ไม่อยากเสี่ยงมะเร็ง! อย่าปล่อยให้ “อ้วน” เกินพิกัด
แม้ว่าปัจจุบันคนส่วนใหญ่จะใส่ใจเรื่องสุขภาพ และอาหารการกินมากขึ้น เพื่อคุมน้ำหนักตัวไม่ให้ค่าดัชนีมวลกาย (BMI) เกินระดับมาตรฐาน แต่จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก (WHO) พบว่าทั่วโลกมีผู้ใหญ่ที่น้ำหนักตัวเกินมาตรฐานอยู่มากถึง 1.9 พันล้านคนเลยทีเดียว
สำหรับค่า BMI นั้น คำนวณได้ง่ายๆ ด้วยการนำน้ำหนักตัว (หน่วยเป็นกิโลกรัม) หารด้วย ส่วนสูงยกกำลังสอง (หน่วยเป็นเมตร) ซึ่งค่ามาตรฐานสำหรับน้ำหนักปกติของชาวเอเชียจะอยู่ที่ 18.5-24.9 ถ้าตัวเลขมากกว่า 24.9 ก็ถือว่าอ้วนเกินไปแล้ว
หากใครเข้าข่ายน้ำหนักตัวมากเกินไป ก็คงต้องระวังเรื่องสุขภาพกันเป็นพิเศษหน่อย เพราะไม่ได้มีแค่โรคที่เราคุ้นเคยอย่างเบาหวาน ความดันโลหิตสูง และหัวใจเท่านั้น แต่ไขมันในร่างกายที่เยอะเกินไป ยังไปเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งได้มากกว่า 10 ชนิด ซึ่งผู้ป่วยโรคมะเร็งทั่วโลก มีถึง 3.69 เปอร์เซ็นต์ที่พบมีภาวะน้ำหนักเกินหรือเป็นคนอ้วน
ทั้งนี้ ผลการศึกษาจากทีมนักวิทยาศาสตร์ของมหาวิทยาลัย Imperial College London ประเทศอังกฤษ พบว่าเซลล์ไขมันมีผลกระทบต่อกระบวนการควบคุมการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง ซึ่งเซลล์ไขมันจะผลิตฮอร์โมนและโปรตีนเข้าไปไหลเวียนอยู่ในกระแสเลือดทั่วร่างกาย
ดังนั้น หากมีจำนวนฮอร์โมนและโปรตีนที่หลั่งออกมาจากเซลล์ไขมันมากขึ้น ก็จะยิ่งไปขัดขวางกระบวนการควบคุมการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง จึงเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งได้มากขึ้นนั่นเอง
โดยมะเร็งที่นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่ามีความเกี่ยวข้องกับเรื่องของนักหนักตัวที่มากเกินไปนั้น ได้แก่ มะเร็งหลอดอาหาร มะเร็งตับอ่อน มะเร็งตับ มะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งลำไส้เล็ก มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งถุงน้ำดี มะเร็งปอด มะเร็งไต มะเร็งเต้านม มะเร็งรังไข่ และมะเร็งมดลูก
สำหรับมะเร็งชนิดที่พบได้มากที่สุดนั้น คือมะเร็งเต้านม และลำไส้ใหญ่ ส่วนมะเร็งที่รักษาได้ยากที่สุดคือ มะเร็งตับอ่อน มะเร็งหลอดอาหาร และมะเร็งถุงน้ำดี
นอกจากนี้ ยังพบด้วยว่า คนที่มีน้ำหนักตัวมากไปหรืออ้วนลงพุงจะมีระดับอินซูลินในร่างกายสูงกว่าปกติ ซึ่งนั่นจะส่งผลให้เซลล์มะเร็งเติบโตได้ดีขึ้น ขณะเดียวกันไขมันที่สะสมอยู่ในร่างกาย ก็มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนเพศหญิง (เอสโตรเจน) และฮอร์โมนเพศชาย (เทสโทสเตอโรน) ด้วย จึงไปเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคมะเร็งได้เช่นกัน