นอนท่าไหน?…ดีต่อสุขภาพ

นอนท่าไหน?…ดีต่อสุขภาพ

นอนท่าไหน?…ดีต่อสุขภาพ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ท่าที่เรากำลังจะพูดถึง คือ “ท่าในการนอนหลับ” ไม่ใช่ “ท่าในการหลับนอน” ดังนั้นจึงไม่มีท่ามิชชันนารีหรือท่าด๊อกกี้อย่างแน่นอน และที่เราต้องเอาท่าในการนอนหลับมาพูดถึง เพราะท่าที่ไม่เหมาะสมก็อาจทำให้เป็นโรค หรือผู้ที่เป็นโรคอยู่แล้วอาจเกิดอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้ มันจึงเป็นเรื่องใหญ่ที่ควรรู้ มาดูกันดีกว่าว่านอนท่าไหนดีต่อสุขภาพมากกว่ากัน

1. นอนในท่านั่ง: ปัจจุบันมีคนจำนวนมากเฝ้าดูโทรทัศน์จนหลับไปทั้งๆ ที่ยังอยู่ในท่านั่ง ทำให้เกิดอาการปวดต้นคอ ปวดหลัง และเจ็บก้นกบ อีกกรณีที่พบบ่อยคือคนเมาเหล้ามักจะนอนหลับไปขณะที่นั่งอยู่ และแขนอาจจะห้อยลงจากพนักพิงของเก้าอี้ โดยที่รักแร้วางทับอยู่กับสันของพนักเก้าอี้ พอตื่นนอนจะพบว่าแขนข้างนั้นชาจนไม่มีความรู้สึก และบางครั้งก็ยกแขนไม่ขึ้นนานหลายวัน เพราะกดถูกหลอดเลือดและเส้นประสาทใต้รักแร้ ทำให้แขนอ่อนแรงและสูญเสียความรู้สึก ในรายที่รุนแรงมากแขนข้างนั้นอาจเป็นอัมพาตไปเลยก็ได้ การนอนหลับในท่านั่ง จึงอันตรายและควรหลีกเลี่ยงเป็นอย่างยิ่ง

2. นอนหงาย: ท่าที่คนปกตินิยม ข้อดีคือต้นคอจะอยู่แนวเดียวกับร่างกายถ้าไม่หนุนหมอนหรือใช้หมอนต่ำ แต่ถ้าหมอนสูงจะทำให้คอก้มมาข้างหน้าทำให้ปวดคอได้ ท่านี้กะบังลมที่คั่นระหว่างช่องอกและช่องท้องจะทับอยู่บนปอดทำให้หายใจลำบาก จึงไม่เหมาะกับผู้ที่เป็นโรคปอด วิธีแก้คือยกส่วนบนของร่างกายให้สูงขึ้นในลักษณะครึ่งนอนครึ่งนั่ง โดยใช้หมอน 2-3 ใบวางรองด้านหลังไว้ หรือยกพื้นเตียงส่วนบนให้สูงขึ้น

ผู้ที่มีความดันสูงอาจหายใจลำบากในท่านอนหงาย โดยเฉพาะคนที่เป็นโรคหัวใจ การทำงานของหัวใจจะลำบาก เพราะไม่สามารถสูบฉีดเลือดออกจากหัวใจได้ เกิดภาวะหายใจขัด ต้องลุกขึ้นนั่งหรือยืนจึงหายใจสะดวกขึ้น

สำหรับผู้ที่เกิดอาการปวดหลังอย่างเฉียบพลัน การนอนหงายจะทำให้อาการปวดรุนแรงขึ้น ควรให้พาดขาทั้งสองไว้บนเก้าอี้หน้าโต๊ะเครื่องแป้ง หรือวางพาดบนเตียงขณะนอนราบบนพื้นไม้ที่มีเสื่อปู

3. นอนตะแคงซ้าย: ช่วยลดอาการปวดหลังได้ แต่ควรมีหมอนข้างให้กอดและพาดขา ข้อเสียของการนอนตะแคงซ้ายคือทำให้หัวใจซึ่งอยู่ข้างซ้ายเต้นลำบาก ในรายที่มีโรคปอดทำให้หายใจไม่สะดวก เนื่องจากปอดข้างซ้ายขยายตัวได้ไม่เต็มที่

อาหารในกระเพาะถ้ายังย่อยไม่หมดก่อนเข้านอนจะคั่งอยู่ในกระเพาะ ทำให้เกิดลมจุกเสียดที่กระดูกลิ้นปี่ กระเพาะข้างซ้ายอาจเจ็บปวดจากการนอนทับเป็นเวลานาน และถ้าหนุนหมอนต่ำเกินไป ท่านี้จะทำให้ปวดต้นคอ เนื่องจากคอตกมาทางซ้าย แก้ไขได้โดยใช้หมอนสี่เหลี่ยมที่มีความสูงเท่าความกว้างของบ่าซ้าย ถ้านอนนิ่งโดยไม่ขยับ ขาข้างซ้ายอาจรู้สึกชาถ้าถูกทับเป็นเวลานาน

4. นอนคว่ำ: แต่ก่อนเคยเข้าใจว่าทารกควรให้นอนคว่ำรูปหัวจะทุยสวย ไม่แบน แต่ปัจจุบันพบว่าทารกมีโอกาสเสียชีวิตเนื่องจากหายใจไม่ออกจากการที่จมูกหรือปากถูกทับไว้ โดยเฉพาะถ้านอนคว่ำและดูดนมอยู่บนอกแม่ หรือพื้นเตียงอ่อนนิ่มเกินไป นอกจากนั้นยังพบว่าน้ำนมอาจขย้อนออกมา เนื่องจากนอนทับกระเพาะอาหาร และนมถูกดูดเข้าไปในปอดได้

สำหรับผู้ใหญ่ การนอนคว่ำทำให้หายใจไม่สะดวก โดยเฉพาะในสตรีที่มีเต้านมใหญ่ สำหรับผู้ชายการนอนคว่ำทำให้อวัยวะเพศถูกทับตลอดเวลา อาจกระตุ้นให้ฝันเปียกหรืออวัยวะเพศชา การนอนคว่ำยังทำให้ต้นคอ ปวดได้ เนื่องจากต้องเงยมาข้างหลัง หรือบิดหมุนไปข้างซ้ายหรือข้างขวานานเกินไป ถ้าจำเป็นต้องนอนคว่ำ ควรหาหมอนรองใต้ท้องหรือใต้ทรวงอก โดยเฉพาะถ้าต้องการอ่านหนังสือในท่านอนคว่ำเพื่อไม่ให้เมื่อยคอ

5. นอนดิ้น: คือไม่ได้นอนท่าใดท่าหนึ่ง แต่นอนหงาย นอนตะแคงซ้าย ตะแคงขวา นอนคว่ำ สลับกันไป ท่านี้เป็นท่านอนที่ดีสำหรับผู้ใหญ่ เนื่องจากปรับท่าไปเรื่อยๆ ตลอดเวลาของการนอนหลับ แต่เมื่ออายุมากขึ้นการนอนดิ้นมักจะน้อยลง หลับท่าไหนมักจะตื่นขึ้นมาท่านั้น จึงทำให้เกิดอาการชาของแขนขาได้ หรือหายใจไม่สะดวก การนอนเปลี่ยนท่าบ่อยๆ จึงเป็นวิธีนอนหลับที่ดี

6. นอนตะแคงขวา: เป็นท่าที่ดีที่สุดถ้าเทียบกับการนอนหลับในท่าอื่นๆ (ยกเว้นนอนดิ้น) เพราะหัวใจเต้นสะดวกและอาหารจากกระเพาะถูกบีบลงลำไส้เล็กได้ดี ทำให้ไม่คั่งค้างอยู่ในกระเพาะนานเกินไป และเป็นท่านอนที่ช่วยบรรเทาอาการปวดหลังได้ แต่ข้อเสียก็มีเหมือนกัน นั่นคืออาจทำให้เจ็บปวดหัวไหล่ขวา และปวดคอถ้าใช้หมอนต่ำเกินไป อาจจะหายใจไม่สะดวกถ้าปอดข้างซ้ายมีปัญหา และขาข้างขวาถูกทับจนชาได้

อ่านมาทั้งหมดก็พบว่า ทั้ง 6 ท่าล้วนมีข้อดีข้อเสียแตกต่างกันไป แต่ถ้าจะให้จัดอันดับท่าที่ดีต่อสุขภาพจากมากไปหาน้อย เท่าที่ประมวลได้ก็คือ นอนดิ้น (เปลี่ยนท่าไปเรื่อยๆ) นอนตะแคงขวา นอนตะแคงซ้าย นอนหงาย นอนคว่ำ และ นอนในท่านั่ง

รู้แล้ว จะนอนท่าเดิมหรือเปลี่ยนท่า ก็เลือกกันได้ตามใจชอบ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook