“กำลังใจเติมได้” ไขคำตอบ ค้นสาเหตุทำไมคนเราถึงหมดกำลังใจ

“กำลังใจเติมได้” ไขคำตอบ ค้นสาเหตุทำไมคนเราถึงหมดกำลังใจ

“กำลังใจเติมได้” ไขคำตอบ ค้นสาเหตุทำไมคนเราถึงหมดกำลังใจ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
  • กลุ่มคนที่พบกับความล้มเหลวบ่อยครั้งจะเป็นกลุ่มที่หมดกำลังใจได้ง่าย เพราะจะเกิดความไม่อยากทำ ไม่อยากเผชิญ หมดกำลังใจที่จะทำอีกต่อไปแล้ว
  • กลุ่มคนที่เข้าข่าย As if Low Ability หรือ การชอบคิดว่าตัวเองมีความสามารถต่ำ เป็นอีกกลุ่มที่เผชิญกับการหมดกำลังใจได้ง่ายมาก

ตอนนี้คุณเป็นอย่างไรบ้าง เหนื่อยไหม ยังมี กำลังใจ เต็มหลอดกันอยู่หรือเปล่า? 

มีคำพูดหนึ่งที่เราได้ยินอยู่เสมอว่า ชีวิตไม่เคยง่าย ทุกทางเดินย่อมมีอุปสรรคที่เราต้องฝ่าฟันข้ามไป ซึ่งบางครั้งในชีวิตจริงอุปสรรคที่ว่านั้นก็ช่างทำให้หนทางดูมืดมน ลดทอนกำลังใจไปเสียหมด แต่ทราบหรือไม่ว่า กำลังใจเป็นสิ่งที่เติมได้ เพราะนอกจากสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นรอบตัวแล้ว ความคิดหรือความเข้าใจที่เรามีต่อตัวเองก็เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้คนเราหมดกำลังใจได้เช่นกัน 

สำหรับสาเหตุแห่งการหมดกำลังใจนั้น ศ.ดร.นพ.วิทยา นาควัชระ ได้เคยเขียนเล่าถึงสาเหตุการหมดกำลังใจในนิตยสารสารคดีว่า คนที่หมดกำลังใจแบ่งออกเป็นกลุ่มใหญ่ๆ ได้2 กลุ่ม โดยกลุ่มแรกหมดกำลังใจมาจากสถานการณ์ภายนอก เป็นกลุ่มคนที่พบกับความล้มเหลวบ่อยครั้ง จนเกิดความไม่อยากทำ ไม่อยากเผชิญ หมดกำลังใจที่จะทำอีกต่อไปแล้ว 

ส่วนอีกกลุ่มมาจากการหล่อหลอมพฤติกรรมบางอย่างขึ้นในจิตใจ โดยกลุ่มหลักๆ เรียกว่า As if Low Ability หรือ การชอบคิดว่าตัวเองมีความสามารถต่ำทั้ง ๆ ที่ความจริงอาจจะไม่ด้อยไปกว่าคนอื่นเลย โดยกลุ่มนี้ยังแยกย่อยออกไปได้อีกหลายด้านตามพฤติกรรม ซึ่งหากเราสามารถค้นหาสาเหตุแห่งการหมดกำลังใจได้ว่าจริง ๆ แล้วเป็นเพราะสถานการณ์หรือตัวเรา เราก็จะสามารถพลิกมุมมาเติมกำลังใจให้ตัวเองได้ไม่มากก็น้อยเช่นกัน ดังนั้นก่อนจะไปเติม กำลังใจ มารู้จักเหตุแห่งการลดทอนกำลังใจ ดังนี้

การมองโลกในแง่ร้าย (Pessimetic)

ความจริงแล้ว การมองโลกในแง่ร้าย ถือเป็นรูปแบบหนึ่งของการป้องกันตัวของมนุษย์เช่นเดียวกับการมองโลกในแง่บวก เป็นทักษะที่ทำให้เราเกิดความระมัดระวังและรอบคอบขึ้น แต่การมองโลกในแง่ร้ายจนเกินพอดี แน่นอนว่าย่อมเกิดผลเสียจนทำให้เรามองไม่เห็นมุมอื่น ๆ ตามความเป็นจริงในชีวิต ทั้งจะทำให้เราปฏิเสธความรู้สึกด้านบวกอย่างอัตโนมัติเมื่อสะสมนานวันเข้าจะเกิดเป็นความเครียดต่อเนื่องที่ส่งผลต่อทั้งสุขภาพกายและใจได้ ฉะนั้นการมองโลกบนพื้นฐานของความเป็นจริงย่อมดีที่สุด

การคิดว่าตัวเองมีปมด้อย (Inferiority Complex)

คำว่าปมด้อยในที่นี้หมายถึงคนที่มักนึกถึงแต่ข้อด้อยของตัวเอง คิดว่าบาดแผลในชีวิตหรือจิตใจของตัวเองที่ผ่านมานั้นหนักกว่าคนอื่น ผลลัพธ์จะทำให้เกิดความระแวง กลัวการดูถูก โดยอาจหลงลืมไปว่าจริง ๆ แล้วทุกคนย่อมมีปมในใจ มีทั้งปมเด่นและปมด้อยแตกต่างกันไป ดังที่ อัลเฟรด แอดเลอร์ (Alfred Adler) นักจิตวิทยา เคยอธิบายถึง ความรู้สึกด้อย เอาไว้ว่าเป็นอารมณ์พื้นฐานของมนุษย์ซึ่งหากได้รับการผลักดันอย่างถูกวิธี สิ่งนี้จะกลับกลายเป็นพลังบวก ช่วยส่งเสริมความก้าวหน้าได้ แต่หากความรู้สึกนี้กลายเป็นปมด้อย จะกลับกลายเป็นความไม่พร้อมสู้ ซึ่งสิ่งที่ช่วยได้คือการเพิ่ม กำลังใจ อย่างจริงใจให้แก่กัน 

ตั้งความหวังของชีวิตไว้สูงมากในทุก ๆ อย่าง (High Expectation)

นักจิตยาพบว่าคนประเภท High Expectation นี้มักมีนิสัยคาดหวังความสมบูรณ์แบบ ผูกติดความไร้ที่ติ และเมื่อไม่สามารถไปถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้สูงได้ จึงมักเกิดอาการหมดกำลังใจ ท้อแท้และกลัวเป้าหมายเหล่านั้น รวมทั้งบางทีอาจเกิดความอิจฉาเมื่อเปรียบเทียบกับคนอื่น ทั้งที่จริงแล้วโลกนี้มีสิ่งที่ไม่สมบูรณ์แบบอยู่มากมาย ถามว่าการตั้งเป้าหมายนั้นทำได้ไหม แน่นอนว่าทำได้และก็เป็นสิ่งที่ควรทำ แต่สิ่งที่ต้องคำนึงคือการตั้งเป้าหมายให้อยู่บนความเป็นจริงมากขึ้นและลองเปลี่ยนทัศนคติที่มีต่อความผิดพลาดดูใหม่ ก็จะเปลี่ยนความท้อแท้สิ้นหวังให้เรามีความหวังขึ้นได้

ชอบโทษตัวเอง (Introjection)

ความมหัศจรรย์ของจิตอย่างหนึ่งก็คือ “การโทษตัวเอง” เป็นหนึ่งในกลไกการป้องกันทางจิตที่อยู่ในระดับจิตไร้สำนึกของมนุษย์เป็นสิ่งที่คนเราใช้เพื่อลดความไม่สบายใจเวลาเกิดปัญหา การหันความรู้สึกลบเข้าสู่ตัวเองคล้ายกับการลงโทษตัวเองเมื่อพบกับความผิดพลาด หรือในอีกด้านคือการระบายความโกรธที่มีต่อภายนอก รับเอาการแสดงออกที่ก้าวร้าวมาไว้ในตัวเองและนั่นก็จะค่อย ๆ กร่อนจิตใจให้เกิดความหดหู่ สิ้นหวังตรงกันข้ามหากเราลองปรับมุมมองดูใหม่ ไม่จมอยู่กับความผิดพลาดในอดีตที่ไม่สามารถกลับไปแก้ไขได้ ให้อภัยตัวเอง ไตร่ตรองหาเหตุผล เรียนรู้จากความผิดพลาดแล้วนำมาปรับใช้ในทางเดินต่อไปจะช่วยคลี่คลายสิ่งนี้ให้ดีขึ้นได้

อ้อ! เมื่อเรียนรู้จากความผิดพลาดก็อย่าลืมให้รางวัลตัวเองในวันที่ต้องผ่านอะไรเหน็ดเหนื่อยมามาก ๆ บ้างก็ดีนะ เพราะคนอีกกลุ่มหนึ่งที่มีแนวโน้มจะหมดกำลังใจได้ง่าย ๆ คือ กลุ่มที่ไม่ชอบให้ กำลังใจ ตัวเองหรือไม่ให้รางวัลตัวเอง (Lack of Self-Reward) 

รอคอยการชื่นชมจากคนอื่น (On Waiting List)

ตรงข้ามกับโทษตัวเองคือกลุ่มที่มีนิสัยชื่นชมตัวเอง แต่เป็นการชื่นชมแบบรอการชื่นชมจากผู้อื่น โดยมากคนกลุ่มนี้มักเป็นเติบโตมาจากเด็กที่เคยได้รับคำชื่นชมมามากจากพ่อแม่หรือผู้ใหญ่เพียงอย่างเดียว เมื่อโตขึ้นจึงอาจคิดว่าคนอื่นจะให้การชื่นชมเหมือนที่เคยได้รับ แต่เมื่อไม่มีใครเข้ามาบอกว่าที่คุณทำมันเจ๋งมาก มันดีมาก คุณจึงเกิดความผิดหวัง รู้สึกถึงความไม่ได้ดั่งใจ เกิดความโกรธ ความน้อยใจตามมาและทำให้หมดกำลังใจลงได้ง่าย ๆ 

ไม่สามารถรู้สึกชื่นชมตนเองได้ (Lack of Self Admiring) 

การกล่าวขอบคุณหรือชื่นชมตัวเองที่ผ่านสิ่งยากๆ มาได้ไม่ใช่สิ่งที่ใครๆ ก็ทำได้ โดยเฉพาะกลุ่ม Lack of Self Admiring ที่ไม่สามารถรู้สึกชื่นชมตนเองได้เลยจริงๆ อาการไม่สามารถชื่นชมตนเองได้นี้เกิดจากการไม่ยอมรับความเป็นจริงเกี่ยวกับตัวเอง ชอบคิดว่าตัวเองแย่กว่าเมื่อเปรียบเทียบกับผู้อื่น มีความพอใจในตัวเองต่ำ ที่น่าเป็นห่วงคือไม่เคยจะนึกชอบความเป็นตัวเองเลยสักครั้งจึงไม่เคยนึกชื่นชมตัวเองได้เลย

มีความรู้สึกว่าตัวเองไม่ดี (Negative Self Image)

กลุ่มนี้มักเกิดจากความฝังใจต่อความผิดพลาดในอดีต อาจเป็นการถูกตำหนิแรง ๆ หรือเคยได้รับการตอบสนองที่ไม่เหมาะสมต่อสิ่งที่ตนเองทำ จึงทำให้เกิดความรู้สึกด้อยกับตัวเองอยู่ตลอดเวลา และแน่นอนว่า กำลังใจ ที่จะส่งให้ตนเองก็หมดไปด้วยเช่นกัน

ต้องพึ่งพาคนอื่น (Dependent)

เหตุเพราะขาดความเชื่อมั่นในตัวเอง มักเอาตัวเองไปผูกติดอยู่กับคนอื่น ทำให้ไม่กล้าตัดสินใจ ลังเล ขาดแรงจูงใจหรือพลังในการลงมือทำ และสุดท้ายคือการหมดกำลังใจที่จะทำสิ่งต่าง ๆ ด้วยตนเองไปเสียดื้อ ๆ แต่สิ่งหนึ่งที่ช่วยปรับบุคลิกภาพแบบนี้คือการยอมรับในการตัดสินใจ มองเหตุและผล หรืออาจลองเริ่มจากการฝึกฝนการตัดสินใจง่าย ๆ ด้วยตัวเองโดยไม่ต้องพึ่งคนอื่นดูก่อน ค่อย ๆ ฝึกฝนไปเรื่อย ๆ จนเป็นนิสัย จากนั้นเราจะค่อย ๆ เริ่มมีความผ่อนคลายเมื่อต้องตัดสินใจสิ่งต่าง ๆ ด้วยตัวเอง

ที่กล่าวมาข้างต้นคือสาเหตุส่วนหนึ่งจากภายในที่มักทำให้คนเรารู้สึกหมดกำลังใจ โดย ศ.ดร.นพ.วิทยา นาควัชระ และคุณหมอยังให้คำแนะนำไว้อีกด้วยว่าจุดเริ่มในการเติม กำลังใจ คือ ลองวิเคราะห์ตัวเองดูว่าเราเข้าข่ายกับสาเหตุข้อไหน สามารถแก้ไขด้วยตัวเองได้หรือเปล่า 

การรู้สาเหตุเท่าทันตัวเองถือเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญในการมองเห็นตัวเองจากความเป็นจริง การจะมี กำลังใจ ที่ดีอยู่ตลอดได้เป็นสิ่งที่เราจะต้องหมั่นฝึกและเติมกำลังใจให้ตัวเองอยู่เสมอ ๆ เพื่อลดส่วนที่คิดไม่ดีในตัวเรา แต่หากรู้สึกว่าสิ่งนี้เป็นเรื่องยากหรือหนักเกินไป การลองเปิดใจปรึกษาคนที่พร้อมรับฟังเราดูก็ไม่ใช่เรื่องเสียหายอะไรเลย ในช่วงเวลาทุกข์ยาก นอกจากกำลังใจจากคนรอบข้างก็ กำลังใจ ที่เรามีต่อตัวเองนี่แหละ คือส่วนสำคัญอย่างหนึ่งที่ช่วยเสริมพลังบวกให้เรามีแรงเดินหน้าต่อไปได้

อ้างอิง

นิตยสารสารคดี ฉบับเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2529
http://bit.ly/3bomJlJ
https://www.dmh.go.th/news-dmh/view.asp?id=29541

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook