ถอดรหัส โปสเตอร์โอลิมปิกใบแรก ATHENS 1896

ถอดรหัส โปสเตอร์โอลิมปิกใบแรก ATHENS 1896

ถอดรหัส โปสเตอร์โอลิมปิกใบแรก ATHENS 1896
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
  • การแข่งขันโอลิมปิกถือได้ว่าเป็นการแข่งขันกีฬาที่เก่าแก่ที่สุดในโลก นับย้อนหลังไปได้ราว 2,800 ปีในสมัยกรีกโบราณโดยใช้ชื่อเดิมว่า Olympiad
  • ในห้องสมุดโอลิมปิก (Olympic World Library) ได้บันทึกข้อมูลไว้ว่ามีการใช้โปสเตอร์โอลิมปิกตั้งแต่การแข่งขันโอลิมปิกสมัยใหม่ ATHENS 1896

เคยสงสัยไหมว่า โปสเตอร์โอลิมปิกใบแรก เกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อไร

ประเพณีการโปรโมตโอลิมปิกผ่านภาพโปสเตอร์นั้นเริ่มต้นตั้งแต่การแข่งขันโอลิมปิกสมัยใหม่ เป็นโอลิมปิกฤดูร้อนครั้งแรกที่กรุงเอเธนส์ ประเทศกรีซ เมื่อ 125 ปีที่ผ่านมาในชื่อ ATHENS 1896 โดยในห้องสมุดโอลิมปิก (Olympic World Library) ได้บันทึกข้อมูลไว้ว่า โปสเตอร์โอลิมปิกใบแรก ไม่ปรากฏนามของศิลปินผู้วาดโปสเตอร์นี้ แต่มีการบันทึกความหมายที่ซ่อนไว้ดังนี้

ประวัติศาสตร์ : ด้านบนสุดมุมซ้ายของโปสเตอร์มีตัวเลข 776 BC หมายถึง 776 ปีก่อนประวัติศาสตร์ เป็นตัวเลขแสดงถึงการกำเนิดโอลิมปิกครั้งแรกซึ่งนับย้อนหลังไปได้ราว 2,800 ปี นอกจากปีแล้วก็มีภาพวาดเป็นบันทึกชนิดกีฬาต่างๆ ของโอลิมปิกโบราณอยู่มุมด้านขวาบนของโปสเตอร์ด้วย


บุคคลสำคัญ : ในภาพโปสเตอร์นี้มีบุคคลสำคัญเป็นหญิงสาวอยู่กลางภาพซึ่งก็คือ เทพีอธีนา (Athena) หนึ่งในเทพปกรณัมกรีกองค์สำคัญ เทพอธีนาคือตัวแทนแห่งสติปัญญา โดยในมือถือ มงกุฎช่อมะกอก และ ช่อกระวาน

เหรียญรางวัล : มงกุฎช่อมะกอกในมือของเทพีเอธีนา คือเหรียญรางวัลอันดับหนึ่งที่ใช้มอบในการแข่งขันโอลิมปิกสมัยใหม่ที่กรุงเอเธนส์เพื่อย้อนรำลึกถึงการแข่งขัน Panathenaic Games ในยุคกรีกโบราณที่มีการมอบมงกุฎใบไม้ให้ผู้ชนะ (แต่ไม่จำกัดว่จะเป็นใบไม้ชนิดใด) ส่วนช่อกระวานนั้นคือรางวัลอันดับสอง ใช้ในในการแข่งขันโอลิมปิกสมัยใหม่ที่กรุงเอเธนส์เช่นกัน ปัจจุบันธรรมเนียมการมอบมงกุฎช่อมะกอกยังคงปฏิบัติต่อเนื่องมา และทำให้มงกุฎช่อมะกอกกลายเป็นอีกหนึ่งสัญลักษณ์ของโอลิมปิกสมัยใหม่ไปด้วย

สถานที่สำคัญ : ในโปสเตอร์ใบนี้มีสถานที่สำคัญอยู่ 2 แห่ง ด้านหลังเทพีอธีนา คือ Acropolis วิหารสำหรับเทพผู้พิทักษ์เมือง เป็นปราการที่ตั้งอยู่บนภูเขาสูง และ Panathenaic Stadium สนามกีฬารูปตัว U ในกรุงเอเธนส์ เป็นหนึ่งในสนามกีฬาที่เก่าแก่ที่สุดในโลกสร้างตั้งแต่สมัยกรีกโบราณ ใช้สำหรับแข่งขัน Panathenaic Games เป็นเกมกีฬาเพื่อแสดงความเคารพต่อเทพเอธีนา โดยหลังจากที่สนามกีฬา Panathenaic Stadium แห่งนี้พังทลายลงก็ได้มีการปรับปรุงเพื่อใช้ในมหกรรมโอลิมปิกสมัยใหม่ ATHENS 1896 และนับเป็นสนามกีฬาหินอ่อนแห่งเดียวในโลก


ย้อนประวัติศาสตร์กำเนิดโอลิมปิก

ต้นกำเนิด : การแข่งขันโอลิมปิกถือได้ว่าเป็นการแข่งขันกีฬาที่เก่าแก่ที่สุดในโลก นับย้อนหลังไปได้ราว 2,800 ปีในสมัยกรีกโบราณโดยใช้ชื่อเดิมว่า “Olympiad” จัดในเขตพื้นที่ยอดเขาโอลิมปัส ส่วนการแข่งขันโอลิมปิกสมัยใหม่นั้นจัดขึ้นครั้งแรกที่กรุงเอเธนส์ ประเทศกรีซ ใน ค.ศ.1896 โดยมี Baron Pierre de Coubertin เป็นผู้คิดริเริ่มในการนำเกมกีฬาที่เก่าแก่กลับมา

ความหมาย 5 ห่วง : การแข่งขันโอลิมปิก ถูกจดจำในภาพลักษณ์ห่วง 5 สีบนพื้นขาวซึ่งคนออกแบบสัญลักษณ์นี้ ได้แก่ Baron Pierre de Coubertin ใช้รูปห่วง 5 สี ได้แก่ ฟ้า เหลือง ดำ เขียว และแดง หมายถึง 5 ภูมิภาค ประกอบด้วยเอเชีย ยุโรป อเมริกา ออสเตรเลีย และแอฟริกา ซึ่งไม่เจาะจงว่าสีไหนคือตัวแทนของภูมิภาคใด

คบเพลิงโอลิมปิก : ประเพณีถึงคบเพลิงโอลิมปิกนี้เป็นประเพณีปฏิบัติตั้งแต่สมัยกรีกโบราณ เพื่อระลึกถึงเพลิงที่เทพเจ้าโพรมีทีอุสขโมยมาจากเทพเจ้าซูสมามอบให้มนุษย์สำหรับการยังชีพ อีกทั้งชาวกรีกโบราณยังถือว่าไฟนี้เป็นไฟศักดิ์สิทธิ์ที่สื่อความหมายถึงความสุข ซึ่งนั่นเป็นเหตุให้ไฟคบเพลิงโอลิมปิกต้องสว่างไสวตลอดการแข่งขัน แต่ก็มีเหตุการณ์คบเพลิงดับมาแล้ว โดยเหตุคบเพลิงดับครั้งแรกเกิดขึ้นที่เมืองมอนทริออล รัฐควิเบก ประเทศแคนาดา จากเหตุพายุพัดถล่มหลังเริ่มแข่งขันไปเพียงไม่กี่วัน ครั้งต่อมาเกิดในกรุงเอเธนส์ ประเทศกรีซ ระหว่างพิธีจุดคบเพลิงในกระถางวันแรกของพิธีเปิด ซึ่งก็มีสาเหตุจากพายุพัดแรงอีกเช่นกัน แต่เหตุการณ์ที่ถูกพูดถึงมากที่สุดเห็นจะเป็นการวิ่งคบเพลิงที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งขณะนั้นได้เกิดจราจลขึ้นจนทำให้คบเพลิงดับไป

Tokyo 2020 : สำหรับประเทศญี่ปุ่นได้เป็นเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิกครั้งแรกในการแข่งขันโอลิมปิกฤดูร้อนครั้งที่ 18 ตรงกับ ค.ศ.1964 ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่จัดกีฬาโอลิมปิกในทวีปเอเซีย โดยมี โยชิโนริ ซาไก (Yoshinori Sakai) นักกรีฑาชาวญี่ปุ่นเป็นตัวแทนนักกีฬาในการจุดคบเพลิง

อ้างอิง

https://olympics.com/tokyo-2020/en/games/olympic-games-about/
Olympic World Library
นิตยสารสารคดี กันยายน 2559

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook