เกณฑ์อะไรบ้างที่คนรุ่นใหม่ใช้พิจารณาในการเลือกทำงาน
ปกติแล้ว เวลาที่เราจะตัดสินใจเลือกงานและองค์กรที่เราจะร่วมงานด้วยนั้น เราใช้อะไรมาเป็นเกณฑ์ในการช่วยตัดสินใจว่าจะทำงานที่นี่แหละ? หลัก ๆ แล้วทุกคนก็คงมองที่เรื่องของผลตอบแทน อย่างเงินเดือนหรือค่าจ้างก่อนว่าดึงดูดใจหรือไม่ แล้วหลังจากนั้นล่ะ มีปัจจัยอื่นเข้ามาเป็นตัวแปรอีกหรือไม่ ปัจจัยที่อาจจะช่วยตอบคำถามที่หลายคนเคยทำตัวเองในอนาคตไว้ ว่าจะทำงานอยู่ที่นี่อย่างไร แล้วจะทำงานที่นี่กี่ปี
พอพูดแบบนี้แล้ว หลายคนอาจจะชะงักตรงที่ไม่เคยถามคำถามนี้มาก่อนเลยว่าตนเองจะทำงานที่นี่กี่ปี หรือเพราะมันเป็นเรื่องที่ลองผิดลองถูกกันจนเป็นเรื่องปกติ คือทำงานแต่ละที่ได้เพียงแป๊บเดียวก็ลาออกเพราะมันไม่ตอบโจทย์ชีวิต สุดท้ายก็เหมือนกับเลือกงานเพราะแค่ขอให้มีงานทำเท่านั้น
ทว่าคนรุ่นใหม่หลายคนมีปัจจัยในการเลือกงานและเลือกองค์กรแบบเป็นกิจจะลักษณะ พวกเขารู้สึกว่าการเลือกงานก็เหมือนกับการเดินบนเส้นเชือก ที่ถ้าตัดสินใจผิดพลาดเพียงนิดเดียว ก็อาจจะต้องเสียเวลาไปเปล่า ๆ อีกทั้งผลที่ตามมาจากการเลือกงานผิดเลือกองค์กรผิด ยังมีตั้งแต่ปัญหาสุขภาพจิตลามไปถึงความสัมพันธ์ที่ตึงเครียดกับคนรอบข้าง ไม่พอใจในชีวิตโดยทั่วไป และที่สำคัญ คือสถานะทางการเงินที่ย่ำแย่ นี่เป็นเหตุผลที่ว่าทำไมการเลือกงานหรือเลือกอาชีพจึงมีความสำคัญ เพราะครึ่งหนึ่งของชีวิตคุณจะถูกใช้ไปกับการทำงานที่คุณเลือกเองอาจสูงถึง 75 เปอร์เซ็นต์!
คนรุ่นใหม่ เลือกงานทำจากอะไร?
คน Gen Y (ผู้ที่เกิดปี 1981-1996) เป็นวัยที่ทำงานมาแล้วสักระยะหนึ่ง โดยในเวลานี้เป็นช่วงที่กำลังสร้างความมั่นคงในชีวิต คน Gen Y รุ่นหลัง ๆ ที่อายุยังไม่ถึง 30 ปี พวกเขาจะค่อนข้างใกล้ชิดกับคน Gen Z เติบโตมาในยุคที่เทคโนโลยีเฟื่องฟูแล้วแต่ก็ยังทันโลกยุคเก่า ๆ อยู่บ้าง พวกเขาจึงเห็นความแตกต่างกันที่ชัดเจนของโลกแบบเก่าเมื่อราว ๆ 15-20 ปีที่แล้ว (ช่วงที่พวกเขายังเด็ก)
คน Gen Y ที่อายุยังไม่ถึง 30 ปี จึงถือเป็นคนรุ่นใหม่กลุ่มหนึ่งเหมือนกัน พวกเขาให้ความสำคัญกับเงินเดือนที่ดี อย่างไรก็ตามพวกเขาก็ยังรู้ว่าเงินเดือนที่ดีอาจต้องแลกกับสุขภาพหรือการสูญเสียเวลาในการหาความสุขให้กับตัวเอง ซึ่งมันไม่คุ้มกัน พวกเขาจึงมองหางานที่สร้างสมดุลระหว่างงานและการใช้ชีวิต ให้ความสำคัญในเรื่องของวัฒนธรรมองค์กร งานที่มั่นคง และคาดหวังชีวิตที่ยืดหยุ่น
Gen Z (ผู้ที่เกิดในปี 1997-2012) เป็นวัยเริ่มต้นในการทำงาน หรือเด็กจบใหม่ พวกเขาเติบโตมาด้วยความมั่นใจในตัวเองค่อนข้างสูง กล้าคิดกล้าเสี่ยง พวกเขาจึงให้ความสำคัญกับโอกาสในการแสดงฝีมือ รวมถึงการพัฒนาตัวเองให้เป็นที่ยอมรับ ต้องการความไว้วางใจมอบงานสำคัญให้พวกเขาได้ลองทำ คำแนะนำและคำชมเชิงบวกเป็นแรงผลักดันสำคัญในการทำงานของพวกเขา นอกจากนี้ พวกเขายังชอบทำงานในบรรยากาศที่สนุกและเป็นกันเองจะทำให้พวกเขาทำงานอย่างมีความสุขและมีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ คนรุ่นใหม่มีเกณฑ์อะไรอีกในการพิจารณาเลือกงานและองค์กรที่จะทำงาน
1. เงินเดือน
ผลตอบแทนจากทุกการลงแรงทำงาน แน่นอนว่าทุกคนต้องโฟกัสที่เรื่องของค่าตอบแทนเป็นสำคัญอยู่แล้ว เพราะมันเป็นปัจจัยในการดำรงชีวิตตลอดทั้งเดือน ไม่ว่าจะค่าผ่อน (เช่า) บ้าน, ค่าผ่อนรถ, ค่ากิน, ค่าเดินทาง, ค่าน้ำ, ค่าไฟ, ค่าโทรศัพท์, จ่ายหนี้ ฯลฯ ซึ่งความคาดหวังของคนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะพนักงานบริษัทในเมืองใหญ่ ก็คือฐานเงินเดือนขั้นต่ำตามวุฒิการศึกษา (ปริญญาตรี) หรืออาจเป็นค่าตอบแทนที่สมเหตุสมผลกับทั้งตำแหน่งงาน ภาระหน้าที่การงาน ค่าครองชีพ และ/หรือค่าใช้จ่ายอื่น ๆ
2. สวัสดิการ
เงินเดือนเป็นเพียงพื้นฐานขั้นต้นของผลตอบแทนจากการทำงาน ซึ่งนอกจากเงินเดือนหรือค่าจ้างแล้ว คนทำงานก็ยังสนใจเรื่องสวัสดิการที่บริษัทจะเสนอให้มากเช่นกัน สวัสดิการคือประโยชน์อื่นใดนอกเหนือจากเงินเดือนหรือค่าจ้างที่ได้รับอยู่เป็นประจำ เพื่อความสะดวก ความมั่นคง ในการทำงาน และเป็นหลักประกันที่แน่นอนยิ่งขึ้นในการดำเนินชีวิต เช่น ประกันภัย ประกันชีวิต เงินสบทบเมื่อเกษียณอายุ ค่าล่วงเวลา โบนัส หรืออื่น ๆ ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่คนทำงานควรสอบถามเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ที่บริษัทเสนอ พิจารณาหรือต่อรองก่อนที่จะตกลงเซ็นสัญญาเริ่มทำงาน
3. โอกาสในการก้าวหน้าและพัฒนาตนเอง
นอกจากเรื่องของค่าตอบแทนและสวัสดิการอื่น ๆ แล้ว คนรุ่นใหม่มองหาโอกาสดี ๆ นอกเหนือจากนั้น ซึ่งก็คือโอกาสในการก้าวหน้าและพัฒนาตนเองกับบริษัทที่ตนเองตั้งใจจะร่วมงานด้วย บางบริษัทมีนโยบายพิเศษอย่างการสนับสนุนโอกาสในการศึกษาต่อ หรือการส่งพนักงานไปฝึกอบรม สัมมนาต่าง ๆ เฉพาะทาง อันที่จริงเป้าหมายของบริษัทก็เพื่อให้พนักงานนำความรู้ที่ได้กลับมาทำประโยชน์ให้องค์กร เพื่อให้ตัวเองได้ก้าวหน้าในอาชีพในโอกาสต่อไป แต่นี่ก็เป็นสิ่งที่พนักงานไม่ต้องลงทุนเอง เพียงแค่เป็นพนักงานที่มีผลงานเป็นที่น่าประทับใจ หรือตรงตามเงื่อนไขที่กำหนด
4. การทำงานจากที่บ้าน
โควิด-19 ทำให้รูปแบบการทำงานของคนเปลี่ยนไป คือ การทำงานที่บ้าน (Work from Home) การทำงานที่ไหนก็ได้ (Work from Anywhere) หรือการทำงานจากระยะไกล (Remote Working) คนรุ่นใหม่ได้เคยทำทุกอย่างผ่านทางออนไลน์มาแล้ว ทำให้มีแนวคิดว่าการทำงานที่ได้ประสิทธิภาพนั้นไม่จำเป็นต้องเข้าออฟฟิศทุกวันเพื่อให้ได้งานดี ๆ พวกเขาต้องการมีอิสระในการจัดสรรเวลาแต่ละวันได้เอง ต้องการความยืดหยุ่น รวมถึงยังประหยัดเวลา ประหยัดค่าใช้จ่ายต่าง ๆ และไม่ต้องเจอเรื่องน่ารำคาญในออฟฟิศ หรือเรื่องที่ไม่สบอารมณ์ระหว่างเดินทาง
5. สมดุลชีวิต
สมดุลที่ว่าก็คือ ชีวิตส่วนตัวและชีวิตทำงาน ซึ่งถ้าไม่มีหรือไม่สามารถแบ่งเวลาทำงานกับเวลาพักผ่อนส่วนตัวได้อย่างเด็ดขาด มันอาจเป็นปัญหาที่ทำให้เกิดความรู้สึกหมดไฟ หมดใจในการทำงานในอนาคต เพราะความเหนื่อยล้า ไม่มีความสุข กังวล หรือเบื่องานมันค่อย ๆ สะสมขึ้นเรื่อย ๆ สามารถเกิดขึ้นได้จากการที่หักโหมทำงานหนักมากมานาน แม้ว่าคำว่า Work-Life Balance เหมือนมันจะไม่มีอยู่จริง แต่อย่างน้อย ๆ ขอแค่ได้รู้สึกพักจากงานบ้างในวันหยุดก็ดี ได้มีเวลาส่วนตัวอยู่กับตัวเองบ้าง ก่อนที่ตนเองจะรู้สึกว่าโรคประสาทกำลังเข้าเล่นงาน
6. ชั่วโมงการทำงาน
ชั่วโมงในการทำงาน มีความสำคัญต่อการจัดสรรเวลาความสมดุลระหว่างชีวิตและการทำงาน เพื่อให้ดีต่อสุขภาพกาย สุขภาพจิต มีเวลาส่วนตัวอย่างสมดุล จำนวนชั่วโมงการทำงานของบริษัทส่วนใหญ่จะอยู่ที่ 8 ชั่วโมง แต่สิ่งที่จะต้องแน่ใจก็คือ พนักงานจะไม่โดนบริษัทเอาเปรียบเวลาการทำงาน เพราะมันมีความเกี่ยวข้องกับสิ่งที่อยู่ในสัญญางานและเรื่องของค่าล่วงเวลาด้วย การอยู่เคลียร์งานต่อ 1-2 ชั่วโมงหลังเลิกงานอาจเป็นเรื่องปกติที่พนักงานตั้งใจอยู่เอง แต่ถ้าพนักงานถูกขอให้ทำงานบางอย่างในช่วงที่เป็นวันหยุด อาจจะต้องมีการพูดคุยตกลงกันอีกที
7. วัฒนธรรมองค์กร
คนรุ่นใหม่มองหาบริษัทที่มีวัฒนธรรมองค์กรที่ไม่เข้มงวดซับซ้อน เนื่องจากวัฒนธรรมองค์กร คือสภาพแวดล้อมทั้งหมดของการทำงาน จะมีผลอย่างมากต่อความสุข ความเพลิดเพลินในชีวิตการทำงาน ทุกคนทำงานร่วมกันด้วยบรรยากาศเป็นกันเอง ฉะนั้น หากเป็นไปได้ ลองสืบดูก่อนก็ดีว่าอดีตพนักงานของที่นั่นส่วนใหญ่แล้วเขาลาออกเพราะอะไร พนักงานปัจจุบันมีความสุขกับการทำงานที่นั่นหรือไม่ อัตราการลาออกของพนักงานเป็นอย่างไร และบริษัทมีนโยบายเชื่อมความสัมพันธ์ในหมู่พนักงานบ่อยแค่ไหน ก็พอจะมองออกแล้วว่าบริษัทปฏิบัติต่อพนักงานอย่างไร
8. เป็นงานที่มีความหมาย
หรือก็คือว่ามันเป็นงานที่สามารถตอบโจทย์เป้าหมายในชีวิตได้มากน้อยแค่ไหนนั่นเอง โดยเฉพาะแรงจูงใจหรือแรงผลักดันของคนทำงานรุ่นใหม่ ต้องการโอกาสในการแสดงศักยภาพและฝีมือให้เป็นที่ยอมรับ เมื่อผลงานเป็นที่น่าพอใจ ได้รับการชมเชย จะรู้สึกว่ามันเป็นเรื่องที่ทำให้ใจฟู กระตุ้นให้ตนเองมีกำลังใจทำงานให้ดีต่อไป ยิ่งผลงานประสบความสำเร็จแค่ไหน ได้รับการยอมรับมากเท่าไร งานนั้นก็ยิ่งมีความหมายและมีคุณค่าทางจิตใจให้กับผู้ปฏิบัติงานมากเท่านั้น จะช่วยให้พวกเขาสามารถทำงานได้อย่างมีความสุขและมีประสิทธิภาพมากขึ้นไปอีก
9. ความชอบ
คนรุ่นใหม่หลายคนทำงานแบบเล็งเห็นผลลัพธ์ ด้วยสภาพสังคมที่มีการแข่งขันสูง ค่าครองชีพก็สูง พวกเขาคิดว่าบางทีการทำงานที่ชอบก็ไม่สามารถตอบโจทย์การทำงานในแง่ของทำงานเพื่อให้มีเงินกินมีเงินใช้ได้ ทำงานที่ชอบแต่สุดท้ายรายได้ก็ไม่เพียงพอต่อการใช้จ่าย การที่สถานะทางการเงินไม่มั่นคงนี่แหละที่ทำให้ไม่มีความสุข หลายคนจึงพับงานที่ชอบหรืองานในฝันเก็บใส่กระเป๋า แล้วเปลี่ยนทิศทางเดินมาหาอาชีพที่มั่นคง ยั่งยืน และผลตอบแทนเพียงพอต่อการใช้ชีวิตมากกว่า แม้ว่าตนเองจะไม่ได้รู้สึกสนุกหรือมีความสุขร่วม แต่ก็ดีกว่าเป็นทุกข์เพราะรายได้ไม่พอใช้
10. หัวหน้า-ทีมงาน-เพื่อนร่วมงาน
ปัจจัยสุดท้ายคือปัจจัยเรื่องคน ที่หลายคนมองว่ามันเป็นปัญหาที่น่าปวดหัวมากกว่าปัญหาจากเนื้องาน ต้องไม่ลืมว่าเพื่อนร่วมงานหรือคนทุกฝ่ายทุกหน่วยงานที่ต้องร่วมงานกันนี้ มีอิทธิพลอย่างมากต่อสภาพแวดล้อมการทำงานรวมถึงประสิทธิภาพในการทำงาน มีคนจำนวนไม่น้อยที่เลือกที่จะลาออก ก็เพราะเรื่องของเพื่อนร่วมงาน นี่จึงไม่ใช่เรื่องเล็ก ดังนั้น น่าจะเป็นเรื่องที่ดีกว่าถ้าทุกคนในทีมช่วยกันสร้างบรรยากาศในการทำงาน ให้เป็นไปในเชิงบวกและน่าร่วมงานด้วยตลอดเวลา จะรู้สึกสนุกและมีความสุขที่จะได้ทำงานในแต่ละวัน