รองเท้าวิ่ง กับ รองเท้าเดิน แตกต่างกันอย่างไร?
หลายคนที่เริ่มต้นออกกำลังกายด้วยการวิ่งหรือเดิน ส่วนใหญ่มักพุ่งเป้าไปที่ 'รองเท้า' ว่าจะเลือกแบบไหนดี บางคนอาจคิดว่ารองเท้าเดินทั่วไปก็สามารถนำมาวิ่งได้ หรือใส่รองเท้าวิ่งมาเดินก็ได้เพราะคิดว่าไม่แตกต่างกัน ซึ่งความคิดเหล่านี้เป็นความเข้าใจที่ผิด เพราะรองเท้าแต่ละประเภทถูกออกแบบมาเพื่อใช้งานตามความเหมาะสม หากใช้ผิดประเภทก็อาจเสี่ยงต่ออาการบาดเจ็บระหว่างทำกิจกรรม
โดย Health Digest ได้อธิบายถึงความแตกต่างของ 'รองเท้าวิ่ง' และ 'รองเท้าเดิน' ไว้ดังนี้
ทำไม 'รองเท้าวิ่ง' กับ 'รองเท้าเดินทั่วไป' จึงแตกต่างกัน
ถึงแม้ว่า 'การวิ่ง' และ 'การเดิน' จะเป็นการออกกำลังกายที่มีการเคลื่อนไหวของร่างกายคล้ายกัน แต่การวิ่งจะมีการลงน้ำหนักและการกระแทกที่สูงกว่า ซึ่งส่งผลกระทบต่ออาการบาดเจ็บของร่างกาย 20-70 เปอร์เซ็นต์ ส่วนการออกกำลังกายด้วยการเดินมีโอกาสบาดเจ็บ 1-5 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากเวลาวิ่งจะมีแรงกดลงบนฝ่าเท้า ข้อเท้า เข่า และแผ่นหลัง ผู้ออกกำลังกายจึงต้องสวมรองเท้าที่ได้รับการออกแบบมาเพื่อพยุงแรงกดหรือลดแรงกระแทก โดยรองเท้าวิ่งจะรับน้ำหนักประมาณ 3 เท่าของน้ำหนักตัว ขณะที่การเดินทั่วไปจะรับน้ำหนักเพียงแค่ 1.5 เท่าของน้ำหนักตัวเท่านั้น
เนื่องจากการวิ่งของแต่ละคนมีวิธีและลักษณะการวางเท้าแตกต่างกัน รองเท้าวิ่งจึงมีการออกแบบส้นเท้าที่แตกต่างกันตามความเหมาะสม โดยที Drop ที่ต่างกัน ซึ่งหมายถึงระยะพื้นส้นเท้าสูงกว่าพื้นหน้าเท้า ได้แก่ Zerodrop คือ ลงเท้าเท่ากัน (เหมาะกับการวิ่งแบบลงหน้าเท้า เป็นท่าที่ธรรมชาติที่สุด) Drop น้อยๆ คือ มีระยะไม่เกิน 4 มิลลิเมตร เป็นการวิ่งที่ลงหน้าเท้าหรือส้นเท้า (เหมาะกับการวิ่งที่เน้นความเร็ว) และ Drop เยอะๆ คือ ระยะที่มากกว่า 5 มิลลิเมตร เป็นการวิ่งแบบลงส้นเท้ามากกว่า (เหมาะกับการวิ่งมาราธอน หรือวิ่งระยะไกลๆ เพราะใช้แรงน้อยกว่า)
ส่วนการเดินทั่วไป ไม่จำเป็นต้องใช้แรงมาก ดังนั้น ตัวรองเท้าจึงไม่ต้องมีส้นรองเท้าที่สูงจนเกินไป หรือบางแบรนด์ก็ออกแบบพื้นส้นให้บางเพื่อมีขนาดกะทัดรัด โดยไม่ได้คำนึงถึงความสูงของส้นเท้าเลย
การลดแรงกระแทก ความยืดหยุ่น และน้ำหนัก
ส่วนสำคัญของทั้งรองเท้าวิ่งและรองเท้าสำหรับเดินคึอ การลดแรงกระแทก โดยรองเท้าวิ่งที่ดีจะช่วยลดแรงกระแทกในส่วนของส้นเท้าและปลายเท้า ในรองเท้าวิ่งบางประเภทจะมีการเสริมส้นในการรับแรงกระแทกโดยใช้ช่องว่างของอากาศ จึงทำให้มีน้ำหนักเบา ขณะที่รองเท้าเดินทั่วไปจะลดแรงกระแทกในส่วนของอุ้งเท้ามากกว่า รวมถึงช่วยลดแรงกระแทกทั้งทั่วฝ่าเท้า จึงไม่เหมาะกับการวิ่ง
นอกจากนี้ รองเท้าวิ่งจะมีความยืดหยุ่นช่วงบริเวณเท้าส่วนกลางและอุ้งเท้าเพื่อรองรับผลกระทบจากน้ำหนักตัว ส่วนรองเท้าสำหรับเดินนั้นจะมีความยืดหยุ่นบริเวณอุ้งเท้าเพื่อซัพพอร์ตการเคลื่อนไหวต่อเนื่องจากส้นเท้าไปจนถึงนิ้วเท้า
โดยทั่วไปแล้ว รองเท้าวิ่งจะมีน้ำหนักเบากว่ารองเท้าเดินทั่วไป เนื่องจากการออกกำลังกายจะมีการขยับร่างกายที่รวดเร็วไปพร้อมๆ กับการยกเท้า ขณะที่รองเท้าเดินทั่วไปจะมีน้ำหนักมากกว่าและโครงสร้างรองเท้าที่แข็งเพื่อความมั่นคงสำหรับการเดินในแต่ละก้าว
อย่างไรก็ตาม ความเหมือนของรองเท้าวิ่งและรองเท้าเดินคือ ความเปลี่ยนรองเท้าใหม่หลังจากใช้งานเป็นเวลานานแล้ว เพื่อความสบายและความปลอดภัยในการใช้งาน