20 บทเรียนของการเป็นพ่อ (ที่เพิ่งเริ่มต้น)

20 บทเรียนของการเป็นพ่อ (ที่เพิ่งเริ่มต้น)

20 บทเรียนของการเป็นพ่อ (ที่เพิ่งเริ่มต้น)
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

สำหรับคนที่เป็นพ่อมือใหม่หรือกำลังเตรียมตัวเป็นพ่อนั้นจะทราบดีว่านี่คืออีกก้าวสำคัญอีกก้าวหนึ่งของชีวิตที่เราไม่มีทางรู้เลยว่าอะไรจะเกิดขึ้นบ้าง มันเป็นความตื่นเต้นผสมกับความรู้สึกท้าทายปนกับความกังวลไปเสียทุกอย่าง

โดยส่วนตัวแล้วแม้ว่าจะเรียกตัวเองว่าพ่อมาได้ห้าปีแล้ว ก็ยังรู้สึกว่าทุกวันยังเป็นความท้าทายและเป็นเรื่องใหม่อยู่เสมอ ลูกสาววัยห้าขวบที่กำลังเติบโตอยู่ในวัยซุกซนอยากรู้อยากเห็นเป็นสิ่งมีชีวิตที่ทำให้วันธรรมดาของผมกลายเป็นความโกลาหลได้ภายในพริบตา (เชื่อว่าทุกคนที่ผ่านมาแล้วจะเข้าใจอารมณ์ตรงนั้นเป็นอย่างดี)​ แต่ในขณะเดียวกันเธอก็เป็นสิ่งที่ทำให้ผมได้ยิ้ม ได้หัวเราะ เป็นความสุขที่มากมายจนหาอะไรมาเปรียบเทียบไม่ได้เช่นเดียวกัน ผมจินตนาการไม่ออกเลยว่าชีวิตที่ไม่มีเขาจะเป็นยังไง

ตลอดช่วงเวลา 5 ปีที่ผ่านมานั้นมีบทเรียนมากมายที่ได้เรียนรู้และอยากส่งต่อให้กับคุณพ่อมือใหม่และใครก็ตามที่กำลังจะก้าวเข้ามาสู่สนามแห่งนี้ สิ่งหนึ่งที่ต้องบอกเลยก็คือระหว่างทางนั้นไม่ใช่แค่ลูกเท่านั้นที่จะเติบโตขึ้น เราเองในฐานะพ่อก็จะเติบโตขึ้นไปพร้อม ๆ กันด้วย

1.    คุณไม่มีทางรู้ทั้งหมดหรอกว่ากำลังทำอะไรอยู่ ทุกอย่างคือการปรับตัวตามสถานการณ์

2.    การบ่นด่าหรือพร่ำสอนลูกด้วยหลักการนั้นแทบไม่มีประโยชน์เลย เด็ก ๆ จะเลียนแบบทุกอย่างที่เราทำ การพูดจา การขยับตัว พยักหน้า กิริยามารยาทบนโต๊ะอาหาร พฤติกรรมต่าง ๆ นั้นล้วนเป็นกระจกสะท้อนสิ่งที่เด็กเห็นทั้งนั้น เพราะฉะนั้นเป็นตัวอย่างที่ดี

3.    ยอมรับเถอะว่าจะควบคุมพวกเขาเป็นเรื่องยาก เด็กมีความคิดเป็นของตัวเอง ฟังเขาให้เยอะขึ้น ใจเย็นมากขึ้นด้วย อย่าเอาทุกอย่างมาเป็นอารมณ์

4.    เมื่อไหร่ก็ตามที่ลูกทำอะไรเลยขอบเขต อย่างเช่นการพูดจาที่ไม่เรียบร้อย ดูถูกคนอื่น หรือกิริยามารยาทที่ไม่สมควร ให้เรียกมาคุยและแสดงให้เห็นทันทีว่ามันเป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้น ไม่ใช่การตะคอกด่าหรือตี แต่เป็นการอธิบายให้ฟังว่าขอบเขตอยู่ตรงไหน

5.    อย่าลืมมีปฏิทินใหญ่ ๆ ติดไว้ที่ฝาบ้าน ในมือถือ หรืออะไรก็ตามที่เราเห็นประจำ เพราะวันสำคัญ นัดหมอ หรือ งานโรงเรียน ทุกอย่างที่เราคิดว่าจะจำได้...เราจำไม่ได้หรอกครับ ลืมแน่นอน...มีที่จดเอาไว้ดีที่สุด

6.    ต้องเข้าใจว่าลูกมีความอยากรู้อยากเห็น คำถามมากมายที่เขามีคือการพัฒนาความคิดของเขา เพราะฉะนั้นพยายามให้ตอบคำถามเขาให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ถ้ายังยุ่งอยู่ อย่าบอกว่า ‘อย่าเพิ่งกวน’ แต่ให้อธิบายให้ฟังว่าตอนนี้กำลังยุ่งกับอะไร และจะมีเวลาให้เขาในอีกครั้งเมื่อไหร่

7.    อดทน อดทน อดทน อย่าบังคับให้เขาทำอะไรที่ฝืน แต่ให้เรียนรู้และค่อย ๆ เติบโตตามจังหวะของตัวเอง เช่นลูกไม่อยากว่ายน้ำในสระลึก แต่เราคิดว่าลูกต้องทำได้ บางทีก็อาจจะพยายามฝืนเกินไปและจำสร้างประสบการณ์ที่ไม่ดีกับเขามากกว่า

8.    ยกโทษและลืมไปเลย บางทีอาจจะรู้สึกว่าลูกทำอะไรที่ไม่ถูกใจเพื่อจะกวน แน่นอนว่าเด็ก ๆ อาจจะมีบ้างที่รู้แหละว่าพ่อแม่ไม่ชอบเลยยิ่งทำ แต่พวกเขาก็เป็นเด็กและพลาดได้เสมอ...และจำไว้ว่า เราก็เคยเป็นเด็กซนแบบนี้เช่นกัน

9.    เตรียมขนมและอาหารไว้อย่าให้ไกลตัว บางทีเราไม่รู้หรอกว่าจะได้ใช้เมื่อไหร่ ร้องไห้แบบหยุดไม่ได้มาที ขนมก็ช่วยได้ไม่น้อยเลย

10. สนทนากับเขาแบบจริงจังในแต่ละวัน นั่งคุยกัน สนใจสิ่งที่เกิดขึ้นที่โรงเรียน ถามความรู้สึกของเขา อย่างน้อย ๆ สัก 20 นาที

11. เล่นด้วยแบบปิดมือถือไปเลย ใช้เวลากับเขาวันละสัก 20-30 นาที คุณจะเห็นเลยว่าเด็ก ๆ นั้นมีจินตนาการที่สุดยอดขนาดไหน

12. บอกปฎิเสธบ้างกับลูก อย่าตามใจทุกอย่าง ไม่อย่างนั้น...ตายแน่นอน ลูกจะโตมาโดยเข้าใจว่าเขาทำได้ทุกอย่าง ทุกคนคือต้องตามใจเขาเสมอ สุดท้ายปลายทางในชีวิตเขาจะเติบโตมาแล้วเรียนรู้ว่าโลกแห่งความจริงนั้นโหดร้ายขนาดไหน

13. แต่ก็อย่าปฏิเสธตลอด เพราะมันจะหยุดความอยากรู้อยากเห็น หรือจินตนาการของเขาได้เช่นกัน การบอกปฏิเสธนั้นเป็นเรื่องจำเป็น แต่ก็ต้องใช้อย่างระมัดระวังเช่นเดียวกัน

14. อ่านหนังสือให้เขาฟังเยอะ ๆ นั้นคือสิ่งที่สร้างจินตนาการให้เขาและเป็นช่วงเวลาที่สำคัญของแต่ละวัน เขาจะเติบโตมาพร้อมกับนิสัยรักการอ่านและอยากเรียนรู้เรื่องใหม่ ๆ เสมอ

15. สื่อสารกับลูกไม่ว่าจะเรื่องเล็กน้อยขนาดไหนก็ตาม เขาออกไปเจอผีเสื้อมา เขามาเล่าให้ฟัง ก็เออออตามไป ถามว่าสีอะไร ตัวขนาดไหน เอาดินสอมาวาดให้ดูหน่อยได้ไหม

16. อย่าพร่ำสอนแล้วตัวเองไม่ทำตาม สอนให้ลูกเก็บของแล้วตัวเองทิ้งเรี่ยราด สอนให้ลูกกินของมีประโยชน์ แต่ตัวเองกินแต่อาหารขยะ

17. อย่าชมในผลลัพธ์​ แต่ให้ชื่นชมในความพยายาม สิ่งที่เขาพยายามทำ การลงมือทำ เขาจะเรียนรู้ว่าการพยายามลองผิดลองถูกไม่ว่าผลจะออกมายังไงก็ไม่เป็นไร แต่ขอให้ได้ลองทำ ซึ่งจะทำให้เขากล้าที่ลงมือกับอะไรที่ไม่เคยทำมาก่อน

18. ให้เกียรติลูกเสมอ เพราะนั้นคือรากฐานของความเชื่อมั่นในตัวเอง เขาจะรู้สึกว่าตัวเองว่ามีเกียรติ มั่นใจในตัวเอง เคารพตัวเอง ซึ่งนั้นก็มาจากสิ่งที่คนเป็นพ่อแม่มอบให้ในช่วงที่เขาเติบโต ให้เขารู้ว่าเมื่อไหร่ก็ตามที่เขาได้รับการปฏิบัติที่ไม่ถูกต้อง เขาสามารถที่จะรับมือสถานการณ์ได้อย่างมั่นใจ

19. อย่ากังวลกับสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้นมากนัก พยายามโฟกัสไปที่เวลานี้ ตอนนี้ ใช้เวลากับเขาให้มากที่สุดเท่าที่เราจะทำได้ เพราะเวลาที่เรามอบให้เขาได้นั้นมันมีคุณค่ามากกว่าเงินมากมายก่ายกอง ของเล่นราคาแพง เพราะเวลาเหล่านี้มีจำกัดเพียงแค่ช่วงอายุหนึ่งของลูกเพียงเท่านั้น

20. เมื่อไหร่ก็ตามที่ได้กอดเขา อุ้มเขา กอดให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้ แค่นั้นเลยจริง ๆ

เรามักคิดว่าเด็ก ๆ คือเวอร์ชันจิ๋วของเรา แต่ที่จริงแล้วไม่ใช่แบบนั้น เด็กแต่ละคนแตกต่างและมีความเป็นตัวของตัวเอง สามารถที่จะทำทุกอย่างเหมือนกับที่มนุษย์คนหนึ่งทำได้ ถ้าใครเคยดูเอนิเมชันเรื่อง A Bug’s Life จะมีฉากหนึ่งที่ฟลิค (ตัวเอก) พูดกับดอท (ลูกสาวคนเล็กของอาณาจักรรังมด) เกี่ยวกับต้นไม้ใหญ่ที่ให้ร่มเงาทุกต้นนั้นถือกำเนิดขึ้นมาจากเมล็ดพันธ์เล็ก ๆ ด้วยกันทั้งนั้น สิ่งที่มันต้องการคือน้ำ แสงแดด การดูแลเอาใจใส่ และเวลา

เด็กทุกคนก็เหมือนเมล็ดพันธ์เล็ก ๆ เหล่านั้น พวกเขาจะเติบโตไปเป็นต้นไม้ใหญ่ที่แข็งแรงได้ก็ต้องอาศัยการดูแลเอาใจใส่ เวลา และความรักจากพ่อแม่ที่เพียงพอ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook