5 เรื่องเบื้องหลังการสร้างงานของ ฮายาโอะ มิยาซากิ ตำนานนักสร้างแอนิเมชันแห่งสตูดิโอจิบลิ

5 เรื่องเบื้องหลังการสร้างงานของ ฮายาโอะ มิยาซากิ ตำนานนักสร้างแอนิเมชันแห่งสตูดิโอจิบลิ

5 เรื่องเบื้องหลังการสร้างงานของ ฮายาโอะ มิยาซากิ ตำนานนักสร้างแอนิเมชันแห่งสตูดิโอจิบลิ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
  • สตูดิโอจิบลิ (Studio Ghibli) ก่อตั้งในวันที่ 15 มิถุนายน ค.ศ.1985 ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น โดยมี ฮายาโอะ มิยาซากิ เป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง ปัจจุบันเป็นสตูดิโอผลิตงานแอนิเมชันระดับโลก
  • ฮายาโอะ มิยาซากิ (Hayao Miyazaki) เขาคือนักวาดภาพผู้เป็นตำนานการสร้างแอนิเมชันของญี่ปุ่น ในปี ค.ศ. 2022 มิยาซากิ มีอายุย่างเข้าวัย 81 ปี แต่เขายังคงวาดภาพและสร้างงานแอนิเมชันเรื่องยาวเรื่องสุดท้ายของเขา How Do You Live?


คนรักแอนิเมชันทั่วโลกรู้จักชื่อ ฮายาโอะ มิยาซากิ (Hayao Miyazaki) เป็นอย่างดี เขาผู้นี้เขาคือนักวาดภาพผู้เป็นตำนานการสร้างแอนิเมชันของญี่ปุ่น และยังเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้ง สตูดิโอจิบลิ (Studio Ghibli) สตูดิโอที่ไม่ได้สร้างการ์ตูนมาครองใจเด็กๆ ทั่วโลกเท่านั้น แต่ผลงานการสร้างสรรค์ของสตูดิโอจิบลิยังทำให้ผู้ใหญ่เองกลับมาหลงใหลงานแอนิเมชันอีกครั้ง และในวันที่ 5 มกราคม ค.ศ. 2022 มิยาซากิ มีอายุย่างเข้าวัย 81 ปี แต่เขายังคงทำงานวาดภาพและมุ่งมั่นกับการสร้างงานแอนิเมชันเรื่องยาวเรื่องสุดท้ายของเขากับสตูดิโอจิบลิ How Do You Live? ก่อนที่เขาจะปลดเกษียณ​อย่างถาวร Sarakadee Lite ชวนไปทำความรู้จักกับมิยาซากิอีกครั้งผ่าน 5 เรื่องเบื้องหลังการสร้างงานที่หลายคนอาจจะยังไม่รู้

ฮายาโอะ มิยาซากิ ในวัยย่างเข้า 81 ปี

01 ดินสอไม้ 5B และ 6B อุปกรณ์คู่มือศิลปิน

ฮายาโอะ มิยาซากิ (Hayao Miyazaki) เป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งสตูดิโอจิบลิ (Studio Ghibli) ทั้งยังเป็นนักสร้างสรรค์แอนิเมชันและผู้กำกับ แต่ตำแหน่งอาชีพและสิ่งที่เขาเป็นแรกสุดคือ ศิลปินนักวาด และก็เป็นที่รู้ดีว่างานวาดภาพด้วยดินสอบนกระดาษของเขาคือหัวใจสำคัญที่ถ่ายทอดความคิดและเรื่องราวในภาพยนตร์แอนิเมชันทุกเรื่องที่ผ่านมา

ทั้งนี้แม้งานแอนิเมชันยุคปัจจุบันจะเป็นการสร้างสรรค์วาดด้วยคอมพิวเตอร์ แต่มิยาซากิกลับเป็นศิลปินนักวาดในยุคปัจจุบันเพียงไม่กี่คนที่เริ่มต้นทำงานด้วยงานวาดมือและปัจจุบันเขาก็ยังใช้ดินสอในการสร้างชีวิตให้แอนิเมชันของเขาทุกเรื่อง

ดินสอดำขนาด 5B และ 6B คืออุปกรณ์คู่มือที่ขาดไม่ได้ของมิยาซากิในการร่างภาพต้นฉบับทั้งหมดของภาพยนตร์แอนิเมชัน มิยาซากิเคยกล่าวถึงเรื่องนี้กับสื่อนิวยอร์กไทมส์เมื่อปลายปี 2021 ว่า

“เครื่องมือของแอนิเมเตอร์ คือ ดินสอ และดินสอญี่ปุ่นก็มีคุณภาพดีเป็นพิเศษอยู่แล้ว แท่งถ่านกราไฟต์ที่ใช้เป็นไส้ดินสอมันสู้งานและลื่นไหลได้ดั่งใจคนวาดมาก”

ภาพการ์ดอวยพรปีเสือที่เขายังคงวาดด้วยมือให้แฟนๆ

นอกจากดินสอจะเป็นเครื่องมือดั้งเดิมในการสร้างสรรค์งานแบบที่มิยาซากิถนัดและเข้าใจมันที่สุดแล้ว ดินสอ ยังเป็นอีกหนึ่งอุปกรณ์​แห่งเกียรติภูมิญี่ปุ่น เพราะดินสอไม้ระดับพรีเมียมของญี่ปุ่นนั้นต้องมีตราประทับ JIS (Japanese Industry Standard) ไว้บนแท่งดินสอทุกด้าม เพื่อรับรองมาตรฐาน​ดินสอคุณภาพแบบญี่ปุ่น เช่นเดียวกับที่มิยาซากิใช้สร้างผลงานให้โลกได้ชื่นชมด้วยคุณภาพแบบญี่ปุ่นมาแล้ว อีกทั้งเขายังถือเป็นลูกค้าคนสำคัญที่ช่วยสืบสานตำนานดินสอดำของญี่ปุ่นที่สืบทอดกันมาตั้งแต่ยุคโชกุนโทกุงาวะ อิเอยาสุ (Tokugawa Ieyasu) อีกด้วย

สำหรับในภาพยนตร์แอนิเมชันเรื่องยาวเรื่องล่าสุดที่น่าจะเป็นเรื่องสุดท้ายของเขากับสตูดิโอจิบลิอย่าง How Do You live? ที่อยู่ในกระบวนการผลิตมา 3 ปีแล้วและคาดว่าจะมีกระบวนการผลิตเป็นภาพยนตร์ฉบับสมบูรณ์ในอีก 3 ปีข้างหน้า มิยาซากิกล่าวว่าเขาก็ยังคงสร้างภาพวาดทั้งหมดด้วยมือและใช้ดินสอดำเช่นเดียวกับภาพยนตร์ทุกเรื่องที่ผ่านมา


02 โทโทโร่ โลโก้ของจิบลิ

นึกถึงสตูดิโอจิบลิต้องนึกถึง โทโทโร่ เป็นอันดับแรก เพราะแม้แต่ซุ้มขายตั๋วทางเข้าของพิพิธภัณฑ์จิบลิ ที่สวนอิโนกาชิระ กรุงโตเกียว ก็มีเจ้าโทโทโร่เป็นเหมือนพนักงานต้อนรับตัวโตๆ ที่ชวนให้ผู้ที่ผ่านไปมาต้องเข้ามาถ่ายรูปคู่ โทโทโร่ ชื่อนี้คือตัวการ์ตูนสัตว์ประหลาดในป่าหลังบ้านตามเรื่องราวในหนังอะนิเมะเรื่อง Tonari no Totoro (My Neighbor Totoro) กำกับโดยมิยาซากิ ออกฉายครั้งแรกเมื่อ ค.ศ.1988 และจากญี่ปุ่น My Neighbors Totoro ออกเดินทางไปยังอเมริกาใน ค.ศ.1993 และครองใจคนในอีกซีกโลกได้ทันที พร้อมสร้างปรากฏการณ์ความนิยมไปทั่วโลกมาถึงปัจจุบัน

อันที่จริงในช่วงแรกของการฉายในโรงภาพยนตร์ My Neighbors Totoro ยังคงทำรายได้ซึมๆ แต่เมื่อตุ๊กตาโทโทโร่ขนฟู สินค้าเมอร์แชนไดส์ที่สตูดิโอจิบลิจับมือกับบริษัทผลิตของเล่นออกวางขาย บวกกับการเดินสายจัดฉายตามโรงเรียนต่างๆ และโปรโมตทางโทรทัศน์ ทำให้ไม่นานโทโทโร่ก็กลายเป็นขวัญใจเด็กญี่ปุ่นเช่นเดียวกับเด็กหญิงสองพี่น้องที่เป็นตัวละครเอกของเรื่อง และนั่นก็ทำให้โทโทโร่กลายมาเป็นโลโก้สตูดิโอจิบลิ


โทโทโร่ ที่ปรากฏเป็นโลโก้ของสตูดิโอจิบลิรุ่นแรกนั้นเป็นภาพวาดขาวดำเน้นหูและตากลมโตที่เป็นเอกลักษณ์ของโทโทโร้มองตรงมาด้านหน้า โลโก้แบบแรกนี้วาดโดยมิยาซากิและถูกใช้ในช่วงปี ค.ศ. 1985-1991 ต่อมาในปี ค.ศ. 1991 มิยาซากิได้ออกแบบโลโก้ของสตูดิโอจิบลิใหม่โดยยังคงใช้โทโทโร่ แต่ปรับมาเป็นเวอร์ชันหันด้านข้างวางคู่กับตัวอักษรฟอนต์ FUTURA เขียนชื่อภาษาอังกฤษ STUDIO GHIBLI และมีตัวอักษรญี่ปุ่นวางขนานกันบนพื้นสีฟ้าเพื่อเปิดรับผู้ชมในระดับสากลมากขึ้น

โทโทโร่ กลายเป็นทั้งโลโก้และมาสคอตของสตูดิโอจิบลิ ปัจจุบันตุ๊กตาโทโทโร่ขนนุ่มรุ่นแรกก็ได้กลายเป็นสินค้าวินเทจหายากที่จัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์จิบลิ อีกทั้งโทโทโร่ยังถูกใช้ในกิจกรรมเพื่อสังคมหลากหลายกิจกรรมในญี่ปุ่น รวมทั้งใช้ในการเยียวยาจิตใจเด็กๆ ในศูนย์อพยพผู้ประสบภัยสึนามิและแผ่นดินไหว 16 แห่งรอบเมืองเคะเซนนุมะ จังหวัดมิยางิ และเมืองริกุเซนทากาตะ จังหวัดอิวาเตะ เพื่อบรรเทาความเศร้าและปลอบขวัญพวกเขาที่ต้องเสียบ้านหรือสมาชิกในครอบครัวเหมือนเด็กๆ ใน My Neighbor Totoro 


03 ตุ๊กตาแกะน้อย ความทรงจำจากอะนิเมะปี 1974

หนึ่งในของเล่นที่เป็นความทรงจำจากผลงานยุคแรกๆ ของมิยาซากิ ยุคก่อนก่อตั้งสตูดิโอจิบลิ คือ ตุ๊กตาแกะน้อยสีขาว หนึ่งในตัวละครสัตว์เพื่อนรักจากอะนิเมะซีรีส์เรื่อง Heidi: A Girl of the Alps ซึ่งเริ่มออนแอร์เมื่อ ค.ศ.1974 เรื่องนี้มีมิยาซากิเป็นหนึ่งในศิลปินสร้างสรรค์ภาพต้นฉบับ โดยหน้าที่หลักของเขาคือ ออกแบบฉากหลัง ทำเลย์เอาท์ และเขียนบทซีรีส์ (screenplay) ภายใต้การกำกับของ อิซาโอะ ทาคาฮาตะ (Isao Takahata) ก่อนที่ทั้งคู่จะจับมือกันก่อตั้งสตูดิโอจิบลิในอีก 10 ปีต่อมา

ช่วงเดือนธันวาคมของทุกปีมิยาซากิจะวางตุ๊กตาแกะน้อยตัวนี้ไว้ที่ข้างหน้าต่างห้องครัวเพื่อทักทายเด็กๆ ที่เดินผ่านไปมา จากบทสัมภาษณ์ในนิวยอร์กไทมส์ มิยาซากิแอบอิดออดเล็กน้อยก่อนจะบอกว่า “เด็กๆคงคิดถึงมันแน่เลย” เมื่อทางพิพิธภัณฑ์ศิลปะและวิทยาศาสตร์ภาพยนตร์ (Academy Museum) ผู้จัดงานออสการ์ในสหรัฐอเมริกา ได้ขอนำตุ๊กตาแกะน้อยตัวนี้ไปจัดแสดงในนิทรรศการ​เชิดชูเกียรติวาระครบรอบ 80 ปีของมิยาซากิเมื่อ ค.ศ. 2021

Heidi: A Girl of the Alps เป็นเรื่องราวว่าด้วยเด็กหญิงไฮดี้ที่อาศัยอยู่บนเทือกเขาแอลป์ ดัดแปลงจากวรรณกรรม​เยาวชนสวิตเซอร์แลนด์ยุคศตวรรษที่ 19 ความนิยมของไฮดี้ในญี่ปุ่นยุค 70 ส่งผลให้เกิดธีมปาร์ก และทางพิพิธภัณฑ์จิบลิเองยังเคยจัดแสดงงานศิลปะนิทรรศการและวัตถุจากอะนิเมะซีรีส์ Heidi: A Girl of the Alps ในช่วง ค.ศ.2005- 2006 เช่นกัน

จากอะนิเมะ Castle in the Sky

04 เครื่องบินและวัตถุลอยฟ้า แรงบันดาลใจจากวัยเยาว์

ฮายาโอะ มิยาซากิ เกิดในครอบครัวทำธุรกิจเกี่ยวกับเครื่องบิน โดยพ่อของเขา คัตสึจิ มิยาซากิ (Katsuji Miyazaki) มีธุรกิจส่วนตัวในชื่อ Miyazaki Airplanes รับผลิตชิ้นส่วนเครื่องบินรบป้อนกองทัพญี่ปุ่นช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยโรงงานของครอบครัวมิยาซากิตั้งอยู่ในเมืองเล็กๆ ชื่ออุสึโนะมิยะที่มีป่าใกล้เมืองและเป็นย่านที่พักอาศัยเพื่อหลบระเบิดจากกองทัพอากาศสหรัฐฯในช่วงปี ค.ศ.1944-1946 ซึ่งนั่นก็ทำให้มิยาซากิในวัย 4 ขวบได้ใช้ชีวิตคลุกคลีอยู่กับเครื่องบิน เห็นเครื่องบินเข้าออกในโรงงาน และแน่นอนว่าเขาได้นั่งเครื่องบินตั้งแต่เด็ก

เครื่องบินและวัตถุลอยฟ้า กลายเป็นฉากและคีย์สำคัญในภาพยนตร์แอนิเมชันของมิยาซากิหลายเรื่องไม่ว่าจะเป็น Castle in the Sky, Porco Rosso หรือกระทั่ง Howl’s Moving Castle อีกทั้งความสัมพันธ์ของมิยาซากิกับเครื่องบินยังถูกเล่าอย่างสมบูรณ์ ถ่ายทอดทั้งชีวิต ความคิด และความหลงใหลต่อเครื่องบินในภาพยนตร์แอนิเมชัน The Wind Rises โดยในเรื่องนี้ได้เล่าประวัติชีวิตนักออกแบบเครื่องบินชื่อ จิโร โฮะริโกะชิ (Jiro Horikoshi) ผู้ออกแบบเครื่องบินรุ่น Zero ที่ไม่ได้อยากเห็นผลงานตัวเองถูกใช้ในสงคราม ตัวละครนี้แต่งเติมจากตัวละครที่มีอยู่จริง และในอีกมุมก็เหมือนเป็นเงาสะท้อนถึงตัวตนพ่อของเขา เจ้าของกิจการผลิตชิ้นส่วนเครื่องบินรบป้อนกองทัพ แม้ว่ามิยาซากิจะเคยเล่าว่าพ่อของเขาเองก็เคยจ่ายใต้โต๊ะเพื่อให้ได้งานจากกองทัพก็ตาม แต่เบื้องลึกพ่อคงไม่ได้อยากให้มันทำภารกิจปลิดชีวิตใคร

ฉากราเมนในเรื่อง Ponyo

05 ราเมน อาหารที่เลี้ยงคนทั้งสตูดิโอจิบลิ

จะสังเกตได้ว่าในภาพยนตร์แอนิเมชันเกือบทุกเรื่องจากสตูดิโอจิบลิ ล้วนมีฉากที่ใช้อาหารเป็นตัวเล่าเรื่อง หรือใช้อาหารเป็นองค์ประกอบที่สะท้อนสถานการณ์​ความสัมพันธ์ภายในครอบครัว สื่อสารถึงวิถีชีวิตแบบญี่ปุ่น แม้แอนิเมชันส่วนใหญ่เป็นแฟนตาซี แต่เรื่องอาหารนี้อิงจากเรื่องราวของชีวิตจริงไม่ว่าจะเป็นเบนโตะใน My Neighbor Totoro และข้าวปั้นโอนิกิริใน Spirited Away แต่ทราบหรือไม่ว่าหนึ่งในอาหารที่บอกตัวตนของมิยาซากิกับชีวิตนักวาดที่เกิดขึ้นในสตูดิโอจิบลิ คือ ราเมน ​อาหารเส้นที่มิยาซากิเคยลงมือต้มเส้นปรุงน้ำซุปเอง (จากซองราเมงกึ่งสำเร็จรูป)​ เพื่อเลี้ยงทีมงานอะนิเมเตอร์และฝ่ายต่างๆ ที่มาสุมหัวกันทำงานกะดึกที่สำนักงานของ สตูดิโอจิบลิ เพื่อเร่งงานให้เสร็จทันเดดไลน์ 

ภาพจากสารคดี Never-Ending Man: Hayao Miyazaki

มิยาซากิ เคยลงมือทำราเมนสูตรต้มเกลือในช่วงที่ทางสตูดิโอกำลังง่วนอยู่กับการเตรียมงานแอนิเมชันเรื่อง Spirited Away เป็นเส้นราเมนกึ่งสำเร็จรูปที่ต้มลงหม้อทีเดียว 10 ก้อน ก่อนจะฉีกซองเติมเครื่องปรุงตอนน้ำเดือด เมื่อเส้นเริ่มนิ่มตีไข่ไก่ให้เนียน และค่อย ๆ ใช้ตะเกียบหยอดไข่ลงในหม้อทีละนิดจนหมดถ้วย จากนั้นปิดไฟ และสุดท้ายเติมเนื้อที่ปรุงสุก ใส่ต้นหอมญี่ปุ่น แล้วยกเสิร์ฟ

แม้จะเป็นราเมนทำอย่างง่ายๆ แต่ทีมงานทั้งสตูดิโอจิบลิก็กินราเมนกันหน้าโต๊ะทำงานอย่างเอร็ดอร่อย ซึ่งความอร่อยไม่ได้มาจากความสูตรพิเศษของราเมน แต่เป็นความอร่อยจากอาหารก้นครัวของท่านประธาน ทั้งนี้คลิปวิดีโอที่มิยาซากิทำราเมนเลี้ยงทีมงานเคยถูกเผยแพร่ทางช่องยูทูบ แม้เป็นคลิปสั้นๆ ง่ายๆ แต่สัมผัสใจคนดู เหมือนทุกชิ้นงานแอนิเมชันที่ทีมงาน สตูดิโอจิบลิ ทุ่มเททำจนกลายเป็นมาสเตอร์​พีซ

อ้างอิง

http://blog.ocad.ca/wordpress/visd2006-fw2020-01/2020/02/the-creation-of-the-studio-ghibli-logo/
https://soranews24.com/2016/07/03/original-totoro-plush-toys-from-80s-and-90s-re-issued-for-studio-ghibli-exhibition/
https://www.nytimes.com/2021/11/23/t-magazine/hayao-miyazaki-studio-ghibli.html
https://www.ebay.com/itm/392986237379
https://www.referenceforbusiness.com/biography/M-R/Miyazaki-Hayao-1941.html
https://www.nytimes.com/2021/11/23/t-magazine/hayao-miyazaki-studio-ghibli.html
#การ์ตูน#ญี่ปุ่น#ศิลปิน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook