“พยายามเป็นสามเท่า” แนวคิดที่อยู่เบื้องหลังความแข็งแกร่งของนักยูโด คิมูระ มาซาฮิโกะ

“พยายามเป็นสามเท่า” แนวคิดที่อยู่เบื้องหลังความแข็งแกร่งของนักยูโด คิมูระ มาซาฮิโกะ

“พยายามเป็นสามเท่า” แนวคิดที่อยู่เบื้องหลังความแข็งแกร่งของนักยูโด คิมูระ มาซาฮิโกะ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

มารู้จัก “อิไอโด” ศิลปะการฟันดาบในชั่วพริบตาของเซ็นอิตสึใน KIMETSU NO YAIBA

คิมูระ มาซาฮิโกะ (木村政彦) นักยูโดผู้แข็งแกร่งที่สุดในประวัติศาสตร์ จนถึงกับมีผู้กล่าวขานว่า “ก่อนหน้าคิมูระ ไม่มีคิมูระ หลังจากคิมูระ ไม่มีคิมูระ” เรียกว่าสุดแกร่งไม่มีผู้ใดเสมอเหมือน ซึ่งถ้าท่านผู้อ่านอยากรู้ว่าความแข็งแกร่งของคิมูระนั้นมีตำนานเล่าขานขนาดไหน ผู้เขียนขอบรรยายสั้นๆ ดังนี้

  • อายุ 15 ได้ยูโดสายดำสี่ดั้ง เอาชนะนักยูโดระดับไล่เลี่ยกันติดกันได้ 6 คน!
  • อายุ 18 ได้ยูโดสายดำห้าดั้ง เป็นสายดำห้าดั้งที่อายุน้อยสุดในประวัติศาสตร์ เอาชนะนักยูโดที่สำนักใหญ่โคโดคันติดกันได้ถึง 8 คน!
  • อายุ 30 ได้ยูโดสายดำเจ็ดดั้ง ฝึกคาราเต้สำนักโกจูริว โดยเป็นศิษย์ของ So-Nei Chu ผู้เป็นศิษย์ของอาจารย์มิยางิ โชจุน ปรมาจารย์เจ้าสำนักโกจูริวอีกที จนได้เป็นผู้ช่วยสอน รุ่นเดียวกับโอยามะ มาสุทัตสึ (ผู้ซึ่งภายหลังเป็นปรมาจารย์เจ้าสำนักเคียวคุชิน)
  • อายุ 34 เอาชนะเฮลิโอ เกรซี่ เจ้าสำนักเกรซี่ยูยิตสูได้ด้วยกระบวนท่า “อุเดะการามิ” จนเกรซี่ยูยิตสู (ซึ่งภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น “บราซิลเลียนยูยิตสู”) ต้องขนานนามกระบวนท่านี้ว่า Kimura Lock ซึ่งทุกวันนี้เรียกสั้นๆ ว่าท่า Kimura
    แต่เบื้องหลังความแข็งแกร่งนี้คืออะไร?

“ถ้าคู่ต่อสู้พยายามหนึ่งเท่า เราก็ต้องทำให้ได้สามเท่า ฝึกมัน (วันละ) เก้าชั่วโมง”
วงการยูโดของญี่ปุ่นสมัยก่อนนั้นมีองค์กรที่เรียกว่า “บุโตคุไค” (武徳会) ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของสำนักยูยิตสูโบราณ ซึ่งเป็นอีกองค์กรหนึ่งที่แยกต่างหากจากสำนักโคโคคัน และยังมียูโดอีกแนวหนึ่งที่เรียกกันว่า “ยูโด ม.ปลาย อาชีวะ” (高専柔道 โคเซ็นยูโด) ซึ่งพัฒนาวิชาสาย “ท่านอน” (เนะวาสะ 寝技) ซึ่งแพร่หลายไปตามโรงเรียนมัธยมปลายและโรงเรียนอาชีวะ แต่พอเข้าสงครามโลกครั้งที่สอง การสืบทอดกระบวนท่าพวกนี้ก็ถูกขัดขวาง สำนักโคโดคันก็มาจำกัดพวกท่านอนท่ายืนเห็นว่าเป็นอันตราย (ซึ่งในห้วงเวลาหลายสิบปีที่ผ่านกระบวนที่เห็นว่าเป็นอันตรายก็ถูกจำกัด ถูกห้ามใช้ในการแข่งขันเสียจนท่าพวกนี้พอขาดการเรียนการสอนไปมากๆ เข้าน่ากลัวว่าจะสูญไป) ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้คือจะบอกว่า คิมูระ มาซาฮิโกะ มาจากสายโคเซ็นยูโดครับ ซึ่งแน่นอนว่าต้องเป็นเลิศในเรื่องท่านอน ว่ากันว่าขนาดแชมป์ระดับประเทศญี่ปุ่นหรือพวกได้เหรียญโอลิมปิก มาซ้อมบนเบาะกับคิมูระตอนอายุ 40-50 นี่ยังกลายเป็นเด็กน้อยไปเลย

เมื่อคิมูระยังหนุ่ม ในการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศระดับประเทศ เดือนตุลาคมปี พ.ศ. 2480 กับนากาจิมะ มาซายูกิ “เสือแห่งแมนจูเรีย” เมื่ออายุเข้า 20 ปี ซึ่งต่อสู้กันอย่างดุเดือดนานถึงราว 40 นาที แม้ว่าคิมูระจะชนะ แต่ก็นึกสงสัยและกังวลกับความสามารถของตัวเอง หลังจากกลุ้มใจมาได้ 10 วัน จึงได้ข้อสรุปว่า จากนี้ไปจะต้อง “พยายามเป็นสามเท่า” ฝึกมันวันละเก้าชั่วโมงเลย นี่คือวิถีแห่ง “ยูโดอสูร” อย่างแท้จริง

ตัวอย่างวีรกรรมของความ “พยายามเป็นสามเท่า” มีดังนี้

  • วิดพื้นวันละ 1,000 ครั้ง
  • ยกบาร์เบล 80 กิโล ทำท่า bench press วันละหกร้อยที
  • ฝึกเข้าท่าทุ่ม (อุจิโคมิ 打ち込み) กับต้นไม้วันละพันที แล้วตอนหลังจึงเปลี่ยนมาเป็น
  • ฝึกท่าโอโซโตะการิ (大外刈り เกี่ยวขาด้านนอก) กับต้นไม้
    ไม่หลับไม่นอน ฝึกมันยันตีสองครึ่ง โดยมีคติว่า คนนอนก็เหมือนคนตาย เราต้องไม่ตาย ต้องมีชีวิต แล้วฝึกต่อไปยันตีสี่ครึ่ง (แล้วค่อยไปงีบเอาที่โรงเรียน 55)

ฝึกอย่างนี้ สัปดาห์ละหกวัน

เอาคลิปภาพยนตร์การฝึกลูกศิษย์ของคิมูระ มาซาฮิโกะในฐานะอาจารย์กันดูนะครับ ไหวไม่ไหวก็ถามใจเธอดู


ผลลัพธ์ที่ได้ คือ

  • ท่าโอโซโตะการิระดับอสูร ไปเล่นที่กรมตำรวจหรือที่โคโดคังทีไรก็เล่นซะคู่ซ้อมหัวฟาดพื้นสมองกระเทือน วันละเป็นสิบคน (จนต้องขอกันว่า เวลาซ้อม ขออย่าใช้ท่านี้)
  • แชมป์ระดับประเทศญี่ปุ่นสามสมัยซ้อน
  • ชนะเลิศการแข่งขันหน้าพระที่นั่งจักรพรรดิ ปี พ.ศ. 2483
  • พอสงครามเลิก ปี พ.ศ. 2492 กลับมาเป็นแชมป์ระดับประเทศญี่ปุ่นอีกครั้ง
  • ปี พ.ศ. 2494 เอาชนะเฮลิโอ เกรซี่ ได้ และชื่อ Kimura ได้กลายเป็นชื่อกระบวนท่าล็อคแขน และเรื่องราวชัยชนะของคิมูระ มาซาฮิโกะ ได้กลายเป็นตำนานเล่าขานในวงการบราซิลเลียนยูยิตสู และเมื่อรบราซิลเลียนยูยิตสูแพร่หลายออกไป ชื่อและตำนานของ  Kimura ก็เป็นที่รับรู้และจดจำไปทั่วโลก
    ภาพตอนคิมูระใข้ท่า “เคสะกาตะเมะ” สยบเฮลิโอ เกรซี่ ที่มา wikipedia.org
    เรื่องจริงเรื่องนี้ สอนให้รู้ว่า “ความแข็งแกร่งที่แท้ อยู่ที่จิตใจ” กล่าวคือความมุ่งมั่นที่จะมีชัย มุ่งมั่นที่จะแข็งแกร่ง ใจมุ่งมั่น เราทำได้ ก่อนจากกันขอฝากคลิปนี้ให้ดูหน่อยนะครับ นี่คือการสาธิตกระบวนท่าในฐานะอาจารย์ แน่นอนว่ามีท่า “อุเดะการามิ” 腕緘 หรือที่บรรดาฝรั่งที่เล่นบราซิลเลี่ยนยูยิตสูพากันเรียกว่าท่า Kimura ด้วย ขอเชิญชม

 

สำหรับวันนี้ก็เท่านี้ก่อนนะครับ สวัสดีครับ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook