Speedo แบรนด์ชุดว่ายน้ำที่แจ้งเกิดบนเวทีโลกเพราะ “โอลิมปิก”

Speedo แบรนด์ชุดว่ายน้ำที่แจ้งเกิดบนเวทีโลกเพราะ “โอลิมปิก”

Speedo แบรนด์ชุดว่ายน้ำที่แจ้งเกิดบนเวทีโลกเพราะ “โอลิมปิก”
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
  • สปีโด (Speedo) บริษัทผลิตชุดว่ายน้ำสัญชาติออสเตรเลีย ซึ่งเป็นสปอนเซอร์ชุดว่ายน้ำให้ทัพนักกีฬาทีมชาติออสเตรเลียมาตั้งแต่กีฬาโอลิมปิก ค.ศ. 1932
  • ค.ศ. 1956 Speedo ได้ดีไซน์กางเกงว่ายน้ำผู้ชายแบบใหม่หวังผลให้เกิดความคล่องตัวยิ่งขึ้น เป็นที่มาของชุดว่ายน้ำชายขาเว้า Swim Briefs

โอลิมปิก ไม่ได้เป็นเวทีแจ้งเกิดแค่นักกีฬา แต่มหกรรมกีฬาระดับโลกนี้ยังทำให้แบรนด์เสื้อผ้ากีฬาหลายแบรนด์แจ้งเกิดไปพร้อมกัน หนึ่งในนั้นคือ Speedo (สปีโด) บริษัทผลิตชุดว่ายน้ำสัญชาติออสเตรเลีย ซึ่งเป็นสปอนเซอร์ ชุดว่ายน้ำ ให้ทัพนักกีฬาทีมชาติออสเตรเลียมาตั้งแต่กีฬาโอลิมปิก ค.ศ. 1932 แต่จุดเปลี่ยนที่สร้างเสียงฮือฮาให้วงการแฟชั่นและวงการกีฬาว่ายน้ำเกิดขึ้นในโอลิมปิก ค.ศ. 1956 ซึ่งออสเตรเลียเป็นเจ้าภาพ จัดขึ้นที่เมืองเมลเบิร์น

ในปีนั้น Speedoได้ดีไซน์กางเกงว่ายน้ำผู้ชายแบบใหม่หวังผลให้เกิดความคล่องตัวยิ่งขึ้น จากกางเกงว่ายน้ำแบบขาสั้นก็เปลี่ยนมาเป็นรูปทรง “บรีฟ” หรือ “สวิมบรีฟ” (Swim Briefs) หรือก็คือกางเกงว่ายน้ำตัวจิ๋วเว้าขาสูงในรูปทรงตัววีที่กลายเป็น ชุดสามัญประจำกีฬาว่ายน้ำ เป็นกางเกงว่ายน้ำแบบคลาสสิกของผู้ชายที่ใช้มาจนปัจจุบัน

ชุดนักกีฬาทีมชาติออสเตรเลียโอลิมปิก 2020

และนอกจากเรื่องดีไซน์แล้ว ทางแบรนด์ยังทุ่มงานวิจัยเรื่องเส้นใยและวัสดุศาสตร์ โอลิมปิกปี1956จึงเป็นครั้งแรกของการใช้ “เส้นใยไนลอน” ซึ่งเป็นวัสดุใยสังเคราะห์มาตัดเย็บเป็นชุดว่ายน้ำที่ให้น้ำหนักเบา เสริมความคล่องตัว ลดแรงต้านของน้ำขณะว่ายน้ำและพอจบโอลิมปิก แบรนด์Speedoก็ขึ้นแท่นเป็นผู้นำตลาดผลิตภัณฑ์ ชุดว่ายน้ำ ของโลกในทันทีและผลลัพธ์เกินคาดที่ตามมาคือ ในโอลิมปิกปี 1968 ที่ประเทศเม็กซิโก มีนักกีฬาว่ายน้ำเหรียญทอง27 คน (แข่งขันทั้งหมด 29 รายการ) ที่เลือกสวม ชุดว่ายน้ำ ของแบรนด์จากออสเตรเลียนี้ระหว่างการแข่งขัน

ชุดว่ายน้ำรุ่นแรกๆ ของแบรนด์ในโอลิมปิก

ความสำเร็จที่เกิดขึ้นในโอลิมปิก ทำให้เป็นเหมือนธรรมเนียมปฏิบัติของแบรนด์ไปแล้วว่าต้องมีนวัตกรรมออกมาให้วงการแฟชั่นชุดว่ายน้ำว้าวได้เสมอในทุกกีฬาโอลิมปิก เช่น การร่วมวิจัยกับองค์การนาซาของสหรัฐอเมริกา วิจัยและออกแบบชุดว่ายน้ำที่มีความเร็วสูงโดยอิงหลักฟิสิกส์การเคลื่อนที่ผ่านอากาศและใต้น้ำ ผลลัพธ์จึงกลายเป็นชุดว่ายน้ำรุ่น LZR Racer ที่เปิดตัวพร้อมโอลิมปิก 2008 ณ กรุงปักกิ่ง และปีนั้น98% ของนักกีฬาที่ได้รับเหรียญรางวัลต่างสวมชุดว่ายน้ำรุ่น LZR Racer ทั้งสิ้นรวมถึงราชาเหรียญทองรายการว่ายน้ำอย่าง ไมเคิล เฟลป์ส (Michael Phelps)

ชุดว่ายน้ำรุ่น LZR Racer ที่ร่วมวิจัยกับนาซ่า

สำหรับโอลิมปิก 2020 ที่กรุงโตเกียวนั้น ทางแบรนด์ยังคงเป็นสปอนเซอร์หลักให้ทัพนักกีฬาว่ายน้ำจากออสเตรเลีย กับการออกแบบชุดว่ายน้ำ 2 รุ่นคือ Fastskin Pure Intent และ Fastskin Pure Valor ซึ่งได้ลงทุนทำงานวิจัยร่วมกับ พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ทางธรรมชาติ (Natural History Museum) ที่กรุงลอนดอน เพื่อศึกษาทำความเข้าใจองค์ประกอบที่ทำให้ฉลามและปลาเคลื่อนไหวในน้ำได้โดยแทบไร้แรงต้าน เพื่อนำมาใช้ในการออกแบบชุดว่ายน้ำระดับกีฬาโอลิมปิกโดยเฉพาะ


ย้อนไทม์ไลน์คอลเล็กชันโอลิมปิก

ค.ศ. 1914 Speedo ถือกำเนิดขึ้นแต่ยังอยู่ภายใต้แบรนด์ที่ชื่อ ‘Fortitude’ ซึ่งยังไม่เป็นที่รู้จักมากนัก โดยมีจุดเริ่มมาจาก อเล็กซานเดอร์ แม็กเร (Alexander McRae) หนุ่มสก็อตที่อพยพมายังออสเตรเลียตั้งแต่ ค.ศ.1910 และก่อตั้งโรงงานผลิตชุดชั้นในชื่อบริษัท MacRae Hosiery แต่ด้วยบรรยากาศและวัฒนธรรมชายหาดในออสเตรเลียที่เติบโต ทำให้แม็คเรตัดสินใจขยายผลิตภัณฑ์ไปสู่ชุดว่ายน้ำในชื่อบริษัท MacRae Knitting Mills เปิดตัวด้วยสุดว่ายน้ำแพตเทิร์นคลาสสิก Racerback ออกวางขายในซิดนีย์เมื่อ ค.ศ.1928 ซึ่งเป็นปีที่ชื่อเสียงของบริษัทเริ่มโด่งดัง

ส่วนชื่อแบรนด์ Speedo นั้นได้มาจากการจัดประกวดตั้งชื่อผลิตภัณฑ์เมื่อ ค.ศ.1928 โดยสโลแกนที่ชนะการประกวดคือ “Speed on in your Speedo” หรือ “ว่องไวในชุดสปีโด” เป็นการเล่นเสียงกับคำว่า Speed ที่แปลว่า ความเร็ว

อเล็กซานเดอร์ แม็กเร (Alexander McRae)

แบรนด์จากออสเตรเลียเริ่มโด่งดังในหมู่นักกีฬาว่ายน้ำระดับโลกเมื่อ อาร์เน่ บอร์ก (Arne Borg) นักว่ายน้ำชาวสวีเดนเลือกที่จะสวมใส่ในวันที่เขาทุบสถิติระดับโลก และหลังจากนั้นแบรนด์ก็ถูกจับตามองในทุกเกมการแข่งขันว่ายน้ำระดับโลกกับการคิดค้นเทคโนโลยีใหม่ ๆ สำหรับชุดว่ายน้ำ ซึ่งทำให้วงการกีฬาและแฟชั่นต้องตกตะลึงเสมอ โดยเฉพาะในเกมการแข่งขันโอลิมปิก โดยชุดว่ายน้ำรุ่นที่เป็นไฮไลต์แจ้งเกิดในโอลิมปิกมีดังนี้

อาร์เน่ บอร์ก (Arne Borg) นักว่ายน้ำชาวสวีเดน

Swim Briefs (1956) : โอลิมปิกปี 1956 ที่เมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย Speedo แจ้งเกิดนวัตกรรมสำหรับกางเกงว่ายน้ำชาย ที่เรียกว่า สวิมบรีฟ (Swim Briefs) เป็นกางเกงว่ายน้ำชายตัวจิ๋ว เว้าขาสูงในรูปทรงตัววีถูกออกแบบมาเพื่อลดแรงต้านของน้ำขณะนักกีฬาลงว่ายทั้งยังเปลี่ยนมาใช้วัสดุเป็นผ้าไนลอน

Spandex (1972) : หลังจากกางเกงว่ายน้ำชายทรงบรีฟแพร่หลายกลายเป็นทรงคลาสสิกของนักว่ายน้ำชายทั่วโลก โอลิมปิกปี 1972 ที่กรุงมิวนิกประเทศเยอรมนี ทางแบรนด์ได้เปิดตัวชุดว่ายน้ำที่ใช้เส้นใยสแปนเด็กซ์ (Spandex) ที่มีความยืดหยุ่นสูงเป็นรายแรก ผลลัพธ์คือ นักว่ายน้ำถึง 21 คน ที่ใส่ชุดว่ายน้ำสแปนเด็กซ์ของแบรนด์ลงแข่ง แต่ละคนก็ล้วนแต่สร้างสถิติโลกกันใหม่ในปีนั้น

 

Aquablade (1996) : โอลิมปิกปี 1996 ที่แอตแลนตา สหรัฐอเมริกาเป็นเจ้าภาพพร้อมกับที่ Speedo ได้เปลี่ยนดีไซน์ชุดว่ายน้ำชาย จากกางเกงตัวจิ๋วเว้าสูงเป็นชุดสูทขายาวถึงเข่าเรียกว่ารุ่น Aquablade พร้อมทั้งยังพัฒนารุ่น Endurance เป็นชุดว่ายน้ำที่ทนต่อสารคลอรีนในสระว่ายน้ำออกมาต่อเนื่องด้วย

FASTSKIN (2000) : ปีนี้ออสเตรเลียเป็นเจ้าภาพโอลิมปิก ทางแบรนด์เลยเปิดตัวนวัตกรรมใหม่อย่างสมศักดิ์ศรีด้วยต้นฉบับชุดว่ายน้ำในซีรีส์ FASTSKIN เนื้อผ้าจากใยสังเคราะห์อย่างไนลอน พัฒนาการทอให้แนบเนื้อกับผู้สวมใส่และพื้นผิวไร้แรงต้านขณะนักกีฬาเคลื่อนไหวใต้น้ำ แรงบันดาลใจการออกแบบมาจาก ผิวหนังของ “ฉลาม” นักล่าแห่งมหาสมุทรที่แหวกว่ายได้อย่างคล่องแคล่วว่องไว

FASTSKIN FSII (2004) : ในโอลิมปิกปี 2004 ที่เอเธนส์ Speedo ทะลุเพดานตัวเองอีกครั้งด้วยงานนวัตกรรมชุดว่ายน้ำ FASTSKIN FSII เป็นการต่อยอดซีรีส์ ฟาสต์สกิน และที่ท็อปส์ฟอร์มคือ ราชาเหรียญทองว่ายน้ำอย่าง ไมเคิล เฟลป์ส ที่กวาดถึง 8 เหรียญทองก็สวมชุดว่ายน้ำคอลเลคชันใหม่นี้

LZR Racer (2008) : หลังโอลิมปิก 2004 ทางบริษัทก็เดินหน้าด้านเทคโนโลยีชุดว่ายน้ำต่อโดยได้ร่วมวิจัยกับองค์การนาซาออกแบบชุดว่ายน้ำที่มีความเร็วสูง อิงหลักฟิสิกส์การเคลื่อนที่ผ่านอากาศและใต้น้ำ พร้อมจัดตั้งศูนย์วิจัยเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เรียกว่า Aqualab ผลิตชุดว่ายน้ำแบบไฮเทค ชื่อรุ่น เลเซอร์ เรเซอร์ (LZR Racer) ที่ลดแรงต้านน้ำได้มากขึ้นราว 25 เปอร์เซ็นต์จากเดิม ทำให้นักว่ายน้ำเคลื่อนที่ใต้น้ำได้ว่องไวไม่ใช่แค่เหมือนฉลามเจ้าสมุทรแต่ไวเป็นจรวดแหวกชั้นบรรยากาศโลกเลยทีเดียว

FASTSKIN FSII และ Fastskin LZR Racer 
และหลังจากที่วิจัยอยู่นาน ในปี ค.ศ.2008 ปักกิ่งเกม โอลิมปิกที่จีนเป็นเจ้าภาพ Speedo ในวาระครบรอบ 80 ปีของแบรนด์ก็ได้ฤกษ์ส่งผลิตภัณฑ์ชุดว่ายน้ำสุดไฮเทค LZR Racer เป็นแบบชุดคลุมลำตัวมิดชิดเหมือนชุดนักประดาน้ำ (Wetsuit) โดยวัสดุหลักของชุด LZR Racer มีเส้นใยไนลอนผสมสแปนเด็กซ์และโพลียูรีเทน ซึ่งมีน้ำหนักเบาและไม่อุ้มน้ำรูปทรงของชุดถูกตัดเย็บมาช่วยพยุงกล้ามเนื้อผู้สวมใส่ ทำให้ว่ายน้ำได้เร็วและอึดมากขึ้น โดยทางผู้ผลิตอ้างว่านี่คือ ชุดว่ายน้ำที่ทำให้นักว่ายน้ำเร่งความเร็วได้ราวกับบินทะลุสายน้ำเลยทีเดียว เป็นที่มาของชื่อเรียกกันเล่น ๆ ว่า ชุดว่ายน้ำจรวด (Rocket Swimsuits) ผลปรากฏว่า 98 เปอร์เซ็นต์ ของนักกีฬาว่ายน้ำที่ได้ครองเหรียญโอลิมปิก 2008 ลงแข่งด้วยชุดว่ายน้ำรุ่นไฮเทคนี้รวมทั้ง ไมเคิล เฟลป์ส แต่ก็ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตามมาถึงความไม่ยุติธรรมเอาเสียเลยสำหรับนักว่ายน้ำที่ไม่ได้สวมชุดที่ล้ำด้วยเทคโนโลยีเช่นนี้

หลังจากนั้นไม่นาน สหพันธ์ว่ายน้ำระหว่างประเทศ หรือ ฟีนา (The Fédération Internationale de Natation หรือ FINA) ภายใต้การรับรองของคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (International Olympic CommitteeหรือIOC) ตัดสินใจออกกฎห้ามชุดไฮเทคเกินไปในการแข่งขันกีฬาว่ายน้ำระดับสากล โดยออกกฎบังคับให้ชุดว่ายน้ำที่ใช้ในการแข่งขันต้องทำจากวัสดุที่เป็นเส้นใยผ้าที่อากาศซึมผ่านได้เท่านั้น ห้ามมีวัสดุตัวช่วยอย่างซิป และมีข้อกำหนดรูปแบบชุดว่ายน้ำนักกีฬาชาย ความยาวเฉพาะแค่เข่าเท่านั้น ไม่อนุญาตให้ใช้ชุดว่ายน้ำที่เป็นขายาวถึงน่องหรือข้อเท้าได้ ส่วนชุดว่ายน้ำนักกีฬาหญิง ตัวชุดว่ายน้ำท่อนบนต้องเปิดท่อนแขนและกางเกงห้ามยาวเลยเข่าและชุดนักกีฬาว่ายน้ำของทุกทีมที่เข้าร่วมแข่งขันโอลิมปิก จะต้องได้รับการตรวจสอบและอนุมัติจาก FINA ก่อนการแข่งขัน และต้องเป็นชุดที่มีป้ายรับรองจาก FINA เท่านั้นจึงจะสามารถสวมใส่ลงแข่งขันได้

Fastskin Racing System (2012) : โอลิมปิกที่ลอนดอน Speedo พัฒนาชุดว่ายน้ำในรุ่น Fastskin Racing System และปรับใช้วัสดุและรูปแบบของชุดให้ถูกต้องตามกฎของ FINA แต่เพิ่มการพัฒนาในส่วนของแว่นตาและหมวกว่ายน้ำ เน้นการลดแรงต้านของน้ำที่จะหน่วงเวลาในการเคลื่อนที่ของนักกีฬาในน้ำให้ได้

ชุดทีมชาติออสเตรเลียใน โตเกียว โอลิมปิก ปี 2020

Fastskin Pure Intent / Fastskin Pure Valor (2020) : โตเกียว โอลิมปิก ปี 2020 Speedo ยังคงพัฒนาต่อยอดจากชุดว่ายน้ำฟาสต์สกิน สูท (FastskinSuits) ที่ช่วยพยุงการเคลื่อนไหวให้นักกีฬาว่ายน้ำเคลื่อนตัวได้เร็วที่สุดขณะว่ายน้ำ ราวกับฉลามเจ้าสมุทร ทั้งยังลงทุนทำงานวิจัยร่วมกับ พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ทางธรรมชาติ (Natural History Museum) ที่กรุงลอนดอน เพื่อทำความเข้าใจองค์ประกอบที่ทำให้ฉลามและปลาเคลื่อนไหวในน้ำได้ราวไร้แรงต้าน

ผลลัพธ์คือ ชุดว่ายน้ำรุ่น ฟาสต์สกิน เพียว อินเทนต์ (Fastskin Pure Intent) ชุดที่สวมใส่สบายและมีความยืดหยุ่นสูง ทำให้ตีขาเคลื่อนไหวได้สะดวกขึ้น ผสมกับเทคโนโลยีสิ่งทอที่เลือกใช้วัสดุที่มีความยืดหยุ่น แนบลำตัวและลดแรงต้านในน้ำ ไม่ดึงรั้งผิวกายของผู้สวมใส่ซึ่งใช้หลักไฮโดรไดนามิก (Hydrodynamics) ความรู้ว่าด้วยแรงเกี่ยวเนื่องกับการเคลื่อนไหวของน้ำ และชีวกลศาสตร์ (Biomechanics) ซึ่งเป็นความรู้เกี่ยวกับกลไกการเคลื่อนไหวของร่างกายและแรง กับปัจจัยต่าง ๆ ที่มีผลต่อกันเพื่อให้การเคลื่อนตัวในน้ำเป็นไปได้อย่างว่องไว

ชุดว่ายน้ำของทัพนักกีฬาจากสหรัฐอเมริกา ในโอลิมปิก 2020

อีกรุ่นที่ออกมาพร้อมกันคือ ชุดว่ายน้ำ ฟาสต์สกิน เพียว เวเลอร์ (Fastskin Pure Valor) เป็นชุดว่ายน้ำรุ่นที่มีน้ำหนักเบาที่สุด ใส่สบายและคล่องตัว ไร้รอยตะเข็บ ทำให้ชุดกลายเป็นเหมือนผิวหนังอีกชั้นของนักกีฬามากกว่าเป็นเสื้อผ้านอกกายเป็นชุดรุ่นที่ลดแรงดันอากาศที่ไหลเข้ามาแทรกระหว่างเนื้อผ้ากับลำตัว (ช่วงสะโพกและต้นขา) ของนักว่ายน้ำ และลดแรงต้านของน้ำขณะว่ายน้ำได้มากขึ้น ซึ่งนอกจากนักกีฬาจากออกเตรเลียแล้ว เรายังได้เห็นทั้ง 2 คอลเล็คชันนี้ปรากฏอยู่ในชุดว่ายน้ำของทัพนักกีฬาจากสหรัฐอเมริกาด้วย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook