ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เร่งสร้างทุนทางสังคม พร้อมดัน ชุมชนคลองลำนุ่น
ปัจจุบันกรุงเทพฯ มีชุมชนที่จดทะเบียนจัดตั้งชุมชนอยู่ทั้งหมด 2,016 ชุมชน มีจำนวนประชากรอาศัยอยู่กว่า 2 ล้านคน หรือประมาณ 36% ของประชากรทั้งหมดในกรุงเทพฯ ทำให้การสร้างทุนทางสังคม (Social Capital) หรือเครือข่ายประชาชนเป็นเรื่องสำคัญ เพราะหากชุมชนเข้มแข็งก็จะกลายเป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาเมือง ด้วยเหตุนี้ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ และทีมอาสา เพื่อนชัชชาติ จึงเริ่มโครงการพัฒนาชุมชนเข้มแข็งต้นแบบ ปลอดโควิด เศรษฐกิจยั่งยืน เพื่อสร้างต้นแบบการบริหารจัดการชุมชนเข้มแข็ง พร้อมถอดบทเรียนสำหรับขยายผลสู่ชุมชนอื่น ทั้งการพัฒนาในด้านสาธารณสุขและเศรษฐกิจ
โครงการพัฒนาชุมชนเข้มแข็งต้นแบบ ปลอดโควิด เศรษฐกิจยั่งยืน เริ่มต้นที่ ชุมชนคลองลำนุ่นพัฒนา ซึ่งเป็นชุมชนหนึ่งในโครงการบ้านมั่นคงของสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) ตั้งอยู่บนพื้นที่กว่า 2 ไร่ บริเวณถนนวงแหวนตะวันออก ตรงข้ามห้างแฟชั่นไอแลนด์ ถนนรามอินทรา เขตคันนายาว กรุงเทพฯ ปัจจุบันมีประชากรอาศัยอยู่ 49 ครอบครัว จำนวน 181 คน โดยทีมเพื่อนชัชชาติได้ลงพื้นที่เพื่อทำงานด้านสาธารณสุขและเศรษฐกิจควบคู่กันไป
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เปิดเผยว่า ทีมเพื่อนชัชชาติได้เข้ามาช่วยจัดระบบการแยกกักตัวในชุมชน (Community Isolation) และการแยกกักตัวที่บ้าน (Home Isolation) ของชุมชนคลองลำนุ่นพัฒนา เริ่มจากตรวจหาเชื้อโควิด-19 ของคนในชุมชน 100% เพื่อแยกออกมารักษาหรือส่งต่อตามระดับของผู้ป่วย ภายใต้แนวคิด 4 เร็ว ได้แก่ 1.วัคซีนเร็ว 2.ตรวจเร็ว 3.ยาเร็ว 4.ส่งต่อเร็ว ที่ช่วยบรรเทาความวิกฤต ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อลดลงอย่างต่อเนื่องจนเป็น 0 ในปัจจุบัน
แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงและต้องรีบคิดต่อจากนี้คือปัญหาโรคเศรษฐกิจ จากการสำรวจของทีมเพื่อนชัชชาติ พบว่าประชากรในชุมชนคลองลำนุ่น 56% มีรายได้ลดลงทำให้ไม่พอรายจ่ายและหนี้สินในทุกเดือน ซึ่งสาเหตุกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ลดลง ลูกค้าที่เคยมีก็หายไป เกิดการเลิกจ้าง ซึ่งการแก้ไขปัญหาที่แท้จริงคือการควบคุมโรคให้อยู่ ฉีดวัคซีนที่ดีให้มากที่สุด โดยภาครัฐต้องเป็นผู้รับผิดชอบหลักในเรื่องนี้
สำหรับการบรรเทาปัญหาโรคเศรษฐกิจของประชากรในชุมชนคลองลำนุ่นนั้น ทีมเพื่อนชัชชาติวางไว้ 3 แนวทาง ได้แก่ 1.ลดรายจ่าย คือลดค่าครองชีพของชุมชน จัดตั้งครัวกลาง ทำสวนผักชุมชน มอบถุงยังชีพให้กับครอบครัวที่ลำบาก จัดหาอุปกรณ์ป้องกันโควิด-19 ให้คนในชุมชน 2.ลดภาระหนี้ โดยทีมเพื่อนชัชชาติได้พาหมอเศรษฐกิจไปเก็บข้อมูลเชิงลึกของหนี้แต่ละประเภท พบว่าหนี้นอกระบบยังคงแพร่ระบาดอยู่ในทุกซอกซอย ชาวบ้านต้องหาเงินมาจ่ายดอกเบี้ยทุกวัน การรวมกลุ่มไปคุยกับเจ้าหนี้นอกระบบในพื้นที่หรือสถาบันการเงินที่กู้อยู่ จะช่วยผ่อนหนักเป็นเบาได้ในระยะสั้น ส่วนหนี้ระยะยาวที่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน เช่น บ้าน รถมอเตอร์ไซค์ ก็ต้องไปขอยืดหนี้ตามมาตรการแบงก์ชาติเพื่อหลีกเลี่ยงการถูกยึดทรัพย์ และ 3.เพิ่มรายได้ ด้วยการหางานที่ชาวบ้านมีความรู้ เช่น ช่างไฟ ช่างประปา ผู้รับเหมาก่อสร้าง แม่บ้าน เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย เป็นต้น ในพื้นที่ใกล้เคียงผ่านแพลตฟอร์มช่วยหางาน โดยสร้างความไว้ใจว่าเป็นแรงงานที่ปลอดจากโควิด-19 ด้วยการสร้างระบบตรวจ Antigen Test Kit (ATK) ให้ชาวบ้านทุกอาทิตย์และมีใบรับรองผลตรวจให้ รวมถึงหาทางสร้างผลิตภัณฑ์ที่สามารถทำได้ในชุมชนและมีความต้องการของตลาด เช่น พัฒนาเครื่องดื่มสมุนไพรเพื่อสุขภาพที่กำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้
“หลังจากนี้ปัญหาเศรษฐกิจจะน่ากลัวกว่าโควิด-19 ต้องเริ่มคิดว่าจะทำอย่างไรให้พวกเขาลดรายจ่าย มีรายได้เพิ่มขึ้น แนวคิดหนึ่งที่น่าสนใจคือการทำ Digital Agents ประจำชุมชน เป็นตัวแทนในการสร้างฐานข้อมูลให้ชุมชน เก็บข้อมูลสำคัญเข้าระบบดิจิทัล เพื่อใช้ต่อในการวิเคราะห์ ทำให้สามารถดูแลคนในชุมชนได้อย่างเรียลไทม์ สิ่งเหล่านี้จะกลายเป็นทุนทางสังคม เมื่อมีวิกฤตคนในชุมชนจะรับมือและทำให้ชุมชนเข้มแข็งได้ โมเดลชุมชนคลองลำนุ่นที่เราทำอยู่นี้ถือได้ว่าเป็นตัวอย่างของการสนับสนุนทุนทางสังคมให้ชุมชนเข้มแข็ง อันเป็นหัวใจของการพัฒนาเมืองที่ยั่งยืน ”
ด้าน นายจักรพันธุ์ เที่ยงตรง ประธานชุมชนคลองลำนุ่นพัฒนา กล่าวว่า ทีมเพื่อนชัชชาติเข้ามาช่วยดูแลด้านความเป็นอยู่ของคนในชุมชนตั้งแต่ก่อนสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เมื่อมีการแพร่ระบาดเกิดขึ้นในชุมชน ก็ยังได้เข้ามาดูแลศูนย์พักคอยของชุมชน จัดสรรเครื่องอุปโภค-บริโภค รวมถึงเวชภัณฑ์และการประสานงานด้านการรักษา ทำให้คนในชุมชนคลองลำนุ่นสามารถพึ่งพาตนเองได้ อีกทั้งในขณะนี้ยังมีหมอเศรษฐกิจที่เป็นทีมอาสาเพื่อนชัชชาติมาช่วยดูแลเรื่องปากท้อง จัดทำแบบสอบถามเพื่อเก็บข้อมูล ก่อนจะให้คำปรึกษาเป็นรายบุคคลในขั้นต่อไป รู้สึกดีใจที่คนในชุมชนจะสามารถใช้ชีวิตเดินต่อไปได้ในสถานการณ์ที่ย่ำแย่ในขณะนี้
หนึ่งในผู้เคยติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในชุมชนคลองลำนุ่นพัฒนา กล่าวว่า ตนและสมาชิกในครอบครัวได้รับเชื้อไวรัสโควิดทั้งครอบครัว โดยได้รับความรู้เกี่ยวกับการดูแลตัวเอง การแยกกักตัวที่บ้าน รวมถึงการส่งต่อสมาชิกในครอบครัวเข้ารักษาที่โรงพยาบาลโรงแรม (Hospitel) จากทีมเพื่อนชัชชาติ ปัจจุบันตนและครอบครัวรักษาตัวหายแล้ว จึงมาเข้าร่วมโครงการให้หมอเศรษฐกิจดูแลต่อ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการสำรวจและปรับเศรษฐกิจในส่วนของตนเอง ซึ่งมองว่าเป็นประโยชน์กับตนเองและครอบครัว
ทั้งนี้การช่วยเหลือจากภาคประชาชนด้วยกันเองอาจบรรเทาได้เพียงเบื้องต้น แต่แท้จริงแล้วการแก้ไขปัญหาเรื่องสุขภาพและการดูแลเศรษฐกิจระยะยาวนั้น ภาครัฐยังคงเป็นส่วนสำคัญที่จะต้องใส่ใจและช่วยให้คนไทยทุกคนรอดพ้นจากวิกฤตในครั้งนี้ โดยสร้างและอาศัยทุนทางสังคม ที่รัฐต้องไว้ใจและกระจายอำนาจให้ประชาชน เพื่อรัฐจะได้มีทุนในการแก้ปัญหาซึ่งสามารถต่อยอดในการพัฒนาเมืองให้ดีขึ้นอย่างยั่งยืน