ทักษะสำคัญที่พ่อแม่ควรทำถ้าอยากเลี้ยงลูกให้มีความฉลาดทางอารมณ์ แนะนำโดยนักประสาทวิทยา

ทักษะสำคัญที่พ่อแม่ควรทำถ้าอยากเลี้ยงลูกให้มีความฉลาดทางอารมณ์ แนะนำโดยนักประสาทวิทยา

ทักษะสำคัญที่พ่อแม่ควรทำถ้าอยากเลี้ยงลูกให้มีความฉลาดทางอารมณ์ แนะนำโดยนักประสาทวิทยา
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เด็ก ๆ มีความต้องการในชีวิตไม่มากนัก เขาต้องการความรักอันอบอุ่น ความรู้สึกปลอดภัยที่มีพ่อแม่อยู่ข้าง ๆ การได้เรียนรู้เติบโต การได้ลองผิดลองถูก สิ่งเหล่านี้คือพื้นฐานในชีวิตที่เด็ก ๆ ต้องการ แต่มีอย่างหนึ่งที่เราผู้เป็นพ่อเป็นแม่นั้นมักมองข้ามคือความต้องการของเขาลึก ๆ ที่อยู่ข้างใน ความรู้สึกว่าเขานั้นได้พูด ได้แสดงออกในความคิดและอารมณ์ เด็กก็คือมนุษย์คนหนึ่งซึ่งอารมณ์และความรู้สึกยังเป็นเรื่องที่ซับซ้อนสำหรับเขา บางทีก็ไม่รู้ว่าควรจะตอบสนองต่อสถานการณ์ต่าง ๆ ยังไง แล้วคนที่เป็นพ่อแม่บางทีก็ไม่ได้ใส่ใจ ลูกร้องไห้ก็บอกให้เงียบ ๆ ลูกเครียดอารมณ์เสียก็ถูกลงโทษไปนั่งเข้ามุม ฯลฯ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ทำให้เด็ก ๆ ไม่กล้าและแสดงออกทางอารมณ์เท่าไหร่ รู้สึกว่าไม่ปลอดภัยที่จะแสดงอารมณ์เหล่านั้นออกมา

มีงานวิจัยมากมายที่พบว่าถ้าเราใส่ใจและให้เวลากับอารมณ์ของเด็ก ๆ นั้นจะมีส่วนช่วยให้เขามีความฉลาดทางอารมณ์เมื่อโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ การพยายามที่จะ ‘แก้ไข’ หรือ ‘ลงโทษ’ นั้นไม่ได้ทำให้อารมณ์เย็นลง (บางทีอาจจะแย่กว่าเดิมด้วยซ้ำ) แต่การใช้ความเห็นอกเห็นใจและการให้เหตุผลจะช่วยเรื่องนี้ได้ นี่คือ 4 วิธีที่จะช่วยทำให้พ่อแม่สามารถสอนทักษะในการเห็นอกเห็นใจคนอื่น (empathy) ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

1.    สงบและลองคิดถึงอารมณ์ที่กำลังเกิดขึ้นของเด็ก ๆ และใช้โอกาสนี้เพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดี

ในหลาย ๆ สถานการณ์ที่เกิดขึ้น ลูกร้องไห้ ลูกหัวเราะ ลูกเจอการบ้านยาก ๆ ที่ทำไม่ได้ นี่คือโอกาสที่ดีที่เราสามารถจะทำตัวให้สงบระหว่างที่ลูกกำลังโวยวายกรีดร้อง ลองเอาลูกมานั่งด้วยกันแล้วก็ถามเขาง่าย ๆ ว่า “ตอนนี้ลูกรู้สึกยังไงบ้างครับ? บอกพ่อหน่อยได้ไหม?”

ไม่มีประโยชน์ที่จะดับไฟด้วยไฟ ตะโกนใส่ยิ่งทำให้ลูกร้องไห้หนักขึ้นไปอีก เพราะฉะนั้นเมื่อพวกเขามาแรง เราก็ต้องเบาให้เป็น

2.    เข้าใจและยอมรับ มากกว่า ตัดสิน

เมื่อเด็ก ๆ กำลังสติแตก พ่อแม่มักมีความคิดอะไรต่าง ๆ เกิดขึ้นในหัว บอกว่าให้ใช้โอกาสนี้เพื่อเป็นบทเรียนสอนอะไรบางอย่างให้พวกเขาได้เติบโต แต่บางที ทางเลือกที่ดีกว่าคือไม่ต้องไปสอนอะไรเลย แค่รับฟังพวกเขาเท่านั้น เด็ก ๆ ยังไม่เข้าใจว่าสิ่งที่เกิดขึ้นข้างในคืออะไร อารมณ์ที่เกิดขึ้นคืออะไร พวกเขาร้องไห้ นั้นคือสิ่งเดียวที่ทำได้ มันเป็นความพยายามที่จะอธิบายอย่างดีที่สุดแล้วในตอนนั้น

ใช้โอกาสนี้เพื่อฟัง เพื่อเรียนรู้ แทนที่จะไปตัดสินว่าสิ่งที่ลูกทำนั้นผิดหรือถูก ทุกการล้มไม่จำเป็นต้องมาพร้อมกับบทเรียน แต่ขอแค่พ่อแม่ที่อยู่ข้าง ๆ แล้วกอดเขาเท่านั้น

3.    สะท้อนอารมณ์และลองหาสาเหตุว่ามันมาจากอะไร

เด็ก ๆ จะพร้อมฟังเรามากขึ้น เมื่อเราฟังเขามากขึ้นด้วย เมื่อเด็ก ๆ รู้สึกว่ามีคนเข้าใจเขา และที่สำคัญ ยอมรับเขาในแบบที่เขาเป็น มันจะช่วยทำให้เขารู้สึกปลอดภัยที่จะเล่าเรื่องต่าง ๆ ให้พ่อแม่ฟัง มากกว่าที่จะเก็บเงียบ นักจิตวิทยาและผู้เชี่ยวชาญเรื่องการสื่อสาร Eran Magen บอกว่าให้ลองใช้คำว่า “จากที่เข้าใจ” มาช่วยทำให้เด็กอธิบายอารมณ์ของตัวเองได้ดีมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น

●     จากที่พ่อเข้าใจคือลูกรู้สึกว่าเพื่อน ๆ ไม่เข้าใจลูกใช่ไหม?

●     พ่อเข้าใจถูกไหมว่า สิ่งที่เพื่อนพูดทำให้ลูกอายใช่รึเปล่า?

●     ฟังดูเหมือนว่า ลูกไม่ค่อยพอใจกับผลงานของตัวเองเท่าไหร่ใช่ไหมครับ?

●     ลองดูว่าพ่อเข้าใจถูกไหมนะว่าเด็ก ๆ คนอื่น ๆ ก็ทำกันหมด แต่ครูไม่ให้หนูทำ เลยรู้สึกว่ามันไม่แฟร์?

เทคนิคหนึ่งที่ช่วยได้คือแทนที่จะถามว่า “ทำไมถึงร้องไห้หรืออารมณ์เสีย” เปลี่ยนประโยคใหม่เป็น “เรื่องนี้ทำให้ลูกไม่พอใจยังไงเหรอ?” การเปลี่ยนรูปประโยคคำถามนี้จะช่วยตีกรอบให้เล็กลงและไม่ทำให้เขารู้สึกว่ามันยากเกินไปที่จะตอบ

การใช้ภาษาที่แสดงความเข้าใจว่าสิ่งที่พวกเขารู้สึกนั้นไม่ได้เป็นเรื่องที่ผิด จะช่วยทำให้พวกเขาเติบโตขึ้นมาด้วยอารมณ์ที่มั่นคงและรับมือกับสิ่งที่เกิดขึ้นภายในได้ดีมากขึ้นด้วย ยกตัวอย่างเช่น

●     ถ้าเป็นพ่อก็กลัวเหมือนกันนะ มีคนตัวใหญ่ ๆ มาขู่แบบนี้

●     ฟังแล้วรู้สึกว่าเป็นประสบการณ์ที่ไม่ค่อยดีเท่าไหร่เลยเนอะ

●     มันต้องยากมาก ๆ แน่เลยใช่ไหมลูก

●     พ่อเริ่มเข้าใจแล้วว่าทำไมลูกถึงรู้สึกว่าวันนี้แย่จัง

●     คิดว่าคนอื่น ๆ ก็คงรู้สึกแย่เหมือนลูกแหละ

4.    ทดลองถามคำถาม

หลังจากที่ฟังและสะท้อนอารมณ์ลูกแล้ว เด็ก ๆ ก็จะรู้สึกว่าตัวเองได้เล่า ได้ระบาย มีคนฟังเขาพูดแล้ว เมื่อไม่ต้องปกป้องสิ่งที่ตัวเองเป็น หรือพยายามหาข้อแก้ตัวให้กับตัวเอง พวกเขาก็มีโอกาสที่จะเริ่มยอมรับในสิ่งที่ตัวเองทำมากขึ้น โดยเฉพาะในส่วนที่ตัวเองทำไม่ถูกด้วย

จากนี้เราก็อาจจะสำรวจความคิดของเขาว่าเกิดอะไรขึ้น ทำให้เข้าใจเขาได้ดียิ่งขึ้น ประสบการณ์ที่เจอ เมื่ออารมณ์สงบแล้วทุกอย่างจะชัดเจนมากขึ้นด้วย คุยกันอย่างเปิดใจ  อาจจะเล่าสิ่งที่คุณเคยเจอแล้ววิธีรับมือของตัวเองให้ลูกฟัง ซึ่งโอกาสที่เขาจะนิ่งฟังตอนนี้มีเยอะกว่าตอนที่ร้องไห้โวยวายมากเลยหล่ะครับ

อ้างอิง

Empathy toward strangers triggers oxytocin release and subsequent generosity - PubMed

Harvard psychologist: The most emotionally intelligent people have these 12 traits

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook