“ขอโทษ” ช่วยซ่อมแซมความสัมพันธ์ ก่อนทุกอย่างสายเกินไป

“ขอโทษ” ช่วยซ่อมแซมความสัมพันธ์ ก่อนทุกอย่างสายเกินไป

“ขอโทษ” ช่วยซ่อมแซมความสัมพันธ์ ก่อนทุกอย่างสายเกินไป
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ปัญหาหนึ่งที่คนเป็นคู่รักกันมักจะต้องเผชิญอยู่บ่อยครั้ง คือ การกระทำของอีกฝ่ายที่แสดงออกว่าไม่เกรงใจ หรือเคารพความเป็นส่วนตัวกันน้อยลง ง่าย ๆ ก็คือทำอะไรไม่ค่อยจะแคร์หรือให้เกียรติกันเหมือนแต่ก่อน ด้วยคิดว่าแฟนเป็นคนที่ใกล้ชิดสนิทสนม รู้ใจ รู้นิสัยกันดี อะไรก็ได้ง่าย ๆ ไม่ต้องมีพิธีรีตองมากมาย โดยหารู้ไม่ว่าการที่คู่รักไม่เกรงใจ ไม่ถนอมน้ำใจ ไม่เคารพ และให้เกียรติอีกฝ่ายน้อยลงไปเรื่อย ๆ มันเป็นเรื่องใหญ่ที่บั่นทอนความสัมพันธ์ของคนทั้งคู่ได้

เพราะจริง ๆ แล้ว ไม่ว่าคนเราจะรักหรือสนิทสนมกันแค่ไหน มันย่อมมีเส้นบาง ๆ เสมอในทุกความสัมพันธ์ ไม่ว่าจะกับใครก็ตาม อย่างที่เรามักจะได้ยินว่าต่อให้สนิทแค่ไหนมันก็มีขอบเขตที่ไม่ควรจะลามปามล้ำเส้นกัน หรือแสดงออกชัดเจนว่าไม่แคร์ ไม่ถนอมน้ำใจ ไม่ไว้หน้ากัน

ตัวอย่างง่าย ๆ เช่น คุณซื้อของขวัญมาให้แฟน โดยที่คุณตั้งใจเลือกสรรอย่างดี และคิดว่าสิ่งนี่จะต้องถูกใจแฟนของคุณแน่นอน แต่เมื่อแฟนของคุณเปิดกล่องออกดู คุณกลับเห็นใบหน้าที่บ่งบอกถึงความผิดหวังของอีกฝ่าย เขาหรือเธอไม่ได้รู้สึกซาบซึ้งอะไรกับความพยายามของที่คุณพิถีพิถันซื้อมา และที่สำคัญ ไม่มีแม้แต่คำขอบคุณเลยสักคำ ลองเจอแบบนี้ซ้ำอีกสักครั้งสองครั้ง คุณก็คงไม่เหลือใจที่จะทำอะไรแบบนี้ให้กับแฟนอีกแล้ว ที่แย่กว่านั้น ในใจคุณอาจจะรู้สึกบอบช้ำ น้อยใจ เสียกำลังใจ กลายเป็นรู้สึกอคติกับแฟนตัวเองไปในที่สุด

ความเกรงใจ ความเคารพ และการให้เกียรติในที่นี้ไม่ได้หมายถึงการกราบไหว้บูชา แต่มันคือการที่ไม่ล่วงเกิน ไม่ล่วงละเมิดคนอื่น การกระทำที่ไม่เกรงใจกัน ไม่เคารพกัน ไม่ให้เกียรติกัน หรือไม่แคร์กัน นำมาซึ่งความรู้สึกไม่พอใจ เพราะไม่ว่าใครก็ไม่ชอบทั้งนั้น ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบความสัมพันธ์แบบไหน เราก็ควรที่จะแคร์กันให้มาก มีความเกรงใจ เคารพและให้เกียรติกันในฐานะเพื่อนมนุษย์ อยู่บนพื้นฐานของมารยาทและใจเขาใจเรา

มีคู่รักจำนวนไม่น้อยที่ละเลยเรื่องนี้ จึงมักจะประพฤติตัวหรือแสดงออกในลักษณะที่ทำร้ายอีกฝ่าย ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ก็ตาม เมื่อเป็นผู้ถูกกระทำบ่อย ๆ เข้า ความอดทนก็เริ่มที่ถดถอยลงไปทุกที กลายเป็นความสัมพันธ์ที่กระท่อนกระแท่นมาแทนที่ อย่างไรก็ตาม หากรู้ว่าความสัมพันธ์กำลังเปราะบางตั้งแต่เนิ่น ๆ มันก็ยังพอมีหนทางที่จะเยียวยาซ่อมแซมได้ แต่ถ้ารู้แล้วก็ยังไม่ทำอะไร ความสัมพันธ์นี้ก็เหลือเพียงรอวันที่จะพังทลายลง

แม้จะรู้ว่าต้องแก้ปัญหา แต่หลาย ๆ คนกลับไม่รู้ว่าต้องทำอย่างไร ต้องเริ่มที่ตรงไหน การซ่อมแซมความสัมพันธ์ด้วยวิธีที่ง่ายที่สุดที่ทุกคนสามารถทำได้ นั่นก็คือ “การขอโทษ” ฟังดูเหมือนทำง่าย แต่จริง ๆ แล้วไม่ง่ายดายขนาดนั้น ต้องมีองค์ประกอบคือ รู้สึกผิด สำนึกผิด ยอมรับผิด รับผิดชอบ ปรารถนาที่จะแก้ไข ต้องการการให้อภัย และการรับรู้ถึงความสูญเสียที่จะเกิดขึ้นถ้าคุณไม่แก้ไขอะไร

Karina Schumann และ Anna Dragotta นักวิจัยแห่งมหาวิทยาลัยพิตต์สเบิร์ก (2021) พบว่า “นี่เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้เป็นเรื่องปกติ แต่การทำผิดต่อกันแถมยังไม่ได้รับการแก้ไขด้วยนั้น อาจทำให้ความสัมพันธ์อันมีค่าของผู้คนเสียหาย” พวกเขาได้ทำการวิจัยถึงวิธีการขอโทษคู่รักเพื่อที่จะซ่อมแซมความสัมพันธ์ที่มีรอยร้าว โดยพบว่าการขอโทษที่มาจากใจจริง ๆ แสดงให้เห็นว่ารู้สึกผิด จะช่วยให้คนเราสามารถพัฒนาการพูดขอโทษธรรมดา ให้กลายเป็นคำขอโทษที่มีคุณภาพได้ นี่จึงเป็นสิ่งที่สำคัญมากเมื่อคิดที่จะปรับปรุงความสัมพันธ์ให้ดีขึ้นด้วยการขอโทษ

แล้วคุณจะสร้างคำขอโทษที่มีคุณค่าได้อย่างไร? เพราะคำขอโทษที่สักแต่พูดเพื่อแสดงให้เห็นว่าฉันขอโทษแล้วนะ ไม่ใช่การขอโทษที่มีคุณค่า Schumann และ Dragotta เสนอว่าคุณต้องเริ่มต้นจากการเอาใจใส่คนที่เขากำลังขุ่นเคืองคุณอยู่ พยายามเอาใจเขามาใส่ใจเรา เข้าให้ถึงใจของอีกฝ่ายว่าเขาหรือเธอรู้สึกอย่างไร เพื่อที่จะได้เห็นมุมมองที่พวกเขามีต่อสิ่งที่คุณปฏิบัติจนทำให้พวกเขาไม่พอใจ แต่นี่อาจเป็นเรื่องยาก เพราะการที่จะทำแบบนี้ได้คุณก็ต้องยอมรับผิดก่อน ซึ่งเป็นการยากที่ใครสักคนจะยอมรับว่าตัวเองทำผิด

การขอโทษที่จริงใจและมาจากใจจริง คือ การขอโทษที่มาจากการยอมรับความผิดและรู้สึกผิด มีพื้นฐานมากจากเห็นอกเห็นใจอีกฝ่ายที่โดนปฏิบัติแบบนั้น และโยนความต้องการที่จะเป็นคนที่ถูกเสมอทิ้งไป ปฏิกิริยาของคุณมีส่วนช่วยให้อีกฝ่ายรู้สึกเห็นใจและใจอ่อนยอมรับคำขอโทษจากคุณ ที่สำคัญคือ จะพูดขอโทษควรพูดต่อหน้า เพราะคุณสามารถสร้างความรู้สึกอื่น ๆ ให้กับอีกฝ่ายได้ อาจเป็นความอ่อนโยน ความอบอุ่น ความเป็นห่วงเป็นใย เป็นต้น

เมื่อคุณเผลอทำร้ายจิตใจใครโดยไม่รู้ตัว ถ้าคุณอยากรู้ว่าอีกฝ่ายจะรู้สึกแย่หรือไม่ ก็ให้คุณลองสลับที่กับอีกฝ่ายดู ลองเป็นเขาหรือเธอที่ถูกคุณทำร้ายดู แล้วคุณจะรู้ว่าคุณต้องชดใช้และเติมเต็มพวกเขาอย่างไร

ข้อมูลจาก Psychology Today

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook