ปณิธานปีใหม่ 4 ข้อในฐานะพ่อแม่

ปณิธานปีใหม่ 4 ข้อในฐานะพ่อแม่

ปณิธานปีใหม่ 4 ข้อในฐานะพ่อแม่
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เดือนมกราคมของทุกปี เราทุกคนมักสร้างลิสต์ของเป้าหมายที่อยากทำให้สำเร็จในปีนี้ออกมากันมากมาย บางคนอยากทำให้เลื่อนตำแหน่งหน้าที่การงาน บางคนเป็นเป้าหมายอยากสุขภาพแข็งแรงขึ้น บางคนอยากมีธุรกิจเป็นของตัวเอง บางคนอยากเก็บเงินล้านแรกในชีวิต ฯลฯ เป้าหมายเหล่านี้ล้วนเป็นเรื่องที่ดีทั้งนั้น เพราะมันเป็นเหมือนสัญญาว่าถ้าเราทำได้สำเร็จก็จะเป็นก้าวสำคัญในชีวิต ทำให้ประสบความสำเร็จมากขึ้นและรู้สึกภูมิใจกับความพยายามของตนเอง แต่แปลกไหมว่าเป้าหมายเหล่านี้ล้วนเป็นเรื่องส่วนตัวของ ‘ตัวเอง’ เราอยากเป็นแบบนั้นแบบนี้ แทบจะไม่เห็นใครที่ตั้งเป้าหมายเพื่อสำหรับคนอื่น ทั้ง ๆ ที่เวลาถามคนที่เป็นพ่อแม่ว่าอะไรคือสิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิต รับรองคำว่า ‘ลูก’ หรือ ‘ครอบครัว’ ต้องโผล่มาเป็นอันดับต้น ๆ แต่กลับดูเหมือนว่าพ่อแม่กลับแทบไม่เคยตั้งเป้าหมายปีใหม่ในฐานะพ่อแม่กับลูก ๆ ของตัวเองเลย

เรามักมองหาว่าจะ ‘เพิ่ม’ จะ ‘เติม’ จะ ‘เปลี่ยน’ อะไรในชีวิต อย่างตอนไม่มีลูกก็อยากมีลูก แต่พอมีลูกแล้วก็เป้าหมายก็เปลี่ยนไปอีก สำหรับหลาย ๆ คนแล้วชีวิตเหมือนเป็นการแข่งขันเพื่อจะเติมอะไรได้อีกในชีวิตที่เต็มเปี่ยมจนแทบล้นอยู่แล้ว แทนที่จะเป็นการมีความสุขกับสิ่งต่าง ๆ ที่เรามีอยู่แล้วในตอนนี้

หลายคนอาจจะบอกว่าก็แค่ลูกสุขภาพแข็งแรง เรียนดี ไม่มีปัญหากับเพื่อน มีความสุข แค่นั้นก็เพียงพอแล้วนี้หน่า พ่อแม่ส่วนใหญ่คิดว่าตัวเองนั้นใช้เวลากับลูกเยอะอยู่แล้วเป็นเรื่องปกติ (โดยเฉพาะยิ่งโควิดที่ลูกต้องเรียนออนไลน์อยู่บ้าน) แต่สิ่งที่อยากจะบอกก็คือว่าเวลาที่เราใช้กับลูกที่นั่งเฝ้าเขาทำการบ้านหรือเรียนหนังสือ ไปงานโรงเรียน หรือทำอาหารให้ลูกนั้นเป็น ‘สิ่งจำเป็น’ หมายถึงว่าช่วงเวลาเหล่านั้นคือเพียงมาตรฐานความจำเป็นพื้นฐานในชีวิตของเด็ก ๆ เท่านั้น แต่เชื่อไหมครับถ้าไปถามเด็ก ๆ โดยเฉพาะช่วงก่อนวัยรุ่นว่าสิ่งที่ต้องการมากที่สุดจากพ่อแม่คืออะไร? คำตอบที่มักจะได้ยินคือ ‘เวลากับพ่อแม่ที่เล่นกับหนู เล่นของที่หนูอยากเล่น’ แค่นั้นเลย

เชื่อเถอะครับ เด็ก ๆ ทราบดีว่าคุณทำงานหนักเพื่อพวกเขา หาเงินทุกบาททุกสตางค์สำหรับการศึกษาและชีวิตที่ดีขึ้นของครอบครัว แต่สิ่งที่พวกเขาอยากได้คือความรู้สึกว่าได้รับความสนใจจากคุณจริง ๆ ไม่ใช่ถูกเอาไปยัดไว้ในตารางงานหรือเป็นการทำเพราะหน้าที่ แต่เวลาที่แบ่งไว้ใช้กับพวกเขาจริง ๆ ไม่ใช่เพราะต้องทำ แต่เป็นเพราะเราอยากทำ

ลองดูปณิธานปีใหม่ 4 ข้อในฐานะพ่อแม่ที่เชื่อว่าเราทุกคนทำได้ ลิสต์นี้ไม่ได้เป็นการพยายามทำให้พ่อแม่รู้สึกผิด แต่อยากให้มันเป็นตัวอย่างที่สำหรับใครก็ตามที่อยากสร้างช่วงเวลาและความสัมพันธ์ที่ดีมากขึ้นกับลูก ๆ และคนในครอบครัว ให้ปีใหม่ที่กำลังเริ่มต้นนี้เป็นปีที่มีรอยยิ้มและความสุขมากยิ่งขึ้น

1.    ใช้เวลากับลูกจริงๆ - ข้อนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่ดี อย่างแรกเลยคือหาเวลาในแต่ละวันให้เขาเพื่อทำสิ่งที่พวกเขาอยากทำ อยากไปปั่นจักรยาน ก็ไปกับเขา อยากอ่านหนังสือ ก็อ่านกับเขา อยากทำขนม ก็ทำกับเขา เพราะการนั่งดูหรือนั่งเฝ้าเขาทำอะไรพวกนั้นด้วยตัวเอง ต่างกับการใช้เวลากับพวกเขาจริง ๆ ให้เด็ก ๆ ลองเลือกว่าอยากทำอะไร และลองถามพวกเขาไปด้วยว่าทำไมถึงชอบหล่ะ เพราะเชื่อเถอะครับว่าวันหนึ่งช่วงเวลาเหล่านี้จะหมดไป พวกเขาจะอ่านหนังสือเองได้ และจะไม่ขอให้คุณอ่านให้อีก พวกเขาจะปั่นจักรยานเองได้ และจะขอไปปั่นกับเพื่อน พวกเขาจะอยากทานอาหารอร่อย ๆ และจะขอไปกับแฟนสองต่อสอง เพราะฉะนั้น…ใช้เวลากับพวกเขาจริง ๆ เพราะช่วงเวลาเหล่านี้มีจำกัดเพียงไม่กี่ปีจริง ๆ ครับ

2.    ทำให้มันสนุก - ข้อดีอย่างหนึ่งของการเล่นกับเด็ก ๆ คือพวกเขาสนุกกับทุกอย่าง อย่าไปเครียดมาก อย่าไปทำอะไรให้มันเป็นทางการ อย่าไปมีเหตุผลมาก ปล่อยวางและปล่อยให้ความเป็นเด็กในตัวคุณออกมาเพ่นพ่านบ้าง บางอย่างที่เราคิดว่าปลอดภัยและไม่เป็นอันตรายก็ปล่อยเขาทำและเราก็ไปเล่นด้วย อย่างบางทีเขาอยากจะสร้างบ้านจากดินโคลนที่ในสวน เราคิดว่ามันสกปรกและปกติอาจจะไม่อนุญาต บางทีก็ปล่อยเขาไปเล่น เราก็เล่นไปด้วย สิ่งเหล่านี้อาจจะดูเล็กน้อย แต่สำหรับพวกเขามันเป็นช่วงเวลาที่แสนวิเศษเลยทีเดียว

3.    อยากรู้อยากเห็น - ทำไมหล่ะ? ทำไมนะ? ทำไมเหรอ? พ่อแม่ต้องตอบคำถามเหล่านี้อยู่ตลอดเวลาจนบางครั้งก็รู้สึกว่ามันเป็นอะไรที่ไม่มีวันจบสิ้น แต่เชื่อไหมครับถ้าเราเป็นฝ่ายถามบ้าง เด็ก ๆ จะสนุกไปกับความอยากรู้อยากเห็นเหล่านี้มาก ลองถามเขาดูครับ ‘ลูกว่าถ้าวันหนึ่งพระอาทิตย์ไม่ทำงานมันจะเป็นยังไงนะ?’ หรือ ‘ลูกคิดว่าปัญหารถติดนี้เราจะแก้ยังไงดีนะ?’ หรือ ‘วันก่อนปะป๊าเห็นน้องเต่าในข่าวไปติดแหชาวบ้าน ลูกว่าเราจะช่วยน้องเต่ายังไงดีนะ?’ มันอาจจะดูเป็นคำถามที่กว้างกว่าความเข้าใจของเขาหรือสิ่งที่เขาจะรู้ แต่มันสนุกมากสำหรับการได้คิด ได้สงสัยและได้พูดสิ่งเหล่านั้นออกมาแล้วมีคนรับฟัง ซึ่งก็คือเราและเป็นข้อสุดท้ายในลิสต์นี้ด้วย

4.    เปิดกว้างรับฟัง - พ่อแม่มักบอกให้ลูกทำอย่างนั้นอย่างนี้ บอกให้ทำตามที่บอกเพราะนั่นคือสิ่งที่เราเชื่อว่าดีสำหรับตัวเขาเองและคนรอบข้าง แต่อยากให้ลองเป็นคนรับฟังสิ่งที่พวกเขาอยากพูดดูบ้าง ถามพวกเขาว่าวันนี้เป็นยังไงบ้าง…แล้วก็ฟัง อย่าเพิ่งไปตัดสิน วันนี้เขาอาจจะทะเลาะกับเพื่อนสนิท คุณก็ฟัง ไม่ต้องตัดสิน อาจจะเล่าว่าเมื่อก่อนที่เราเจอสถานการณ์แบบนี้เราแก้ไขออกมาได้ยังไง บางทีเขาอาจจะเล่าว่าวันนี้เสียใจเพราะได้คะแนนสอบที่ไม่ดี คุณก็อาจจะแชร์ว่าตอนที่เจอปัญหาเดียวกันทำอะไรบ้าง ซึ่งสิ่งเหล่านี้ทำให้พวกเขารู้จักพ่อแม่ของตัวเองมากขึ้น อย่าลืมว่าเด็ก ๆ ก็คือมนุษย์ตัวจิ๋ว พวกเขามีความรู้สึก ความคิดเป็นของตัวเอง และถ้าเราอยากมีความสัมพันธ์ที่ดีกับพวกเขาก็ต้องมีความเชื่อใจซึ่งกันและกัน และไม่มีอะไรที่จะสร้างความเชื่อใจให้ดีมากไปกว่าการรู้จักกันและกันมากขึ้นอีกแล้ว

มาทำปีนี้ให้เป็นปีที่ดี ไม่ใช่แค่สำหรับตัวคุณเอง แต่เป็นปีที่สุดยอดสำหรับครอบครัวและลูก ๆ ของคุณด้วยกันเถอะครับ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook