รู้จัก “กัญชง” ชื่อคล้ายกัญชา แต่อะไรล่ะที่ไม่คล้ายกัน
หลังจากที่ “กัญชา” ถูกปลดล็อกให้สามารถปลูกได้ นำมาปรุงอาหารได้ และใช้ได้อย่างถูกกฎหมาย (ในบางกรณี) ทำให้กัญชาถูกนำมาพูดถึงในวงกว้าง ใคร ๆ ต่างก็หันมามองว่าตนเองจะสามารถใช้ประโยชน์อะไรจากกัญชาได้บ้าง ทำให้เราคุ้นเคยกับชื่อกัญชาดี แต่ ณ เวลานี้ ชื่อที่ได้ยินควบคู่มากับกัญชาคือ “กัญชง” หลายคนไม่รู้จัก และหลายคนก็อาจไม่เคยได้ด้วยซ้ำ ฉะนั้น Tonkit360 จะขอพาทุกคนไปทำความรู้จักกัญชงให้มากขึ้น ก่อนที่จะสับสนกันไปมากกว่านี้
รู้จัก “กัญชง” แค่ชื่อ “คล้าย” กัญชา
ด้วยความที่มันกัญ ๆ เหมือนกัน อาจทำให้หลายคนเข้าใจผิดว่ากัญชงเป็นเพียงคำอุทานเสริมบทของกัญชา ที่คนไทยมักจะคุ้นเคยกับคำสร้อยเวลาพูด เช่น อาบน้ำอาบท่า อยู่บ้านอยู่ช่อง เลอะทงเลอะเทอะ ทำนองนี้ แต่กัญชงไม่ใช่คำอุทานเสริมบทของกัญชา เพราะกัญชงมีตัวตน มันแค่คล้ายกับกัญชา ทั้งชื่อและลักษณะทางพฤกษศาสตร์ สำหรับคนที่ไม่เชี่ยวชาญ ก็อาจจะแยะไม่ออกก็ได้
กัญชง มีชื่อภาษาอังกฤษว่า Hemp ส่วนชื่อทางวิทยาศาสตร์คือ Cannabis sativa L.subsp. sativa เป็นพืชล้มลุกมีลักษณะทางพฤกษศาสตร์คล้ายกัญชา มีลำต้นสูงกว่ากัญชา ลำต้นเป็นสีเขียวตั้งตรง สูงประมาณ 1-6 เมตร แตกกิ่งก้านสาขาน้อยไปในทิศทางเดียวกัน มีปล้องหรือข้อยาว ใบสีเขียวอ่อนอมเหลือง มีแฉกประมาณ 7-11 แฉก ใบจะมีการเรียงสลับที่ห่างกันชัดเจน โดยจะออกดอกเมื่ออายุ 3-4 เดือน ช่อดอกมียางไม่มาก ต่อมน้ำมันของกัญชงมีน้อยกว่ากัญชา เปลือกเหนียวลอกง่าย เมล็ดมีขนาดใหญ่ ผิวเมล็ดหยาบด้าน เมื่อนำใบมาสูบจะมีกลิ่นหอมน้อย ทำให้ผู้เสพปวดศีรษะได้ รวมถึงระยะห่างระหว่างต้นจะแคบ (การปลูก) เพราะปลูกเพื่อเอาเส้นใย
กัญชงและกัญชา เป็นพืชที่มีต้นกำเนิดจากพืชชนิดเดียวกัน คือ Cannabis sativa L. ที่อยู่ในวงศ์ Cannabidaceae จึงทำให้ลักษณะภายนอกคล้ายกัน มีแหล่งกำเนิดในเอเชียกลาง จากนั้นแพร่กระจายไปสู่เอเชียตะวันออก อินเดีย และยุโรป แต่ด้วยความที่พืชทั้งสองถูกนำไปใช้ประโยชน์แตกต่างกัน ต่อมาจึงมีการคัดเลือกสายพันธุ์ที่มีความแตกต่างไปจากสายพันธุ์เดิม จึงทำให้กัญชาและกัญชงมีลักษณะต่างกันมากขึ้น (แต่สำหรับคนที่แยกไม่ออกก็ยังมองว่ามันคล้ายกันอยู่ดี)
สิ่งที่แยกกัญชาและกัญชงออกจากกัน คือ สารสกัดที่ได้จากพืชทั้ง 2 ชนิดที่มีปริมาณต่างกัน กัญชงและกัญชามีสารที่เรียกว่า THC (Tetrahydroconnabinol) และ CBD (Canabidiol) แต่กัญชงมีปริมาณ THC ต่ำมาก จึงไม่ได้จัดอยู่ในประเภทยาเสพติด
สาร THC เป็นสารที่ทำให้ให้เกิดอาการเมาหรือเคลิบเคลิ้ม ในกัญชาพบอยู่ประมาณ 1-20 เปอร์เซ็นต์ ส่วนกัญชงมีอยู่น้อยกว่า 1 เปอร์เซ็นต์ แต่ในทางการแพทย์สาร THC จะมีประโยชน์ในการบรรเทาอาการปวด กระตุ้นให้เกิดความอยากอาหาร รักษาผลข้างเคียงจากการทำเคมีบำบัด แต่การใช้สารชนิดนี้ก็อาจจะทำให้ผู้ป่วยได้รับผลข้างเคียงด้วยเช่นกัน เช่น ปากแห้ง ตาแห้ง การตอบสนองช้าลง
สาร CBD เป็นสารที่พบในกัญชงมากกว่ากัญชา คือพบประมาณ 2 เปอร์เซ็นต์ สารนี้ทำให้กัญชงมีสรรพคุณในการรักษาโรคบางชนิดสูงกว่ากัญชา โดยคุณสมบัติทางการแพทย์ของ CBD นั้นมีหลายประการ เช่น ลดอาการปวด แก้อาการนอนไม่หลับ แก้โรคลมชัก ใช้ในปริมาณสูงก็ไม่มีผลข้างเคียงใด ๆ และสารนี้ยังนิยมนำมาใช้ในเครื่องสำอาง
การใช้ประโยชน์จากกัญชง
กัญชง เป็นพืชที่ให้เส้นใยยาวละเอียดใกล้เคียงกับลินิน แข็งแรงกว่าฝ้าย ดูดซับความชื้นดีกว่าไนลอน และให้ความอบอุ่นกว่าลินิน มีเหนียวทนทาน เงางาม กัญชงจึงถือเป็นเส้นใยธรรมชาติชั้นดี ที่เป็นที่นิยมใช้ถักทอเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม จึงเป็นพืชที่ให้ประโยชน์ทางด้านสิ่งทอเป็นสำคัญ
ประโยชน์เด่นของกัญชงนั้น คือเรื่องการนำมาใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมสิ่งทอ เนื่องจากความเหนียวทนทานของเส้นใย แถมยังให้ผลผลิตมากกว่าฝ้าย มีคุณภาพดี และใช้แรงงานในการปลูกน้อยกว่า อย่างไรก็ดี กัญชงยังมีประโยชน์ทางการแพทย์ด้วย
สรรพคุณทางยาของกัญชงนั้น ใบมีสรรพคุณเป็นยาบำรุงโลหิต และสรรพคุณที่ใกล้เคียงกับกัญชา คือช่วยให้รู้สึกผ่อนคลาย สดชื่น นอนหลับสบาย แต่ไม่ได้ถึงขั้นเมาแล้วเสพติด ช่วยรักษาอาการปวดศีรษะ ไมเกรน บรรเทาอาการเจ็บปวด คลายกล้ามเนื้อ ในส่วนของเมล็ดใช้เมล็ดสด (เคี้ยวสด) ใช้เป็นยาสลายนิ่ว รัก
ส่วนการใช้ประโยชน์ของกัญชงในอุตสาหกรรมต่าง ๆ นั้น สามารถนำไปใช้ตามส่วนประกอบของต้น ได้แก่
- เปลือกของลำต้น ให้เส้นใยที่เหนียวมาก นำไปใช้ทำเชือก เส้นด้าย ทอผ้า เสื้อเกราะกันกระสุน กระเป๋า รองเท้า
- เนื้อของลำต้น นำไปผลิตกระดาษ
- เมล็ด นำมาประกอบอาหารได้ โดยน้ำมันจากเมล็ดกัญชงนั้นมีสารอาหาร เช่น โอเมกา 3 (สูงมาก) โอเมกา 6 โอเมกา 9 กรดลิโนเลอิก กรดไขมันลิโนเลนิกอัลฟา กรดไขมันลิโนเลนิกแกรมมา สารในกลุ่มวิตามิน เช่น วิตามินอี มีประโยชน์ต่อการป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือด และยังมีโปรตีนสูงมาก สามารถนำมาใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร ผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เช่น เนย ชีส เต้าหู้
- น้ำมันจากเมล็ด สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง คือ นำไปผลิตเป็นสบู่ เครื่องสำอาง ครีมกันแดด แชมพู โลชั่น ลิปสติก ลิปบาล์ม แม้กระทั่งเป็นน้ำมันเชื้อเพลิง
- ใบ ใช้ประกอบอาหาร ทำยารักษาโรค เครื่องสำอาง น้ำมันหอมระเหย