REEBOK : รองเท้าผ้าใบที่ยังไปไม่ถึงฝั่งฝัน ?
Thailand Web Stat

REEBOK : รองเท้าผ้าใบที่ยังไปไม่ถึงฝั่งฝัน ?

REEBOK : รองเท้าผ้าใบที่ยังไปไม่ถึงฝั่งฝัน ?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เป็นเวลากว่า 126 ปีแล้ว ที่รองเท้าผ้าใบสัญชาติอังกฤษนาม รีบอค ได้ถือกำเนิดขึ้น ตั้งแต่ปี 1895

เทรนเนอร์ (ในที่นี้หมายถึง รองเท้า ได้เช่นกัน)) สัญชาติอังกฤษยี่ห้อนี้ยังคงผ่านร้อนผ่านหนาวมาอย่างต่อเนื่อง แม้จะมีการผลิตคิดค้นเทคโนโลยีหรือดีไซน์ใหม่ ๆ ออกมา กระทั่งมีคอลเลกชันพิเศษที่ออกร่วมกับแบรนด์หรู แต่ด้วยความนิยมที่มีไม่เท่าแบรนด์ใหญ่อย่าง ไนกี้ หรือ อาดิดาส ที่ครองตลาดในปัจจุบัน นี่จึงเป็นอุปสรรคใหญ่ที่ยังทำให้รีบอคไม่ได้เฉิดฉายอย่างเต็มที่สักที 

รีบอค ถูกอาดิดาสเข้าซื้อกิจการเมื่อปี 2006 ด้วยความตั้งใจที่จะชุบชีวิตรองเท้ายี่ห้อนี้ให้กลับมาเป็นที่สนใจอีกครั้ง แต่เมื่อเวลาผ่านไป อาดิดาสไม่สามารถทำตามเป้าประสงค์ได้ จึงตัดสินใจขายบริษัทรีบอคต่อให้แก่ ABG (Authentic Brands Group) กลุ่มบริษัทเสื้อผ้าไลฟ์สไตล์และจัดการลิขสิทธิ์นักกีฬาของสหรัฐ​อเมริกาในปี 2021 นำมาสู่คำถามที่สำคัญคือ ทิศทางของรีบอคหลังจากนี้จะเป็นอย่างไร ?​

Main Stand ขอชวนมาสำรวจประวัติศาสตร์ของรองเท้าผ้าใบสัญชาติอังกฤษยี่ห้อนี้ไปด้วยกัน และด้วยอายุอานามที่มากกว่ารองเท้าผ้าใบรุ่นน้องอย่างไนกี้หรืออาดิดาส ทำไมรีบอคถึงไม่ได้ถือเครดิตว่าเป็นผู้คร่ำหวอดในวงการรองเท้าผ้าใบเสียที ? 

บิดาแห่งวงการรองเท้าผ้าใบ 
ถึงจะกล่าวไปก่อนหน้าว่ารีบอคไม่ได้รับความนิยมเท่ากับไนกี้หรืออาดิดาสในปัจจุบัน แต่ในอดีตก็มีช่วงเวลาอันยิ่งใหญ่ของรีบอคที่เป็นผู้ควบคุมตลาดรองเท้าผ้าใบเพียงหนึ่งเดียว มิหนำซ้ำ รีบอคก็ยังเกิดก่อนไนกี้หรืออาดิดาสอีกด้วย

รีบอค ถือกำเนิดขึ้นในปี 1895 ที่เมืองโบลตัน ทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศอังกฤษ ผู้ให้กำเนิดคือ โจเซฟ วิลเลียม ฟอสเตอร์ ที่เริ่มต้นจากการคิดค้นรองเท้าวิ่ง ที่มีหนามอยู่บริเวณพื้นรองเท้าเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการยึดเกาะสนามให้ดีขึ้น รองเท้าของโจเซฟในขณะนั้นเป็นเพียงแค่งานอดิเรกเท่านั้น เขาสะสมประสบการณ์ในการทำรองเท้าจากการเป็นผู้ช่วยของปู่ ที่เป็นช่างทำรองเท้าเช่นกัน 


Photo : www.dontdiewondering.com

โจเซฟ เริ่มเปิดบริษัทของตัวเองอย่างจริงจังในปี 1900 โดยใช้ชื่อว่า บริษัทว่า เจ.ดับเบิลยู. ฟอสเตอร์ และภายหลังได้เปลี่ยนชื่อเป็น เจ.ดับเบิลยู. ฟอสเตอร์ แอนด์ ซันส์ (J.W. Foster and Sons) เนื่องจากลูก ๆ ของเขาได้เข้ามาช่วยเหลือกิจการด้วย 

บริษัท เจ. ดับเบิลยู. ฟอสเตอร์ แอนด์ ซันส์ ยังคงมุ่งพัฒนารองเท้าวิ่งที่มีหนามอยู่ใต้พื้นรองเท้าออกมาเรื่อย ๆ และมีชื่อเสียงจากตอนที่ นักวิ่งทีมชาติอังกฤษ แฮโรลด์ อับราฮัม ใส่แข่งขันวิ่ง 100 เมตร ก่อนคว้าเหรียญทองไปครองในมหกรรมกีฬาโอลิมปิก ปารีส 1924 และนับแต่นั้นเป็นต้นมา รองเท้ายี่ห้อ เจ.ดับเบิลยู. ฟอสเตอร์ แอนด์ ซันส์ ก็ครองใจนักกีฬาทีมชาติสหราชอาณาจักรมาตลอด 

ธุรกิจรองเท้า เจ.ดับเบิลยู. ฟอสเตอร์ แอนด์ ซันส์ ผูกติดอยู่กับสังคมอังกฤษมานาน จนถึงปี 1958 ก็มาถึงจุดเปลี่ยนสำคัญ เมื่อทายาทรุ่นหลานของบริษัท ที่ชื่อ เจฟ และ โจ ฟอสเตอร์ เข้ามารับหน้าที่ดูแลกิจการต่อ เป็นเวลาประจวบเหมาะกับที่บริษัทรองเท้าผ้าใบหลายเจ้าเริ่มเข้ามาตีตลาดมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น พูม่า และ อาดิดาส เจฟและโจตัดสินใจเปลี่ยนชื่อบริษัทของคุณปู่จาก เจ.ดับเบิลยู. ฟอสเตอร์ แอนด์ ซันส์ เป็น "รีบอค" ซึ่งได้แรงบันดาลใจมาจากชื่อของตัวละมั่งในแถบทวีปแอฟริกาใต้ ซึ่งเป็นตัวแทนของความรวดเร็ว 

เพื่อจับกระแสความทันสมัย พวกเขาเริ่มตีตลาดสหรัฐอเมริกา และรองเท้ารีบอคก็เป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายมากขึ้น

ยุคทองของรองเท้ากระทืบเอเลี่ยน 
รีบอค เริ่มเข้ามาตีตลาดรองเท้าผ้าใบของสหรัฐอเมริกาครั้งแรกในปี 1979 หลังจากที่พวกเขาได้ข้ามน้ำข้ามทะเลนำรองเท้าของบริษัทมาจัดแสดงที่ Chicago International Sneaker Trade Show งานจัดแสดงรองเท้าที่เมืองชิคาโก รัฐอิลลินอยส์  รองเท้ารีบอคได้ไปเข้าตาชายที่ชื่อ พอล ไฟร์แมน นักธุรกิจชาวอเมริกัน ที่ ณ ขณะนั้นเขาประกอบอาชีพเป็นตัวแทนจัดจำหน่ายสินค้าและอุปกรณ์เอาต์ดอร์ 


Photo : www.gameplan-a.com

พอล เข้าเจรจากับสองพี่น้องฟอสเตอร์ขอเป็นตัวแทนในการจัดจำหน่ายรีบอคในสหรัฐอเมริกา จนในที่สุด รีบอคก็ถูกวางจำหน่ายในสหรัฐอเมริกาภายใต้ชื่อบริษัท รีบอค ยูเอสเอ ลิมิเต็ด 

ระยะแรกของการจัดจำหน่ายรีบอคในสหรัฐอเมริกานั้นดำเนินไปด้วยความยากลำบาก เพราะการแข่งขันของรองเท้าผ้าใบในตลาดขณะนั้นกำลังร้อนแรง ไม่ว่าจะเป็น พูม่า ไนกี้ หรือ อาดิดาส อีกทั้งไฟร์แมนยังตั้งราคาขายรองเท้ารีบอคไว้ที่ 60 ดอลลาร์สหรัฐต่อ 1 คู่ ซึ่งถือเป็นราคาที่แพงกว่าปกติ เมื่อสินค้ามีราคาที่สูง พอลก็จำเป็นต้องหาเงินทุนมากขึ้นเช่นกัน เขาจึงเริ่มขายส่วนแบ่งให้กับบริษัท เพนต์แลนด์ อินดัสตรี้ บริษัทลงทุนและค้าปลีกในลอนดอน เพื่อนำเงินมาหมุนเวียน จนในที่สุด รีบอคก็สามารถต่อลมหายใจได้อีกครั้ง 

วิสัยทัศน์ของพอลได้เข้ามาช่วยรีบอคในการตีตลาดสหรัฐอเมริกาได้อย่างมหาศาล ด้วยความช่วยเหลือจากเขา รองเท้ารีบอคได้กลายมาเป็นรองเท้าที่ขายดีอย่างเทน้ำเทท่า และสามารถทำยอดขายรวมได้มากกว่า 1.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 1981 พร้อมกับถูกส่งออกไปขายใน 28 ประเทศทั่วโลก

พอล ยังมีส่วนช่วยในการปรับภาพลักษณ์ของรีบอคให้มีความทันสมัยมากยิ่งขึ้น เพราะเดิมทีรีบอคนั้นเป็นที่รู้จักในฐานะแบรนด์รองเท้ากีฬา แต่ในปี 1982 รีบอคได้ออกรองเท้าออกมาในชื่อ รีบอค ฟรีสไตล์ (Reebok Freestyle) เพื่อเจาะกลุ่มตลาดผู้หญิงโดยเฉพาะ ภาพลักษณ์ของรีบอคจึงมีความแคชชวลมากขึ้น ไม่ใช่แบรนด์กีฬาเพื่อการออกกำลังกายอย่างเดียวอีกต่อไป 


Photo : www.metv.com

ช่วงเวลานี้เป็นช่วงเวลาที่รองเท้ารุ่นดังของรีบอคได้ถือกำเนิดขึ้น ในปี 1982 รีบอคได้ออกรองเท้าแคชชวลชื่อ นิวพอร์ต คลาสสิก (Newport Classic) หรือที่เรียกสั้น ๆ ว่า NPC ออกมา ซึ่งกลายเป็นหนึ่งในรุ่นที่ขายดีที่สุดของแบรนด์ตลอดกาล และปีต่อมา รีบอคก็ส่ง รีบอค คลาสสิก เลเธอร์ (Reebok Classic Leather) ออกสู่ท้องตลาด กลายมาเป็นอีกหนึ่งรุ่นที่ขายดีที่สุดของรีบอคเช่นกัน ทั้งสองรุ่นโดดเด่นด้วยวัสดุที่ทำจากหนังและดีไซน์ที่เรียบง่าย พร้อมกับโลโก้ธงชาติอังกฤษที่ยังคงอยู่ แม้ว่าบริษัทจะมาอยู่กับเจ้าของที่เป็นชาวอเมริกันแล้วก็ตาม 

พวกเขายังคงให้ความสำคัญกับการทำรองเท้าแบบใส่ในชีวิตประจำวันเรื่อยมา ทุกรุ่นจะโดดเด่นด้วยการบุภายในให้มีความนุ่ม นี่จึงทำให้โมเดล รีบอค ฟรีสไตล์ โด่งดังขึ้นไปอีกครั้ง หลังจากที่นักแสดงหญิง ไซบิล เชพเพิร์ด นำรองเท้ารุ่นนี้สีส้มไปแมตช์ใส่กับเดรสสีดำในงานประกาศรางวัลเอ็มมีอวอร์ด ประจำปี 1985 เป็นภาพการแต่งตัวสุดเก๋ที่ทำให้รีบอคเป็นที่รู้จักมากขึ้น 


Photo : harpersbazaar.com

"การใส่รองเท้าส้นสูงมันเป็นเหมือนเครื่องพันธนาการ ฉันจะไม่ทำยอมทำลายเท้าตัวเองหรอกนะ"​ ไซบิล บอกกับนิตยสาร People ถึงลุคการแต่งตัวของเธอในวันนั้น 

หากมองอย่างผิวเผิน รีบอคเป็นอีกแบรนด์ตัวเลือกที่มีความน่าสนใจ แต่ก็ยังไม่ถึงขั้นโดดเด่นจนเรียกลูกค้าจากแบรนด์อื่นมาหมดเกลี้ยง และยังไม่สามารถพูดได้อย่างเต็มปากว่ารีบอค ณ ขณะนั้นมาแรงที่สุด เพราะยังต้องแข่งขันกับแบรนด์อื่น ๆ อีกมาก แต่สิ่งหนึ่งที่รีบอคมีแต่แบรนด์อื่นไม่มีและถือเป็นจุดแข็งที่สุดคือ การให้ความสำคัญกับกลุ่มลูกค้าผู้หญิง แบรนด์ใหญ่อย่างไนกี้และอาดิดาส ไม่ได้สนใจกลุ่มตลาดนี้เท่ารีบอค นั่นจึงทำให้รีบอคได้รับความนิยมในกลุ่มลูกค้าผู้หญิงมากเป็นพิเศษ 

พวกเขามีไหวพริบพอที่จะทำการตลาดแบบรอบด้าน ทำให้สินค้าของรีบอคครอบคลุมมากกว่า 

"เรารู้สึกว่าบริษัทของเรานั้นชัดเจนในเรื่องของการแสดงตัวตนต่อการเป็นอิสระ เราสามารถแสดงให้เห็นถึงคุณภาพสินค้าที่ดีกว่าและภาพลักษณ์ที่ดีกว่าได้ เราเติมสีสันให้กับวงการรองเท้าผ้าใบในแบบที่ไม่เคยมีมาก่อน" พอล ระลึกถึงวิสัยทัศน์ของเขาในนิตยสาร Black Collegian ในปี 1990 

พอล ที่มีส่วนแบ่งอยู่กับบริษัทเพนต์แลนด์ เข้าซื้อบริษัทรีบอคจากตระกูลฟอสเตอร์อย่างสมบูรณ์ในปี 1984 ด้วยมูลค่า 700,000 ดอลลาร์สหรัฐ และเริ่มเข้าซื้อกิจการอุปกรณ์กีฬาอีกหลายยี่ห้อมาไว้เป็นของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นแบรนด์อย่าง Avia แบรนด์เสื้อผ้ากีฬาของสหรัฐอเมริกา หรือ Ellesse แบรนด์เสื้อผ้ากีฬาของอิตาลี หลังจากนั้น รีบอคก็เริ่มผลิตเสื้อผ้าและอุปกรณ์กีฬาของตัวเอง

ในปีเดียวกันนี้เอง รีบอคก็เริ่มต่อยอดการทำรองเท้าแบบแคชชวลมากขึ้น โดยออกรองเท้ารุ่นคลาสสิกอย่าง คลับ ซี (Club C) ออกมา ซึ่งนอกจากจะใส่เล่นเทนนิสได้แล้ว ยังเป็นรองเท้าไลฟ์สไตล์ที่ใส่ได้ทั่วไปในชีวิตประจำวันอีกด้วย 

ทศวรรษ 1980s ถือเป็นยุคทองของรีบอคอย่างแท้จริง รีบอคเริ่มเข้าไปมีบทบาทในกระแสวัฒนธรรมร่วมสมัยและดังเป็นพลุแตกหลังจากภาพยนตร์เรื่อง "เอเลียนส์" (Aliens) เข้าฉายในปี 1986 เพราะตัวละครเอกของเรื่องอย่าง เอลเลน ริปลีย์ (แสดงโดย ซิกกอร์นีย์ วีเวอร์) ใส่รองเท้ารีบอคทรงสูงที่ได้แรงบันดาลมาจากรองเท้าบาสเกตบอลทั่ว ๆ ไป โมเดลดังกล่าวจึงถูกจดจำในชื่อ "เอเลียน สตอมเปอร์" (Alien Stomper) หรือแปลอย่างตรงตัวว่า "รองเท้ากระทืบเอเลียน" ที่ดังไม่แพ้ ไนกี้ ซึ่งไปโผล่ในภาพยนตร์ Back To The Future II ปี 1989 เลย แม้ว่าไนกี้จะมาทีหลังและมีชื่อเสียงมากกว่า แต่ เอเลียน สตอมเปอร์ ก็ขึ้นชื่อว่ามีความสำคัญต่อกระแสป๊อปคัลเจอร์เช่นกัน 


Photo : twitter.com/AlienAnthology

ทวน ลี ดีไซน์เนอร์ผู้อยู่เบื้องหลังโมเดลรองเท้ากระทืบเอเลียน เล่าให้ฟังถึงไอเดียของเขากับ Highsnobiety 

"ตอนนั้นผมอายุประมาณ 25 ปี ย้อนกลับไปก็ประมาณ 30 ปีมาแล้ว" 

"ผมเพิ่งจบออกมาจากโรงเรียนดีไซน์เลย ผมทำงานออกแบบกับรีบอคเป็นที่แรก ตอนนั้นรีบอคจะหนักไปทางรองเท้าวิ่ง พวกเขานำรองเท้าวิ่งพวกนี้มาจากอังกฤษ และเทรนด์ของมันก็เริ่มที่จะก่อตัวขึ้นเรื่อย ๆ" 

Advertisement

อย่างไรก็ตามพวกเขาเลือกให้รองเท้าคู่นี้มีทรงแบบรองเท้าบาสเกตบอล แทนที่จะใช้โมเดลรองเท้าวิ่งคลาสสิกของรีบอค 

"พวกเขาตัดสินใจว่าอยากให้รองเท้าคู่นี้มีทรงเหมือนรองเท้าบาสเกตบอล ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่ผมกำลังออกแบบอยู่พอดี หัวหน้าของผมเดินมาแล้วก็บอกว่า 'เรามีข้อตกลงกับ 20th Century Fox สำหรับหนังเรื่องนี้' ผมไม่ใช่นักออกแบบที่มีประสบการณ์ แล้วหลังจากนั้นเจ้านายผมก็บอกว่า 'งั้นคุณไปเลย ไปอังกฤษเลยหนุ่ม ไปเจอกับทีมโปรดักชัน แล้วก็ลุยเลย'"

"ระหว่างการประชุมที่ลอนดอน ผมได้เจอกับ เจมส์ คาเมรอน ประมาณ 5 นาที และใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับทีมโปรดักชัน พวกเขาเล่าฉากสุดท้ายให้ผมฟัง ตอนที่ซิกกอร์นีย์ต้องต่อสู้กับเอเลียน พวกเขากำลังจะถูกดูดเข้าไปในอวกาศตรงช่องแอร์ล็อก เอเลียนเกาะรองเท้าของริปลีย์ไว้ จนรองเท้าของริปลีย์หลุดไปในที่สุด จนพาเอเลียนลอยออกไปในอวกาศตัวเดียว" 

"ผมเลยคิดว่ารองเท้ามันน่าจะต้องหลุดง่าย ผมเลยคิดว่ามันน่าจะต้องเป็นสายรัดเวลโคร สายที่จะทำให้เอเลียนหลุดไปในอวกาศได้อย่างง่ายดาย แค่นั้นเลย"

 
รองเท้าของทวนจึงออกมาเป็นทรงรองเท้าบาสเกตบอล ทรงโลกอนาคตที่มีสายรัดเวลโคร (หรือที่คนไทยเรียกว่า แถบตีนตุ๊กแก) ขนาดใหญ่ติดอยู่ด้วย เพื่อให้ง่ายต่อการถอดมากขึ้น 

อีกหนึ่งโมเดลของรีบอคที่ได้รบความนิยมอย่างมาก คือ รีบอค ปั๊ม (Reebok Pump) ที่วาดตลาดในปี 1989 ที่นำเทคโนโลยีสูบลมเข้ามาใช้ โดยการกดปุ่มบนลิ้นรองเท้าเพื่อปั๊มลมเข้าไปในตัวรองเท้า ให้มีขนาดพอดีกับเท้าของแต่ละคน


Photo : pinionate.com

รองเท้ารีบอคยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง ในฐานะแบรนด์ไลฟ์สไตล์และแบรนด์กีฬาที่ปรับตัวเก่งต่อยุคสมัย ในปี 1986 รีบอครีแบรนด์ตัวเองอีกครั้งด้วยการเปลี่ยนโลโก้ใหม่ให้เป็นเส้นเวกเตอร์แทน และเริ่มมีการร่วมงานกับศิลปิน นักกีฬาชื่อดังเพื่อผลิตสินค้าคอลเลกชันพิเศษออกมามากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น "แชค" แชคีล โอนีล นักบาสเกตบอลอาชีพลีก NBA หรือแร็ปเปอร์ "เจย์-ซี" หรือชื่อจริงคือ ชอน คาร์เตอร์ ผู้ทรงอิทธิพลของวงการ

อ่านมาถึงตรงนี้ หลายคนคงคิดว่า รีบอคนั้นยิ่งใหญ่ จนไต่เต้าขึ้นไปเป็นอันดับ 1 แห่งวงการรองเท้าแล้ว แต่รีบอคยังคงประสบปัญหาเรื่องของความนิยม ในช่วงเวลาเดียวกัน หลายแบรนด์ต่างก็มีสินค้าเรือธงเป็นของตัวเองทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นโมเดลรองเท้า ซูเปอร์สตาร์ (Superstar) ของอาดิดาส หรือ ไนกี้ คอร์เทซ (Cortez) ทำให้รีบอคไม่ได้เป็นผู้ผูกขาดรองเท้าผ้าใบในตลาด

ความซวยคือ นอกจากรีบอคจะดังไม่เท่าไนกี้แล้ว ยังต้องไปอยู่ภายใต้เงาของอาดิดาสด้วย 

เงาเวกเตอร์ 3 เส้น ภายใต้เครื่องหมาย 3 แถบ 
ที่บอกว่าอยู่ภายใต้เงาของอาดิดาส ไม่ใช่เพราะรีบอคดังไม่เท่าอาดิดาส แต่เราหมายถึงอยู่ภายใต้เงาจริง ๆ ในฐานะบริษัทลูกของอาดิดาส อาดิดาสเข้าซื้อกิจการบริษัทรีบอคไปในปี 2005 ด้วยมูลค่า 3.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1 แสนล้านบาทไทย) ด้วยความตั้งใจแรกที่จะช่วยผลักดันแบรนด์นี้ให้โดดเด่นมากขึ้น พวกเขาตกลงกันว่าจะยังคงใช้ชื่อบริษัทที่ต่างกันและผลิตสินค้าแยกกัน และด้วยเหตุนี้ ประธานบริหารสูงสุดที่นั่งแท่นมาอย่างยาวนานอย่าง พอล ไฟร์แมน ก็ต้องเกษียณตามไปด้วย ตำแหน่งของเขาถูกแทนที่ด้วย พอล แฮร์ริงตัน อดีตรองประธานบริหารของรีบอค

เรื่องดังกล่าวเหมือนจะราบรื่น เพราะการเข้าซื้อบริษัทของอาดิดาส เป็นเสมือนการเข้าไปช่วยบริษัทให้เติบโตไปอีกขั้น จากที่เคยเป็นคู่แข่งกันมาก่อน สองแบรนด์รองเท้าใหญ่ยักษ์ได้ยืนอยู่ฝั่งเดียวกันในที่สุด อาดิดาสและรีบอคสร้างประวัติศาสตร์ด้วยการร่วมงานกันออกรองเท้ารวมกันเป็นแรกเมื่อปี 2019 ภายใต้ชื่อ The Instapump Fury Boost ที่เป็นการผสานเทคโนโลยีของสองแบรนด์เข้าด้วยกัน อย่างตัวปั๊มลมสุดคลาสสิกของรีบอคและโฟมบูสต์ของอาดิดาส ที่ขึ้นชื่อในเรื่องของความนุ่มและใส่สบาย 


Photo : www.oao-7.top

ตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา ทั้งสองแบรนด์ต่างก็เติบโตไปในทางของตนเอง อย่างอาดิดาสก็โดดเด่นเรื่องการนำเทคโนโลยีและดีไซน์ที่นำสมัยเหมือนหลุดมาจากหนังไซไฟ ในขณะที่รีบอคก็ยังคงได้รับความนิยมในฐานะรองเท้าที่เน้นขายความคลาสสิกเป็นหลัก อีกทั้งยังได้ร่วมงานกับแบรนด์หรูจากประเทศฝรั่งเศสอย่าง Maison Margiela เมื่อช่วงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาเมื่อเร็ว ๆ นี้เอง โดยการจับโมเดล คลับ ซี สุดคลาสสิกมารวมกับศิลปะแนว 3 มิติที่เรียกว่า "ทรอมพลุย" (The Trompe L'oeil) ออกมาเป็น คลับ ซี ที่มีเอกลักษณ์พิเศษ

แม้ว่าทั้งคู่จะเติบโตไปในแบบของตนเองและดูจะไม่มีปัญหาอะไร แต่ก็อย่าลืมว่า รีบอคยังคงอยู่ภายใต้การบริหารของอาดิดาส นั่นหมายความว่าเงินลงทุนหรือสนับสนุนก็ต้องถูกใช้ร่วมกัน นี่จึงเป็นเหตุผลหลักที่ทำให้อาดิดาสประสบปัญหาเรื่องการเงิน เพราะเหตุการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่กระจายไปทั่วโลกในปี 2020 การดูแลสองแบรนด์ภายใต้หนึ่งเจ้าของคงจะเป็นการยากเกินไปสำหรับอาดิดาส

ดูผลประกอบการในระยะหลังเทียบกันน่าจะเห็นภาพชัดเจนขึ้น เพราะสภาพทางการเงินของรีบอคพลิกไปพลิกมา ผลประกอบการครึ่งแรกของปี 2020 รีบอคทำยอดขาย 600 ล้านยูโร แต่หักลบกลบค่าใช้จ่ายแล้ว กลับขาดทุน 69 ล้านยูโร แต่ผลประกอบการครึ่งแรกของปี 2021 รีบอคสามารถทำยอดขายเพิ่มมาเป็น 823 ล้านยูโร หักลบกลบค่าใช้จ่าย พลิกขึ้นมาทำกำไร 68 ล้านยูโร 


Photo : www.nbcnews.com

นอกจากปัจจัยด้านการเงิน ปัจจัยด้านความนิยมก็มีผล ทั้งอาดิดาสและรีบอคยังต้องช่วยกันแบกบริษัทไปชนกับแบรนด์รองเท้าที่ถือครองตลาดในปัจจุบันมากที่สุดอย่างไนกี้ ถึงอาดิดาสกับรีบอคจะอยู่ด้วยกัน แต่ก็ไม่ได้ช่วยทำให้อะไรดีขึ้นมา เพราะความนิยมของไนกี้ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องแม้ในปีที่มีโควิดระบาด แต่สถานการณ์ของไนกี้นั้นต่างออกไป มูลค่าของบริษัทไนกี้ได้ขึ้นไปสูงถึง 3.4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (จากผลสำรวจทั่วโลกตั้งแต่ปี 2016 ถึง 2021)

จนในที่สุดอาดิดาสเลือกที่จะขายรีบอคให้กับบริษัท Authentic Brands Group หรือ ABG ในราคา 2.5 พันล้านยูโร (ราว 9.7 หมื่นล้านบาท) โดย ABG เป็นบริษัทที่มีจุดเด่นอยู่ที่การถือครองแบรนด์เสื้อผ้าไลฟ์สไตล์ของผู้หญิง อย่าง Forever 21, Aeropostale ด้วยเหตุผลทางการเงินเป็นหลัก อย่างไรก็ตาม ทั้งสองบริษัทก็ดูจะแยกออกจากกันได้ดี

"รีบอค ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งที่มีคุณค่าสำหรับอาดิดาส เรารู้สึกขอบคุณในความทุ่มเทของทีมที่อยู่เบื้องหลังอย่างสุดซึ้งที่ได้เข้ามาร่วมงานกับเรา" 

"ด้วยการเปลี่ยนแปลงของการเป็นเจ้าของนี้ เราเชื่อว่ารีบอคได้ถูกย้ายไปอยู่ในที่ที่สมควรอยู่แล้ว และจะสามารถประสบความสำเร็จได้ในระยะยาว" 

แคสเปอร์ โรสเต็ด ซีอีโอของอาดิดาสกล่าวถึงการขายรีบอคให้แก่ ABG ในขณะที่ เจมี่ ซัลเทอร์ (Jamie Salter) ซีอีโอ ผู้ก่อตั้ง ABG ก็มีความยินดีที่จะรับรีบอคเข้ามาเป็นหนึ่งในเครือบริษัทของตัวเองอย่างเต็มอกเต็มใจ 

"ถือเป็นเกียรติของเรา ที่ได้รับความไว้วางใจในการดูแลมรดกของรีบอคต่อ นี่ถือเป็นหลักไมล์ที่สำคัญของ ABG เราจะมุ่งมั่นรักษาความเป็นรีบอค ทั้งในด้านนวัตกรรม คุณค่าและการเป็นตัวแทนของผู้วางรากฐานที่สำคัญเอาไว้ เราหวังว่าจะได้ร่วมงานกับทีมที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของรีบอคมาตลอดเร็ว ๆ นี้" 

 
Photo : bpositivenow.com

คาดว่าสัญญาการขายรีบอคของอาดิดาสจะเสร็จสมบูรณ์ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2022 และในสถานการณ์เช่นนี้ก็คงจะโทษอาดิดาสไม่ได้ที่ไม่สามารถดูแลรีบอคได้อีกต่อไป 

มองในด้านดี คราวนี้อาจเป็นสัญญาณที่รีบอคจะได้เริ่มเดินใหม่อีกครั้ง เพราะการเข้าไปอยู่กับ ABG อาจช่วยให้รีบอคได้ตีตลาดกลุ่มลูกค้าผู้หญิงได้มากขึ้น ดังที่เคยทำได้ในอดีต เป็นที่น่าจับตามองต่อว่ากลยุทธ์เดิมที่เคยใช้ จะสามารถทำให้รีบอคโดดเด่นขึ้นมาอีกครั้งได้หรือไม่ 

บางทีเป้าหมายสูงสุดของรีบอคอาจจะไม่ใช่การเป็นผู้นำอันดับหนึ่งในวงการรองเท้าก็เป็นได้ หากแต่เป็นการพัฒนาจุดเด่นของตนเองที่มีอยู่แล้วให้ดียิ่งขึ้นไปอีก เหมือนอย่างโมเดลเหนือกาลเวลาอย่าง คลับ ซี และ คลาสสิก เลเธอร์ ที่ยังคงวางขายอยู่ในปัจจุบัน 

รีบอค อาจจะไม่ใช่รองเท้าที่ดัง ดี และโดดเด่นที่สุด แต่ก็อย่าลืมว่าความคลาสสิกของแบรนด์นี้ก็ยังมีคนรักและสนับสนุนมาจนถึงทุกวันนี้ บางทีพวกเขาอาจจะประสบความสำเร็จไปเรียบร้อยมานานแล้วก็ได้ 

 

แหล่งอ้างอิง : 

https://www.adidas-group.com/en/media/news-archive/press-releases/2021/adidas-sell-reebok-authentic-brands-group/ 
https://www.fatbuddhastore.com/reebok-timeline-i206 
https://footwearnews.com/2017/fn-spy/red-carpet/emmys-red-carpet-cybill-shepherd-reebok-sneakers-style-424502/ 
https://www.grailed.com/drycleanonly/reebok-history 
https://www.highsnobiety.com/tag/reebok/ 
https://www.highsnobiety.com/p/reebok-alien-stomper-history/ 
https://www.maisonmargiela.com/pt/maison-margiela/men/reebok 
https://www.referenceforbusiness.com/biography/F-L/Fireman-Paul-1944.html 
https://www.reuters.com/business/adidas-sells-reebok-authentic-brands-25-bln-2021-08-12/ 
https://www.statista.com/statistics/632210/nike-brand-value/

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
kookkak

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เราใช้คุกกี้เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดบน
เว็บไซต์ของเรา โปรดศึกษาเพิ่มเติมที่
นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้