ยิ่งแพงยิ่งต้องซื้อ : ตำนาน "โฆษณา" ที่ทำให้สนีกเกอร์กลายเป็น "ของมันต้องมี"
ลองนึกทบทวนกันสักนิดว่าสิ่งใดเล่าที่จะ "เข้าตา" เราก่อน เมื่อพูดถึงสินค้าอุปโภคบริโภค โดยเฉพาะกับเสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย แฟชั่นไอเท็ม หรือแม้กระทั่งของที่เกี่ยวข้องกับวงการออกแบบและวงการกีฬา นอกจากตัวผลิตภัณฑ์ที่มีความน่าสนใจในตัวเองแล้วการที่จะทำให้ผู้คนจดจำแบรนด์ได้คือ "โฆษณา" ใช่หรือไม่ ?
ในยุคที่สปอร์ตแบรนด์หรือสนีกเกอร์แบรนด์ต่างก็แข่งขันกันพยายามที่จะครองตลาดเสื้อผ้ากีฬา ไม่ว่าจะด้วยการงัดเทคโนโลยีเฉพาะแบรนด์มาใช้หรือเพิ่มความน่าสนใจโดยให้บุคคลที่มีชื่อเสียงเป็นตัวนำ สุดท้ายแล้วแบรนด์ที่จะถูกพบเห็นก่อนคือแบรนด์ที่มีภาพลักษณ์ สโลแกน หรือโลโก้ที่น่าจดจำทั้งนั้น กล่าวคือไม่ว่าสินค้าจะเป็นอย่างไร แต่ถ้าขายของด้วยวิธีที่ใช่ก็จะได้สปอตไลท์ก่อน
ทำไมกลยุทธ์การขายของและการสร้างภาพลักษณ์ในวงการสนีกเกอร์จึงมีฐานอยู่ที่การโฆษณา ? เบื้องหลังการขายของของบริษัทสปอร์ตแวร์ยักษ์ใหญ่นั้นเป็นอย่างไร ? และจะนำไปสู่ความสำเร็จได้แค่ไหน ?
Main Stand ชวนมาค้นหาคำตอบไปด้วยกัน
TELLING, NOT SELLING
หากพูดถึงแบรนด์สปอร์ตแวร์สักแบรนด์เราจะนึกถึงอะไรก่อน ? อาจเป็นชื่อ โลโก้ หรือสโลแกน ? ความจริงแล้ว ไม่ว่าจะนึกถึงสิ่งไหนก่อน สิ่งที่มักจะตามมาเสมอก็มักจะเป็นชุดคำหรือภาพจำของแบรนด์นั้น ๆ อยู่ดี ตัวอย่างเช่น "Nike / เครื่องหมายถูก / ไมเคิล จอร์แดน" หรือ "The Brand with Three Stripes / Adidas / เดวิด แบ็คแฮม" เป็นต้น
เรื่องของเรื่องก็คือ "โฆษณา" เริ่มเข้ามามีบทบาทต่อแวดวงนี้ได้อย่างไร ?
ย้อนกลับไปเมื่อราวทศวรรษ 1970s ในประเทศสหรัฐอเมริกา กีฬาที่เริ่มเข้ามามีบทบาทต่อคนในสังคมมากขึ้นคือ "การวิ่งจ็อกกิ้ง" หรือการวิ่งเหยาะ ๆ ไปเรื่อย ๆ ที่ไม่ใช่แค่เพื่อการออกกำลังกายอย่างเดียว แต่การวิ่งไปตามทางเป็นระยะหลายสิบไมล์ยังหมายถึงการเข้าสังคมประเภทหนึ่งด้วย
Photo : news.nike.com
แนวคิดประเภทนี้ได้รับอิทธิพลต่อมาจากประเทศนิวซีแลนด์ โดยคนที่เอาเข้ามาในสหรัฐอเมริกาก็ไม่ใช่ใครที่ไหนนอกจาก "บิล บาวเวอร์แมน" หนึ่งในผู้ก่อตั้งบริษัท "ไนกี้" ระหว่างที่เขาไปท่องเที่ยวที่ประเทศนิวซีแลนด์ในปี 1962 และได้ไปรู้จักกับนักวิ่งคนหนึ่งนามว่า "อาร์เธอร์ ลีเดียด" โค้ชผู้ฝึกสอนนักวิ่งที่ส่งนักกีฬาเข้าแข่งขันในรายการใหญ่มาแล้ว อาทิ โอลิมปิก 1960 ที่กรุงโรม หรือ โอลิมปิก 1964 ที่กรุงโตเกียว แถมนักวิ่งภายใต้การดูแลของลีเดียดอย่าง "ปีเตอร์ สเนล" ก็คว้า 3 เหรียญทองในโอลิมปิกมาได้อีกด้วย (1 เหรียญ ในปี 1960 และ 2 เหรียญในปี 1964)
แนวคิดเรื่องการวิ่งเพื่อสุขภาพของลีเดียดที่บาวเวอร์แมนรับมาส่งต่อในสหรัฐอเมริกาอีกทอดนั้น เกิดเป็นกระแสการวิ่งเพื่อสุขภาพขึ้นมาในช่วงทศวรรษ 1970s และกลายเป็นหนึ่งในกีฬาที่ได้รับความนิยม ในช่วงเวลานี้เองที่แบรนด์รองเท้าในตลาด อาทิ บรูคส์ พูม่า รีบอค หรือ อาดิดาส ต่างก็มุ่งเน้นที่จะพัฒนาสินค้าและผลิตภัณฑ์เพื่อ กันอย่างเต็มที่
แน่นอนว่าช่วงเวลาดังกล่าวคาบเกี่ยวกับตอนที่ ไนกี้ แบรนด์ของบาวเวอร์แมนและ "ฟิล ไนท์" ลูกศิษย์ในทีม/ผู้ก่อตั้งร่วมได้ถือกำเนิดขึ้นด้วยในปี 1971 หลังจากที่ได้มีการรีแบรนด์ตัวเอง เปลี่ยนชื่อจาก "บลู ริบบอน สปอร์ตส์" เป็น "ไนกี้" จากเดิมที่เคยนำเข้ารองเท้าวิ่ง เอซิส จากประเทศญี่ปุ่นมาขาย ก็เปลี่ยนมาเป็นการผลิตรองเท้าวิ่งออกมาขายเอง อีกทั้งยังเป็นเรื่องน่าสนใจตรงที่ว่า แบรนด์ของพวกเขานี่แหละที่ยกระดับทำให้การขายรองเท้าสนุกขึ้นไปอีกขั้น ด้วยการใช้ "โฆษณา"
ไนกี้ ประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็วจากการขายรองเท้าโดยไม่แสดงภาพผลิตภัณฑ์ของตนเอง เพียงแค่โชว์โลโก้เครื่องหมายถูก รูปถ่ายของคนวิ่ง และสโลแกนขณะนั้นคือ "THERE IS NO FINISH LINE" หรือ "ไม่มีเส้นชัยอยู่" เพื่อบอกให้คนได้รู้ว่าการวิ่งนั้นดียังไง สวนทางกันกับแบรนด์อื่นที่บอกว่าสินค้าของตนนั้นดียังไง โดยผู้ที่อยู่เบื้องหลังโฆษณาชิ้นนี้ได้แก่ บริษัท "จอห์น บราวน์ แอนด์ พาร์ตเนอร์ส" บริษัทเอเจนซีที่อยู่ในเมืองซีแอตเทิล
Photo : collection.cooperhewitt.org
กลยุทธ์ "การบอก" แทน "การขาย" นี้เอง ที่เหมือนเป็นจุดเริ่มต้นของทุกสิ่ง ไนกี้ที่เหมือนเป็นผู้เริ่มเทรนด์การขายของแบบใหม่ ทำให้ภาพลักษณ์กลายมาเป็นอีกหนึ่งจุดที่สำคัญในวงการนี้พอ ๆ กับตัวผลิตภัณฑ์ จนได้สร้างค่านิยมใหม่ให้กับแบรนด์ต่าง ๆ
อ่านเรื่องกลยุทธ์การขายของไนกี้เพิ่มเติมได้ที่
"แก่แต่เก๋า : ทำไม "ไนกี้" ถึงกล้าดันรองเท้าที่ตกเทรนด์ออกมาขายใหม่ ?"
หลังจากช่วงทศวรรษ 1970s เป็นต้นมา ผนวกกับกระแสโลกาภิวัตน์ที่ทำให้โลกเปลี่ยนไป โฆษณาจึงเข้ามามีบทบาทสำคัญมากขึ้นในวงการสนีกเกอร์และเป็นสิ่งที่แต่ละแบรนด์ใช้แข่งขันกันมาจนถึงปัจจุบัน
SPOTLIGHT STEALERS
นับตั้งแต่ สโลแกน "THERE IS NO FINISH LINE" ของไนกี้ ถูกเปลี่ยนใหม่เป็น "JUST DO IT" ในปี 1988 ก็เริ่มมีการเคลื่อนไหวของแบรนด์รองเท้าอื่น ๆ มากขึ้นเช่นเดียวกัน จากที่เคยต่างคนต่างขายก็กลายเป็นการแข่งขันกัน ถึงขนาดมีการจิกกัดกันแบบขำ ๆ (ที่ถ้าโดนเองแล้วจะขำออกหรือเปล่าก็ไม่ทราบ) เพื่อเกทับและแย่งชิงสปอตไลท์ในตลาดกันอย่างออกรส
หนึ่งในการโฆษณาเพื่อการเกทับกันแบบซึ่ง ๆ หน้าที่มีให้เห็นนั้น ได้แก่ โฆษณาของรองเท้ายี่ห้อ "บรูคส์" (Brooks) รุ่น Hugger GT ในปี 1980 หนึ่งในรองเท้าวิ่งที่โด่งดังเนื่องจากได้ชื่อว่าเป็นรองเท้าวิ่งรุ่นแรกที่กันน้ำได้โดยใช้เทคโนโลยี GORE TEX และเหมาะแก่การวิ่งในวันที่อากาศเย็นจัด มาพร้อมกับรูปทรงเข้ารูป สมชื่อ "ฮักเกอร์" (Hugger) ที่เหมือนเป็นการเปรียบเปรยว่าเป็นนักกอดเท้า
Photo : www.pinterest.com
ภาพโฆษณาของรองเท้ารุ่นนี้เผยโฉมด้วยการจับภาพของรองเท้าสี่ยี่ห้ออย่าง ไนกี้ อาดิดาส เอโทนิค และ นิวบาลานซ์ มารวมกัน พร้อมคำโปรยทำนองว่า ถ้าจับรองเท้าสี่ยี่ห้อนี้มารวมกันก็จะได้ฮักเกอร์คู่นี้แล้ว ทิ้งท้ายความแสบไว้ด้วยว่า "OUR PRICE. EXPENSIVE, BUT WORTH IT" หรือที่แปลได้ทำนองว่า "ราคาเหรอ ? แพงแน่นอน แต่คุ้มค่านะ" พร้อมเหน็บต่อไปว่า
"รองเท้า Brooks Hugger GT ของเรา ไม่ใช่รองเท้าสำหรับทุกคน แต่ลองนึกดูนะ คุณซื้อรองเท้ายี่ห้ออื่นไป 4 คู่แต่ก็ยังไม่ได้สิ่งที่ Hugger GT มีเลยสักอย่าง มันเป็นรองเท้าที่น่าดึงดูดจริง ๆ ใช่ไหมล่ะ ?"
กล่าวได้ว่านี่อาจจะเป็นอีกหนึ่งในกลยุทธ์ทางการตลาดที่น่าสนใจ แม้จะเป็นการเหน็บแต่ใบปิดโฆษณาตัวนี้ก็ครบถ้วนและเถรตรงจนเรียกความสนใจจากผู้คนได้ ซึ่งอีกหนึ่งเจ้าที่โดดเด่นในเรื่องของการเหน็บไม่แพ้กัน ได้แก่ "นิวบาลานซ์" (New Balance) ที่ครั้งหนึ่งในปี 1993 เคยสวนกระแสการทำรองเท้าปั๊มที่จะมีปุ่มกดเพิ่มลมเข้าไปบริเวณลิ้นรองเท้าเพื่อให้กระชับกับเท้ามากขึ้น ด้วยการทำรองเท้าที่ไม่มีปุ่มปั๊มลมออกมาเหมือนรองเท้าที่ได้รับความนิยมในช่วงเวลานั้นเช่น รีบอค ปั๊ม หรือ พูม่า ดิสก์
Photo : www.solecollector.com
แทนที่จะไปเหน็บคนอื่นตรง ๆ นิวบาลานซ์ กลับเลือกที่จะเหน็บตัวเองก่อน เปิดด้วยใบปิดโฆษณาที่มีข้อความว่า "ทำไมรองเท้านิวบาลานซ์ไม่ได้มาพร้อมกับปุ่มปั๊มหรือปุ่มดิสก์ หรือกิมมิคอะไรก็ตามให้มันใส่ได้พอดีมากขึ้นล่ะ ?" เสมือนเป็นคำถามที่คนชอบพูดกันท่ามกลางเทรนด์รองเท้าปั๊มลมที่กำลังฮิตในขณะนั้น ก่อนที่จะ "ขยี้" ในใบปิดอีกแผ่นว่า "ก็เพราะว่ามันใส่ได้พอดีกว่าน่ะสิ" เหมือนเป็นการแซะเบา ๆ ว่า ไหน ๆ ซื้อรองเท้ามาแล้วก็ไม่ต้องมาเสียเวลาปั๊มลมให้มันพอดี เพราะมันพอดีมาตั้งแต่แรกอยู่แล้ว
Photo : www.solecollector.com
แต่ละแบรนด์ต่างก็ทำอะไรที่หวือหวามากกว่าเดิม หมดยุคของการขายกันตรง ๆ แต่เปลี่ยนไปขายเรื่องราวแทน โดยเฉพาะกับ ไนกี้ ที่เลือกเซ็นสัญญาให้ "ไมเคิล จอร์แดน" นักบาสเกตบอลจากทีม ชิคาโก บูลส์ ที่กำลังโด่งดังสุด ๆ มาเป็นโฉมหน้าให้กับแบรนด์ตั้งแต่ปี 1984 โดยในปีต่อมาหรือปี 1985 "ไนกี้ แอร์ จอร์แดน 1" ก็ได้เผยโฉมสู่โลกเป็นครั้งแรก และมาพร้อมกับวิดีโอโฆษณา ที่มีคำโปรยว่า "WHO SAID MAN WAS NOT MEANT TO FLY." ที่แปลได้ว่า "ใครบอกว่าคนเราเกิดมาบินไม่ได้" แสดงให้เห็นว่ารองเท้าของไนกี้นั้นเบาและเหมาะสมที่สุดในการใส่เล่นบาสเกตบอล
การโฆษณาเริ่มไปไกลกว่าเดิม จากเดิมที่มีเพียงพรินต์แอดก็กลายมาเป็นวิดีโอ หรือแม้กระทั่งแบรนด์เองก็ไม่ได้หยุดแค่การโฆษณารองเท้า แต่ยังเป็นการโฆษณาตัวแบรนด์แบบองค์รวมผ่านการใช้ผลิตภัณฑ์ของตน โฆษณาจึงเป็นมากกว่าแค่การเชื้อเชิญคนให้เข้ามาร่วมจับจองของที่ชอบ แต่กลายเป็นการสร้างแรงบันดาลใจผ่านตัวบุคคลหรือวิสัยทัศน์ของแบรนด์เอง
FLASHY CAMPAIGN DOES MATTER
เมื่อทุกอย่างเริ่มขึ้นอยู่กับการขายแบรนด์ การสร้างภาพลักษณ์ ถึงขนาดมีคนสงสัยว่าสรุปแล้ววงการสนีกเกอร์เป็นวงการเพื่อการขับเคลื่อนและนำเสนอนวัตกรรมหรือเป็นเพียงแค่การตลาดเท่านั้น "ฟิล ไนท์" หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งไนกี้ เคยแสดงความเห็นต่อถามนี้ในตอนหนึ่งจากบทสัมภาษณ์ในนิตยสาร Harvard Business Review ปี 1992 ในฐานะแบรนด์หนึ่งที่ให้ความสำคัญกับโฆษณามาก
Photo : affde
"ถึงตอนนี้ผมคงตอบคำถามไม่เหมือนกันกับที่ผมจะตอบเมื่อ 10 ปีก่อนแน่ ๆ เป็นเวลาหลายปีนะที่ผมมองว่าเราเป็นบริษัทผู้ผลิตงานโปรดักชั่น นั่นหมายความว่าเราได้ขยายฐานการผลิตให้ครอบคลุมไปถึงเรื่องการออกแบบและการผลิตสินค้า แต่ตอนนี้เราได้เข้าใจแล้วว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดคือทำการตลาดให้สินค้าของเรา เรามาถึงจุดที่เราจะบอกว่า ไนกี้เป็นบริษัทการตลาด และสินค้าของเราก็เป็นเครื่องมือในการทำการตลาดของเรา"
"ที่ผมพยายามจะพูดก็คือ การตลาด คือสิ่งที่ถักทอองค์กรของเราให้รวมกันไว้ องค์ประกอบด้านการออกแบบและการใช้งานมันเหมือนกับการทำการตลาดในองค์รวมนั่นแหละ"
การจะบอกว่าไนกี้เป็นหนึ่งในแบรนด์ที่ทำการตลาดได้ดีที่สุดก็คงจะไม่เกินจริงนัก ถึงอย่างไรอีกหนึ่งแบรนด์ที่ให้ความสำคัญกับโฆษณาและการตลาดไม่แพ้กัน คือ "อาดิดาส" (Adidas) แบรนด์คู่แข่งที่เรียกได้ว่าอยู่เคียงข้างกันมาหลายสิบปี พวกเขาก็พยายามสร้างเรื่องราวให้ผลิตภัณฑ์ของตนเองผ่านการโฆษณาไม่แพ้กัน อาทิ แคมเปญ "Impossible is Nothing" ในปี 2004 ที่มุ่งผลักดันผู้คนให้ไปเกินข้อจำกัดของตนเองตามวิสัยทัศน์ของแบรนด์ที่เชื่อว่าไม่มีอะไรที่เป็นไปไม่ได้
Photo : adidas-group
ถึงแม้ว่าแคมเปญนี้จะไม่ได้ประสบความสำเร็จเท่ากับ "Just Do It" ของไนกี้และไม่ได้ฟังดูติดหูเท่า แต่ถึงอย่างไรมันก็เป็นแคมเปญอมตะของแบรนด์ที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากคำพูดของ "มูฮัมหมัด" ในปี 1974 ซึ่งจนถึงทุกวันนี้ อาดิดาส ก็ยังคงผลักดันแคมเปญนี้อย่างต่อเนื่อง โดยมี "เทร ยัง" นักบาสดาวรุ่งแห่งทีมแอตแลนตา ฮอว์กส์, "แคนเดซ พาร์คเกอร์" นักบาสเกตบอลหญิงจากทีม ชิคาโก สกาย หรือแม้กระทั่ง "ลิโอเนล เมสซี่" เป็นโฉมหน้าให้กับแบรนด์ และขับเคลื่อนแบรนด์ด้วยปณิธานว่า อาดิดาส มองเห็นความเป็นไปได้ในรูปแบบต่าง ๆ ในขณะที่คนอื่นมองว่ามันเป็นไปไม่ได้เลย
ยุคสมัยของการสร้างเรื่องราวให้กับแบรนด์ยังคงดำเนินต่อไป ขึ้นอยู่กับว่าใครจะทำให้เข้าถึงได้ง่ายและทำให้ผู้คนรู้สึกเชื่อมโยงได้มากกว่าก็เท่านั้น แต่เราก็ต้องไม่ลืมว่าสุดท้ายแล้วไม่ว่าความนิยมของแบรนด์จะมากขึ้นหรืออยู่เท่าเดิมก็ตาม โฆษณาที่ว่าดีก็ไม่มีผิดหรือถูก เพราะผู้ผลิตต่างก็รู้ดีว่ากลุ่มลูกค้าหลักของเขาเป็นใครและทั้งหมดก็ขึ้นอยู่กับความชอบของผู้บริโภคทั้งสิ้น
HIT THE BULLSEYE
บางครั้งความโดดเด่นของโฆษณาของสนีกเกอร์แบรนด์แต่ละแบรนด์ก็ทำให้เราคล้อยตามไปกับคำถามที่ว่า "โฆษณาของใครนั้นเจ๋งกว่า ?" จนลืมคำถามที่สำคัญกว่าจริง ๆ ไปว่า "โฆษณานั้นทำมาเพื่อใคร ?" เพราะดังที่ได้กล่าวมาก่อนหน้า จนถึงตอนนี้ แบรนด์แต่ละแบรนด์ก็อาจจะรู้แล้วจริง ๆ ว่ากลุ่มลูกค้าของตนเองเป็นใคร
Photo : Reebok-BeMoreHuman
ไม่ว่าจะเป็น "รีบอค" (Reebok) ที่ได้รับความนิยมจากกลุ่มลูกค้าผู้หญิงเป็นหลัก จนถึงขนาดมีการเปลี่ยนมือเจ้าของจากบริษัทในเครือของ อาดิดาส ไปอยู่ในเครือบริษัท "Authentic Brand Group" ที่มีบริษัทในเครือที่เน้นเสื้อผ้าผู้หญิงจำนวนมากอยู่แล้ว อีกทั้งในปี 2018 ยังเคยมีแคมเปญและพรินต์แอด "#BeMoreHuman" ที่ออกมาขับเคลื่อนส่งเสริมความเป็นผู้หญิง โดยได้ กัล กาด็อต, อาเรียนา กรานเด, และ จีจี้ ฮาดิด มาเป็นโฉมหน้าในกับแบรนด์อีกด้วย
แม้กระทั่ง นิวบาลานซ์ (ในปัจจุบันก็ยังไม่เลิกแซะ แต่แซะน้อยลง) ก็มุ่งเน้นขายรองเท้าเพื่อความสบาย โดยมีรุ่นเรือธงอย่าง 990 เป็นตัวนำ ความน่าสนใจคือพรินต์แอดของรองเท้ารุ่น 990v5 จะเต็มไปด้วยแท็กไลน์ที่ทำให้ยิ้มมุมปากได้เล็กน้อยตลอด อย่างเช่น "รองเท้าที่ใส่โดยซูเปอร์โมเดลในลอนดอนและเหล่ามนุษย์พ่อในโอไฮโอ", "ทำมาเพื่อพวกมาตรฐานสูง" หรือ "ตัวที่โดนตัดออกไปจากการแข่งขัน" ที่แสดงให้เห็นว่าพวกเขาไม่ต้องไปพยายามแข่งกับใครทั้งสิ้น เพราะคนที่สนใจจริง ๆ ก็มี จนถึงทุกวันนี้นิวบาลานซ์ ก็แทบจะถือครองตลาด "Dad Shoes Fever" รองเท้าทรงมนุษย์พ่อที่ได้กลายมาเป็นแฟชั่นไอเท็มเพราะ สตีฟ จอบส์ เคยใส่ไปอย่างไม่มีคู่แข่ง
Photo : newbalance.com
โฆษณามีผลต่อภาพลักษณ์และภาพจำสำหรับแบรนด์อย่างไม่ต้องสงสัย จึงไม่เป็นที่น่าแปลกใจว่าทำไมวงการนี้ยังอยู่ได้เพราะปัจจัยดังกล่าว ลองนึกภาพว่า ถึงแบรนด์จะผลิตสินค้าที่ดีที่สุดออกมาแต่นำเสนอออกไปได้ไม่ดี สินค้าตัวนั้นก็อาจจะไม่ได้รับความสนใจหรือความนิยมเท่าที่ควรก็เป็นได้ การพัฒนาด้านการตลาดจึงมีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยี
ลองนึกจินตนาการกันเล่น ๆ ว่า ถ้าไม่มี "Just Do It" แต่สโลแกนและโฆษณาของไนกี้เป็น "Best Basketball Shoes" แบบจืด ๆ เงียบ ๆ มาจนถึงทุกวันนี้ วงการกีฬาและสนีกเกอร์จะคึกคักมาจนถึงทุกวันนี้ไหมนะ ?
แหล่งอ้างอิง :
https://approval.studio/adidas-branding-history-of-logos-and-best-ads/
https://clickamericana.com/topics/culture-and-lifestyle/sports/jogging-latest-fad-1968
https://hbr.org/1992/07/high-performance-marketing-an-interview-with-nikes-phil-knight
https://solecollector.com/news/2012/09/vintage-ad-new-balance-running-1993
https://www.aceshowbiz.com/news/view/00123229.html
https://www.adidas.com/us/impossibleisnothing
https://www.adidas-group.com/en/media/news-archive/press-releases/2021/adidas-sell-reebok-authentic-brands-group/
https://www.dazeddigital.com/fashion/article/44382/1/new-balance-new-campaign-dad-shoe-ugly-sneakers-990v5
https://www.thedeffest.com/vintage-ads/1980-brooks-hugger-gt-vintage-running-shoe-ad
https://www.unionroom.com/the-evolution-of-nike-advertising/