สเกตพังค์ : ขุดต้นตอกีฬาไถบอร์ดเป็นส่วนหนึ่งดนตรีหัวขบถได้อย่างไร ?

สเกตพังค์ : ขุดต้นตอกีฬาไถบอร์ดเป็นส่วนหนึ่งดนตรีหัวขบถได้อย่างไร ?

สเกตพังค์ : ขุดต้นตอกีฬาไถบอร์ดเป็นส่วนหนึ่งดนตรีหัวขบถได้อย่างไร ?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

สเกตบอร์ด กับ พังค์ กลายเป็นสิ่งที่แยกกันไม่ขาด ในความทรงจำของใครหลายคน เสื้อยืด กางเกงยีนส์สีดำ รองเท้า VANS สีดำ และบอร์ดสเกตคู่ใจ คือสัญลักษณ์ที่แสดงให้ตัวตนความเป็น "สเกตพังค์" ได้อย่างชัดเจน

ความคล้ายกันอย่างน่าประหลาด ของทั้งสองวัฒนธรรม ทั้งในแง่ถิ่นที่กำเนิด รวมถึงความหมายของกีฬา และแนวดนตรี ทำให้ สเกตบอร์ด และพังค์เป็นเพื่อนคู่ใจมาหลายสิบปี แม้ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงไปในแต่ละยุคสมัย แต่สุดท้ายก็ไม่สามารถแยกจากกันได้อยู่ดี

จะเป็น ฮาร์ดคอร์ พังค์ หรือ ป๊อป พังค์ ดนตรีประเภทนี้ยังคงอยู่คู่กับสเกตบอร์ดมาโดยตลอด รวมถึงยุคปัจจุบันที่วัฒนธรรมสเกตพังค์ โดนท้าทายอย่างหนัก จากช่วงเวลาที่เปลี่ยนไป

จุดเริ่มต้นที่แคลิฟอร์เนีย
ความเชื่อมโยงระหว่างสเกตบอร์ด และดนตรีพังค์ร็อค เริ่มต้นในช่วงปลายยุค 70s ที่รัฐแคลิฟอร์เนีย อันเป็นสถานที่กำเนิดของวงดนตรีพังค์หน้าใหม่ ไม่ว่าจะเป็น Black Flag, Adolescents หรือ Circle Jerks 

วงดนตรีเหล่านี้ ถือว่ามีความสดใหม่ในแง่ของงานเพลง ที่มีความหนักและดุดันผ่านซาวด์ดนตรีมากกว่ายุคก่อน จนทำให้เหล่าวงพังค์จากแคลิฟอร์เนีย ถูกนิยามให้เป็นต้นกำเนิดของ "ฮาร์ดคอร์พังค์" ในเวลาต่อมา

ฮาร์ดคอร์พังค์ มีตัวตนที่ชัดเจนเป็นของตัวเอง นอกจากดนตรีที่ร้อนแรง เพลงยังมีเนื้อหาที่ถูกใจคนรุ่นใหม่ในยุคนั้น กับการเรียกร้องเสรีภาพ ปลุกระดมให้คนแสดงออกความเป็นตัวตนของตัวเอง และต่อต้านอำนาจรัฐ 

Photo : Huck Magazine

นอกจากนี้ ฮาร์ดคอร์พังค์ ได้สร้างวัฒนธรรมของตัวเองขึ้นมา นั่นคือ "สเตรจเอดจ์" หรือแนวคิดที่ไม่เล่นยา ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ ไม่สูบบุหรี่ ซึ่งแตกต่างจากนักดนตรีในสมัยนั้นโดยสิ้นเชิง

ทำให้วัฒนธรรมดนตรีแนวนี้ ถือเป็นการเปิดโลกใหม่อย่างชัดเจน ให้กับคนที่เบื่อขนบธรรมเนียมเก่า ๆ และอยากสร้างตัวตน หาความสุขใหม่ ๆ ให้กับชีวิต

ความนิยมของดนตรีพังค์แบบฮาร์ดคอร์ในแคลิฟอร์เนีย โด่งดังจนอิทธิพลเริ่มผูกเข้าไปเชื่อมโยง กับอีกวัฒนธรรมหนึ่งซึ่งเป็นที่นิยมอยู่แล้วในฝั่งตะวันตก นั่นคือสเกตบอร์ด ที่ได้รับความนิยมในย่านนี้ มาตั้งแต่ยุค 50s

Photo : Monster Children

อย่างไรก็ตาม สเกตบอร์ดกำลังเจอปัญหาหนักในช่วงต้นยุค 80s จากการเข้ามีบทบาทของบริษัทนายทุนที่พยายามจะควบคุมความเป็นไปของสเกตบอร์ด จนทำให้คนที่รักกีฬาประเภทนี้ ต้องการหาทางออก ผ่านการสร้างตัวตนใหม่ เพื่อแสดงให้เห็นว่า เกมนี้เป็นของผู้คน ไม่ได้ถูกควบคุมโดยทุนนิยม อย่างที่โลกต้องการให้เป็น

คำตอบของเหล่าคนรักสเกตบอร์ด ไม่ได้อยู่ไกลตัว เพราะวัฒนธรรมฮาร์ดคอร์พังค์ เพื่อนร่วมรัฐแคลิฟอร์เนีย มีทุกอย่างที่พวกเขาต้องการ ทั้งความดิบเถื่อน รวดเร็ว และร้อนแรง ของดนตรีแนวนี้ ซึ่งถูกนิยามว่าเป็นเหมือนกีฬาสเกตบอร์ดของวงการดนตรี รวมถึงแนวเพลงต่อต้านสังคม ที่คล้องจองกับความคิดของคนรักกีฬาสเกตในช่วงเวลานั้นได้เป็นอย่างดี

ด้วยเหตุนี้ ทั้งสองวัฒนธรรมจึงผนวกด้วยการอย่างรวดเร็ว กลายเป็นซับคัลเจอร์ที่ถูกเรียกว่า "สเกตพังค์" ซึ่งเหล่าคนรักสเกตบอร์ด หันมาเป็นแฟนตัวยงของดนตรีฮาร์ดคอร์พังค์ ที่มีแกนนำเป็น The Big Boys และ JFA สองวงดนตรีหน้าใหม่ช่วงยุค 80s ที่ได้รับการขนานามว่า เป็นผู้เริ่มต้นแนวเพลงสเกตพังค์ ขึ้นมาอย่างเต็มตัว

Photo : The Vinyl Factory

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง The Big Boys ที่เรียกได้ว่าเป็นต้นตระกูลของวัฒนธรรมสเกตพังค์ ในฐานะวงดนตรีวงแรกที่นำสเกตบอร์ดเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งกับโลกดนตรีอย่างเต็มตัว กับการเป็นศิลปินที่เล่นกีฬาสเกตบอร์ด แต่งตัวเหมือนคนเล่นกีฬาชนิดนี้ รวมถึงมีเพลงที่เชื่อมโยงกับวงการสเกตบอร์ดอย่างชัดเจน

ไม่นานนัก The Big Boys ได้แสดงถึงความเชื่อมโยงระหว่างดนตรีพังค์ กับ สเกตบอร์ดอย่างชัดเจน ด้วยการไปขึ้นปกหนังสือ Thrasher นิตยสารสเกตชื่อดัง รวมถึงมีสเกตบอร์ดที่ผลิตเป็นลวดลายของวงออกวางจำหน่ายในเวลาต่อมา

จากฮาร์ดคอร์สู่ป๊อป
สเกตพังค์ กลายเป็นป๊อปคัลเจอร์ที่ได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว ผ่านการประชาสัมพันธ์โดยนิตยสาร Thrasher ที่มักนำศิลปินพังค์ร็อคมาขึ้นปกหนังสืออย่างต่อเนื่อง จนกลายเป็นเรื่องปกติที่ได้เห็นศิลปินฮาร์ดคอร์ อยู่บนหนังสือของสเกตบอร์ด ต่อให้พวกเขาจะไม่ได้เล่นกีฬาชนิดนี้

เข้าสู่ยุค 90s สเกตพังค์ไม่ได้เป็นเพียงวัฒนธรรมของคนกลุ่มเล็ก ๆ ในแคลิฟอร์เนียอีกต่อไป แต่มีอิทธิพลกว้างไกลไปทั่วสหรัฐอเมริกา และก่อกำเนิดวงดนตรีหน้าใหม่ขึ้นมาจำนวนมาก ทั้ง The Offspring, Rancid, Blink-182, Pennywise ไปจนถึง Bad Religion

อย่างไรก็ตาม กระแสสเกตพังค์ที่ดังขึ้น เท่ากับว่ากลุ่มคนที่หันมาเล่นดนตรีพังค์ โดยเชื่อมโยงกับกีฬาสเกตบอร์ด ย่อมมีมากขึ้นเช่นกัน ทำให้วัฒนธรรมสเกตพังค์ ไม่ได้ผูกกับแนวเพลงแบบฮาร์ดคอร์อีกต่อไป เพราะป๊อปพังค์ กลายเป็นคลื่นลูกใหม่ที่เข้ามามีอิทธิพลในวัฒนธรรมนี้แทน

หากพูดในแง่ของความนิยม ศิลปินแนวป๊อปพังค์ดูจะทำได้ดีกว่าสายฮาร์ดคอร์อยู่พอสมควร เพราะผลงานของพวกเขา ขายดีเป็นเทน้ำเทท่า ไม่ว่าจะเป็น อัลบั้ม Smash ของ The Offspring ที่วางจำหน่ายในปี 1994 ซึ่งขายได้มากกว่า 6 ล้านแผ่น เฉพาะแค่ในสหรัฐอเมริกา

ผนึกกำลังกับ อัลบั้ม Stranger than Fiction ของ Bad Religion และ ...And Out Come the Wolves ของวง Rancid ช่วงส่งให้กระแสสเกตพังค์ขึ้นสู่วงการเมนสตรีมในที่สุด และยังทรงอิทธิพลมาถึงคนรุ่นหลัง ที่มองว่า สเกตบอร์ด ต้องคู่กับดนตรีพังค์ เป็นสิ่งที่แยกขาดจากกันไม่ได้


Photo : Twitter | @offspring

สเกตพังค์ ไม่ใช่แค่เรื่องของดนตรีอีกต่อไป แต่กลายเป็นอีกหนึ่งวัฒนธรรมที่มีความหมายกับชีวิตมนุษย์ ไม่ต่างจาก ฮิปฮอป, ร็อค, บริทป๊อป หรือ คันทรี 

แม้ว่าเรื่องความสด หนักแน่น และดิบเถื่อน ของเสียงเพลง จะเริ่มหายไปจากวัฒนธรรมสเกตพังค์ แต่การเข้ามาของดนตรีป๊อป ช่วยให้คนส่วนใหญ่สามารถเข้าถึง และเป็นส่วนหนึ่งกับป๊อปคัลเจอร์นี้ได้อย่างง่ายดาย เสื้อผ้า สินค้า โฆษณา ต่าง ๆ ผลิตซ้ำแนวทางของสเกตพังค์ซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนโด่งดังไปทั่วโลก 

Photo : Thai Outdoor Group

Vans บริษัทรองเท้าสเกตชื่อดัง คือตัวอย่างของสิ่งที่ได้รับประโยชน์จากวัฒนธรรมนี้ จากแบรนด์ผลิตรองเท้ากีฬาทั่วไป ได้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของกระแสสเกตพังค์ กับการออกแบบรองเท้าสนีกเกอร์ ที่ผสมผสานความเป็นรองเท้าสเกต ไปพร้อมกับลวดลายของศิลปินพังค์ ที่ช่วยเพิ่มยอดขายได้อย่างรวดเร็ว

ปัจจุบัน อิทธิพลข้างต้นของรองเท้า Vans ยังคงอยู่กับวงการสนีกเกอร์มาจนถึงปัจจุบัน และแบรนด์ดังจากแคลิฟอร์เนีย กลายเป็นหนึ่งสัญลักษณ์ของ สเกตบอร์ด และดนตรีพังค์ อย่างแยกกันไม่ขาด ชนิดที่เรียกว่า แค่ใส่รองเท้า Vans ลวดลายเจ๋ง ๆ คุณก็สามารถเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมสเกตพังค์ได้โดยไม่รู้ตัว

กระแสที่เปลี่ยนไป
สเกตบอร์ดแม้จะเคยร้อนแรงอย่างมาก ในยุค 90s แต่เมื่อเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 ความนิยมของกีฬาชนิดนี้ค่อย ๆ ลดลงไป จากกระแสเมนสตรีม การเล่นบอร์ดกลับไปเป็นกีฬาทางเลือกกระแสนอกอีกครั้ง

ขณะเดียวกัน จากที่เคยอยู่คู่กับดนตรีพังค์ สเกตบอร์ดหันไปเป็นมิตรกับดนตรีฮิปฮอปมากขึ้น เด็กรุ่นใหม่ที่เล่นบอร์ด กลายเป็นสาวกฮิปฮอปมากกว่าแฟนเพลงพังค์ ความหมายของวัฒนธรรมสเกตบอร์ดกระแสหลัก ค่อย ๆ เปลี่ยนไปอย่างช้า ๆ

ส่วนหนึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่า รัฐแคลิฟอร์เนียที่เป็นบ้านของสเกตบอร์ด กลายเป็นแหล่งกำเนิดแรปเปอร์ชื่อดังจำนวนมาก เช่น Kendrick Lamar, Ya Boy, Jay Rock, Tyga, Anderson .Paak มากกว่าจะเป็นดินแดนของพังค์ร็อคเหมือนในช่วงยุค 80s ทำให้คนรุ่นใหม่จากฝั่งตะวันตก เชื่อมโยงกับฮิปฮอป แทนที่จะเป็นพังค์เหมือนในอดีต

 
Photo : Everythinghiphop.com

อีกส่วนหนึ่งที่ทำให้วัฒนธรรมสเกตบอร์ด เริ่มแยกขาดออกจากดนตรีพังค์ คือสองแบรนด์เสื้อผ้าชื่อดัง อย่าง Nike และ adidas

ทั้งสองแบรนด์ นิยมผลักดันสเกตบอร์ดให้เป็นกีฬาที่ตัดขาดจากพังค์ เนื่องจากแนวดนตรีนี้ ไม่ใช่ฐานตลาดของทั้ง adidas และ Nike ซึ่งไม่สามารถตอบกลยุทธการขายได้ 

Nike และ adidas จึงพยายามที่จะสร้างวัฒนธรรมสเกตบอร์ดรูปแบบใหม่ โดยไม่ต้องพึ่งกับดนตรีพังค์มากนัก หรือหากจะจับกับดนตรี ก็ต้องไปจับกับฮิปฮอป ที่มีฐานแฟนนิยมแบรนด์ทั้งสองอยู่เป็นจำนวนมาก

อีกทั้งช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา แบรนด์ระดับไฮเอนด์ เช่น Louis Vuitton ก็เริ่มผลิตสินค้าเจาะตลาดสเกตบอร์ด ที่ผสมผสานความหรูหราเข้าไป ซึ่งแตกต่างจากเสื้อผ้าแนวพังค์อย่างสิ้นเชิง

 
Photo : Sotheby's

แม้ว่า กระแสสเกตพังค์จะตกลงไป ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แต่วัฒนธรรมนี้ยังไม่ได้ตายจากไปไหน แต่ยังได้รับความนิยมในหมู่คน ที่ชอบความเป็นนอกกระแส 

อีกทั้งแฟนเดนตายของกีฬาสเกตบอร์ดจำนวนไม่น้อย ยังคงมองว่าพังค์คือตัวตนที่แท้จริง ของความเป็นสเกตบอร์ด ความรวดเร็ว แตกต่าง และท้าทาย ยังคงเชื่อมโยงทั้งสองวัฒนธรรมเข้าด้วยกันเป็นอย่างดี แม้เวลาจะผ่านไปนานแค่ไหนก็ตาม

ความเป็นจริงที่ว่า สเกตพังค์ ไม่เรืองอำนาจแบบในอดีต คือสิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ อย่างไรก็ตาม ไม่ต่างจากวัฒนธรรมอื่น ที่เมื่อได้ถือกำเนิดขึ้นมา ย่อมมีคนที่ชื่นชอบ และพยายามจะสืบสานให้ดำเนินต่อไป 

Photo : Huck Magazine

 สเกตพังค์ก็ไม่ต่างกัน ปัจจุบัน มักมีบทความที่เหล่านักดนตรีในอดีต ออกมาพูดถึงความสำคัญของสเกตบอร์ด และดนตรีพังค์อยู่เสมอ ซึ่งทุกคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ทั้งสองอย่างช่วยชีวิตของเขาไว้

แม้ปัจจุบัน จะไม่ได้เป็นวัฒนธรรมกระแสหลัก แต่สำหรับใครหลายคน สเกตบอร์ด และดนตรีพังค์ ยังคงเป็นชีวิตจิตใจของพวกเขา และจะเป็นเช่นนั้นตลอดไป

แหล่งอ้างอิง

หนังสือ Punks: A Guide to an American Subculture
https://www.youtube.com/watch?v=Fsbvo5GVK10&ab_channel=jerryguzmanvideos
https://www.skateboardhere.com/skateboard-culture.html#:~:text=Skateboarding%20is%20a%20sport%20like,no%20teams%20and%20no%20rules.&text=Skaters%20are%20free%20to%20skate,do%20the%20tricks%20they%20want.
https://www.udiscovermusic.com/stories/heaven-is-a-half-pipe-the-joys-of-skate-punk/
https://www.thedrum.com/news/2019/08/20/vans-promotes-creative-punk-culture-with-the-spirit-diy-brand-ambassador-campaign
https://www.skateculture.info/2016/03/thoughts-on-place-of-vans-in-skate.html
https://matthewspence99.medium.com/hip-hop-skateboarding-two-cultures-colliding-d0126b55b0f3
https://www.theguardian.com/fashion/fashion-blog/2011/dec/05/rise-fall-skateboard-chic
https://www.highsnobiety.com/p/ten-influential-subcultures-2010s/

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook