อยากออกกำลังกาย เลือกหน้ากากอนามัยแบบไหนดี
ทุกวันนี้หน้ากากอนามัยแทบจะกลายเป็นอวัยวะส่วนที่ 33 ของร่างกายไปแล้ว เพราะด้วยภาวะการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส รวมถึงมลพิษทางอากาศ ทำให้ทุกคนสวมใส่มันตลอดเวลาเมื่ออยู่ในที่สาธารณะ และการใช้ชีวิตประจำวันเมื่อออกไปนอกบ้าน
ไม่ว่าจะเป็นการออกไปรับประทานอาหาร, ออกกำลังกาย, การเดินทาง หรือแค่ออกไปเดินเล่น หน้ากากอนามัยคือสิ่งที่ต้องมีติดตัวอย่างขาดไม่ได้ เพราะมันหมายถึงความเสี่ยงต่อชีวิตเลยทีเดียว
ในกิจกรรมเหล่านั้น หน้ากากอนามัยดูจะเป็นอุปสรรคต่อการออกกำลังกายมากที่สุด เพราะนอกจากจะทำให้หายใจลำบากแล้ว ยังทำให้ไม่สบายตัวอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม ผู้ผลิตก็ไม่ได้มองข้ามในเรื่องนี้ และมีการออกแบบหน้ากากอนามัยที่เหมาะสมสำหรับการออกกำลังกายเช่นกัน
แต่จะเลือกแบบไหน จะเลือกอย่างไร หรืออยากจะทำขึ้นมาเองต้องคำนึงถึงอะไรบ้าง ติดตามได้ที่นี่
ปัจจัยสำคัญที่ต้องพิจารณา
เมื่อออกกำลังกาย ไม่ว่าจะแบบใดก็ตาม แน่นอนว่าเราต้องหายใจมากกว่าปกติ รวมทั้งมีเหงื่อออกตามร่างกายรวมถึงใบหน้า ซึ่งสองอย่างนี้ไม่ใช่เรื่องสนุกเมื่อต้องสวมอะไรที่แนบชิดติดลำตัว ถ้าไม่เชื่อก็ลองจินตนาการดูถึงเวลาที่อากาศร้อน ๆ แล้วเสื้อยืดของคุณชุ่มด้วยเหงื่อจนเปียกติดกับแผ่นหลังดู แต่เปลี่ยนเป็นมันเกิดขึ้นกับใบหน้าแทน แค่คิดก็ขนลุกแล้วใช่มั้ยครับ
ดังนั้นหากต้องการหน้ากากอนามัยที่เหมาะกับการออกกำลังกาย จำเป็นต้องมีปัจจัย 3 อย่างคือ ปล่อยให้อากาศไหลเวียนได้สะดวกเมื่อหายใจเข้า-ออก, ระบายเหงื่อหรือความชื้นได้ดี และระบายความร้อนได้อย่างรวดเร็ว เพียงเท่านี้คุณก็จะไม่เจอต้องภาวะอุณหภูมิร่างกายร้อนจัดหรือหายใจไม่ออกแล้ว
การปล่อยให้อากาศไหลเวียนได้มากที่สุด (การระบายอากาศ)
หน้ากากที่บางย่อมปล่อยให้อากาศไหลเข้า-ออกได้มาก แต่เมื่อเป็นการออกกำลังกายที่ต้องหายใจอย่างหนักหน่วง การใช้หน้ากากที่บางหรือนุ่มเกินไปอาจทำให้ไปติดกับปากของเราเวลาหายใจเข้า หรือขยายจนเปิดช่องว่างเวลาหายใจออกได้ รวมทั้งอาจปกป้องได้ไม่มากพอ
ดังนั้นเรื่องวัสดุจึงเป็นสิ่งสำคัญ และหน้ากากควรจะมีหลายชั้นรวมทั้งมีรูปทรงคงที่ไม่เปลี่ยนรูปเพื่อประสิทธิภาพที่ดียิ่งขึ้น ผ้าฝ้ายผสมจัดเป็นตัวเลือกที่ดี (แต่ไม่ควรมากกว่า 50 %) ขณะที่ผ้าสักหลาด, ผ้ามัสลิน และผ้าเช็ดจาน ก็ช่วยลดการแพร่กระจายของเชื้อโรคในระบบทางเดินหายใจได้ เช่นเดียวกับผ้าโพลีเอสเตอร์, ไนลอน, เรยอน และโพลีโพรพิลีนก็มีผลเช่นกัน
หน้ากากชั้นในควรจะเป็นวัสดุที่ระบายเหงื่อและไล่ความชื้นได้ดี ซึ่งโพลีเอสเตอร์มีคุณสมบัติตรงจุดนี้ เพราะแห้งง่ายไล่ความชื้นได้ดีจึงเหมาะกับการใส่เล่นกีฬาหรือออกกำลังกาย ขณะเดียวกันถ้าเป็นเนื้อผ้าโพลีเอสเตอร์ผสมกับสเปนแด็กซ์ก็จะยิ่งทำให้หน้ากากมีความยืดหยุ่น รวมทั้งรักษารูปทรงได้ดียิ่งขึ้น
ระบายความร้อนได้ดี
ร่างกายของคุณขับเหงื่อออกมาเพื่อให้ความร้อนกระจายออกไปเมื่อระเหยออกจากผิวหนัง ซึ่งจะทำให้รู้สึกเย็นขึ้น ดังนั้นสิ่งที่นำมาสวมใส่จึงควรช่วยให้กระบวนการนี้เป็นไปอย่างสมบูรณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อออกกำลังกาย
เทคโนโลยีของหน้ากากที่นำมาใช้จึงควรช่วยเปิดการไหลเวียนของอากาศ และช่วยทำให้เหงื่อระเหยได้ดี
ข้อควรจำก่อนซื้อ & หลังซื้อ
เลือกหน้ากากที่พอดีกับใบหน้า
การออกกำลังกายคือกิจกรรมที่เราต้องเคลื่อนไหวตลอดเวลา ดังนั้นต้องแน่ใจว่าหน้ากากที่สวมใส่นั้นพอดีและกระชับกับใบหน้า ไม่เลื่อนหลุดระหว่างทำกิจกรรม และไม่ต้องมาคอยปรับรูปทรงอยู่บ่อย ๆ
หลัก ๆ คือ หน้ากากควรจะใหญ่พอที่จะปิดจมูกและปาก แต่ก็ต้องให้ความรู้สึกสบายไม่อึดอัดแม้จะปกคลุมไปรอบแก้มและจมูกก็ตาม เมื่อซื้อมาแล้วก็ควรทดลองใส่ออกกำลังกายในบ้านเพื่อดูว่ามีการเลื่อนหลุดหรือต้องมาคอยปรับสายบ่อย ๆ หรือไม่ บางยี่ห้อมีห่วงยางยืดที่คล้องหูได้พอดี, บางยี่ห้อมีสายผูกด้านหลังศีรษะ และบางยี่ห้อก็มีคลิปเอาไว้หนีบกับสายยืดด้านหลังศีรษะทำให้ไม่ต้องใช้สายรัดเกี่ยวหู ดังนั้นจึงมีประสิทธิภาพในเรื่องความกระชับแตกต่างกัน
หมั่นดูแลรักษา
หน้ากากสำหรับการออกกำลังกายต้องได้รับการดูแลมากกว่าแบบปกติ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องทำความสะอาดทุกครั้งหลังจากการใช้งาน เพราะยิ่งมีการออกกำลังกายมากเท่าไหร่ ยิ่งทำให้มีโอกาสที่หน้ากากดูดซับกลิ่นอันไม่พึงประสงค์รวมทั้งเชื้อโรคและแบคทีเรียมากขึ้นเท่านั้น หากไม่ทำความสะอาดอย่างต่อเนื่อง
อย่าวางใจแม้ใส่หน้ากาก
การใส่หน้ากากอนามัยไม่ได้ช่วยลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ดังนั้นควรฝึกตัวเองให้ทำตามมาตรการป้องกันจนเป็นนิสัย การพกหน้ากากสำรองเมื่อไปออกกำลังกายเป็นสิ่งที่ควรทำ เพราะเมื่อเหงื่อออกมากจะทำให้หน้ากากเกิดความชื้นและลดทอนประสิทธิภาพในการป้องกันเชื้อโรค การเปลี่ยนหน้ากากระหว่างการออกกำลังกายจึงช่วยได้มาก
นอกจากนั้นการปฏิบัติตามข้อควรระวังอื่น ๆ ก็เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ เพราะการใส่หน้ากากช่วยเรื่องบรรเทาการแพร่กระจายของโรค แต่ก็ต้องประกอบกับการเว้นระยะห่างทางสังคม, การล้างมือ และหลีกเลี่ยงการสัมผัสใบหน้า เพื่อลดความเสี่ยงของตัวเองและผู้อื่นให้มากที่สุด