ASICS : แบรนด์ญี่ปุ่นระดับโลกที่ก่อตั้งโดยทหารแพ้สงครามและได้ไอเดียจากการมองหนวดปลาหมึก
"ANIMA SANA IN CORPORE SANO" คือคำภาษาละตินที่แปลเป็นไทยได้ความว่า "จิตใจเข้มแข็งภายในร่างกายที่แข็งแกร่ง" และเมื่อนำอักษรหน้าสุดของทั้ง 5 คำมารวมกัน ก็จะกลายเป็นชื่อของแบรนด์รองเท้า "ASICS"
เอสิคส์ (Asics) เป็นยี่ห้อรองเท้าที่อยู่คู่กับโลกกีฬามายาวนาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศญี่ปุ่น ที่ เอสิคส์ ได้กรุยทางให้แก่วงการสปอร์ตแวร์ของญี่ปุ่นมาตั้งแต่ปี ค.ศ.1949 ด้วยลวดลายขีด 4 เส้นข้างรองเท้าคล้ายกับอักษรตัว A ที่กลายเป็นเอกลักษณ์ รวมถึงเทคโนโลยีเฉพาะที่ได้คิดค้นขึ้นมาเพื่อให้ทัดเทียมกับแบรนด์รองเท้าจากฝั่งตะวันตก
ก่อนจะขยายตลาดไปสู่ลูกค้าทั่วโลก ที่แม้แต่นักกีฬาบิ๊กเนมอย่าง โนวัค ยอโควิช นักเทนนิสมือ 1 ของโลก และ ไอเซย์ โธมัส นักบาสเกตบอล NBA ชื่อดังก็ยังเลือกใช้ รวมถึงยังได้เป็นผู้สนับสนุนหลักหลักด้านรองเท้าและเครื่องแต่งกายอย่างเป็นทางการให้กับโอลิมปิก 2020 ที่กำลังจะจัดขึ้น บนดินแดนต้นตำรับของรองเท้ายี่ห้อนี้
แต่กว่า เอสิคส์ จะก้าวมาถึงจุดนี้ ผู้ให้กำเนิดอย่าง คิฮาชิโระ โอนิสึกะ ต้องผ่านการลองผิดลองถูกหลายต่อหลายครั้ง จากห้องนั่งเล่นในบ้านของเขาที่เมืองโกเบ ประเทศญี่ปุ่น ก่อนจะมาปิ๊งไอเดียเมื่อเขานั่งมองหนวดปลาหมึกที่ติดอยู่บนชาม
ช้าก่อน! แล้วหนวดปลาหมึก มาเกี่ยวข้องอะไรกับแบรนด์รองเท้าเจ้าดังจากแดนอาทิตย์อุทัย "ณัฐพล ทองประดู่" นักเขียนสายไลฟ์สไตล์แห่ง Main Stand จะมาเขียนบทความนี้ให้คุณได้อ่าน
รองเท้าแห่งความหวัง
ภายหลังการสิ้นสุดของสงครามโลกครั้งที่ 2 ในปี 1945 จักรวรรดิญี่ปุ่นผู้ประกาศสงครามร่วมกับฝ่ายอักษะ ข้างเดียวกับนาซี เยอรมัน ได้รับความเสียหายจากระเบิดปรมาณูที่ถูกปล่อยลงบนเกาะฮิโรชิมา ในวันที่ 6 สิงหาคม 1945 นำมาสู่การประกาศยอมแพ้สงครามต่อฝ่ายสัมพันธมิตร
Photo : corp.asics.com
สิ่งที่เสียหายไม่ได้มีแค่บ้านเรือนเท่านั้น แต่ยังรวมถึงขวัญกำลังใจของชาวญี่ปุ่นที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากสงคราม ที่ต้องประสบปัญหาเรื่องความขาดแคลนอาหารและที่อยู่อาศัย
รวมถึงยังถูกแทรกแซงอำนาจรัฐจากประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกา ผ่านการควบคุมโดย "นายพล ดักลาส แมคอาเธอร์" ที่สร้างความสั่นคลอนให้แก่ระบบการปกครองของญี่ปุ่น นำมาซึ่งนโยบายทางการเมืองที่ใช้ควบคุมญี่ปุ่นอีกเป็นจำนวนมาก
หนึ่งในนั้น คือการปลดอาวุธทางการทหาร เพราะหลังจากที่แพ้สงคราม ประเทศญี่ปุ่นไม่จำเป็นต้องนำงบประมาณไปลงทุนกับการทหารอย่างที่เคยทำ นายพลแมคอาเธอร์ แนะนำให้ญี่ปุ่นทำการปฏิรูปสังคมและเศรษฐกิจแบบยกครัว ทำให้ประเทศค่อย ๆ ฟื้นสภาพจากสงครามในเวลาต่อมา
Photo : corp.asics.com
เช่นเดียวกันกับบ้านเมืองที่กำลังเข้ารูปเข้ารอย มีนายทหารผ่านศึกคนหนึ่ง ที่เคยดำรงตำแหน่งเจ้าหน้าที่ธุรการในกองทัพญี่ปุ่น ชื่อ "คิฮาชิโระ โอนิสึกะ" ผู้เล็งเห็นถึงความสำคัญของสภาพจิตใจของผู้คน
เขาเชื่อมั่นว่าการเล่นกีฬาจะมีส่วนสำคัญในการช่วยดึงขวัญกำลังใจของผู้คนให้ฟื้นคืนมาได้ และสิ่งที่เขาเลือกทำคือ การผลิตรองเท้าสำหรับเล่นกีฬา
รองเท้าจากทหารแพ้สงคราม
"คิฮาชิโระ โอนิสึกะ" เกิดเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม ค.ศ.1918 ที่เมืองมัตสึงามิ จังหวัดทตโตะริ เขาเป็นลูกคนเล็กสุดในครอบครัวชาวนา
Photo : corp.asics.com
ในช่วงเวลาของการเติบโต เขามีเป้าหมายอยากจะเข้าโรงเรียนเตรียมทหารเพื่อเป็นหนึ่งในกำลังของกองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่น ภายหลังการสอบเข้าด้วยคะแนนระดับสูง โอนิสึกะ ถูกบรรจุให้ไปอยู่ในกองร้อยที่ 10 ประจำเมืองฮิเมะจิ จังหวัดเฮียวโงะ ก่อนย้ายมาทำงานเป็นเจ้าหน้าที่ธุรการของกองทัพภายหลังประจำการได้ 1 ปี
โอนิสึกะ เป็นคนหนึ่งที่ได้เห็นภาพความโหดร้ายของสงครามโลกครั้งที่ 2 มาตลอดในช่วงเวลาที่เกิดขึ้นตั้งแต่ ค.ศ.1939 - 1945 จนสงครามสิ้นสุดลง
เขามีความตั้งใจที่จะช่วยเหลือเยาวชน พยายามที่จะช่วยสร้างอนาคตที่ดีให้แก่พวกเขา โดยใช้ประโยชน์จากการเล่นกีฬาเป็นหลัก เพราะเขาเชื่อว่าวิธีที่ดีที่สุดในการยึดโยงความสัมพันธ์ของผู้คนเข้าไว้ด้วยกัน คือการเล่นกีฬา
รองเท้าต้นแบบคู่แรกที่เขาคิดค้นขึ้น ถือกำเนิดขึ้นในห้องนั่งเล่นที่บ้านของเขาในเมืองโกเบ จังหวัดเฮียวโงะ และได้ก่อตั้งบริษัทชื่อ "บริษัท โอนิสึกะ โชไค" ในเดือนมีนาคม ปี 1949
Photo : corp.asics.com
ความตั้งใจของ โอนิสึกะ ตอนเริ่มแรก คือการผลิตรองเท้าให้แก่เด็กนักเรียน เพื่อใส่ไปเรียนวิชาพละที่โรงเรียนเท่านั้น ซึ่งในเวลานั้นยังไม่มีบริษัทอื่นที่ผลิตรองเท้าผ้าใบเลย ทำให้บริษัทของเขากลายเป็นบริษัทรองเท้าผ้าใบแห่งแรกของญี่ปุ่น
ในช่วงเวลาเดียวกันนี้เองประกอบกับบริบททางสังคมของญี่ปุ่นในช่วงทศวรรษ 1950s ที่เกิดปรากฏการณ์ทางเศรษฐกิจที่เรียกว่า "ความมหัศจรรย์ทางเศรษกิจของญี่ปุ่น" (Japanese Economic Miracle) อันเนื่องมาจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องของประเทศ ผ่านการช่วยเหลือจากสหรัฐอเมริกา การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในช่วงเวลานี้ ยังเป็นช่องทางให้ญี่ปุ่นสามารถเข้าร่วมกับวงจรเศรษฐกิจโลกได้อีกครั้ง
ประเทศญี่ปุ่นที่ถูกแทรกแซงอำนาจการปกครองโดยสหรัฐอเมริกา เริ่มมีการซึมซับวัฒนธรรมแบบตะวันตกเข้ามามากขึ้นเรื่อย ๆ สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดคือ ค่านิยมแบบอเมริกัน ผ่านกีฬาแบบอเมริกัน อย่าง เบสบอล และบาสเกตบอล ที่เริ่มเป็นที่นิยมมากขึ้น และสนามหรือพื้นที่สำหรับการเล่นกีฬาแบบอเมริกันก็เริ่มปรากฏให้เห็นมากขึ้นทั่วประเทศญี่ปุ่น
โอนิสึกะ มีแนวคิดที่จะพัฒนารองเท้าบาสเกตบอลเป็นของตัวเอง เพื่อที่จะสามารถทัดเทียมกับรองเท้าจากต่างประเทศได้ แต่จนแล้วจนรอด โอนิสึกะ ก็ยังไม่สามารถหาจุดเด่นให้กับรองเท้าของเขา
กระทั่งในปี 1951 โอนิสึกะ เกิดปิ๊งไอเดียใหม่ ในระหว่างที่กินสลัดปลาหมึก เขาเห็นหนวดของปลาหมึกที่ติดอยู่ข้างชาม จึงได้แนวคิดว่าต้องการทำให้รองเท้าของเขาสามารถเกาะพื้น ได้เหมือนกับหนวดปลาหมึกที่ติดอยู่บนชาม พร้อมกันนั้น โอนิสึกะ ยังได้แรงบันดาลใจของลวดลายเส้น 4 เส้นมาจากภาพตะเกียบที่คีบหนวดปลาหมึกในตอนนั้นอีกด้วย
Photo : corp.asics.com
รองเท้าบาสเกตบอลรุ่นแรกที่ โอนิสึกะ ทำขึ้นจึงมีจุกดูดที่เท้า เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้รองเท้ายึดเกาะพื้นได้ดีขึ้นขณะเล่นบาสเกตบอล
ถึงจะฟังดูแปลกขนาดไหน แต่รองเท้าบาสเกตบอลชุดแรกที่โอนิสึกะคิดค้น ก็ได้รับความนิยมในหมู่นักกีฬาบาสเกตบอลระดับมัธยมปลาย จนกลายมาเป็นรองเท้ามาตรฐาน ที่นักกีฬาบาสเกตบอลทีมชาติญี่ปุ่นสวมใส่แข่งขันในกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อนปี 1956 ที่กรุงเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย
หลังจากนั้นรองเท้าของ โอนิสึกะ ก็ได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นอีกในปี 1952 และเริ่มขยายกิจการให้มีหน้าร้านที่ขายรองเท้ากว่า 500 แห่งทั่วประเทศญี่ปุ่น
พร้อมทั้งขยายความหลากหลายของแบรนด์ตัวเองไปสู่วงการวิ่ง เขาได้คิดค้นรองเท้าวิ่ง "มาราธอน ทาบิ" ที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจาก "ทาบิ" รองเท้าญี่ปุ่นที่มีลักษณะผ่ากลางระหว่างนิ้วชี้กับนิ้วอื่น ๆ เหมือนกับรองเท้าของนินจา ที่นักกีฬาวิ่งมาราธอนของญี่ปุ่นชอบใส่ในช่วงเวลานั้น
Photo : reddit.com
เขายกระดับทาบิมีให้มีคุณภาพดีขึ้น ด้วยการนำแบบรองเท้านี้มาเสริมกับวัสดุที่มีความทนทานมากว่าเดิม และเสริมด้วยพื้นยาง ซึ่งในปี 1951 "ชิเงคิ ทานากะ" นักวิ่งชาวญี่ปุ่นวัย 20 ปี ที่ใส่รองเท้าของ โอนิสึกะ ชนะการแข่งขันการวิ่ง "บอสตัน มาราธอน" ส่งผลให้รองเท้าของ โอนิสิกะ ได้รับความนิยมขึ้นไปอีก
จิตใจเข้มแข็งภายในร่างกายที่แข็งแกร่ง
รองเท้าวิ่งที่ โอนิสึกะ ผลิตออกมาหลังจากทศวรรษ 1950s ยังคงได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับการพัฒนาเทคโนโลยีให้มีประสิทธิภาพอย่างสม่ำเสมอ ในปี 1953 ได้มีการก่อตั้ง "โรงงานยางไทเกอร์" ขึ้นในเมืองโกเบ เพื่อใช้เป็นฐานการผลิต ก่อนที่จะควบรวมกับบริษัทโอนิสึกะในปี 1957 ที่กลายมาเป็น "โอนิสึกะ ไทเกอร์" ในเวลาต่อมา
Photo : corp.asics.com
ปี 1960 เขาพยายามยกระดับรองเท้าวิ่งไปอีกขั้นด้วยเทคโนโลยีการระบายอากาศ เพื่อลดความร้อนที่จะเป็นสาเหตุของแผลพุพองสำหรับนักวิ่ง รองเท้าโอนิสึกะ ไทเกอร์ "แมจิค รันเนอร์" จึงเป็นรองเท้ารุ่นแรกที่มีการเจาะรูไปบนรองเท้าเพื่อให้เกิดการไหลเวียนของอากาศ
กิจการของ โอนิสึกะ เติบโตขึ้นอย่างเห็นได้ชัดภายหลังการแข่งขันกีฬาโตเกียวโอลิมปิก 1964 ในภาพของบริษัทที่พัฒนาคุณภาพของรองเท้าอย่างต่อเนื่อง ด้วยการออกรองเท้า "รันสปาร์ค" ที่เพิ่มหนามบนพื้นรองเท้าสำหรับวิ่งบนสนามเพื่อการยึดเกาะที่แม่นยำ
ในที่สุดรองเท้า โอนิสึกะ ไทเกอร์ ก็ดึงความสนใจให้แก่นักลงทุนจากสหรัฐอเมริกาอย่าง "บิล โบเวอร์แมน" และ "ฟิล ไนท์" ได้สำเร็จ พวกเขาทั้งคู่ก่อตั้งบริษัท "บลู ริบบอน สปอร์ต" และเป็นตัวแทนจำหน่ายรองเท้า โอนิสึกะ ไทเกอร์ ในสหรัฐอเมริกาอย่างเป็นทางการ แต่ภายหลังทั้งสองบริษัทได้มีปัญหากันในเรื่องของลิขสิทธิ์ จนทำให้ บลู ริบบอน เลิกเป็นหุ้นส่วนกับ โอนิสึกะ และเปลี่ยนไปพัฒนาแบรนด์ของตัวเองที่ชื่อว่า "ไนกี้" (Nike) ที่ปัจจุบันกลายเป็นยักษ์ใหญ่แห่งสปอร์ตแวร์ของโลก
Photo : whitesocks.wordpress.com
จุดเปลี่ยนหนึ่งที่สำคัญของบริษัทคือ ในปี 1977 โอนิสึกะ ไทเกอร์ ตัดสินใจรวมบริษัทเข้ากับโรงงานผลิตอย่าง "บริษัทจีทีโอ" และ "บริษัทเจเลง" ผู้ผลิตเสื้อผ้ากีฬาและอุปกรณ์กีฬา และเปลี่ยนชื่อบริษัทจาก โอนิสึกะ ไทเกอร์ เป็น "เอสิคส์ คอร์เปอเรชั่น"
โดยชื่อ เอสิคส์ เป็นตัวย่อมาจากภาษาละติน "Anima Sana In Corpore Sano" ที่แปลเป็นอังกฤษคือ "Sound Mind In A Sound Body" และแปลเป็นภาษาไทยได้ว่า จิตใจเข้มแข็งภายในร่างกายที่แข็งแกร่ง
อย่างไรก็ดี นี่ไม่ใช่การยุบบริษัทหนึ่งทิ้งแล้วสร้างอีกบริษัทขึ้นมา กล่าวในอีกนัยยะหนึ่งคือ บริษัทโอนิสึกะและสินค้าในเครือโอนิสึกะ คือผลิตภัณฑ์ภายใต้ชื่อบริษัทเอสิคส์
Photo : corp.asics.com
ในขณะที่เอสิคส์ก็ผลิตรองเท้าในไลน์ของตนเองด้วย หากพูดถึงเรื่องความแตกต่างกันระหว่าง 2 แบรนด์นี้อย่างง่ายที่สุดคือ โอนิสึกะ ไทเกอร์ วางตัวเป็นรองเท้าแฟชั่น ยึดแนวทางสปอร์ตไลฟ์สไตล์ ส่วนเอสิคก์คือแบรนด์ที่เน้นการพัฒนาอุปกรณ์กีฬาอาชีพอย่างจริงจัง
นับตั้งแต่ที่ เอสิคส์ ได้แสดงจุดยืนในฐานะอีกหนึ่งผู้เล่นที่ลงแข่งขันในวงการแบรนด์กีฬา พวกเขาก็พยายามเข็นเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่มีคุณภาพเพื่อประชันกับรองเท้าวิ่งเจ้าอื่น ๆ อย่างต่อเนื่อง
อีกหนึ่งนักวิ่งในสนาม
หนึ่งในเทคโนโลยีที่เป็นที่เป็นจุดเด่นและถูกกล่าวถึงมากที่สุดสำหรับรองเท้าเอสิคส์ ได้แก่ "เอสิคส์เจล" ที่ถือกำเนิดขึ้นครั้งแรกในปี 1986 จุดประสงค์หลักของการพัฒนาพื้นรองเท้าแบบนุ่มโดยใช้เจล ก็เพื่อลดแรงกระแทกสำหรับนักวิ่ง โดยมีสารประกอบของซิลิโคนร่วมอยู่ด้วย ทำให้เกิดความนุ่ม และทุก ๆ ครั้งที่เกิดแรงกระแทกจากการวิ่ง จะมีการกระจายแรงสั่นสะเทือนไปในวงกว้าง ทำให้ไม่เจ็บเท้าอยู่จุดเดียวนั่นเอง
Photo : corp.asics.com
หลังจากการพัฒนาเอสิคส์เจลในปี 1986 ต่อมาในปี 1987 ก็มีการออกรุ่น "เจล ไลท์", "เจล อพิรัส" และ "เจล ไลท์ 2" ในปี 1989 และ "เจล ไลท์ 3" ในปี 1990 ตามมาเรื่อย ๆ โดยเป็นการพัฒนาต่อยอดจากของเดิมขึ้นมา ให้เป็นเอสิคส์เจลที่โดดเด่นในเรื่องของน้ำหนักที่เบาเป็นพิเศษ เมื่อเริ่มเข้าสู่ยุค 90s ก็มีไลน์ "เจล ไลท์ ซาก้า" ที่เป็นที่หมายตาสำหรับนักสะสมเช่นกัน
เทคโนโลยีเอสิคส์เจล ยังคงถูกใช้มาจนถึงทุกวันนี้ในการผลิตรองเท้าวิ่ง ที่เป็นอาวุธที่เอสิคส์ยังเลือกมาพัฒนาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นเรื่อย ๆ นอกจากนี้ในปี 1990 ยังได้มีการจัดตั้ง "สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์การกีฬาเอสิคส์" (Asics Research Institute of Sports Science) ขึ้นที่เมืองโกเบ ประเทศญี่ปุ่น เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ และสร้างรองเท้าที่ดีขึ้นผ่านการศึกษาการเคลื่อนไหวของมนุษย์โดยเฉพาะ
อย่างไรก็ตาม ผู้ก่อตั้งอย่าง คิฮาชิโระ โอนิสึกะ ได้เสียชีวิตลงด้วยภาวะหัวใจล้มเหลว ในวันที่ 29 กันยายน ค.ศ.2007 ในวัย 89 ปี แต่ เอสิคส์ ยังคงเป็นอีกหนึ่งผู้เล่นสำคัญในวงการกีฬา
โดย เอสิคส์ ได้มีการรีแบรนด์ครั้งใหญ่ไปเมื่อปี 2017 เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มคนอย่างกว้างขวางมากขึ้น พร้อมกับสื่อสารโดยใช้คติว่า "ความสุขของการเล่นกีฬา" (The Joy of Playing Sport) ที่ทำให้ภาพลักษณ์ของแบรนด์มีความทันสมัยตามยุคสมัยมากยิ่งขึ้น
ปัจจุบัน เอสิคส์ ถือเป็นอีกแบรนด์ที่ยังได้รับความนิยมอยู่ทั่วโลก ไม่จำกัดเพียงแค่ในญี่ปุ่นเท่านั้น ตามวิสัยทัศน์ที่มุ่งเน้น "การสร้างไลฟ์สไตล์ที่มีคุณภาพผ่านเทคโนโลยีอันชาญฉลาด" และยังเป็นผู้ให้การสนับสนุนหลักอย่างเป็นทางการสำหรับโตเกียวโอลิมปิก 2020 ที่จะถึงนี้
ถึงแม้ว่ากาลเวลาจะผ่านมานาน สินค้าได้รับการอัพเกรดไปตามยุคสมัย แต่สิ่งที่ยังคงไว้ดังเดิมคือปรัชญาในการทำงาน นั่นคือ การช่วยส่งเสริมสุขภาพให้เยาวชนมีสุขภาพดี เหมือนกับในช่วงแรกที่ โอนิสึกะ ก่อตั้งขึ้น จนถึงตอนนี้บริษัทก็ก่อตั้งมาเป็นเวลากว่า 72 ปีแล้ว
แหล่งอ้างอิง :
https://en.wikipedia.org/wiki/Asics
https://corp.asics.com/en/p/corporate-development
https://www.footasylum.com/the-lowdown/lowdown-sneaker-school-the-history-of-the-asics-gel/
https://hbr.org/1998/01/reinterpreting-the-japanese-economic-miracle
https://history.state.gov/milestones/1945-1952/japan-reconstruction
https://olympics.com/tokyo-2020/en/organising-committee/marketing/sponsors/asics
https://www.onitsukatiger.cc/blog/difference-between-asics-and-onitsuka-tiger/
https://www.onitsukatiger.com/th/th-th/p/tiger-tales
https://www.runnersworld.com/runners-stories/a26415741/asics-founder-kihachiro-onitsuka/
https://shopcanoeclub.com/blogs/deep-dive/is-asics-the-same-as-onitsuka-tiger
https://shopcanoeclub.com/blogs/editorial/onitsuka-tiger-brand
https://www.the-spin-off.com/news/stories/ASICS-KIHACHIRO-ONITSUKA-DIES-AT-89-562