ตรงกันบ้างไหม? 12 เหตุผลที่ทำให้คู่แต่งงานทะเลาะกัน

ตรงกันบ้างไหม? 12 เหตุผลที่ทำให้คู่แต่งงานทะเลาะกัน

ตรงกันบ้างไหม? 12 เหตุผลที่ทำให้คู่แต่งงานทะเลาะกัน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

มีคนเคยบอกว่า “การแต่งงานไม่ใช่จุดจบของความรัก” เพราะจริง ๆ แล้วมันเป็นจุดเริ่มต้นของการใช้ชีวิตคู่ในฐานะคนรักนั่นเอง เมื่อสถานภาพเปลี่ยนจากคู่รักธรรมดามาเป็นสามีภรรยา ที่ต้องใช้ชีวิตอยู่ร่วมชายคาเดียวกันแบบทั้งวันและทุกวัน แน่นอนว่าคงมีอะไรหลาย ๆ อย่างที่มันไม่เหมือนกับตอนที่อยู่ในสถานะแฟน

ปกติแล้ว ถ้าเป็นเรื่องที่ไม่ได้คอขาดบาดตาย ก็คงพอจะเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ได้บ้าง (แต่คงจะไม่ตลอดไป) เพื่อจะประคับประคองความสัมพันธ์ไปเรื่อย ๆ แต่ถ้าเป็นเรื่องใหญ่คงต้องเปิดใจคุยกัน หากคุยกันแล้วไม่เข้าใจก็กลายเป็นทะเลาะกัน ปัญหาที่ไม่เคลียร์และคาราคาซังเรื่อยมา นานวันเข้าอาจทำให้ความรักที่เคยมีให้กันเปลี่ยนเป็นความเกลียดชัง จนสุดท้ายก็ต้องจบความสัมพันธ์ไปในที่สุด

แล้วคู่แต่งงานสามารถมีความขัดแย้งเรื่องอะไรกันได้บ้าง โดยเฉพาะคู่แต่งงานที่มีลูก บทความนี้จะรวบรวมเอาปัญหาความขัดแย้งของคู่รัก 12 สาเหตุหลัก เพื่อให้คู่รักคาดการณ์ปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในความสัมพันธ์และเตรียมหาวิธีการจัดการกับความขัดแย้งเหล่านั้นด้วยวิธีที่มีประสิทธิผลมากขึ้น ก่อนที่จะเป็นเรื่องใหญ่ลุกลาม และเพื่อรักษาความสัมพันธ์ที่ดี

จากการศึกษาของ Lauren Papp รองคณบดีฝ่ายวิจัยของ School of Human Ecology ประจำ University of Madison-Wisconsin เธอสนใจว่าอะไรคือสิ่งที่ทำให้คู่แต่งงานทะเลาะกัน โดย Papp ศึกษาประเด็นคำถามนี้จากคู่สามีภรรยาที่มีลูกด้วยกัน จำนวน 100 คู่ ในระยะเวลา 15 วัน

1. ลูก
ลูกคือหัวข้อสำคัญที่ทำให้คู่แต่งงานทะเลาะกันบ่อยที่สุด โดยรวมแล้วมักเป็นความคิดเห็นที่แตกต่างกันเกี่ยวกับพฤติกรรมของลูก การเลี้ยงดู ระเบียบวินัย และหัวข้ออื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเลี้ยงลูก โดย 36.4 เปอร์เซ็นต์เป็นข้อพิพาทจากฝ่ายสามี ส่วนภรรยาอยู่ที่ 38.9 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนี้ข้อพิพาทในการเลี้ยงลูกที่ว่ายังมีส่วนทำให้เกิดการหย่าร้างสูงถึง 20 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว ซึ่งตัวเลขทั้งหมดคาดว่าจะเพิ่มขึ้น ในกรณีที่เด็กมีความผิดปกติทางร่างกายหรือจิตใจ

ลูก คือความขัดแย้งใหญ่ที่สุดสำหรับคนเป็นพ่อเป็นแม่ เพราะลูกสำคัญที่สุดสำหรับพ่อแม่ พ่อแม่จะพยายามปกป้องลูก ๆ จากการเลี้ยงดูที่ (คิดว่า) ไม่ดีของอีกฝ่าย แม้ว่าพวกเขาต้องมาทะเลาะกันเอง เมื่อคู่แต่งงานมีลูก พวกเขาจะเคยหยุดโต้เถียงเรื่องลูกเลย กระทั่งเด็กที่โตแล้วก็ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญในความสัมพันธ์ระยะยาวของพ่อแม่ ที่สำคัญ ปัญหาเรื่องลูกก็ไม่ได้หายไปด้วย ต่อให้คู่สามีภรรยาจะหย่าร้างกันแล้วก็ตาม แถมมีแนวโน้มว่าจะมากขึ้นด้วย

2. งานบ้าน
การทะเลาะกันด้วยเรื่องงานบ้านจะน้อยลงเมื่อลูกโต แต่สำหรับพ่อแม่ที่มีลูกเล็ก สามีมีข้อพิพาทเรื่องงานบ้านอยู่ที่ 25.1 เปอร์เซ็นต์ ส่วนภรรยาอยู่ที่ 24.1 เปอร์เซ็นต์ โดยเรื่องของการแบ่งหน้าที่ในการทำงานบ้านกลายเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดความขัดแย้งในชีวิตสมรสของคนรุ่นใหม่ได้มากกว่าคนรุ่นก่อน เนื่องจากทั้งสามีภรรยาต่างทำงานนอกบ้านทั้งคู่ (ต่างคนต่างเหนื่อยจากงานนอกบ้าน) เมื่อผู้หญิงทำงานนอกบ้าน ผู้ชายก็ต่อต้านส่วนแบ่งงานบ้านที่มากขึ้น ทั้งที่การอยู่บ้านหลังเดียวกันไม่ควรจะผูกขาดให้เป็นหน้าที่ของฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดแบบเบ็ดเสร็จ ยิ่งทำงานนอกบ้านด้วยกันทั้งคู่ จะทิ้งงานบ้านและการเลี้ยงลูกให้เป็นภาระของภรรยาฝ่ายเดียวก็คงไม่ได้ อยู่ด้วยกันก็ต้องช่วยเหลือกัน

งานวิจัยแสดงให้เห็นว่าผู้หญิงที่ทำงานหาเลี้ยงครอบครัวเพียงคนเดียวทำงานบ้านเต็มชั่วโมงต่อวัน เมื่อเทียบกับผู้ชายที่หาเลี้ยงครอบครัวคนเดียว ทำงานบ้านประมาณ 11 นาทีต่อวัน สำหรับครอบครัวที่สามีภรรยาอยู่กินด้วยกัน ผู้หญิงก็ยังคงทำงานบ้านมากกว่าโดยไม่คำนึงถึงรายได้ ทว่าก็มีหลักฐานอื่น ๆ ที่แสดงให้เห็นว่าสามีหลาย ๆ คนก็ไม่ได้รังเกียจที่จะช่วยงานภรรยา แต่บางครั้งผู้ชายรู้สึกว่าผู้หญิงค่อนข้างจู้จี้กับวิธีการทำงานบ้าน เลยมองว่าเป็นการแสดงอำนาจ จึงไม่ค่อยอยากช่วย

3. การสื่อสาร
ปัญหาที่คู่สามีภรรยาทะเลาะกันด้วยเรื่องของการสื่อสารมีรูปแบบที่ต่างกัน อย่างการไม่ฟังหรือการไม่ได้ยิน ล้วนเป็นที่มาของความขัดแย้งอยู่บ่อยครั้ง โดยคิดเป็น 21.1 เปอร์เซ็นต์สำหรับสามี และ 21.8 เปอร์เซ็นต์สำหรับภรรยา ประเด็นหลักที่ทำให้เกิดปัญหานี้ สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการที่ผู้หญิงมักจะใช้คำพูดมากกว่า เมื่อได้พูดบ่อยครั้งก็มาพร้อมอารมณ์ ซึ่งผู้ชายจะทำเป็นเมินเฉย หูทวนลมเพื่อตอบสนอง ก็ยิ่งทำให้ผู้หญิงรู้สึกโมโห ยิ่งไปกว่านั้น คู่รักที่ทะเลาะกันเพราะประเด็นเรื่องการสื่อสาร ยังเชื่อมโยงกับความขัดแย้งอื่น ๆ ด้วย โดยเฉพาะเรื่องเงิน

มีงานวิจัยอื่น ๆ ของ The Gottman Institute ระบุว่าปัญหาด้านการสื่อสารเป็นหนึ่งในสี่ประเด็นที่อาจนำไปสู่การหย่าร้าง รวมถึงการดูถูกดูหมิ่น การป้องกันตัว และการวิจารณ์บุคลิกภาพของคู่แต่งงาน

4. เวลาว่าง
ดูเหมือนว่าเรื่องนี้ไม่น่าจะเป็นเรื่องที่ทำให้คู่แต่งงานทะเลาะกันได้ แต่จริง ๆ แล้วจัดอยู่ในอันดับต้น ๆ คือการโต้เถียงกันเรื่องการใช้เวลาว่าง โดยเฉพาะพ่อแม่ที่มีลูกเล็ก สิ่งนี้นำไปสู่คำถามว่า เวลาว่างคืออะไร? เพราะการเลี้ยงลูกเล็กนั้นพ่อแม่แทบจะไม่สามารถหาเวลาเป็นของตัวเองได้เลย เมื่อมีใครที่ว่างอยู่ ความขัดแย้งจึงรุนแรงขึ้น

มีการศึกษาที่ระบุว่าคู่รักที่ได้ใช้เวลาว่างร่วมกัน ส่งผลต่อความพึงพอใจในความสัมพันธ์มากกว่าที่คิด แต่ในทางกลับกัน เมื่อคู่รักมีส่วนร่วมในกิจกรรมที่มีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดชอบทำอยู่เพียงฝ่ายเดียว ความสัมพันธ์ของทั้งคู่ก็จะแย่ลงได้เช่นกัน โดยนักวิจัยพบว่าภรรยามีแนวโน้มที่จะต้องทำกิจกรรมที่สามีชอบทั้งที่พวกเธอไม่สนใจ จึงกลายเป็นว่าความแตกต่างกันในเรื่องของกิจกรรมที่ชอบทำในเวลาว่างที่ไม่เหมือนกัน มักกลายเป็นความขัดแย้งของคู่รักที่ปกติจะรักกันดี

5. งาน
งานและเงินมีความถี่ใกล้เคียงกันในแง่ของการเป็นประเด็นที่นำมาสู่ความขัดแย้ง และสองเรื่องนี้ก็เกี่ยวข้องสัมพันธ์กันด้วย โดยข้อพิพาทที่เกี่ยวข้องกับงานของคู่สมรส 19.3 เป็นของสามี ส่วนอีก 18.9 เป็นของภรรยา เนื่องจากคนส่วนใหญ่ต้องทำงานอย่างน้อย 5 วันหรือ 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ปัญหาเหล่านี้จึงอาจเกิดขึ้นได้จนกลายเป็นประเด็นของการทะเลาะกัน ซึ่งงานบางประเภทก็คาดการณ์ถึงความไม่ซื่อสัตย์ได้ด้วยเช่นกัน

โดยความขัดแย้งที่เกี่ยวกับหน้าที่การงานนี้สามารถเชื่อมโยงไปยังเรื่องของความไว้วางใจ เช่น ระหว่างเดินทางไปทำงาน มีนัดพบนัดเจอใคร ออกจากบ้านเร็วแต่กลับช้า เอะอะก็ติดประชุม หรือการใช้เวลากับเพศตรงข้ามเป็นเวลานาน เพราะมีอยู่หลายกรณีที่ผู้คนนอกใจคู่สมรสของตนเองเพราะเพื่อนร่วมงานหรือการติดต่อธุรกิจ ถึงอย่างนั้น ความกังวลบางอย่างก็ไม่ได้อยู่ในหัวของคู่สมรสเสมอไป

6. เงิน
แม้ว่าเรื่องเงินจะเป็นสาเหตุแรกที่ทำให้ Papp ตัดสินใจทำงานวิจัยเรื่องนี้ แต่เมื่อวิจัยจนได้ข้อมูลแล้ว พบว่าปัญหาเรื่องเงินเป็นปัญหาที่อยู่อันดับกลาง ๆ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าความขัดแย้งเรื่องเงินจะไม่เลวร้าย สามีมีข้อโต้แย้งเรื่องเงิน เช่น ค่าใช้จ่าย เงินเดือน หรือเรื่องเงินอื่น ๆ อยู่ที่ 18.3 เปอร์เซ็นต์ เทียบกับภรรยาที่อยู่ที่ 19.4 เปอร์เซ็นต์

จากการวิจัย แสดงให้เห็นว่าความขัดแย้งเรื่องเงินเป็นปัญหาเรื้อรังและแก้ปัญหาไม่ได้ง่าย ๆ โดยเฉพาะผู้ชายที่มีความคิดว่าเงินผูกติดอยู่กับอำนาจ การมีปัญหาเรื่องเงินก็อาจทำให้เกิดความขัดแย้งกับอำนาจได้เช่นกัน นอกจากนี้ยังมีเรื่องของงาน กิจกรรมยามว่าง และเพื่อนฝูง ที่เกี่ยวข้องกับปัญหาเรื่องเงิน

โดย Papp อธิบายว่า “ความแตกต่างเรื่องเงินนั้นเป็นปัญหาสากล คู่สมรสทุกคู่จำเป็นต้องตัดสินใจเกี่ยวกับการใช้จ่ายในครัวเรือนและการออม ดังนั้น โอกาสที่จะทะเลาะกันมีมากมาย จากประสบการณ์เรื่องเงินก่อนแต่งงานที่แตกต่างกัน ความคาดหวังที่แตกต่างกัน และพฤติกรรมการใช้เงินที่แตกต่างกัน”

7. นิสัย
เป็นเรื่องน่าแปลกที่การเคี้ยวข้าวเสียงดัง ไม่ตรงต่อเวลา หรือดูโทรศัพท์มากเกินไปจะเป็นปัจจัยที่ทำให้คู่สมรสทะเลาะกันมากกว่าการนอกใจเสียอีก ตามรายงานพบว่าสามีทะเลาะกับภรรยาเพราะนิสัยไม่ดีคิดเป็น 16.2 เปอร์เซ็นต์ ส่วนภรรยาทะเลาะกับภรรยาเพราะนิสัยไม่ดีคิดเป็น 17.1 เปอร์เซ็นต์

ถึงกระนั้นนี่ก็ไม่ใช่ปัญหาที่ทุกคนต้องเผชิญ แม้ว่าทุกคนจะมีนิสัยที่น่ารำคาญ ที่ไม่ได้ถึงขั้นร้ายแรงที่จะทนไม่ได้ หรือเลือกที่จะประนีประนอมแทน แต่ถ้าทนไม่ได้ก็คือไม่ทน นั่นคือจุดเริ่มต้นของการทะเลาะกัน ทว่าสิ่งที่น่าสนใจคือ Papp พบว่านิสัยไม่ดีของคู่สามีภรรยาจะเห็นได้ชัดขึ้นเมื่อเด็ก ๆ (ลูก) ไม่อยู่บ้าน

8. ญาติพี่น้อง
การทะเลาะวิวาทกับคู่แต่งงานก็เหมือนการต่อสู้เพื่อเพื่อน แต่มันจะรุนแรงกว่าตรงที่เป็นคนในครอบครัว ซึ่งถ้าหากไม่ได้มีประเด็นให้ตัดญาติไม่เผาผี หรือความสัมพันธ์ไม่ได้เป็นพิษเป็นภัยอะไร พวกเขาก็ไม่เลือกตัวเลือกที่จะตัดขาดกันไปเลยโดยสิ้นเชิง การมีบุคคลที่สามเข้ามามีส่วนร่วมในการทะเลาะกันของสามีภรรยา ทำนี่เป็นปัญหาที่ค่อนข้างท้าทาย โดยปัญหานี้เกิดขึ้น 10.7 เปอร์เซ็นต์ทางฝั่งสามี และ 11.9 เปอร์เซ็นต์ทางฝั่งภรรยา

อย่างไรก็ตาม ความขัดแย้งนี้จำเป็นมากที่ทำให้คู่สามีภรรยาต้องกำหนดขอบเขตของครอบครัวของแต่ละฝั่งให้ชัดเจน แต่ก็มีความแตกต่างกันอยู่ระหว่างชายหญิง ผลการศึกษาชิ้นหนึ่งระบุว่าเมื่อภรรยาสนิทสนมกับสะใภ้คนแรก ๆ ของบ้านตั้งแต่ช่วงที่เพิ่งแต่งงาน ความสัมพันธ์ของคู่รักคู่นี้เสี่ยงที่จะหย่าร้างสูงขึ้น 20 เปอร์เซ็นต์ ในทางกลับกัน หากสามีมีความสนิทสนมในลักษณะเดียวกัน กลับลดโอกาสเสี่ยงที่จะหย่าร้างลงไป 20 เปอร์เซ็นต์

เรื่องนี้ นักจิตวิทยา Terri Apter ตั้งข้อสงสัยว่าอาจเป็นเพราะผู้หญิงมักจะเห็นอกเห็นใจและให้อภัยได้ง่ายกว่าเมื่อพวกเธอถูกถูกวิพากษ์วิจารณ์แม่ ในขณะที่ผู้ชายมักจะต่อต้านมากขึ้นเมื่อมีความเห็นเชิงลบต่อแม่ของพวกเขา

9. การนอกใจ
แม้ว่าความซื่อสัตย์จะเป็นหัวใจสำคัญของคู่รัก แต่ความขัดแย้งของคู่สามีภรรยาในเรื่องนี้กลับมีน้อยกว่าเรื่องงาน เงิน และลูก โดยสามีทะเลาะกับภรรยาในเรื่องนี้เพียง 8.2 เปอร์เซ็นต์ ส่วนภรรยาทะเลาะเรื่องนี้กับสามี 9.1 เปอร์เซ็นต์ สถิติเกี่ยวกับคู่รักที่อยู่ด้วยกันหลังจากมีปัญหาเรื่องการนอกใจ พบว่าเป็นเรื่องยากมากที่จะกลับไปเชื่อใจกันได้สนิทใจอีก และจากการสำรวจที่ไม่เป็นทาง ประมาณการคู่รักที่รอดจากปัญหาการนอกใจ อยู่ที่ 15 เปอร์เซ็นต์

ถึงอย่างนั้น ในสภาพสังคมปัจจุบัน พบว่าผู้คนมีทัศนคติเรื่องการนอกใจว่าเป็นเรื่องที่ผิดบาปน้อยลง โดยคนที่แต่งงานและดูมีความสุขหลาย ๆ คนก็นอกใจคู่ครองของตนเองด้วยเหตุผลที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับความพึงพอใจในความสัมพันธ์สามีภรรยา และมักจะแสวงหาคำปรึกษาเพื่อหาสาเหตุที่ทำให้พวกเขานอกใจ

10. ความใกล้ชิด
มีคู่รักจำนวนหนึ่งที่มีปัญหาความขัดแย้งกันด้วยเรื่องเซ็กส์และการแสดงความรักอย่างเพียงพอ มีความสำคัญต่อความสุขในความสัมพันธ์ แต่ก็ยังมีน้ำหนักน้อยกว่าสาเหตุอื่น ๆ อยู่มาก โดยเป็นข้อพิพาทสำหรับสามีอยู่ที่ 7.9 เปอร์เซ็นต์ และสำหรับภรรยาอยู่ที่ 8.5 เปอร์เซ็นต์ Papp คาดเดาว่าเพราะปัญหาเรื่องนี้หลาย ๆ คนเลือกที่จะเก็บไว้ในใจไม่พูดออกมา ซึ่งแตกต่างจากเรื่องงาน เงิน และลูก พวกเขาจะเก็บมันไว้จนกว่าจะถึงเวลาอันสมควรที่ต้องตัดสินใจคุยกัน

แต่ก็มีข้อยกเว้น กรณีที่สามีหรือภรรยาฝ่ายหนึ่งไม่ต้องการมีเซ็กส์ แต่ก็ยังปฏิเสธที่จะปรึกษาปัญหานี้กับผู้เชี่ยวชาญว่าทำไมถึงไม่มีความต้องการทางเพศ ก็ทำให้อีกฝ่ายรู้สึกถึงความไม่ได้กระตือรือร้นที่จะแก้ปัญหา เพราะก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเซ็กส์มีความสำคัญกับความสัมพันธ์ของคู่สามีภรรยา

11. เพื่อน
เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ที่ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดจะเกลียดเพื่อนของอีกฝ่าย ไม่เพียงเท่านั้น ยังอาจถูกจับผิดถึงสิ่งที่ทำร่วมกับเพื่อน ๆ ก็ทำให้เกิดเป็นปัญหาขัดแย้งขึ้นมาได้ เพราะเพื่อน คือคนที่มีอิทธิพล สามารถทำให้คู่สามีภรรยารู้สึกว่าพฤติกรรมในบ้านอาจมาจากการที่เพื่อนสนิทเสี้ยมหรือยุยง หรือการชักชวนกันไปทำในเรื่องไม่ดีให้เสียผู้เสียคนและไม่สนใจครอบครัว ประเด็นขัดแย้งเรื่องเพื่อนคิดเป็น 7.1 เปอร์เซ็นต์ของสามี และ 8.1 เปอร์เซ็นต์ของภรรยา

ปัญหาเรื่องเพื่อนมีความเกี่ยวข้องกับปัญหาเรื่องเงิน แต่ไม่ใช่ทั้งหมด ผลการวิจัยระบุความสัมพันธ์ระหว่างมิตรภาพกับเงิน ว่ามักจะเกิดขึ้นกับภรรยามากกว่า ส่วนนี้สะท้อนทัศนคติของผู้ชายที่คิดว่าตัวเองเป็นคนหาเลี้ยงครอบครัว จึงต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเวลาที่ภรรยาออกไปหาเพื่อน และยังมีงานวิจัยอื่นที่ระบุว่าเมื่อสามีไม่ชอบเพื่อนของภรรยาในช่วงเริ่มต้นของการแต่งงาน มักจะเป็นตัวทำนายเรื่องการหย่าร้างได้

12. บุคลิกภาพ
ไม่ว่าคู่สมรสจะเป็นคนพูดมาก ขี้อาย เจ้าชู้ หรือแม้แต่อ่อนไหวง่ายมาก ปัญหานี้เป็นประเด็นให้คู่แต่งงานทะเลาะกันน้อยที่สุดเมื่อเทียบกับประเด็นความขัดแย้งในเรื่องอื่น การทะเลาะกันเกี่ยวกับบุคลิกของคู่สมรส เกิดขึ้น 5.5 เปอร์เซ็นต์โดยสามี และ 8.6 เปอร์เซ็นต์โดยภรรยา สอดคล้องกับงานวิจัยอื่น ๆ ที่ชี้ให้เห็นว่าบุคลิกภาพไม่ใช่ปัจจัยสำคัญในการเลือกคู่ครองอย่างที่ผู้คนคิด แม้จะเป็นความจริงที่ว่าคนเรามักจะไม่ยอมเป็นแฟน แต่งงาน หรือมีลูกกับคนที่รู้สึกว่าทนไม่ได้ แต่ปัญหานี้มักจะไปปรากฏร่วมกับความขัดแย้งอื่น ๆ แทน จึงไม่ได้เป็นเรื่องสำคัญของความขัดแย้ง

ข้อมูลจาก Your Tango

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook