ผู้ลี้ภัย อาณานิคม และเส้นทางของ อับดุลราซัค กูร์นาห์ นักเขียนรางวัลโนเบล สาขาวรรณกรรม 2021
- อับดุลราซัค กูร์นาห์ (Abdulrazak Gurnah) เขาคือนักเขียนวัย 73 ปีผู้ได้รับ รางวัลโนเบล สาขาวรรณกรรม ประจำปี 2021
- ผลงานการเขียน อับดุลราซัค กูร์นาห์ มักสะท้อนให้เห็นถึงผลกระทบของการล่าอาณานิคมและชะตากรรมของผู้ลี้ภัย ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากประสบการณ์ตรงของตัวเขาเองที่ต้องลี้ภัยจากบ้านเกิดในเกาะแซนซิบาร์ตั้งแต่วัยรุ่นและมาใช้ชีวิตอยู่ในประเทศอังกฤษ
อับดุลราซัค กูร์นาห์ (Abdulrazak Gurnah) เขาคือนักเขียนวัย 73 ปีผู้ได้รับ รางวัลโนเบล สาขาวรรณกรรม ประจำปี 2021 จากผลงานการเขียนที่ล้วนสะท้อนให้เห็นถึงผลกระทบของการล่าอาณานิคมและชะตากรรมของผู้ลี้ภัย ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากประสบการณ์ตรงของตัวเขาเองที่ต้องลี้ภัยจากบ้านเกิดในเกาะแซนซิบาร์ตั้งแต่วัยรุ่นและมาใช้ชีวิตอยู่ในประเทศอังกฤษ
กูร์นาห์ เกิดที่เกาะแซนซิบาร์ในมหาสมุทรอินเดีย (ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของสาธารณรัฐแทนซาเนีย) และต้องจากครอบครัวเพื่อลี้ภัยไปยังประเทศอังกฤษในวัย 18 ปี เนื่องจากเกิดการปฏิวัติโค่นล้มรัฐบาลสุลต่านในเดือนมกราคม ค.ศ.1964 ภายหลังจากที่แซนซิบาร์เป็นเอกราชจากอาณานิคมของอังกฤษในเดือนธันวาคม ค.ศ.1963 เหตุการณ์ครั้งนั้นนำไปสู่การสังหารหมู่ชาวอาหรับจำนวนมาก กูร์นาห์จึงต้องหลบหนีออกนอกประเทศและกว่าจะได้กลับไปบ้านเกิดของเขาอีกครั้งก็อีก 20 ปีต่อมา ไม่เพียงเท่านั้นภาพเหตุการณ์ในชีวิตจริงยังสะท้อนสู่ผลงานนวนิยายจำนวน 10 เรื่องรวมไปถึงเรื่องสั้นและงานเขียนต่างๆ ของเขาที่มุ่งเน้นไปที่ชะตากรรมอันน่าสลดของเหล่าผู้อพยพลี้ภัยทั่วโลก
ภาพ : Ill. Niklas Elmehed © Nobel Prize Outreach.
กูร์นาห์ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ด้านวรรณคดีอังกฤษและวรรณคดีหลังยุคอาณานิคมที่ มหาวิทยาลัยเคนต์ ในเมืองแคนเทอร์เบอรี ประเทศอังกฤษ และเพิ่งเกษียณอายุเมื่อเร็วๆ นี้ เขาเป็นนักเขียนแอฟริกันผิวสีที่ได้รับรางวัลโนเบลด้านวรรณกรรมหลังจากที่นักเขียนผิวสีชาวไนจีเรีย โวเล่ ซอยยินกา (Wole Soyinka) ได้รับรางวัลในสาขาเดียวกันนี้เมื่อ ค.ศ.1986
เส้นทางงานเขียนของกูร์นาห์เริ่มต้นเมื่ออายุ 21 ปี โดยมีหนังสือภาษาอาหรับเช่นเรื่อง The Arabian Nights รวมทั้งงานเขียนของเชคสเปียร์ (Shakespeare) และ วี.เอส.ไนพอล (V. S. Naipaul) เป็นแรงบันดาลใจ งานเขียนของกูร์นาห์มักเกี่ยวโยงกับปูมหลังประวัติศาสตร์ของบ้านเกิดของเขาคือเกาะแซนซิบาร์ ซึ่งเคยเป็นถิ่นฐานของชาวแอฟริกาและต่อมาเป็นที่ตั้งรกรากของพ่อค้าชาวอาหรับ หลังจากนั้นตกอยู่ภายใต้อาณานิคมของโปรตุเกส โอมาน เยอรมนี และอังกฤษ
นวนิยายเรื่องแรกของเขาชื่อ Memory of Departure ตีพิมพ์ในค.ศ.1987 เกี่ยวกับชะตากรรมของตัวเอกที่มีพรสวรรค์และพยายามดิ้นรนไปใช้ชีวิตที่ไนโรบีเพื่อหนีจากครอบครัวที่พ่อติดเหล้าและชอบใช้ความรุนแรง แต่ท้ายสุดเขาก็ไม่สามารถหนีจากชีวิตที่สลดหดหู่ได้
ประเด็นเรื่องไร้รากในต่างแดนได้สะท้อนสู่นวนิยายลำดับที่สามของเขาชื่อ Dottie ที่ตีพิมพ์ใน ค.ศ.1990 เป็นเรื่องของหญิงผิวสีที่ครอบครัวเธออพยพมาอยู่ที่อังกฤษใน ค.ศ. 1950 ตรงกับช่วงที่การเหยียดสีผิวกำลังเป็นประเด็นร้อนแรงของสังคมในขณะนั้น ส่วนประสบการณ์ตรงที่ตัวนักเขียนเองได้พบเจอในฐานะหนึ่งในผู้ลี้ภัยได้รับการถ่ายทอดอย่างชัดเจนผ่านนวนิยายเรื่อง Admiring Silence ตีพิมพ์ใน ค.ศ. 1996 รวมทั้งเรื่อง By the Sea ตีพิมพ์ใน ค.ศ. 2001 แสดงให้เห็นถึงความพยายามคงความเป็นตัวตนของตัวเองท่ามกลางการเหยียดผิว การเกลียดชังและอคติที่รุมล้อม
ส่วนนวนิยายเล่มล่าสุด Afterlives ซึ่งตีพิมพ์ใน ค.ศ. 2020 มีฉากหลังเป็นช่วงเริ่มต้นของศตวรรษที่ 20 ก่อนการล่มสลายของจักรวรรดิเยอรมันในแอฟริกาตะวันออกใน ค.ศ. 1919 เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับชะตากรรมอันน่าสลดหดหู่ของชายหนุ่มชาวพื้นเมืองที่ต้องเข้าร่วมรบกับกองกำลังทหารเยอรมนีจนกระทั่งเยอรมนีแพ้ในสงครามโลกครั้งที่ 1 และชีวิตภายหลังสงครามที่บ้านเมืองต้องอยู่ภายใต้อาณานิคมของอังกฤษ
สำหรับรางวัลโนเบล สาขาวรรณกรรม ประจำปี 2021 นั้นกูร์นาห์จะได้รับเงินรางวัลมูลค่า 10 ล้านโครนาสวีเดน หรือประมาณ 40 ล้านบาท ทั้งนี้ภายหลังจากที่ทราบว่าตนเองได้รับรางวัลทรงเกียรตินี้ กูร์นาห์ ได้โพสต์ในทวิตเตอร์ของเขา (@GurnahAuthor) ว่า “ผมขออุทิศรางวัลโนเบลนี้ให้แก่แอฟริกา ชาวแอฟริกันและผู้อ่านทุกท่าน ขอบคุณ!” พร้อมกันนั้นก็ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวบีบีซีถึงประเด็นเรื่องผู้ลี้ภัยที่เขาสะท้อนในงานเขียนมาโดยตลอดว่า
“ผู้คนกำลังจะตาย พวกเขากำลังทุกข์ทรมานทั่วโลก เราต้องใส่ใจและถกกันในประเด็นนี้”
อ้างอิง
https://www.nobelprize.org/prizes/literature/2021/bio-bibliography/
https://www.theguardian.com/books/2021/oct/07/abdulrazak-gurnah-wins-the-2021-nobel-prize-in-literature
https://www.bbc.com/news/entertainment-arts-58828947?fbclid=IwAR3saLozE_mDmgol4saGQWs7nFD7Bbt-Hu7uIaESN4P7T1RPwbvJwTc6QJM
#นักเขียน#วรรณกรรม#โนเบล