ทำไมพฤติกรรมที่ไม่น่ารักของลูกอาจจะเป็นเรื่องที่ดี?

ทำไมพฤติกรรมที่ไม่น่ารักของลูกอาจจะเป็นเรื่องที่ดี?

ทำไมพฤติกรรมที่ไม่น่ารักของลูกอาจจะเป็นเรื่องที่ดี?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

สิ่งที่พ่อแม่ทุกคนไม่อาจจะหลีกเลี่ยงที่จะเผชิญได้คือสถานการณ์ที่ลูกเราทำตัวไม่น่ารักสักเท่าไหร่ บางทีอาจจะทำหน้าบึ้งใส่คนอื่น บางทีอาจจะร้องไห้กระจองอแง บางทีอาจจะพูดกับผู้ใหญ่ด้วยท่าทางที่กิริยามารยาทไม่เรียบร้อย Melinda Wenner Moyer นักเขียนของหนังสือพิมพ์ New York Times ยกตัวอย่างเหตุการณ์หนึ่งตอนที่ลูกสาววัย 7 ขวบของเธอบอกให้คุณยายวัย 76 ปีหยุดถ่ายรูปแล้วว่ามือถือลงได้แล้วตอนที่จะทานอาหารเย็นด้วยกัน เธอเล่าว่าตอนนั้นตกใจมากและคิดว่าตัวเองเลี้ยงลูกมาแบบผิด ๆ รึเปล่า ทำไมลูกถึงก้าวร้าวกับยายตัวเองได้หล่ะ แทบจะอยากแทรกแผ่นดินหนีไปเลยประมาณนั้น

ผู้เป็นพ่อแม่ในยุคนี้น่าจะรู้ดีว่าถ้าตอนเด็ก ๆ ทำแบบนี้มีหวังได้น่องลายหรืออย่างน้อย ๆ ก็โดนทำโทษตักเตือนอะไรสักอย่างแน่นอน มาตอนนี้ที่ตัวเองเป็นพ่อแม่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่พยายามสอนเรื่องความเคารพกับคนอื่น ๆ ทั้งเพื่อน ๆ พี่ ๆ น้อง ๆ หรือผู้หลักผู้ใหญ่ เราเน้นย้ำเรื่องกิริยามารยาทในที่สาธารณะและโต๊ะอาหาร ให้พูด “ขอบคุณครับ/ค่ะ” “สวัสดีครับ/ค่ะ” แต่เราก็ต้องยอมรับอีกอย่างหนึ่งว่าความสัมพันธ์ของเรากับลูกในตอนนี้ ก็แตกต่างจากความสัมพันธ์ของเรากับพ่อแม่เราเมื่อหลายทศวรรษก่อนหน้านี้อย่างมากเช่นเดียวกัน

มีงานเขียนและงานศึกษามากมายเกี่ยวกับพัฒนาการของเด็กและวิธีเลี้ยงลูกในยุคปัจจุบัน ถ้าเดินไปร้านหนังสือก็เต็มทั้งชั้น บนโลกออนไลน์ก็มีบทความที่เขียนโดยผู้เชี่ยวชาญมากมาย แตกต่างจากเมื่อก่อน มันจึงทำให้ความเข้าใจและจิตวิทยาการเลี้ยงเด็กนั้นดียิ่งขึ้น ส่งผลให้เด็ก ๆ สมัยนี้มีพ่อแม่ที่คอยคุยด้วย ไม่ใช่แค่พ่อแม่ที่เอาแต่สั่ง ๆ ให้ทำนั้นทำนี่ ถ้าไม่ทำก็ลงโทษดุด่าตีฟาดอีกต่อไป พ่อแม่สมัยนี้จะพยายาม ‘เข้าใจ’ ในสิ่งที่เด็ก ๆ รู้สึก พยายามดูว่าพวกเขากำลังรู้สึกยังไง เพราะเอาเข้าจริงแม้เราจะบอกว่าพวกเขาเป็นเด็ก แต่ความรู้สึกที่พวกเขารู้สึกนั้นก็เป็นความรู้สึกที่แท้จริง ไม่ต่างจากผู้ใหญ่ มันอาจจะซับซ้อนเกินกว่าที่เขาจะอธิบายออกมาเป็นคำพูด แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเราไม่ควรให้ความสำคัญกับความรู้สึกเหล่านั้น

เพราะฉะนั้นเด็ก ๆ ในยุคนี้จะรู้สึกปลอดภัยกับพ่อแม่และผู้ใหญ่มากกว่าเมื่อก่อน พร้อมที่จะพูด พร้อมที่แสดงความคิดเห็น เมื่อไหร่ก็ตามที่มีความคิดหรือรู้สึกอะไรข้างใน ซึ่งบางทีมันก็อาจจะดูเหมือนว่าเป็นกิริยาที่ไม่น่ารัก เป็นเด็กกระด้างกระเดื่อง แต่นักจิตวิทยาเด็กหลายคนบอกว่านี่เป็นความเปลี่ยนแปลงไปในเชิงบวกของเด็ก ๆ มันเป็นสิ่งสะท้อนที่บ่งบอกว่าพวกเขารู้สึกปลอดภัยและได้รับความรักความเชื่อใจจากคนรอบข้าง โดยเฉพาะพ่อแม่ของพวกเขานั่นเอง

ดอกเตอร์ เอมิลี่ โลบ (Dr. Emily Loeb) นักจิตวิทยาที่มหาวิทยาลัย University of Virginia ผู้เชี่ยวชาญเรื่องพัฒนาการของเด็กโดยการเลี้ยงดูของพ่อแม่บอกว่า

“สิ่งนี้ดูเหมือนว่าเด็ก ๆ กล้าแสดงออกมากขึ้น ชอบแสดงความคิดเห็น และอาจโต้แย้งมากขึ้น ฉันคิดว่าความท้าทายของมันก็คือการที่จะไม่ตีความว่ามันเป็นสิ่งที่ไม่ดี แต่มันเป็นกระบวนการที่สำคัญและจำเป็น” เมื่อไหร่ก็ตามที่เด็ก ๆ รู้สึกว่าตัวเองได้รับความรักและปลอดภัย พวกเขาจะสามารถ “แสดงออกและหาวิธีเข้าใจโลกด้วยตัวของพวกเขาเอง” ได้ดีมากยิ่งขึ้น

ลองคิดในมุมนี้ว่า เมื่อเราเห็นเด็กที่เรียบร้อย เคารพยำเกรง เชื่อฟังผู้ใหญ่ ส่วนใหญ่แล้วเกิดจากความกลัวผู้ใหญ่เหล่านั้นมากกว่า มันไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่จะเห็นใครก็ตามที่คุยโอ้อวดว่าลูก ๆ ของพวกเขาประพฤติตัวดีมากเลย คือคนที่เชื่อและศรัทธาใน “ไม้เรียว” และการลงโทษ

แต่เด็ก ๆ จะไม่มีโอกาสเติบโตอย่างเต็มที่เมื่อกลัวคนที่ดูแล การเลี้ยงดูแบบเผด็จการบนความกลัว (Authoritarian Parenting) ยกตัวอย่างพ่อแม่เข้มงวดมาก ลงโทษลูกอย่างรุนแรงเมื่อลูกท้าทายและพูดประมาณว่า “เพราะพ่อ (แม่) บอกยังไงหล่ะ!” สิ่งเหล่านี้จะส่งผลลัพธ์เชิงลบมากมายในเด็ก ผลการศึกษาพบว่า เด็กของพ่อแม่เผด็จการมีความเสี่ยงเพิ่มที่จะวิตกกังวลและภาวะซึมเศร้า มีพฤติกรรมก่อกวนมากกว่า และมีแนวโน้มที่จะมีความนับถือตนเองต่ำมากกว่าเด็กคนอื่นๆ

ดอกเตอร์ รีเบคกา ชาแรค เฮิร์ชเบิร์ก (Dr. Rebecca Schrag Hershberg) นักจิตวิทยาคลินิกในนิวยอร์กที่เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาอารมณ์และสังคมในวัยเด็ก กล่าวว่า “ตามหลักฐานทางวิทยาศาสตร์กล่าวว่าเมื่อเวลาผ่านไป การกลัวพ่อแม่ทำให้คุณมั่นใจในตัวเองน้อยลงและต้องการยอมรับจากภายนอกมากขึ้นด้วย”

พ่อแม่ที่เข้มงวดแบบนี้มีเทคนิคในการเลี้ยงลูก (ที่ส่งผลเสีย) อยู่หลายแบบ แบบแรกคือ “Conditional Regard” หรือการแสดงความรักก็ต่อเมื่อลูก ๆ ทำสิ่งที่ถูกใจ เด็ก ๆ ที่เติบโตในครอบครัวแบบนี้เมื่อเป็นวัยรุ่นจะรู้สึกขุ่นเคืองพ่อแม่ของตนเอง ไม่ค่อยสนใจเรื่องการเรียน และควบคุมอารมณ์ไม่ค่อยได้เมื่อเปรียบเทียบกับเด็ก ๆ ที่เติบโตมาในครอบครัวที่สนับสนุนพวกเขาโดยไม่สร้างเงื่อนไข

อีกแนวทางหนึ่งที่ผู้ปกครองเผด็จการบางครั้งใช้คือการควบคุมทางจิตใจ นี่คือเวลาที่พ่อแม่เล่นกับความรู้สึกของลูกเพื่อให้ได้พฤติกรรมที่พวกเขาต้องการ “การควบคุมแบบหนึ่งที่คุณขอให้ลูกคิดแบบเดียวกับที่คุณทำหรือรู้สึกแบบเดียวกับที่คุณทำ” ด็อกเตอร์โลบอธิบาย ผู้ปกครองที่ใช้การควบคุมทางจิตวิทยาอาจพูดว่า “ลูกไม่ได้จัดเตียง — เป็นเด็กไม่ดีรู้ไหม” หรือ “ถ้าลูกรักแม่ ลูกจะไปนอนได้แล้วนะ”

หนึ่งในการศึกษาล่าสุดของด็อกเตอร์โลบซึ่งติดตามเด็กที่มีอายุระหว่าง 13 ถึง 32 ปี พบว่าเด็กที่พ่อแม่ที่ใช้การควบคุมทางจิตใจมักจะไม่ประสบความสำเร็จด้านวิชาการและในวัยรุ่นจะไม่ค่อยมีใครชอบเมื่อเปรียบเทียบกับเด็กที่พ่อแม่ไม่ได้ทำแบบนั้น เมื่อโตขึ้นพวกเขายังมีแนวโน้มที่จะมีความสัมพันธ์ที่โรแมนติกที่ดีน้อยกว่าคนอื่น ๆ งานวิจัยอื่น ๆ มีการเชื่อมโยงการควบคุมทางจิตวิทยาของผู้ปกครองกับพฤติกรรมต่อต้านสังคมและความวิตกกังวลในเด็กด้วย

พ่อแม่ที่ใช้การควบคุมทางจิตใจส่วนใหญ่แล้วเชื่อว่าสิ่งที่พวกเขาเป็นเรื่องที่ดี คิดว่าการควบคุมลูกจะทำให้พวกเขาประสบความสำเร็จมากขึ้น แต่ “ผลลัพธ์กลับไม่เป็นอย่างนั้น” ด็อกเตอร์โลบกล่าวว่า “พวกเขาจะตกที่นั่งลำบากเมื่อต้องคิดด้วยตนเองเวลาที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของที่บ้าน”

สิ่งที่เราต้องการให้ลูก ๆ ของเราเป็นก็คือเติบโตมาอย่างเข้มแข็ง สามารถที่จะคิดและตัดสินใจอย่างกล้าหาญด้วยตัวเอง บางทีอาจจะดูไม่ได้ตามกรอบตามประตู ตั้งคำถามกับผู้ที่มีอำนาจเหนือกว่าตนเองเพื่อคิดนอกกรอบที่ตัวเองอยู่ สิ่งที่งานวิจัยพยายามจะบอกก็คือว่าพ่อแม่ที่ใช้คำพูดรุนแรงหรือการลงโทษนั้นไม่ได้ช่วยทำให้เด็ก ๆ ที่โตมามีพัฒนาการที่ดี มันส่งผลในทางกลับกันด้วยซ้ำ ในระยะสั้น ๆ เราอาจจะเห็นว่าเด็ก ๆ เป็นคนเรียบร้อย แต่ในระยะยาวแล้วจะสร้างความเสียหายให้เด็ก ๆ มากกว่าที่คิด

เราอยากให้ลูกๆ ของเรารู้จักตัวเอง เชื่อมั่นในตัวเอง และมันจะเป็นแบบนั้นได้ยังไงเมื่อพ่อแม่เป็นคนตัดสินแบบเด็ดขาดในทุก ๆ เรื่อง

แต่ฟังก่อน ไม่ได้หมายความว่าเด็ก ๆ ไม่ต้องใช้กฎระเบียบ ข้อจำกัด หรือ ได้รับผลที่ตามมาเมื่อทำอะไรลงไป เพราะสิ่งเหล่านี้จะเป็นเหมือนกัน มันมีการเลี้ยงลูกอีกแบบหนึ่งที่เรียกว่า “Permissive Parenting” หรือการที่พ่อแม่ให้ลูก ๆ ทำอะไรก็ได้ตามชอบใจ ซึ่งสิ่งนี้ก็เป็นปัญหาเช่นเดียวกัน เด็ก ๆ จะเติบโตมาเอาแต่ใจ มีตัวเองเป็นศูนย์กลางของจักรวาล และควบคุมอารมณ์ไม่ได้เลย สิ่งที่ควรทำคือผู้ปกครองกำหนดขอบเขตและความคาดหวัง เช่น ให้เด็กมีเวลานอนที่แน่นอน ต้องทำความสะอาดห้องทุกเช้า หรือได้รับอนุญาตให้ใช้หน้าจอตามจำนวนที่กำหนดในแต่ละวันเท่านั้น ขอบเขตและกฎเกณฑ์มีความสำคัญต่อการพัฒนาการที่ดี แต่พ่อแม่ไม่จำเป็นต้องควบคุมตัวตนของลูกหรือลงโทษอย่างรุนแรงเพื่อให้เขาทำในสิ่งที่เราคาดหวัง

นั่นคือสิ่งที่เรียกว่า รูปแบบการอบรมเลี้ยงดูแบบเอาใจใส่ (Authoritative Parenting) คือ การอบรมเลี้ยงดูที่พ่อแม่สนับสนุนให้เด็กมีพัฒนาการตามวุฒิภาวะของเด็ก โดยจะอนุญาตให้เด็กมีอิสระตามควรแก่วุฒิภาวะ แต่ในขณะเดียวกันก็จะมีความคาดหวังสูงและกำหนดข้อจำกัดที่เข้มงวด แต่พวกเขาก็อบอุ่นและให้เกียรติลูกๆ เช่นกัน และบางครั้งก็พร้อมจะต่อรองเจรจา การวิจัยแสดงให้เห็นว่าลูกๆ ของผู้ปกครองที่อบรมเลี้ยงดูแบบเอาใจใส่มีผลการเรียนดีกว่าเพื่อนฝูง ซื่อสัตย์ต่อพ่อแม่มากกว่า อีกทั้งยังใจดีและมีความเห็นอกเห็นใจด้วย

มันเป็นเรื่องที่พ่อแม่ในยุคนี้ต้องเผชิญหน้า เป็นความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ในการเลี้ยงดูเด็กคนหนึ่งให้เติบโตมาเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพของสังคม เด็ก  ๆ ที่รู้สึกสบายใจที่จะท้าทายพ่อแม่หรือปู่ย่าตายายเกี่ยวกับกฎเกณฑ์และความคาดหวัง บางครั้งก็อาจจะพูดจาไม่เพราะพริ้งหรือหยาบกระด้างนั้น โดยพื้นฐานแล้วเป็นเด็กที่รู้ว่าตนเองได้รับความรักและยอมรับในสิ่งที่ตนเป็น

แน่นอนว่าเราทุกคนก็คงหวังว่าลูก ๆ ของเราจะสุภาพมากขึ้นเมื่อคุยกับผู้หลักผู้ใหญ่ แต่เราก็ต้องภูมิใจเช่นกันที่จะแสดงออกในความคิดและกล้าที่จะพูดเมื่ออยู่ในครอบครัวที่ตัวเองเติบโตมา

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook