford ก็เผยแพร่ผลการศึกษาขนาดใหญ่ที่แนะนำว่า การทำให้ร่างกายกระฉับกระเฉงอยู่เสมออาจสำคัญต่อการป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจมากกว่าที่เราคิดกัน ส่วนรายงานของ Cleveland Clinic ซึ่งเผยแพร่เมื่อต้นปีที่แล้ว ก็แสดงเช่นกันว่าไลฟสไตล์ที่เฉื่อยชานั้นเป็นผลเสียต่อสุขภาพมากกว่าการสูบบุหรี่ การเป็นโรคเบาหวาน และการเป็นโรคหัวใจเสียอีก
ดังนั้นหากอ่านรายงานเรื่องนี้แล้วยังนึกสงสัยหรือไม่เข้าใจ นายแพทย์ Anthony Rosenzweig แพทย์ด้านหัวใจและผู้สอนที่มหาวิทยาลัย Harvard สรุปว่า ในการสร้างสุขภาพให้ได้ดีที่สุดและลดความเสี่ยงต่อโรคหัวใจให้เหลือน้อยที่สุดนั้น เราควรให้ความสนใจกับทั้งสองเรื่องพร้อม ๆ กัน คือรักษาน้ำหนักตัวไม่ให้เกินพิกัด รวมทั้งหมั่นสนใจออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอนั่นเอง