จะเขียนเรซูเม่ให้สะดุดตา HR ภายใน 6 วินาทีได้อย่างไร

จะเขียนเรซูเม่ให้สะดุดตา HR ภายใน 6 วินาทีได้อย่างไร

จะเขียนเรซูเม่ให้สะดุดตา HR ภายใน 6 วินาทีได้อย่างไร
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ในช่วงเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ เป็นช่วงโอกาสเหมาะสำหรับคนที่อยากจะเปลี่ยนงานใหม่ เนื่องจากเป็นช่วงหลังจากที่บริษัทต่าง ๆ จ่ายโบนัสให้กับพนักงานในช่วงสิ้นปี พนักงานหลาย ๆ คนที่กำลังรอช่วงเวลาที่เหมาะสมกับการเปลี่ยนงานจึงรอให้ผ่านมาถึงเดือนมกราก่อนถึงจะลาออก ประมาณว่าขอรับโบนัสก่อนแล้วค่อยเปลี่ยนงานทันที ทำให้ช่วงนี้หลาย ๆ คนที่คิดเช่นนี้ก็กำลังเตรียมอัปเดตเรซูเม่ของตัวเองอยู่ เพื่อที่จะไปหาสมัครงานที่ใหม่ที่รู้สึกว่าตอบโจทย์ชีวิตของตัวเองที่โตขึ้นมากกว่าเดิม

ซึ่งเมื่อพูดถึงเรซูเม่ หรือใบประวัติย่อที่ใช้แนบประกอบกับใบสมัครงาน คนวัยทำงานส่วนใหญ่ทราบดีว่าเรซูเม่ที่ดีมีคุณภาพนั้นช่วยเพิ่มโอกาสในการได้งาน ในช่วงเวลาที่ฝ่ายบุคคลของบริษัทที่คุณไปสมัครงานนั้นยังไม่รู้จักคุณ คุณจึงต้องนำเสนอตัวเองให้ฝ่ายบุคคลสนใจด้วยกระดาษแผ่นเดียว ไม่ว่าประวัติการทำงานหรือประสบการณ์ต่าง ๆ ของคุณจะมากมายแค่ไหนก็ตาม เพราะตำแหน่งที่ทางบริษัทรับสมัคร 1 ตำแหน่ง คุณมีคู่แข่งอยู่อีกมากมายที่อยู่ในการการแข่งขันเดียวกันนี้ เพื่อให้ตัวเองเป็นผู้ที่ถูกเลือก

ก้าวแรกของการสร้างเรซูเม่ที่ยอดเยี่ยม คือ ต้องดึงดูดความสนใจของผู้พิจารณา อาจจะเป็นฝ่ายบุคคลหรือนายจ้าง ดังนั้น คุณจึงทุ่มเทและพิถีพิถันกับการเขียนเรซูเม่เพื่อให้มันออกมาดีที่สุด โดยเฉลี่ยแล้ว คุณอาจใช้เวลาราว ๆ 20-40 ชั่วโมงในการเขียนเรซูเม่ให้ออกมาสมบูรณ์แบบที่สุด แต่รู้หรือไม่ว่าคนที่มีหน้าที่พิจารณาเรซูเม่ในเบื้องต้นของคุณนั้นใช้เวลาเฉลี่ยเพียง 6 วินาทีเท่านั้นในการสแกนหาคุณสมบัติของผู้สมัครที่จะเรียกมาสัมภาษณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกบริษัทใหญ่ ๆ เพราะพวกเขาต้องสแกนเรซูเม่ของผู้สมัครเฉลี่ย 200-250 คนทีเดียว ต่อการเปิดรับสมัคร

ดังนั้น จึงเป็นเรื่องที่สำคัญมากที่ผู้สมัครจะต้องทำให้ผู้พิจารณาสะดุดตากับเรซูเม่ของตนเองให้ได้ภายใน 6 วินาที แต่เราจะเขียนเรซูเม่แบบนั้นได้อย่างไรกันล่ะ

รูปแบบอ่านง่าย
ลองจินตนาการว่าตัวคุณเป็นผู้พิจารณาประวัติของผู้สมัครนับร้อยคนดูสิ คุณจะเขี่ยเรซูเม่แบบไหนทิ้งก่อนเลยอันดับแรก แน่นอนว่าต้องเป็นเรซูเม่ประเภทที่ยุ่งเหยิงเกินกว่าจะมานั่งสแกนให้ปวดกระบอกตา เพราะมันยากเกินไปที่จะหาข้อมูลที่อยากรู้ให้เจอภายใน 3-6 วินาที ดังนั้น เพื่อให้ง่ายต่อการสแกนอ่าน ให้ทำเรซูเม่ออกมาให้เรียบง่ายมากที่สุด ไม่ต้องมีรูปถ่ายและลูกเล่นอะไรทั้งนั้น เน้นรูปแบบที่ดูเรียบง่าย สุภาพ จัดหน้าให้อ่านง่าย ๆ ใส่ใจเรื่องการจัดวางข้อความ ใช้ฟอนต์ที่เป็นทางการ และขนาดตัวหนังสือไม่เล็กหรือใหญ่จนเกินไป ควรเขียนเป็นข้อ ๆ มากกว่าการเขียนบรรยาย เพราะอ่านง่ายกว่า และเรซูเม่ที่ดีไม่ควรยาวเกิน 1 แผ่น A4 (หน้า-หลัง)

นอกจากนี้ ต้องเรียงลำดับความสำคัญของข้อมูลให้ดี ๆ เพื่อง่ายต่อการหาข้อมูลที่ฝ่ายบุคคลต้องการจะรู้ เพราะพวกเขาต้องพิจารณาอย่างรวดเร็ว หลักการง่าย ๆ คือต้องเอาข้อมูลที่เป็นปัจจุบันที่สุดขึ้นก่อนเสมอ ตามหลักการเขียนเรซูเม่ และต้องระวังเรื่องข้อผิดพลาดในการเขียนเรซูเม่ด้วย

เนื้อหาเจาะจง
เรซูเม่เป็นเพียงกระดาษแผ่นเดียว คุณต้องเลือกสรรเฉพาะข้อมูลที่สำคัญเท่านั้นมาใส่ เป็นข้อมูลที่ทำให้บริษัทรู้จักคุณให้มากที่สุดอย่างครบถ้วน ลองจินตนาการว่าถ้าคุณกำลังรับสมัครพนักงาน คุณอยากรู้อะไรเกี่ยวกับผู้สมัครบ้าง นั่นแหละ ใส่ให้ครบถ้วน เขียนให้สั้น กระชับ เข้าใจง่าย อะไรที่ไม่จำเป็นไม่ต้องใส่ และสิ่งที่คุณต้องเน้นเป็นพิเศษคือ “ความสามารถที่คุณสามารถทำให้บริษัทได้” เขียนอย่างจริงใจและทำได้จริง เพราะบริษัทต้องการคนทำงาน เขาจึงต้องการรู้ว่าถ้ารับคุณเข้ามา คุณจะให้อะไรบริษัทได้

โดยทั่วไป ข้อมูลส่วนที่คุณจะบอกว่าคุณทำอะไรให้บริษัทได้นั้น ควรสรุปเป็นข้อเสนอสั้น ๆ ด้านบนของเรซูเม่ ส่วนคุณจะทำได้จริงหรือไม่นั้น พวกเขาจะมาพิจารณาเพิ่มเติมจากข้อมูลส่วนประสบการณ์ คุณค่อยมาอธิบายเพิ่มเติมตรงนั้น ถ้าคุณจบให้ตัวคุณดูน่าค้นหา พวกเขาอาจจะอยากรู้จักคุณเพิ่มขึ้นและเรียกคุณมาสัมภาษณ์งาน

คีย์เวิร์ดต้องมี
เหตุผลที่ฝ่ายบุคคลมีเวลาพิจารณาเรซูเม่ของคุณเพียง 6 วินาทีคืออะไร ก็เพราะมีคนส่งเรซูเม่มาให้พิจารณาเป็นร้อย ๆ ฉบับไง ฉะนั้น ผู้ที่พิจารณาประวัติย่อของคุณไม่มีเวลาว่างมานั่งอ่านประวัติของคุณอย่างละเอียดอยู่แล้ว คุณจึงต้องมีคีย์เวิร์ดประเภทที่ผู้พิจารณาจะเห็นทันทีเวลาที่กวาดตาสแกน คีย์เวิร์ดที่คุณจะนำมาใช้ในเรซูเม่ของคุณ ก็คือคีย์เวิร์ดที่เกี่ยวข้องกับตำแหน่งงานนั่นเอง เป็นพวกภาษาที่มักจะอยู่ในรายละเอียดของงาน เช่น ถ้าคุณจะสมัครเป็นฝ่ายกราฟิกดีไซน์ ก็จะต้องมีคีย์เวิร์ดประมาณว่า ออกแบบ ตัดต่อ ภาพนิ่ง วิดีโอ เป็นต้น ซึ่งควรปรับให้เหมาะสมกับงานและบริษัทที่คุณจะสมัคร เมื่อผู้พิจารณาเห็นคีย์เวิร์ดพวกนี้ เขาจะอ่านละเอียดมากขึ้นตรงส่วนนั้น

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook