ฝึกใจดีกับตัวเองให้มากๆ ต้องทำอย่างไร
เรื่องที่คนเรามักจะไม่ค่อยสนใจเท่าไรนักก็คือ ตัวเอง ว่า “เราปฏิบัติต่อตัวเองดีแค่ไหน?” เพราะเราก็แค่ใช้ชีวิตของเราไปตามจังหวะและโอกาสที่กำลังเป็นไป สนใจแค่คนรอบข้างและเรื่องราวที่เกิดขึ้น แต่เรามักจะมารู้สึกเอ๊ะเข้าจริง ๆ ก็ต่อเมื่อเกิดสะดุดจนทำให้ชีวิตที่กำลังดำเนินอยู่ไม่ราบเรียบเท่าไรนัก เวลานั้นเราถึงจะเริ่มมาคิดทบทวนตัวเองว่าปฏิบัติต่อตัวเองดีแค่ไหน เริ่มคิดว่าที่ผ่านมาช่วยเหลือ เห็นอกเห็นใจ ให้อภัย แล้วสนับสนุนตัวเองเป็นส่วนใหญ่ หรือวิพากษ์วิจารณ์ ก่นด่าโทษตัวเอง เรียกร้องความใจดีจากคนอื่น แต่ไม่เคยให้อภัยตัวเองเป็นส่วนใหญ่
จริง ๆ แล้วความเมตตา คนเราสามารถมาจากแหล่งใดก็ได้ อาจเป็นครอบครัว เพื่อน เพื่อนร่วมงาน คนรัก แต่เราเคยเมตตาต่อตัวเองบ้างหรือเปล่า หรือใจร้ายกับตัวเองอยู่เสมอ ถ้าตัวเรายังไม่คิดจะใจดีกับตัวเองหรือเมตตากับตัวเองบ้าง คนที่ต้องเครียด ต้องเจ็บปวด ก็คือตัวของเราเองหรือเปล่า และอาจเป็นส่วนหนึ่งของการรู้สึกไม่ยอมรับในคุณค่าของตัวเองด้วย แล้วเราจะทำร้ายตัวเองอยู่แบบนั้นไปเพื่ออะไร เครื่องของสุขภาพจิตใจเป็นเรื่องสำคัญ มาใจดีกับตัวเองให้มากขึ้น เพื่อให้ตนเองได้มีความสุขมากขึ้นด้วยไม่ดีกว่าหรือ?
การใจดีกับตนเองนั้นมีประโยชน์ในเรื่องของสุขภาพจิต ลดภาวะซึมเศร้า ส่งเสริมการให้อภัยตนเอง กระตุ้นอารมณ์เชิงบวกอื่น ๆ นอกจากนี้ยังช่วยในการรับรู้ความรู้สึกเชิงลบได้ง่ายขึ้น เพื่อให้เกิดพฤติกรรมที่ดีต่อสุขภาพ แบบเดียวกับที่เรารู้ว่าการมีน้ำใจและเห็นอกเห็นใจผู้อื่น สามารถช่วยให้พวกเขาสามารถรับมือกับความรู้สึกและสถานการณ์ได้ ถึงกระนั้น เรากลับไม่ได้ใช้พฤติกรรมเดียวกันนี้กับตัวเราเอง ดังนั้น เราอาจจะต้องมาฝึกใจดีกับตัวเองให้มากขึ้นกว่าที่ควร
รับรู้ถึงความทุกข์ทรมาน
ก่อนจะแก้ปัญหา อย่างแรกก็คือต้องรู้ว่าปัญหาคืออะไร ต้องยอมรับการมีอยู่ของปัญหาให้ได้เสียก่อน การใจดีกับตัวเองไม่ได้หมายความว่าให้โกหกหรือหลอกตัวเองไปวัน ๆ ว่าฉันสุขกายสบายดี เพราะเราไม่สามารถทำแบบนั้นได้นานนักหรอก ท้ายที่สุดก็ยังรู้สึกถึงความไม่มีความสุขได้อยู่ดี แต่เราต้องซื่อสัตย์และจริงใจต่อตัวเอง นี่เป็นวิธีที่ดีที่สุดที่จะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลง จะได้หาวิธีพาตัวเองให้หลุดพ้นจากสภาวะความเจ็บปวด อาจปล่อยตัวเองได้นั่งเหม่อลอยคิดทบทวนตัวเอง หรือจะร้องไห้อย่างบ้าคลั่งจนพอใจแล้วหยุด แค่อย่าทำร้ายตัวเองและคนอื่นก็พอ
สัมผัสให้รู้สึกถึงความรู้สึกห่วงใยตนเอง
หากมีเวลาได้อยู่กับตัวเองตามลำพังหรือได้นั่งทบทวนเรื่องราวที่เกิดขึ้น ต่อให้อยู่ในช่วงที่กำลังจัดการกับความทุกข์ในใจ แต่มันก็จะมีภาพของช่วงเวลาที่มีความสุขแว่บเข้ามาบ้างเหมือนกันเป็นครั้งคราว ลองนึกถึงช่วงเวลาเต็ม ๆ ที่กำลังมีความสุข แล้วลองคิดว่าฉันอยากจะมีความสุขให้ได้เหมือนตอนนั้น หรือจะนึกถึงความสุขจากการทำกิจกรรมใหม่ ๆ ดูก็ได้ เราจะสัมผัสได้ถึงความรู้สึกหนึ่ง ขอเรียกว่าความรู้สึกห่วงใยตัวเอง ปรารถนาที่จะให้ตัวเองมีความสุข เริ่มหันมาห่วงใยใส่ใจตัวเองมากกว่าสิ่งอื่น ทำอะไรก็นึกถึงใจตัวเองเสมอ ว่าต้องรักตัวเองให้มาก ๆ
ไม่ตัดสินความบกพร่องและความล้มเหลวของตนเอง
No one is perfect – that’s why pencils have erasers. (Wolfgang Riebe) ไม่มีใครที่สมบูรณ์แบบหรอก นั่นคือเหตุผลว่าทำไมดินสอจึงมียางลบ อันที่จริงก็ไม่จำเป็นด้วยซ้ำที่จะต้องสมบูรณ์แบบ ความเป็นจริงของโลกก็ไม่มีใครที่จะไม่เคยมีข้อด้อยหรือความบกพร่องใด ๆ ถ้าใช้ดินสอเขียนแล้วมันผิด ก็แค่ลบด้วยยางลบแล้วเขียนใหม่เท่านั้นเอง อย่าเพิ่งตัดสินความบกพร่องและความล้มเหลวของตัวเองให้จบสิ้นในครั้งเดียว อย่าด้อยคุณค่าของตัวเอง ผิดพลาดก็ยอมรับ ขอโทษ แก้ไข แล้วจำเป็นบทเรียน ไม่ต้องคิดมาก คิดเยอะ ไปโทษตัวเองให้รู้สึกแย่เปล่า ๆ
ตระหนักว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับเรามันเป็นประสบการณ์ของมนุษย์ทั่วไป
เรื่องไม่ดีต่าง ๆ นั้นสามารถเกิดขึ้นได้กับชีวิตของคนทุกคนนั่นแหละ เพียงแต่เวลาที่คนอื่น ๆ เขาเจอเข้ากับเรื่องผิดหวัง ความทุกข์ทรมาน หรือช่วงเวลาแห่งความยากลำบากในการจัดการกับความรู้สึกของตัวเอง เขาไม่ได้เอามาบอกให้เรารู้ก็เท่านั้น ฉะนั้น ความล้มเหลว ความผิดพลาด ความผิดหวัง หรืออะไรก็ตามที่เรากำลังเผชิญอยู่นั้นมันเป็นประสบการณ์ของมนุษย์ทั่วไป เราต่างก็เคยประสบชะตาเดียวกันมาก่อน ในเวลาที่รู้สึกโดดเดี่ยว เหมือนกำลังต่อสู้อยู่กับอะไรสักอย่างตามลำพัง ขอแค่รู้ไว้ว่าไม่ใช่เราคนเดียวหรอกที่ต้องมาพบเจอกับเรื่องแบบนี้ ไม่ต้องโทษตัวเอง