วิธีพัฒนาตนเอง ของคนที่จะทำงานสายครีเอทีฟ

วิธีพัฒนาตนเอง ของคนที่จะทำงานสายครีเอทีฟ

วิธีพัฒนาตนเอง ของคนที่จะทำงานสายครีเอทีฟ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ขึ้นชื่อว่างานครีเอทีฟ (Creative) ก็พอจะรู้ว่างานสายนี้เป็นงานที่ต้องขายไอเดียเป็นหลัก แน่นอนว่าไอเดียที่จะขายได้ก็ต้องไม่ไก่กา มีความบรรเจิด แปลกใหม่ ไม่เหมือนใคร หรืออาศัยหลักน้อยแต่มาก คือไม่จำเป็นต้องเล่นใหญ่แต่มีผลต่อใจ ชิ้นงานที่จะออกมาสร้างสรรค์แบบนี้ได้ ก็ขึ้นอยู่กับตัวคนที่สร้างผลงานขึ้นมา นี่เป็นความท้าทายอย่างหนึ่งของคนที่คิดจะเดินทางสายนี้

งานครีเอทีฟ ถือเป็นงานอีกตำแหน่งที่ตลาดแรงงานต้องการอยู่ตลอดเวลา เพราะโลกต้องการสิ่งใหม่ ต้องการนวัตกรรมใหม่ ต้องการสิ่งทันสมัย แต่การจะหาคนเก่ง ๆ ในสายนี้ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย และการทำงานสายนี้ต้องใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์ ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่จะหาได้ทั้ง 2 อย่างในตัวทุกคน

แต่ก็ใช่ว่าคนที่ฝันอยากทำงานด้านครีเอทีฟจะหมดหวังเพราะคิดว่าตนเองมีคุณสมบัติไม่พอ สิ่งนี้เราสามารถพัฒนาขึ้นเองได้ ลองมาดูว่าต้องทำอย่างไร

เปลี่ยนตัวเอง เปิดประสบการณ์ มองโลกให้กว้าง
คนโลกแคบ ก็จะมองเห็นแค่สิ่งที่อยู่ในวงจำกัดรอบ ๆ ตัว โดยที่ไม่รู้ว่าไกลออกไปมีอะไรน่าสนใจบ้าง ทำให้ขาดไอเดีย ขาดวัตถุดิบใหม่ ๆ ที่จะนำมาสร้างสรรค์งาน หากอยากทำงานสายครีเอทีฟให้ได้ดี ก็ต้องเปลี่ยนตัวเองให้เป็นคนที่โลกกว้าง หมั่นหาวัตถุดิบใส่ตัว ออกไปหาประสบการณ์ใหม่ ๆ เห็นอะไรมาก ๆ หลาย ๆ มุม พูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับคนแปลกหน้าบ้าง จะเกิดเป็น “แรงบันดาลใจ” ขึ้นมา ฉะนั้น อย่าสร้างงานโดยอาศัยแค่ข้อมูลรอบ ๆ ตัว หรือเสิร์ชหาจาก Google เท่านั้น ออกไปผจญภัย ไปให้รู้ด้วยตัวเอง แล้วคุณจะได้ประสบการณ์ที่ไม่รู้ลืม

อ่านให้มาก
นอกจากการหาประสบการณ์ด้วยการท่องโลกกว้าง การอ่านหนังสือให้มากก็จำเป็นเป็นอย่างยิ่งสำหรับครีเอทีฟสายงานเขียน เพราะก่อนจะเป็นนักเขียนที่ดีได้ จะต้องเป็นนักอ่านที่ดีมาก่อน การอ่านไม่ได้ให้แค่ความรู้จากหน้าหนังสือ แต่ยังทำให้คลังคำศัพท์ของเราเพิ่มขึ้น มีสำบัดสำนวนต่าง ๆ ที่นำมาดัดแปลงพลิกแพลงใช้ประโยชน์ได้ การหลากคำ ลูกเล่นทางภาษา ใช้ภาษาสละสลวย ที่สำคัญคือสามารถโน้มน้าวใจผู้อ่านให้รู้สึกคล้อยตามได้ จุดนี้จะทำให้งานเขียนมีเสน่ห์ อ่านสนุก ไม่น่าเบื่อ และเข้าถึงคนเสพงานได้ดีขึ้น

หาสไตล์ตัวเองให้เจอ
สไตล์จะบ่งบอกตัวตนของคนที่สร้างงานขึ้นมา และสไตล์นี่เองที่ทำให้งานเราไม่เหมือนคนอื่น ถ้ายังไม่รู้ว่าสไตล์ตัวเอง อาจลองเริ่มจากดูจุดเด่น/ข้อดีของตนเอง ควบคู่กับสิ่งที่ตัวเองชอบหรือถนัด หาว่าสิ่งเหล่านั้นสะท้อนตัวตนออกมาอย่างไร แล้วจะสามารถนำมาประยุกต์ให้เป็นสไตล์ที่ใช่ของตนเองอย่างไร การใส่จิตวิญญาณลงไปในงานจะทำให้ผลงานดูมีชีวิต ไม่แห้งแล้ง แบบเดียวกันกับที่ศิลปินดัง ๆ มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวในการสร้างงาน เช่นเดียวกัน ถ้างานของเราสามารถถ่ายทอดตัวตนเราออกมาได้ ก็เหมือนมีลายเซ็นทั้งที่ยังไม่ได้ตวัดปากกาด้วยซ้ำไป

ฝึกคิดนอกกรอบ
คนทำงานสายครีเอทีฟ เรื่องความคิดสร้างสรรค์เป็นเรื่องสำคัญ แต่ความคิดสร้างสรรค์ไม่ใช่พรสวรรค์ที่มีอยู่ในตัวทุกคน หากไม่มีก็ต้องสร้างเอง โดยการฝึกเป็นคนที่คิดนอกกรอบให้เป็น แล้วความคิดสร้างสรรค์จะตามมาเอง ในกระบวนการคิดจะต้องกำจัดกรอบหรือข้อจำกัดต่าง ๆ ออกไปให้หมด เราสามารถคิดทุกอย่างอย่างอิสระตราบเท่าที่จะคิดออก อย่าเพิ่งตัดสินว่าเป็นไปไม่ได้ ไร้สาระ หรือไม่ดี คิดได้แล้วให้ลิสต์เป็นข้อ ๆ ไว้ จากนั้นค่อยมาพิจารณาว่าสิ่งที่คิดออกมาได้นั้น อะไรใช้ได้จริง อะไรใช้ไม่ได้ และอะไรนำมาเป็นส่วนประกอบได้

มีทัศนคติที่ดี
ลักษณะของงานครีเอทีฟเกิดขึ้นจากไอเดียผสมสไตล์ของคนที่สร้างงาน ดังนั้น หากคนที่สร้างสรรค์งานมีทัศนคติด้านลบอยู่มาก พลังงานลบก็จะถูกส่งออกมาปนกับไอเดีย และถ่ายทอดให้เห็นในผลงานด้วย คนที่เสพผลงานจะรับรู้และสัมผัสตัวตนคนที่สร้างงานได้ว่าเขามีความคิดด้านลบอย่างไร เมื่อเป็นเช่นนี้ คนที่เป็นครีเอทีฟจำเป็นต้องพัฒนาทัศนคติของตนเองให้เป็นไปในทางบวกมากขึ้น มองโลกในแง่ดีให้มากขึ้น มีวิธีตอบสนองและกำจัดความเครียดที่เหมาะสม หาเสพของสวย ๆ งาม ๆ ที่จรรโลงจิตใจก็จะช่วยได้มากทีเดียว

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook