Work-Life Harmony เมื่องาน-ชีวิตส่วนตัวไปด้วยกันได้
เมื่อในโลกแห่งความเป็นจริงไม่สามารถแยกการทำงานกับชีวิตส่วนตัวออกจากกันได้อย่างเด็ดขาด การทำให้ทั้งสองเรื่องเกิดความสมดุลแบบ Work-Life Balance จึงกลายเป็นเพียงแนวคิดแบบอุดมคติที่ทุกคนใฝ่ฝัน
นอกจากจะทำให้เป็นจริงได้ยากแล้ว ก็ยังส่งผลให้เกิดความเครียดและความกดดันยิ่งขึ้นด้วย หากไม่สามารถจัดการชีวิตตัวเองได้ตามตารางที่วางเอาไว้ ด้วยเหตุนี้ หลาย ๆ บริษัท จึงนำแนวคิดแบบ Work-Life Harmony หรือ Work-Life Integration มาปรับใช้กับองค์กร เพื่อให้พนักงานทำงานได้อย่างมีความสุข โดยที่ชีวิตส่วนตัวก็ไม่ได้ถูกลดทอนหรือบั่นทอนลงไป
Work-Life Harmony คือแนวคิดที่ทำให้เรื่องงานและชีวิตส่วนตัวสามารถผสมผสานกันได้อย่างลงตัว ไม่จำเป็นต้องแยกออกจากกันแบบชัดเจนว่าเวลานี้เป็นเวลางาน เวลานี้เป็นเวลาส่วนตัว
“ความยืดหยุ่น” คือกุญแจสำคัญ
Work-Life Harmony ต่างจาก Work-Life Balance ตรงที่เรื่องงานและเรื่องส่วนตัวสามารถดำเนินควบคู่กันไปได้อย่างไม่สะดุด ไม่ต้องมีการแบ่งสัดส่วนให้ชัดเจน โดยยึดเรื่องความยืดหยุ่นเป็นสำคัญ
นั่นหมายความว่าการทำงานไม่จำเป็นต้องอยู่ที่ออฟฟิศเพียงอย่างเดียว อยู่ที่บ้านหรือ ร้านกาแฟก็สามารถทำงานไปด้วยได้ ขอแค่งานยังคงได้คุณภาพไม่ต่างกัน ซึ่งปัจจุบันการทำงานแบบ Remote Working กำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ด้วย หลังจากสถานการณ์ของโควิด-19 ทำให้หลายบริษัทต้องปรับตัวด้วยการให้พนักงานทำงานจากที่บ้านหรือ Work from Home ได้
ขณะที่เวลาการเข้างานของหลายบริษัทก็มีความยืดหยุ่นมากขึ้น เมื่อให้พนักงานสามารถเลือกได้ว่าจะเข้างานและเลิกงานในเวลาใด (แต่ชั่วโมงการทำงานยังเท่าเดิม) เพื่อให้สอดรับกับไลฟ์สไตล์ของแต่ละบุคคล เพราะบางคนอาจจะต้องส่งลูกไปโรงเรียนก่อนเข้าออฟฟิศ จึงอาจต้องการเข้าออฟฟิศช้าขึ้นจากเดิม ขณะที่บางคนบ้านอยู่ไกลก็อาจต้องการเลิกงานให้เร็วขึ้น เพื่อจะได้ไม่กลับบ้านมืดค่ำจนเกินไป
เน้น “ประสิทธิผล” ของงานมากกว่า
Jeff Besos ซีอีโอของ Amazon เป็นอีกคนหนึ่งที่สนับสนุนแนวคิดแบบ Work-Life Harmony และนำมาปรับใช้กับพนักงานของตัวเองด้วย เพราะมองว่าเรื่องงานและเรื่องส่วนตัวไม่สามารถแยกจากกันได้อย่างเด็ดขาด
แทนที่จะยึดติดกับการทำงานและใช้ชีวิตให้สมดุลแบบ Work-Life Balance ให้มองว่าการที่ทั้งสองอย่างสามารถผสมผสานกันได้อย่างลงตัว จะทำให้เกิดประสิทธิผลมากขึ้น ด้วยเหตุนี้ Amazon จึงให้ความสำคัญกับการทำงานของพนักงานที่ยืดหยุ่นมากขึ้น เพื่อให้มีความสุขกับการทำงาน และได้งานที่ออกมามีประสิทธิภาพ ต่างจากการ Work-Life Balance ที่มีข้อจำกัดมากเกินไป ทำให้ไม่สามารถรีดศักยภาพในการทำงานออกมาได้
Besos มองว่าแทนที่จะแบ่งงานและชีวิตส่วนตัวให้สมดุล ควรจะให้ทั้งสองอย่างดำเนินไปอย่างสัมพันธ์กันแบบวงกลมมากกว่า เพราะต่างส่งผลซึ่งกันและกัน โดยซีอีโอ Amazon บอกว่าเมื่อมีความสุขที่บ้าน ก็จะมาทำงานด้วยพลังงานที่ล้นเหลือ และถ้ามีความสุขที่ทำงาน ก็จะกลับบ้านด้วยพลังงานที่เต็มเปี่ยม
Work-Life Harmony vs Work-Life Balance
Work-Life Harmony ทำให้งานและชีวิตส่วนตัวกลายเป็นเรื่องเดียวกัน และดำเนินไปอย่างสอดคล้องกันได้ ขณะที่ Work-Life Balance จะแบ่งแยกชัดเจน จึงทำให้มีข้อจำกัดที่มากกว่า และนี่คือตัวอย่างที่จะทำให้ภาพชัดเจนขึ้นว่า Work-Life Harmony ดีกว่า Work-Life Balance อย่างไร
สถานการณ์ : รับลูกที่โรงเรียน
Work-Life Balance : รีบออกจากออฟฟิศทันทีตอน 5 โมง เพื่อไปรับลูก ซึ่งฝากสถานรับเลี้ยงเด็กดูแลหลังจากเลิกเรียนแล้ว
Work-Life Harmony : แวะไปรับลูกหลังเลิกเรียน และพามาที่ออฟฟิศด้วย ก่อนทำงานต่อให้เสร็จ
สถานการณ์ : หลังเลิกงาน
Work-Life Balance : ออกจากออฟฟิศหลังเลิกงานตอน 6 โมงเย็น และปิดโทรศัพท์มือถือ ไม่ยุ่งเกี่ยวกับงานอีก
Work-Life Harmony : ออกจากออฟฟิศเร็วขึ้น แต่พร้อมคุยงานแบบวิดีโอคอล หากมีงานเข้ามา
สถานการณ์ : สวัสดิการออฟฟิศ
Work-Life Balance : เสนอสวัสดิการอาหารกลางฟรีสำหรับพนักงานทุกคน
Work-Life Harmony : ให้พนักงานสามารถเลือกสวัสดิการได้เองว่าจะกินอาหารกลางวันฟรี หรือได้ค่าใช้จ่ายในวันหยุดเทียบเท่ากับค่าอาหาร
เมื่อ Work-Life Harmony มีความยืดหยุ่นที่มากกว่า และไม่ได้เป็นแนวคิดอุดมคติแบบ Work-Life Balance จึงทำให้ชีวิตกับการทำงานเป็นไปอย่างสอดคล้องกัน นอกจากจะทำให้มีพลังในการทำงานแล้ว โอกาสเกิดภาวะ Burnout หรือหมดไฟก็จะลดน้อยลงไปด้วย