'การวิจัยหนวดสุดฮา' คว้ารางวัล Ig Nobel ปีนี้

'การวิจัยหนวดสุดฮา' คว้ารางวัล Ig Nobel ปีนี้

'การวิจัยหนวดสุดฮา' คว้ารางวัล Ig Nobel ปีนี้
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

หนวดเครานั้นไม่ได้เพียงแต่ทำให้เจ้าของใบหน้าดูเท่และทันสมัยเพียงอย่างเดียว แต่อาจเป็นการพัฒนาเชิงวิวัฒนาการของมนุษย์ที่ช่วยปกป้องโครงหน้าอันบอบบางของบุรุษจากแรงหมัดที่ซัดเข้าตรงหน้า เป็นบทสรุปของงานวิจัยจาก 3 นักวิทยาศาสตร์ แห่งมหาวิทยาลัย University of Utah ที่คว้ารางวัล Ig Nobel สาขาสันติภาพในปีนี้ไปครองได้

งานวิจัยเรื่องประโยชน์ของหนวดจาก 3 นักวิทยาศาสตร์ Ethan Beseris, Steven Naleway และ David Carrier แห่งมหาวิทยาลัย University of Utah ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิทยาศาสตร์ Integrative Organismal Biology นักวิทยาศาสตร์ทั้งสามยืนยันว่า ไม่มีใครต้องถูกชกหน้าสำหรับการศึกษาชิ้นนี้แต่อย่างใด

ทีมวิจัยได้ใช้วัสดุผสมไฟเบอร์เพื่อจำลองกระดูกของมนุษย์ ใช้หนังแกะแทนผิวหนังมนุษย์ทั้งแบบที่โกนขนแล้วกับที่ไม่ได้โกน เพื่อแทนผิวหนังของมนุษย์แบบที่มีหนวดและไม่มีหนวด อีกทั้งยังใช้การถ่วงน้ำหนักแทนการเหวี่ยงหมัดชก และพวกเขาพบว่าหนังที่มีขนแกะอยู่สามารถดูดซับพลังงานได้มากกว่าหนังที่ไร้ขน ดังนั้น การมีหนวดเคราจะช่วยปกป้องบริเวณที่เปราะบางของโครงกระดูกใบหน้า อย่างเช่น ช่วงกราม จากการโจมตีได้ และยังสันนิษฐานได้ว่าการมีหนวดเคราเต็มแน่น ยังช่วยลดการบาดเจ็บ การฉีกขาด และการฟกช้ำที่ผิวหนังและกล้ามเนื้อของใบหน้าได้อีกด้วย

ทุกปีๆ ที่มหาวิทยาลัย Harvard จะจัดพิธีมอบรางวัล Ig Nobel Prize ให้กับการค้นพบ การศึกษา หรืองานวิจัยทางวิทยาศาสตร์สุดแปลก คล้ายๆกับการล้อเลียนรางวัลโนเบลแบบขำๆ แถมยังให้เจ้าของรางวัลโนเบลตัวจริงเป็นผู้ประกาศรางวัลเหล่านี้อีกด้วย

โดยในปีนี้ผู้ชนะรางวัล Ig Nobel จะได้รับถ้วยรางวัลกระดาษให้ไปประกอบเอง พร้อมเงินรางวัล 10 ล้านล้านดอลลาร์ซิมบับเว ซึ่งเป็นธนบัตรปลอมทั้งสิ้น ตามรายงานของรอยเตอร์

นอกจากการวิจัยเรื่องหนวดเคราแล้ว รายงานของเอพี ระบุว่า ผู้ชนะรางวัล Ig Nobel ประจำปีนี้ที่เพิ่งประกาศไปเมื่อวันที่ 9 กันยายนที่ผ่านมา มีทั้งทีมนักวิจัยที่ค้นพบวิธีปราบแมลงสาบในเรือดำน้ำของกองทัพเรือสหรัฐฯ การศึกษาวิธีขนย้ายแรดทางอากาศแบบหงายท้องอย่างปลอดภัย และการวิจัยความสกปรกของหมากฝรั่งที่อาจจะเคยติดรองเท้าของเราด้วย

ว่าด้วยการศึกษาเรื่องหมากฝรั่ง ผลงานวิจัยของ Leila Satari, Alba Guillén, Àngela Vidal-Verdú, และ Manuel Porcar จาก University of Valencia ซึ่งได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิทยาศาสตร์ Nature ไปศึกษาลงลึกว่าหมากฝรั่งที่เคี้ยวแล้วทิ้งตามข้างถนนทั่วโลกเป็นเวลา 3 เดือนนั้น จะมีสิ่งสกปรกมากมายแค่ไหน และทีมวิจัยเชื่อว่าการศึกษาของพวกเขาจะมีประโยชน์ต่อวงการนิติเวชวิทยา การควบคุมโรคติดต่อ และการบำบัดจัดการขยะจากหมากฝรั่งเหล่านี้ได้

อีกงานวิจัยจากกองทัพเรือสหรัฐฯ ที่ชนะรางวัล Ig Nobel ปีนี้ มาจากการค้นพบวิธีที่ประหยัดและมีประสิทธิภาพในการปราบแมลงสาบในเรือดำน้ำ ซึ่งเป็นการศึกษาเมื่อปี 1971 ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Economic Entomology ที่พบว่าการใช้ยาฆ่าแมลงที่มีสารไดคลอร์วอส (dichlorvos) ประหยัดและมีประสิทธิภาพกว่าการใช้ยาฆ่าแมลงแบบดั้งเดิม

ส่วนรางวัล Ig Nobel สาขาการแพทย์ เป็นของการวิจัยที่ศึกษาว่าการถึงจุดสุดยอดทางเพศสัมพันธ์นั้นอาจมีประสิทธิภาพในการรักษาอาการแน่นจมูกได้ และรางวัลสาขาชีววิทยาเป็นของ Susanne Schotz จากสวีเดน ที่วิเคราะห์รูปแบบการสื่อสารของแมว แถมยังทำเสียงเป็นตัวอย่างในงานประกาศรางวัลเพื่อเพิ่มความเข้าใจด้วย

ในปีนี้งานประกาศรางวัลขำขัน Ig Nobel ครั้งที่ 31 ซึ่งเป็นการเล่นคำให้เกือบพ้องเสียงกับคำว่า ignoble ในภาษาอังกฤษที่อาจแปลว่าน่าอาย ไม่น่ายกย่อง ต้องจัดงานขึ้นแบบออนไลน์อีกครั้ง ท่ามกลางการระบาดของโควิด-19 ซึ่ง Marc Abrahams บรรณาธิการนิตยสาร Annals of Improbable Research ที่เป็นผู้จัดงานหวังว่าจะได้กลับมาจัดงานประกาศรางวัลขำขันนี้อีกครั้งที่มหาวิทยาลัย Harvard เมื่อสถานการณ์โควิดคลี่คลายลง

(ที่มา: เอพีและรอยเตอร์)

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook