จิตวิทยาของการตกหลุมรัก เราตกหลุมรักคนอื่นเพราะอะไร
ก่อนที่คนเราจะอยู่ในสภาวะ “คนคลั่งรัก” ทุกคนย่อมเคยผ่านสภาวะ “ตกหลุมรัก” มาก่อน ซึ่งมันเป็นอาการแรกเริ่มของคนที่กำลังมีความรัก
การมีความรักเป็นเรื่องที่ดี สามารถมอบความสุขให้กับคนเราได้ แต่เคยสงสัยไหมว่ามันมีปัจจัยอะไรบ้างที่ทำให้คนเรารู้สึกตกหลุมรักใครสักคน จริง ๆ แล้วการตกหลุมรักนั้นมันเกิดจากกระบวนการทางจิตวิทยา ซึ่งมีงานวิจัยที่พิสูจน์พบว่าจิตวิทยาสำคัญที่ทำให้คนเรารู้สึกตกหลุมรัก หรือดึงดูดกันและกันเข้าหากันนั้น เกิดขึ้นมาจากความคล้ายคลึงกันของคนสองคนไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ความรู้สึกที่ใกล้ชิด ปลอดภัย สบายใจเวลาที่อยู่กับคนนี้ และยังรวมถึงการพบเจอกันของคนสองคนในสถานการณ์ที่ปลุกเร้าให้แรงดึงดูดทำงานมากกว่าปกติด้วย
เราชอบคนที่คล้ายกับตัวเราเอง
มีคำโบราณกล่าวไว้ว่า “เนื้อคู่กันจะหน้าเหมือนกัน” เพราะเชื่อว่ามันอาจจะเป็นพรหมลิขิตหรือเป็นบุพเพสันนิวาสอะไรทำนองนั้น สิ่งนี้สามารถพิสูจน์และอธิบายแบบวิทยาศาสตร์ได้ มีหลักฐานทางจิตวิทยาอธิบายว่า คนเรานั้นคุ้นเคยกับใบหน้าตาของตัวเองมาตั้งแต่เด็ก (ส่องกระจกก็เห็นทุกวัน) การที่เรามีโอกาสตกหลุมรักคนที่หน้าตาคล้ายตัวเอง ก็เพราะเขาทำให้เรารู้สึกไว้ใจ สบายใจ ราวกับว่าได้อยู่กับตัวเองอีกคน การเห็นหรืออยู่กับใครบางคนที่คล้ายกับตัวเราเอง ทำให้เรารู้สึกสบายใจ มีความสุข ชอบ หรือปลอบโยนได้
มันคือแรงดึงดูด ผู้คนมักจะเข้าหาคนที่ตัวเองรู้สึกคุ้นเคย (แม้จะไม่รู้จักกันมาก่อน) น่าจะมาจากจิตใต้สำนึกที่เชื่อมโยงกับความสัมพันธ์ตามธรรมชาติ หรือลักษณะบางอย่างที่ทำให้เรารู้สึกว่ามันเข้ากันได้ดี เราจึงมีโอกาสถูกดึงดูด (ตกหลุมรัก) ได้ง่ายจากคนที่หน้าตาคล้ายกับเราอยู่แล้ว
ไม่เพียงเท่านั้น ไม่ใช่แค่คนที่ดูคล้ายกับตัวเราเองที่จะดึงดูดความสนใจของเรา แต่ยังมีคนที่มีลักษณะดูคล้ายกับพ่อแม่ของเราด้วยเช่นเดียวกัน โดยวิทยาศาสตร์อธิบายว่า จริง ๆ แล้วคนเราไม่ได้เลือกคู่ครองหน้าตาเหมือนตัวเราเพียงอย่างเดียว แต่มีโอกาสที่จะเลือกคนรักที่หน้าตาคล้ายกับพ่อและแม่ของตัวเองด้วย หากเป็นผู้ชาย ก็มีแนวโน้มที่จะชอบผู้หญิงที่มีลักษณะบางอย่างคล้ายกับแม่ของตนเอง เช่นเดียวกัน ผู้หญิงก็มีแนวโน้มจะชอบผู้ชายที่ดูคล้ายกับพ่อของตนเอง
เพราะมันเป็นความรู้สึกผูกพัน รู้สึกปลอดภัยเมื่อเข้าใกล้ แบบว่าได้รับการปกป้องคุ้มครอง อยู่ด้วยแล้วรู้สึกอบอุ่นหัวใจ เหมือนเวลาที่อยู่กับพ่อแม่ แต่เวลาที่เราตกหลุมรักนั้น เราอธิบายอาการแบบนี้ไม่ได้หรอก เราแค่รู้สึกว่าตกหลุมรักอย่างจังมากกว่า เท่านี้ก็ไม่ต้องหาคำไหนมาอธิบายเพิ่มเติมอีกแล้ว
ความใกล้ชิดสนิทสนมทำให้หวั่นไหว
ไม่ใช่เรื่องแปลกเลยที่เรื่องแบบนี้จะเกิดขึ้น เพราะเห็นได้ทั่วไปจากเพื่อนที่คบหาและสนิทกันมานาน มีอยู่หลายคู่ทีเดียว ที่จู่ ๆ ก็เปลี่ยนสถานะจากเพื่อนขึ้นมาเป็นคนรักซะอย่างนั้น คล้ายกับอีกพล็อตของละครว่า “เพื่อนสนิทคิดไม่ซื่อ” แอบรักเพื่อนตัวเองแต่ไม่กล้าบอก สุดท้ายก็เลยเป็นได้แค่พระรองหรือนางรองไป
พลังของความใกล้ชิดสนิทสนมทำให้เกิดความรู้สึกหวั่นไหว มีการทดลองหนึ่ง โดยนักวิจัยขอให้ผู้ที่พักอาศัยอยู่ในหอพักเป็นผู้ร่วมการวิจัย นักวิจัยขอให้ผู้เข้าร่วมงานวิจัยราว ๆ 300 คน ระบุชื่อเพื่อนสนิทของตนเอง ผลที่นักวิจัยได้ คือ ชื่อเพื่อนที่ผู้ร่วมวิจัยระบุเป็นเพื่อนสนิท คือคนที่อยู่ห่างออกไปเพียงประตูเดียว คิดเป็น 41 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนี้นักวิจัยยังพบอีกว่ายิ่งประตูห้องห่างไกลกันออกไป โอกาสที่ผู้ร่วมวิจัยจะระบุว่าเป็นเพื่อนสนิทก็จะลดลง โดยคนที่อยู่ห่างออกไป 4 ห้อง ถูกระบุว่าเป็นเพื่อนสนิทเพียงแค่ 10 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น
การศึกษานี้แสดงให้เห็นถึงว่าความใกล้ชิดมีต่อการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างกัน บางทีการที่คนเราได้ใกล้ชิด สนิทสนมกับใครคนหนึ่ง รู้จักกันดีมากขึ้นเรื่อย ๆ จนเหมือนกับว่าจะขาดกันไปไม่ได้ รู้สึกปลอดภัย สบายใจที่ได้อยู่กับคนที่คุ้นเคย หากถ้าวันใดคนข้าง ๆ ที่สนิทด้วยนั้นหายไป ในใจเราคงจะโหวงเหวงขึ้นมาทันที ชนิดที่เราก็อธิบายไม่ได้ด้วยว่าทำไม อาจเป็นเพราะอยู่ใกล้เกินไป จนไม่รู้ว่าอีกฝ่ายสำคัญกับตนเอง คิดว่าเป็นแค่ความคุ้นชิน ถ้าเป็นเช่นนี้ คุณอาจจะตกหลุมรักเพื่อนสนิทตัวเองโดยไม่รู้ตัวมานานแล้วก็ได้นะ!
ทฤษฎีสะพานแขวน ประทับใจจากการช่วยเหลือ
ว่ากันว่าคนเราสามารถตกหลุมรักคนที่เคยเผชิญหน้ากับสถานการณ์เสี่ยงตายมาด้วยกันได้ รวมถึงคนที่อาจจะเคยช่วยชีวิตของเราก็ด้วยเช่นกัน ซึ่งบางทีเราอาจจะเคยเจอคนนี้แค่เพียงครั้งเดียวก็ได้ อธิบายก็คือ เมื่อเราอยู่ในสถานการณ์ที่จิตใจไม่มั่นคง กำลังหวาดกลัว ตื่นเต้น หรือกำลังต่อสู้ หากมีใครสักคนยื่นมือเข้ามาช่วย มีความเป็นได้สูงมาก ๆ ที่เราจะตกหลุมรักเขาหรือเธอคนนั้นนับตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นไป
จิตวิทยานี้เรียกว่า “ทฤษฎีสะพานแขวน” เราต้องเดินอยู่บนสะพายที่กำลังแกว่งอย่างแรง ขาสั่น ใจสั่น รู้สึกไม่มั่นคงมาก ๆ ใครก็ตามที่เข้ามาช่วยให้เรารู้สึกมั่นคงขึ้น เขาหรือเธอผู้นั้นจะเหมือนกับผู้ช่วยชีวิตเราให้พ้นจากความตายก็ไม่ปาน ถ้าดูเป็นละครหน่อย อีกฝ่ายต้องเสี่ยงอันตรายด้วยแต่ก็ยังช่วยเรา ยิ่งน่าประทับใจไม่รู้ลืม แปรเปลี่ยนเป็นความรักได้เหมือนกัน ง่าย ๆ ก็คือ เวลาที่รู้สึกเหมือนเพิ่งรอดตาย เราจะตกหลุมรักกันและกันง่ายขึ้น เพราะต่างคนต่างกำลังกลัว อารมณ์ร่วมที่เกิดขึ้นจนหัวใจเต้นโครมคราม แท้จริงมันอาจเป็นเพราะกลัวตาย และเพิ่งรอดจากความตายก็ได้
ทฤษฎีสะพานแขวนอธิบายอย่างวิทยาศาสตร์ได้ว่า มันเป็นการตอบสนองรูปแบบหนึ่งของร่างกายต่อฮอร์โมนอะดรีนาลีน ที่ร่างกายจะหลั่งออกมาเวลาที่รู้สึกตื่นเต้นหรือตกอยู่ช่วงคับขัน เราจะใจเต้นแรง ตื่นเต้น พอเราเงยหน้ามาเจอหน้าใครเข้าหลังจากที่รอดตายมาอย่างหวุดหวิด มันจึงให้ความรู้สึกเหมือนกับการตกหลุมรัก สัญชาติญาณการเอาชีวิตรอดจะยิ่งทำให้อะดรีนาลีนพลุ่งพล่าน จนเร้าการทำงานสมองของหนุ่มสาว และค่อย ๆ จูนหากันในที่สุด
ในปี 1974 มีศาสตราจารย์สาขาจิตวิทยา 2 คนได้ทำการศึกษาเรื่องนี้ คือ โดนัล ดัตตัน และอาเธอร์ แอรอน โดยมีสถานที่ทดลอง 2 แห่ง แห่งแรกอยู่บนสะพานแขวนสูงราว ๆ 60 เมตร ซึ่งสะพานจะแกว่งไปมาเมื่อมีลมพัด อีกที่เป็นสะพานไม้เตี้ย ๆ เหนือแม่น้ำที่ดูแข็งแรงและมั่นคงกว่า แล้วขอให้กลุ่มผู้ชาย 2 กลุ่ม เดินข้ามสะพานทั้ง 2 ที่ปลายสะพานจะมีผู้หญิงยืนรออยู่เพื่อสอบถามอะไรบางอย่างเกี่ยวกับงานวิจัย และพร้อมที่จะมอบเบอร์โทรศัพท์ให้ เผื่อว่าพวกผู้ชายจะต้องการจะสอบถามอะไรเพิ่มเติม
ผลการทดลองนี้ปรากฏออกมาอย่างชัดเจนว่ากลุ่มชายหนุ่มที่อยู่บนสะพานแขวนมีแนวโน้มที่จะยอมรับเบอร์โทรศัพท์ของผู้หญิงมากกว่ากลุ่มชายหนุ่มที่เดินบนสะพานไม้ที่แข็งแรง มั่นคง อธิบายได้ว่าจากเดิมที่เห็นผู้หญิง ผู้ชายก็อาจจะสนใจอยู่แล้ว แต่พอมีสะพานแขวนที่แกว่งไปมามาเป็นปัจจัยที่ทำให้หัวใจชายหนุ่มเต้นแรงมากขึ้นไปอีก พวกเขาก็อาจจะเข้าใจผิดว่าที่ใจเต้นแรงเพราะตกหลุมรักผู้หญิงต่างหาก
พล็อตแบบละครละคร แรก ๆ ไม่ชอบหน้า ไป ๆ มา ๆ ตกหลุมรักกันเฉย
“เกลียดแบบไหนจะได้แบบนั้น” เป็นอีกหนึ่งพล็อตยอดนิยมของละคร ซึ่งไม่ว่าจะละครสัญชาติไหนก็ต้องมีให้เห็น คือ การที่เริ่มต้นเรื่องพระเอกและนางเอกคือคนที่เกลียดขี้หน้ากันขั้นสุด ไม่ว่าจะด้วยความเหตุเข้าใจผิด หรืออะไรที่ไม่ได้ดั่งใจหลาย ๆ อย่าง เริ่มแรกก็โทษกันไปมาว่าอีกฝ่ายคือคนผิด เจอหน้ากันทีไรต้องเปิดฉากทะเลาะโต้เถียงคารมกันไฟแลบ เหม็นขี้หน้ากันเหลือเกิน ท้ายที่สุดก็ไปตกหลุมรักกันตอนไหนไม่รู้ จบเรื่องด้วยความคลั่งรักของคนคู่นี้แทน
เมื่อได้ใกล้ชิด ได้เจอกันบ่อย ๆ (อาจมีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดตามตื๊อด้วย) มันก็ทำให้คนสองคนได้รู้จักตัวตนของกันและกันมากขึ้น เริ่มที่จะเห็นตัวตนอีกด้าน ด้านดี ๆ ของอีกฝ่ายที่เราไม่เคยเห็นมาก่อน จนนานวันเข้าก็รู้สึกว่าอีกฝ่ายก็น่ารักดีเหมือนกัน เขาหรือเธอดูมีเสน่ห์ดึงดูดอย่างน่าประหลาด จากที่ความรู้สึกเคยติดลบก็ค่อย ๆ มาทางบวกขึ้นเรื่อย ๆ เหมือนว่าต่างฝ่ายต่างค่อย ๆ พิสูจน์ตัวเอง ก็ไม่แปลกที่อยู่ดี ๆ เราจะประทับใจเขาหรือเธอมากขึ้น แล้วรักกันเฉยเลย
พ่ายแพ้เสน่ห์ของอีกฝ่าย
คนที่หน้าตาดีมาก ๆ กับคนที่หน้าตาธรรมดา ๆ แต่ดูมีเสน่ห์นั้น จะให้ความรู้สึกดึงดูดไม่เหมือนกัน แม้ว่าเสน่ห์จะเป็นลักษณะที่ชวนให้รู้สึกชอบพอคล้ายกับรูปร่างหน้าตา แต่จริง ๆ แล้วมันต้องดูกันลึกกว่านั้น สำหรับบางคน เสน่ห์ไม่สามารถเห็นได้ชัดเจนแบบรูปร่างหน้าตา แต่มันมาจากพฤติกรรมหรือการกระทำอื่น ๆ ประกอบ เช่น บางคนมีเสน่ห์มากเวลาที่ยิ้ม บางคนมีเสน่ห์ที่คำพูดคำจา บางคนก็มีเสน่ห์จากน้ำใจ บางคนมีเสน่ห์เวลาที่ลงมือแก้ปัญหา บางคนมีเสน่ห์เพราะความเฟรนด์ลี่ เป็นมิตร เข้ากับคนง่าย อะไรแบบนี้
พูดง่าย ๆ ก็คือ เสน่ห์มันไม่ได้เห็นกันได้ง่ายจากภายนอกเท่าหน้าตา เราคงต้องพาตัวเองเข้าไปอยู่ใกล้ชิดกับใครคนหนึ่งในช่วงเวลาหนึ่งเลยทีเดียวกว่าเขาหรือเธอจะเผยเสน่ห์ลึก ๆ นั้นให้ได้เห็น ซึ่งก็เหมือนกับเราก็ได้รู้จักเขาในระยะหนึ่งแล้วเหมือนกันว่าตัวตนของเขาหรือเธอเป็นอย่างไร นี่จึงเป็นการรับรู้เชิงบวกว่าเสน่ห์ของคนก็มีอานุภาพที่มีพลังทำลายล้างสูงเหมือนกัน จนบางคนอาจจะมองข้ามความหน้าตาดีแบบเทพบุตรเทพธิดาลงมาจุติของคนหนึ่ง แล้วไปตกหลุมรักคนธรรมดา ๆ แต่เสน่ห์ร้ายกาจของอีกคนหนึ่งแทน