ความรักมีกี่ประเภท ต้องรู้ก่อนถึงวาเลนไทน์

ความรักมีกี่ประเภท ต้องรู้ก่อนถึงวาเลนไทน์

ความรักมีกี่ประเภท ต้องรู้ก่อนถึงวาเลนไทน์
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เช่นเดียวกับความหิว ความกระหาย ความง่วง การขับถ่าย การสืบพันธุ์ ความรักเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการอยู่รอดของมนุษย์ ซึ่งหลาย ๆ ครั้งเราอาจพูดได้ว่าเราต้องการความรักมากกว่าความต้องการพื้นฐานในการดำรงชีวิตเสียอีก เป็นการเติมเต็มความสมบูรณ์ทางจิตใจ อย่างไรก็ดี ความรักถือเป็นเรื่องลึกลับสำหรับมนุษย์ เพราะมันยากที่เราจะกำหนดได้เองตามใจต้องการ

บนโลกนี้มีทฤษฎีอยู่มากมายที่จัดประเภทของความรัก ส่วนใหญ่จะจัดประเภทตามที่ผู้คนส่วนใหญ่เคยประสบพบเจอในชีวิต ซูซาน อัลเบอร์ส นักจิตวิทยา ได้ยกตัวอย่างการแบ่งประเภทของความรักตามทฤษฎีทางจิตวิทยา ด้วยทฤษฎีสามเหลี่ยมของความรัก (Triangular theory of love) ของโรเบิร์ต สเติร์นเบิร์ก (1986) ที่อธิบายถึงธรรมชาติและรูปแบบของความรักความสัมพันธ์ ว่าต่างมีพื้นฐานมากจากองค์ประกอบหลัก 3 ส่วน ใช้เป็นจุดสามจุดของสามเหลี่ยมเชิงความสัมพันธ์ คือ ความใกล้ชิด ความเสน่หา และการผูกมัด

  • ความใกล้ชิด เป็นองค์ประกอบด้านอารมณ์ คือ มีความผูกพัน สนิทสนม รู้สึกคุ้นเคยกันในความรู้สึก มีความเข้าใจกันและกัน ไว้วางใจกัน โดยความใกล้ชิดจะค่อย ๆ เพิ่มขึ้นตามระยะเวลาของความสัมพันธ์
  • ความเสน่หา เป็นองค์ประกอบด้านแรงจูงใจ รู้สึกหลงใหล โดยเกิดจากแรงขับภายในร่างกาย หรือแรงดึงดูดทางเพศ ความรู้สึกพึงพอใจในตัวตนของอีกฝ่าย และรวมถึงเหตุกระตุ้นที่ทำให้เกิดความรู้สึกโรแมนติกด้วย
  • การผูกมัด เป็นองค์ประกอบด้านความคิด คือการตัดสินใจเรื่องความรักแบบที่มีพันธะทางใจหรือทางสังคมต่อกัน มีความพยายามที่จะรักษาความสัมพันธ์ไว้ อาจรวมไปถึงการใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันต่อเนื่อง

ไม่ว่าความสัมพันธ์ของคุณจะมีองค์ประกอบทางความรักครบ 3 ส่วนหรือไม่ สิ่งที่คุณต้องนำมาใช้พิจารณาคือความสัมพันธ์ที่มีพื้นฐานเพียงองค์ประกอบเดียวจะมีโอกาสน้อยมากที่จะไปรอด โดยมากควรจะมีตั้งแต่ 2 ส่วน แต่การรู้ว่าองค์ประกอบใดที่หาย จะช่วยให้คุณรู้ว่าคุณต้องสร้างสิ่งใดขึ้นมาเพิ่มในความสัมพันธ์ระหว่างคุณกับคนรัก

นอกจากนี้ องค์ประกอบความรักทั้ง 3 ส่วน ยังสามารถนำมาจำแนกความรักออกได้เป็นประเภทต่าง ๆ ได้ 8 ประเภท ซึ่งขึ้นอยู่กับองค์ประกอบหลักแต่ละส่วน ก่อนที่จะถึงวันวาเลนไทน์ คุณเจอความรักประเภทไหนมาแล้วบ้าง หรือความสัมพันธ์ที่กำลังดำเนินอยู่นี้จะพัฒนาไปเป็นความรักประเภทใด

1. ไม่มีความรัก
รูปแบบความสัมพันธ์ที่ไม่มีองค์ประกอบทั้งสามเลย ก็คือไม่มีความรู้สึกรักใด ๆ คุณไม่สนใจอีกฝ่าย ไม่มีความสนิทสนม และไม่ได้ต้องการการผูกมัด เป็นความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลอย่างง่าย ๆ ชั่วระยะเวลาหนึ่ง ความรู้สึกที่ไม่มีความรักเข้ามาเกี่ยวข้อง รู้สึกทั่ว ๆ ไปกับคนที่เจอบนท้องถนน คนรู้จักทั่วไป หรือคนที่บังเอิญรู้จักโดยไม่ได้ตั้งใจ

2. ชื่นชอบ ถูกใจ
ความชื่นชอบ ถูกใจ ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นพื้นฐานสำหรับมิตรภาพ เป็นบุคคลที่คุณมีความสนิทสนมในระดับหนึ่ง แต่ไม่มีความหลงใหลหรือต้องการผูกมัดอะไร จึงเกิดขึ้นกับคนที่คุณสนิทสนมใกล้ชิดด้วย คือ เพื่อน คนรู้จัก ความรักประเภทนี้ คุณจะจดจ่ออยู่กับความใกล้ชิดมากกว่า คุณจึงกระชับความสัมพันธ์ด้วยการแสดงความสนอกสนใจพวกเขา

3. ความหลงใหล
ประสบการณ์แบบรักแรกพบ คือมีความเสน่หาสูง แต่ไม่ได้มีความสนิทสนมหรือมุ่งมั่นที่จะผูกมัด คุณไม่ได้รู้จักกับบุคคลนั้นลึกซึ้ง แต่คุณจะสัมผัสได้ถึงความเปลี่ยนแปลงบางอย่างของตนเอง เช่น ท้องไส้ปั่นป่วน วิตกกังวล รู้สึกร้อนวูบวาบทุกครั้งที่เจอหรือนึกถึง ความรู้สึกนี้สามารถพัฒนาไปสู่ความรักที่โรแมนติกมากขึ้นได้

4. ความรักที่ว่างเปล่า
เป็นรักที่ปรารถนาจะผูกมัดเพียงอย่างเดียว แต่ปราศจากความรู้สึกต่อกัน ไม่มีความใกล้ชิดสนิทสนมมาก่อน ไม่ได้รู้สึกเสน่หา เพียงแต่ต้องการครอบครองเพื่อวัตถุประสงค์บางอย่าง ซึ่งอาจนำไปสู่จุดเริ่มต้นของการแต่งงานทั้ง ๆ ที่ไม่ได้รู้สึกรัก คุณอาจต้องการสร้างความสนิทสนมหรือความเสน่หาให้มากขึ้น โดยอาจรอให้พัฒนาขึ้นในภายหลัง

5. รักโรแมนติก
ความรักประเภทนี้อาจจะมีองค์ประกอบสองอย่าง คือมักจะมีความเสน่หาและความสนิทสนมสูง แต่อาจจะยังไม่มีการผูกมัดใด ๆ เป็นความรักแบบที่คุณกำลังคบอยู่กับใครสักคน เมื่อคนเราได้รู้จักกัน ก็ปรารถนาจะใกล้ชิดกันให้มากขึ้น จึงเกิดความรู้สึกตื่นตัวทางกายภาพ มีการสัมผัสและถ่ายทอดความรู้สึกระหว่างกัน แต่ยังไม่มีพันธะผูกมัด

6. รักมิตรภาพ
เป็นความสัมพันธ์ระยะยาวที่มีองค์ประกอบมาจากความใกล้ชิดสนิทสนมและการผูกมัด อาจจะมาจากคนที่เป็นเพื่อนกันมานานหลายปี แบบที่ว่าต่างก็ยกให้กันว่าเป็นเพื่อนที่ดีที่สุดที่สามารถพึ่งพาซึ่งกันและกันมาโดยตลอด อย่างไรก็ดี ไม่ได้มีความเสน่หาให้กัน นี่คือความผูกพันที่ลึกซึ้งที่สุดที่นำไปสู่การคบหากันไปตลอดชีวิต

7. รักลุ่มหลง
ความรักประเภทที่ร้อนแรงมีความเสน่หาและต้องการการผูกมัด อย่างไรก็ดี ไม่มีความสนิทสนม เป็นความสัมพันธ์ที่พัฒนาจากจุดหนึ่งไปสู่อีกจุดหนึ่งอย่างรวดเร็ว แรงดึงดูดทางเพศคือแรงขับสำคัญสำหรับความสัมพันธ์ลักษณะนี้ ที่สำคัญ ความสัมพันธ์ที่พัฒนาเร็วมากเท่าไร ก็มีโอกาสที่จะจบลงอย่างรวดเร็วด้วยเช่นกัน

8. รักที่สมบูรณ์แบบ
นี่คือความรักที่ใคร ๆ ก็ปรารถนา สเติร์นเบิร์กบอกว่าความสัมพันธ์ทั้งหมดควรพยายามบรรลุความรักประเภทนี้ให้ได้ แต่ก็อย่างว่าว่าความรักประเภทนี้ยากที่จะบรรลุและรักษาให้คงสภาพไว้ได้ เพราะต้องการความสมดุลระหว่าง 3 องค์ประกอบ คือ ความสนิทสนม ความเสน่หา และการผูกมัดในระดับสูง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook