ปรับนิสัยตนเอง เพื่อสุขภาพสมองที่ดีขึ้น!
เมื่ออายุมากขึ้น สมองก็ย่อมเสื่อมถอยไปตามกาลเวลา แต่ถ้าเราดูแลร่างกายให้ดีด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมหรือนิสัยต่าง ๆ เพื่อสุขภาพที่ดี ก็ใช่ว่าสมองจะต้องร่วงโรยไปตามสังขาร
โดยผลจากการสำรวจของฟินแลนด์ เมื่อปี 2015 พบว่าผู้สูงอายุที่ดูแลสุขภาพของตนเองจนเป็นนิสัย เช่น กินอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และยังมีกิจกรรมหรือปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น จะยังคงคิดอ่านได้คล่องแคล่ว และมีความเสี่ยงในการสูญเสียความทรงจำหรือเป็นโรคสมองเสื่อมที่น้อยลง
ส่วนใหญ่ทุกคนรู้ดีกันอยู่แล้วว่าควรจะดูแลสุขภาพของตนเองอย่างไร แต่อุปสรรคสำคัญอยู่ตรงที่ไม่สามารถทำได้อย่างตลอดรอดฝั่ง โดยมักจะทำได้แค่ช่วงแรก ๆ ที่เริ่มต้นเท่านั้น ก่อนจะพ่ายแพ้ใจตนเองแล้วล้มเลิกไป
แต่ถ้าไม่อยากให้ชีวิตในช่วงบั้นปลายต้องลงเอยด้วยการเป็นอัลไซเมอร์ ก็ต้องเริ่มฝึกนิสัยที่จะดูแลสุขภาพของตัวเองให้ได้เสียแต่วันนี้ ซึ่ง ดร.Joel Salinas นักประสาทวิทยาจากโรงพยาบาล Massachusetts General Hospital กล่าวไว้ว่ายิ่งดูแลสุขภาพให้เป็นนิสัยได้ยาวนานเท่าไร ก็ยิ่งส่งผลต่อสุขภาพสมองที่ดีมากขึ้นเท่านั้น!
โดย ดร.Joel Salinas แนะนำว่าการออกกำลังกายแบบแอโรบิกเป็นวิธีที่ดีที่สุดที่จะช่วยป้องกันสมองเสื่อมได้ เพราะเป็นการออกกำลังกายที่ช่วยเพิ่มการไหลเวียนของเลือดไปยังสมอง รวมถึงช่วยลดการทำร้ายสมองจากภาวะไขมันในเลือดสูง และความดันโลหิตสูงได้
นอกจากนี้ การออกกำลังกายก็ยังไปช่วยกระตุ้นให้สมองหลั่งสาร BDNF (Brain- derived Neurotrophic Factor) ที่จำเป็นต่อการซ่อมแซมเซลล์สมองด้วย ซึ่งคนที่มีการเคลื่อนไหวร่างกายมาก มักจะมีระดับสาร BDNF ที่มากตามไปด้วย
หากอยากมีสุขภาพสมองที่ดี ควรเริ่มจากการออกกำลังกายให้ติดเป็นนิสัย อย่างน้อยวันละ 20 นาที หรือ 150 นาทีต่อสัปดาห์ โดยเลือกกิจกรรมที่มีการเคลื่อนไหวร่างกายในระดับปานกลาง เช่น การเดินเร็ว เป็นต้น
ขณะที่เรื่องอาหารการกินก็เป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะมีความเชื่อมโยงกับการทำให้สมองเสื่อมด้วย ซึ่งอาหารที่ดีที่สุดสำหรับสมอง คืออาหารที่ดีต่อหัวใจและหลอดเลือด โดย ดร.Salinas แนะนำให้กินผลไม้ ผัก และเมล็ดธัญพืชมาก ๆ ขณะที่โปรตีนก็ควรเป็นโปรตีนจากปลาและพืชตระกูลถั่ว และควรเลือกไขมันไม่อิ่มตัวที่ดีต่อสุขภาพ เช่น น้ำมันมะกอก หรือน้ำมันคาโนล่า รวมถึงกินปลาที่มีกรดไขมันโอเมก้า 3, สตรอว์เบอร์รี่, บลูเบอร์รี่ และผักสีเขียวอย่างคะน้า ผักโขม หรือบร็อกโคลี่
ส่วนใครที่นอนน้อยกว่า 7 ชั่วโมง ก็ควรปรับเปลี่ยนนิสัยการนอนเสียใหม่ เพราะเป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคสมองเสื่อมให้มากยิ่งขึ้น ซึ่งในระหว่างที่เราหลับนั้น สมองจะไปช่วยขจัดโปรตีนอเมลอยด์ส่วนเกิน ซึ่งเป็นตัวการที่ทำให้เป็นอัลไซเมอร์ได้นั่นเอง
ขณะที่ความเครียดก็จะไปกระตุ้นให้สมองปล่อยฮอร์โมนคอร์ติซอลออกมา ซึ่งการปล่อยให้ร่างกายมีระดับคอร์ติซอลสูงเป็นเวลานาน ๆ นั้น จะส่งผลให้ออกซิเจนไปเลี้ยงสมองได้น้อยลง และทำให้สมองถูกทำลายได้ จนพัฒนาเป็นโรคสมองเสื่อมตามมา
ถ้าอยากแก่ตัวไปอย่างมีสุขภาพดี ยังจดจำเรื่องราวและผู้คนรอบตัวได้ ลองปรับนิสัยในการดูแลตนเองเสียตั้งแต่ตอนนี้ก็ยังไม่สาย เพื่อสุขภาพสมองที่ดีในวันข้างหน้า