ความรัก เรื่องของหัวใจที่วิทยาศาสตร์อธิบายได้
14 กุมภาพันธ์ เป็นวันแห่งความรัก หรือที่เรารู้จักกันในนาม “วันวาเลนไทน์” คนครึ่งค่อนโลกรู้จักวันนี้ดี หลาย ๆ คนมักเลือกให้วันนี้เป็นโอกาสที่จะเปิดเผยความในใจให้กับใครบางคน แต่สารภาพไปแล้วจะปังหรือจะพังก็ต้องไปลุ้นกันอีกที
เรื่องของความรัก ใครต่อใครก็บอกว่ามันเป็นเรื่องของความรู้สึก ไม่มีตรรกะใด ๆ อธิบายว่าทำไมต้องเป็นคนนี้ ใครต่อใครก็บอกว่าความรัก ต้องใช้หัวใจไม่ใช่สมอง แต่จริง ๆ แล้ว ตามหลักวิทยาศาสตร์ที่พิสูจน์ถึงการมีอยู่ของสรรพสิ่งบนโลก ก็ยังบอกว่าถึงความรักจะเป็นเรื่องของหัวใจ มนุษย์เราก็ลืมไปว่าหัวใจก็อยู่ภายใต้การควบคุมของสมองอยู่ดี ถ้าอย่างนั้น เรามาดูกันหน่อยว่าวันแห่งความรักนี้ เราจะมองให้มันเป็นเรื่องทางวิทยาศาสตร์ได้อย่างไร
ความรัก ถูกควบคุมโดยฮอร์โมนสมองชนิดหนึ่งที่มีชื่อว่า ออกซิโตซิน (Oxytocin) ฮอร์โมนตัวนี้มีชื่อเล่นที่เราจะเรียกมันว่า “ฮอร์โมนแห่งความรัก”
เมื่อเราตกหลุมรักใครสักคน ฮอร์โมนแห่งความรักนี้จะหลั่งออกมาจากสมองส่วนไฮโปทาลามัส อิทธิพลของฮอร์โมนตัวนี้ที่หลั่งออกมามากในช่วงแรกของการตกหลุมรัก เป็นที่มาของคำว่าน้ำต้มผักก็ว่าหวาน ทำให้ช่วงโปรที่คบกันแรก ๆ เราถึงได้รู้สึกคลั่งรักกันเหลือเกิน รักแบบไม่ลืมหูลืมตา รักจนโงหัวไม่ขึ้น อะไรทำนองนั้น ยิ่งช่วงคบกันแรก ๆ เมื่อคู่รักได้ทำกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกัน ได้สัมผัสใกล้ชิด ได้กอด ได้หอม ได้จูบ ก็ยิ่งทำให้เลือดในกายพลุ่งพล่าน ฮอร์โมนแห่งความรักถูกผลิตมากมายเสียจนทำให้เราตกหลุมรักซ้ำแล้วซ้ำอีก
อิทธิพลของฮอร์โมนแห่งความรักนี้ไม่ได้มีแค่ทำให้เรารู้สึกหวั่นไหว ใจสั่น เวลาที่อยู่ใกล้ใครคนนั้นเท่านั้น แต่มันยังทำให้เกิดความผูกพัน อยากจะอยู่ใกล้ ๆ อยากจะใช้ชีวิตอยู่ด้วยกัน รักเดียวใจเดียว รักตลอดไป คู่รักหลายคู่ตอนที่เพิ่งเริ่มคบกันก็คิดไปไกลจนถึงการแต่งงานสร้างครอบครัว คิดไปถึงเรื่องการมีลูก ตั้งชื่อลูกไปแล้วก็มี
แต่ฮอร์โมนนี้ไม่ได้มีแค่ความรักแบบคู่รักเท่านั้น มันยังเป็นฮอร์โมนที่เกิดขึ้นระหว่างแม่กับลูกด้วย ออกซิโตซินเป็นฮอร์โมนหนึ่งที่จำเป็นสำหรับการคลอดลูก และการให้นมลูก ฮอร์โมนตัวนี้จะถูกผลิตออกมาเป็นจำนวนมากตามกลไกธรรมชาติ ทำให้เกิดสายใยรักระหว่างแม่ลูก คนเป็นแม่ยอมตายแทนลูกได้ ความรักยิ่งใหญ่แบบที่ลิลี่ พอตเตอร์มอบให้แฮร์รี่ พอตเตอร์นั่นแหละ
ส่วนในผู้ชาย หากสมองผลิตฮอร์โมนตัวนี้ออกมา จะทำให้ผู้ชายเกิดความรักเดียวใจเดียว จงรักภักดีต่อผู้หญิงที่ตนเองรัก ให้ความสนใจกับผู้หญิงคนอื่นที่ไม่ใช่คนรักของตัวเองน้อยลง รับบทคนคลั่งรักที่สายตานี้มีไว้เพื่อเธอคนเดียว แต่น่าเสียดายที่ฮอร์โมนนี้อาจจะผลิตขึ้นมาไม่มากพอในผู้ชายบางคน
แต่ความจริงแล้ว ฮอร์โมนที่เกี่ยวกับความรักไม่ได้มีแค่ออกซิโตซินเพียงอย่างเดียว ดังที่เราจะเห็นว่าระดับความรักมันไม่เท่ากัน หากเราพูดถึงความรัก เราจะแบ่งระดับความรักได้เป็น 3 ขั้นคร่าว ๆ ในแง่ของวิทยาศาสตร์และสารเคมีในสมอง
Attraction – ความรักแบบดึงดูด สนใจ ถูกตาต้องใจ ต้องเข้าไปทำความรู้จัก หลงใหล
Lust – ความรักแบบความใคร่ อารมณ์ทางเพศพลุ่งพล่าน นำไปสู่ sex
Attachment – ความรักแบบรู้สึกผูกพัน เป็นรักแบบที่ลึกซึ้งกว่า 2 แบบข้างต้น
โดยความรักแบบความใคร่กับความรักแบบรู้สึกหลงใหลนั้น เราจะรู้สึกได้ว่ามันเป็นความรักแบบโรแมนติก โดยความรัก 2 แบบนี้จะเกิดร่วมกันหรือแยกกันก็ได้ ในขณะเดียวกันความรักแบบผูกพัน ความรู้สึกจะต่างออกไป ที่สำคัญคือไม่ได้พบแค่ความสัมพันธ์แบบคู่รักเท่านั้น แต่มีความรักของคนในครอบครัว เพื่อนฝูง บุคคลใกล้ชิด นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมความรักที่เรารักพ่อแม่ กับความรักที่รักแฟนนั้น ความรู้สึกหรือความปรารถนาถึงไม่เหมือนกัน
แต่ถึงกระนั้น ฮอร์โมนออกซิโตซินก็ถูกกระตุ้นให้ผลิตได้ในขณะที่มี sex เหมือนกัน เมื่อถึงจุดสุดยอด ฮอร์โมนตัวนี้จะถูกหลั่งออกมามาก ทำให้เกิดความรู้สึกผูกพันฉันสามีภรรยากับอีกฝ่ายมากขึ้น รู้สึกราวกับเป็นคนคนเดียวกัน
นอกจากความรักแบบผูกพันที่เกิดจากฮอร์โมนออกซิโตซินแล้ว ความรักอีก 2 แบบก็ได้รับอิทธิพลมาจากฮอร์โมนที่ร่างกายหลั่งออกมาเหมือนกัน ความรักแบบความใคร่ ถือเป็นกลไกการสืบพันธ์ุของสิ่งมีชีวิต ซึ่งเป็นความรู้สึกตามธรรมชาต ถูกควบคุมโดยฮอร์โมนเพศเทสโทสเตอโรนในเพศชาย (ผลิตที่อัณฑะ) และฮอร์โมนเพศเอสโตรเจนในเพศหญิง (ผลิตที่รังไข่)
แต่ฮอร์โมนเพศจะถูกกระตุ้นให้หลั่งออกมาโดยสมองส่วนไฮโปทาลามัส มักเกิดขึ้นพร้อม ๆ กับความรักแบบหลงใหล ก็คือเวลาที่รู้สึกรักใครชอบใคร หากบรรยากาศเป็นใจ และความต้องการทางเพศก็มากจนควบคุมไม่ได้ จนนำไปสู่เรื่องบนเตียง
ส่วนความรักแบบหลงใหล มันเป็นเพียงความรู้สึกชอบ อยากรู้จัก อยากใกล้ชิด ซึ่งยังไม่ถึงขั้นมีอารมรณ์ทางเพศ ความรู้สึกนี้เป็นผลมาจากฮอร์โมนโดปามีน ซึ่งถูกกระตุ้นและผลิตโดยสมองส่วนไฮโปทาลามัสเหมือนกับฮอร์โมนออกซิโตซิน ความรู้สึกหลงใหลที่ว่า คือการที่เรารู้ฟิน ละเมอเพ้อพก โลกเป็นสีชมพู มองไปทางไหนก็เห็นแต่หน้าเธอ ท้องไส้ปั่นป่วนเหมือนมีผีเสื้อพันตัวบินอยู่ในท้อง กินไม่ได้นอนไม่หลับเทือก ๆ นั้น แต่อาจเกิดความใคร่ร่วมด้วยก็ได้
ทั้งนี้ฮอร์โมนความรักแบบหลงใหลกับความรักแบบความใคร่นั้น อาจกดการทำงานของคอร์เทกซ์กลีบหน้าผากส่วนหน้า ซึ่งเป็นสมองส่วนที่ควบคุมการใช้เหตุผล พฤติกรรมเกี่ยวกับการรับรู้ที่ซับซ้อน บุคลิก การตัดสินใจ รวมถึงควบคุมความประพฤติที่เกี่ยวข้องกับสังคม พูดง่าย ๆ ก็คือ มีหน้าที่ควบคุมความคิดและการกระทำให้สอดคล้องกันไปตามเป้าหมายที่อยู่ภายในใจ ซึ่งจะทำให้ในช่วงที่ความต้องการทางเพศพลุ่งพล่าน ลุ่มหลง หรือตกหลุมรักใครสักคนแบบคลั่งรักจะเป็นจะตาย อาจทำให้เราทำอะไรที่ไม่มีเหตุผลลงไปได้
เมื่อรู้แบบนี้แล้ว ความรักที่ใคร ๆ เคยรู้จักอาจจะดูโรแมนติกน้อยลงไปเลยก็ได้ อย่างน้อยก็คงจะสับสนอยู่ ว่าที่เรารักใครสักคนนั้น มันมาจากเสียงเรียกร้องของหัวใจ หรือเพราะฮอร์โมนจากสมองสั่งให้รักกันแน่