รักนี้ถึงทางตัน เพราะตัวแปรสำคัญที่ไม่ใช่ปัญหาของสองเรา
หลายคนอาจมองว่าความรักเป็นเรื่องของคนสองคนที่จะจับมือฝ่าฟันเรื่องต่าง ๆ ไปร่วมกัน แต่ในโลกของความจริง คงปฏิเสธไม่ได้ว่า แท้จริงแล้วมีตัวแปรอื่น ๆ มากมาย ที่อาจทำให้ความสัมพันธ์ของแต่ละคู่รักพังครืนลง ถ้ายิ่งเป็นคู่รักคนดังด้วยแล้ว ย่อมถูกจับตาเป็นพิเศษ ความกดดันต่าง ๆ ที่ว่านั้นคืออะไร ทำไมถึงมีอิทธิพลและสามารถเข้ามาแทรกแซงความรักความสัมพันธ์ของคู่รักได้ ลองมาดูกัน
1. ครอบครัวของแต่ละฝ่าย
ใครว่าความรักเป็นเรื่องของคนสองคนคงลืมคิดไปว่าทุกคนล้วนมีครอบครัวที่เลี้ยงดูและฟูมฟักเราจนเติบโต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวัฒนธรรมของชาวเอเชีย ครอบครัวเดิมของทั้ง 2 ฝ่ายนับเป็นปัจจัยสำคัญอย่างยิ่งที่จะชี้วัดว่าความรักของคนทั้งคู่จะรุ่งหรือร่วง เพราะหากเปิดตัวคู่รักให้ทางบ้านได้รู้จักแล้ว ครอบครัวของอีกฝ่ายเกิดไม่ชอบขึ้นมา ก็ถือว่าเป็นปัญหาใหญ่ รักแทบจะถึงทางตัน
เรื่องนี้มีตัวอย่างให้เห็นอยู่มากมาย ทั้งดารานักร้องดังที่ออกมาให้สัมภาษณ์สื่อหลังมีข่าวครอบครัวแฟนไฮโซไม่ปลื้ม แม้จะยังรักและคบหากันอยู่ แต่ไม่รู้จะไปต่ออย่างไร ในขณะที่บางคู่อาจผ่านด่านครอบครัวจนถึงด่านสุดท้ายคือการแต่งงาน ก็ดันมีปัญหาเรื่องสินสอดทองหมั้น ที่ครอบครัวของแต่ละฝ่ายอาจเจรจากันไม่ลงตัว จนปรากฏข่าววิวาห์ล่มก็มีให้เห็นมาแล้วนักต่อนัก นับว่าครอบครัวถือเป็นตัวแปรสำคัญด่านแรก ๆ ในความสัมพันธ์ของแต่ละคู่รักเลยทีเดียว
2. อายุ
ดูเหมือนจะไม่สำคัญแต่จริง ๆ แล้ว “อายุ” ที่ต่างกันของคู่รักแฝงเรื่องต่าง ๆ ไว้มากมาย ดูได้จากสุภาษิตไทยที่ตีตราคู่รักต่างวัยเอาไว้ มีทั้ง “วัวแก่กินหญ้าอ่อน” ที่ใช้สื่อความหมายถึงชายหนุ่มสูงวัยที่มีภรรยาที่ยังสาวหรือเด็กกว่ามาก ๆ แปลตรงตัวก็มีความหมายในทำนองว่าหลอกเด็กนั่นเอง ส่วนอีกภาษิตที่ว่า “ไก่แก่แม่ปลาช่อน” อันนี้ก็สะท้อนถึงผู้หญิงที่อายุเยอะกว่าฝ่ายชาย เป็นความหมายในเชิงว่าผู้หญิงที่แก่กว่านั้นมีเล่ห์เหลี่ยมแพรวพราว ทำให้ฝ่ายชายตามไม่ค่อยจะทัน
ซึ่งก็เป็นการสะท้อนความคิดความเชื่อของสังคมไทยว่าไม่ควรคบหากับคนที่อายุต่างกันมากนัก เพราะจะทำให้เกิดปัญหา ซึ่งความเชื่อชุดนี้ก็สร้างความรู้สึกผิดให้กับคู่รักต่างวัย ว่าตัวเองไม่อยู่ในขนบความเชื่อที่ดีของสังคมที่ถูกปลูกฝังมาแต่เด็ก กลายเป็นอุปสรรครัก ผิดธรรมเนียมทางสังคมเหมือนคุณหญิงกีรติกับนพพรในนวนิยายเรื่องดัง ข้างหลังภาพ แม้ตอนนี้เราจะอยู่ในศตวรรษที่ 21 แล้ว แต่เรื่องของอายุอานามก็ยังคงเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของคู่รักต่างวัยอยู่ดี
3. สถานะทางสังคม
ดูเหมือนว่าเรื่องรักต่างชนชั้นที่ลงเอยแบบ Happy Ending นั้นจะมีแต่ในนิยาย เพราะในโลกแห่งความเป็นจริง สถานะทางสังคมถือเป็นปัจจัยสำคัญที่จะตัดสินว่าความรักของคนแต่ละคู่จะลงเอยอย่างไร ความเหมาะสมมักถูกยกมาพูดถึงเป็นอันแรก ๆ โดยเฉพาะในสังคมไทย ที่การแต่งงานกันระหว่างคนสองคนนั้นแบกรับเรื่องสถานะทางสังคมของทั้งสองครอบครัวเอาไว้ด้วย ดังนั้นการเลือกคู่ครองย่อมถูกจำกัดอยู่ในแวดวงของสถานะทางสังคมที่ใกล้เคียงกัน เรื่องนี้นับเป็นอีกหนึ่งตัวแปรสำคัญ ที่ถึงแม้จะไม่มีใครพูดออกมาแต่ก็เอาเป็นรู้กัน
หากความรักเป็นสิ่งสวยงาม อุปสรรคต่าง ๆ ก็อาจจะเป็นบททดสอบให้แต่ละคู่รักได้ก้าวผ่านปัญหาบางอย่างร่วมกัน แต่หากรักถึงทางตันเข้าจริง ๆ ก็อาจจะต้องปล่อยมือเพื่อถอยมาดูแลตัวเองให้มีชีวิตต่อไปอย่างมีความสุขที่สุด เพราะนอกจากจะมีหัวใจไว้รักคนอื่นแล้ว ก็ต้องไม่ลืมที่จะรักตัวเองด้วยเช่นกัน