เตือนดื่มชามากเสี่ยงไตเสื่อม แนะเลี่ยงอาหาร"ออกซาเลต"สูง
งานวิจัยชี้ดื่มชาติดต่อกันนานต้นเหตุนิ่ว-ไตเสื่อม หมอแนะลดอาหารออกซาเลตสูง มะเฟือง ผักโขม ห่วงคนใต้กินลูกเนียงมาก ไตวายเฉียบพลัน แนะตรวจสุขภาพสม่ำเสมอ
นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ อาจารย์ประจำหน่วยโรคไต ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงกรณีการรายงานในวารสารทางการแพทย์ว่า พบผู้ป่วยในต่างประเทศเป็นโรคไตจากการดื่มชาเย็น ซึ่งชายคนดังกล่าวดื่มปริมาณถึง 16 แก้วต่อวันติดต่อกันเป็นเวลานานนั้น ว่า จากการรายงานทางการแพทย์ดังกล่าวระบุว่าชายคนนี้ ดื่มชาจำนวนมากกว่าคนปกติ เมื่อเทียบกับชาวอเมริกาที่ดื่มประมาณ 500 มิลลิกรัมต่อวันแต่ชายคนดังกล่าวดื่มถึงวันละ 1,500 มิลลิกรัมต่อวัน และยังดื่มสะสมมาเป็นเวลานาน โดยชาที่ดื่มเป็นชาดำแบบกระป๋อง ซึ่งตามปกติในชาดำและชาสมุนไพรต่างๆ จะมีสารที่เรียกว่าออกซาเลต ซึ่งจะทำปฏิกิริยาในการจับแคลเซียมในปัสสวะให้กลายเป็นผลึกเล็กๆ และทำให้เกิดการอุดตันบริเวณท่อไตจนไม่สามารถขับของเสียได้ตามปกติ ก่อให้เกิดโรคไตหรือนิ่วขึ้นได้
นพ.สุรศักดิ์กล่าวว่า การดื่มชาไม่ว่าจะเป็นประเภทร้อนหรือเย็นหากดื่มมากและดื่มติดต่อกันนานเกิน ไปก็อาจทำให้ส่งผลกระทบได้ แต่พบว่าในชาเขียวจะมีสารออกซาเลตน้อยกว่ารวมทั้งมีงานวิจัยบางชนิดที่พบว่า อาจช่วยป้องกันนิ่วได้ แต่ทั้งนี้ชาที่ดื่มก็ไม่ควรเป็นประเภทที่เติมน้ำตาล ส่วนการดื่มชาดำสามารถช่วยลดการตกตะกอนด้วยการเติมนมเพื่อให้สารจับแคลเซียม ในกระเพาะอาหารและไม่ดูดซึมจนตกค้าง นอกจากชาแล้วยังพบว่ามีอาหารบางประเภทที่มีสารออกซาเลต ซึ่งไม่ควรปริโภคในปริมาณมาก เช่น มะเฟือง ผักโขม ลูกเนียง เป็นต้น ซึ่งเคยพบว่าชาวไต้หวัน นิยมดื่มน้ำมะเฟืองซึ่งใช้มะเฟือง 5-6 ลูกในการคั้น ทำให้ได้รับสารออกซาเลตปริมาณมากและเกิดอาการไตวายเฉียบพลันขึ้น ส่วนในประเทศไทยเคยพบในภาคใต้จากกรณีที่เด็กๆ กินลูกเนียงครั้งละ 10 ลูกขึ้นไปได้เช่นกัน พบว่าผู้ที่มีอาการของไตเสื่อมอยู่แล้วจะมีปัสาวะในท่อน้อยกว่าคนปกติเมื่อ ได้รับสารเหล่านี้ก็จะทำให้เกิดการจับตัวกับแคลเซียมได้เร็วและทำให้เกิด อาการไตวายเฉียบพลันได้มากกว่า ซึ่งรวมถึงผู้ที่ดื่มน้ำน้อยก็สามารถเกิดได้เร็วกว่าเช่นกัน
นพ.สุ รศักดิ์กล่าวว่า สำหรับผู้ป่วยไตเสื่อมนั้นพบว่าส่วนใหญ่มาพบแพทย์ช้าและเสียการทำงานของไตไป แล้วกว่า ร้อยละ 70 อยู่ในระยะที่แสดงอาการแล้ว ผู้ที่ควรเฝ้าระวังตัวเองมากกว่าปกติและตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอคือ ผู้ที่มีโรคเรื้อรัง เบาหวาน ความดัน มีพฤติกรรมกินเค็มมาก ดื่มชามาก ต้องสังเกตอาการตนเอง เช่น ปัสาวะน้อย ตาบวม ขาบวม ปวดเอว ปัสาวะเปลี่ยนสีเป็นสีชาเข้มหรือสีแดงเข้ม อาการไตเสื่อมเรื้อรังจะค่อยๆ เกิดขึ้นกินระยะเวลาเป็นปีหรือหลายปีกว่าจะแสดงอาการ