นอนบนหญ้า แหงนหน้ามองฟ้า สูดหายใจให้เต็มปอด สอนลูกให้ ‘ขี้เกียจ’ บ้างก็ได้

นอนบนหญ้า แหงนหน้ามองฟ้า สูดหายใจให้เต็มปอด สอนลูกให้ ‘ขี้เกียจ’ บ้างก็ได้

นอนบนหญ้า แหงนหน้ามองฟ้า สูดหายใจให้เต็มปอด สอนลูกให้ ‘ขี้เกียจ’ บ้างก็ได้
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เช้าวันหนึ่งระหว่างที่ผมกำลังรีบร้อนแต่งตัวเพื่อไปทำงาน ก็หันไปบอกลูกสาววัยห้าขวบว่า “ลูกรีบหน่อยนะ เดี๋ยวไปโรงเรียนสาย“ ลูกสาวก็หันมาตอบว่า “ปะป๊า เย็นนี้เลิกเรียนแล้วเราไปนั่งเล่นที่สวนหน้าบ้านหมู่บ้านไหม?” ผมทำหน้าสงสัยแล้วถามต่อไปว่า “ไปนั่งทำอะไรลูก? ปิคนิคเหรอ?” ลูกสาวยิ้ม “ไม่ทำอะไร เอาเสื่อไปปู นั่ง ๆ นอน ๆ ดูท้องฟ้าไป ทำตัวเป็นสลอทเหมือนในสารคดีไง” ผมก็หัวเราะและทุกคนก็แยกย้ายไปทำหน้าที่ของตัวเอง

ในยุคสมัยที่ทุกอย่างดูเร่งรีบเร่งด่วน ทุกคนที่เรารู้จักวัยทำงานล้วนบ่นเป็นเสียงเดียวกันว่าเหนื่อยเหลือเกิน ตอบอีเมลตั้งแต่เช้าจนเย็น พาลูกค้าไปทานข้าวต่อ กลับมาบ้านระหว่างทานข้าวก็ต้องตอบเมสเสสเจ้านายไปด้วย เดี๋ยวสักพักก็ต้องไปดูแลพ่อแม่วัยชรา สอนการบ้านลูกอีก ข่าวบนโทรทัศน์ก็มีแต่เรื่องน่าสลดใจ ยิงกัน ตบตีกัน เถียงกัน อุบัติเหตุ ตัวเลขของผู้ประสบภัยน้ำท่วม ผู้ป่วยที่เสียชีวิตจากโควิด ตัวเลขคนตกงาน คนจนที่เพิ่มขึ้น ความเหลื่อมล้ำทางสังคม ดาราคนนั้นเตียงหัก ข่าวการเมือง ฯลฯ

ทุกอย่างดูเยอะไปหมด ครั้งสุดท้ายที่เราอยู่เฉย ๆ นิ่ง ๆ ช้า ทำตัว ‘ขี้เกียจ’ ปล่อยสมองโล่ง ๆ นอนบนหญ้าและแหงนหน้ามองท้องฟ้า ได้สูดหายใจจนเต็มปอดคือเมื่อไหร่? จำได้ไหมครับ? หลายคนจำไม่ได้ด้วยซ้ำ แล้วคิดว่าเด็ก ๆ ที่โตขึ้นมาเป็นคนเร่งรีบทุกอย่างต้องตอนนี้เดี๋ยวนี้ วิ่งตามทุกอย่างจะมีความสุขไหม? ส่วนตัวเชื่อว่าตอนนี้ถ้าถามคำถามเดียวกันกับพ่อแม่ทุกคนก็คงตอบไม่ต่างกัน “ไม่มีความสุขหรอก แต่ความสุขมันหาเงินไม่ได้ ต้องทำมาหากินก่อนสิ” ใช่ครับ เงินคือสิ่งสำคัญ แต่ชีวิตที่มีความสุข...ก็เป็นสิ่งสำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน

พ่อแม่ในยุคปัจจุบันเหมือนเชือกที่ถูกดึงจนตึงเปรี๊ยะ พร้อมจะขาดได้ทุกเมื่อ เพราะเราเชื่อว่าเราต้องทำงานหนัก เพื่อให้ได้เงิน เพื่อจะได้มีความสุข เราอยู่ในยุคบริโภคนิยมอย่างสมบูรณ์แบบที่ทุกอย่างต้องซื้อ ต้องได้ ต้องเป็นเหมือนคนอื่นเขาบนโซเชียลมีเดีย

คำว่า ‘ขี้เกียจ’ นั้นเป็นคำที่มีความหมายไปในเชิงลบที่หลาย ๆ คนอาจจะไม่ชอบ (โดยเฉพาะคนที่เป็นเจ้าของธุรกิจ หัวหน้างาน หรืออาจารย์) เพราะเราอยู่ในสังคมที่ยกย่องเชิดชูบูชาคนที่ทำงานหนัก คนที่ขยัน คนที่ไม่หลับไม่นอนก้มหน้าก้มตาเพื่อจะเป็นที่หนึ่ง เพื่อฟันฝ่าอุปสรรค​ เพื่อจะเป็นคนที่ประสบความสำเร็จ (ตามแนวคิดนี้ก็คือคนที่มีทรัพย์สินเงินทองมากมาย) ให้ได้ตั้งแต่อายุยังน้อย ต้องเหนือกว่าคนอื่น ต้องมีมากกว่าคนอื่น และการเป็นคน ‘ขี้เกียจ’ ก็ขัดกับหลักแนวคิดนี้อย่างมาก

คนที่ขี้เกียจมักถูกตราหน้าว่าเป็นตัวถ่วงของสังคม ตัวถ่วงของงาน ตัวถ่วงของทีม ไม่มีทางที่จะเป็นอะไรได้มากกว่าแค่คนปกติทั่วไป เป็นคนกลาง ๆ ที่ไม่มีอะไร คำว่า ‘ขี้เกียจ’ ถูกใช้ไปในทางลบมากจนถ้ามีใครสักคนถูกเรียกว่าเป็นคนขี้เกียจนั่นหมายความว่าเขาคนนั้นคงไม่มีทางทำอะไรได้สำเร็จในชีวิตนี้อย่างแน่นอน

แน่นอนว่าการ ‘ขี้เกียจ’ แบบที่เราเข้าใจ ไม่ทำงาน ไม่เรียน ไม่ทำอะไรเลยกับชีวิต ตื่นมาแล้วก็หายใจทิ้งไปวัน ๆ อันนี้คงยากที่จะมีอะไรเกิดขึ้นกับชีวิต แต่ว่าถ้า ‘ขี้เกียจ’ ในบางช่วงเวลา ขี้เกียจแบบมีกลยุทธที่ดี มีการวางแผนช่วงเวลาที่จะอยู่เฉย ๆ ไม่ต้องโปรดักทีฟตลอดเวลาที่ตื่นนอนนั้นเป็นสิ่งที่มีประโยชน์มากกว่าโทษอย่างแน่นอน การขี้เกียจที่เหมาะสม ที่เราเลือกจะอยู่เฉย ๆ ไม่ฟุ้งซ่าน ทำนู้นทำนี่ตลอดเวลา เช็คเมล เช็คเฟสบุ๊ค ดูเมสเสส โทรหาลูกค้า สิ่งเหล่านี้ไม่ได้ทำให้เรามีความสุขมากขึ้นเลย

ในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง ความสนใจของเรานั้นจะมีอยู่เพียงสองอย่าง โฟกัส กับ ไม่โฟกัส การโฟกัสก็คือช่วงเวลาที่จะทำให้เรานั้นทำงานให้เสร็จ คุยกับลูกค้า เรียนหนังสือ ขับเคลื่อนชีวิตของเราไปข้างหน้า แต่ผลการวิจัยแสดงให้เห็นว่าการอยู่เฉยๆ ไม่โฟกัส หรือ ‘ขี้เกียจ’ บ้างนั้นมีความหมายมากเช่นกัน แต่ในมุมที่แตกต่างออกไป

การโฟกัสทำก่อให้เกิดผลงาน แต่การไม่โฟกัสทำให้เรามีความคิดสร้างสรรค์มากขึ้น

ลองคิดถึงช่วงเวลาที่เรามีไอเดียอะไรเจ๋ง ๆ เข้ามาในหัวครั้งสุดท้ายสิครับ? โอกาสที่มันจะเกิดขึ้นระหว่างที่เรากำลังโฟกัสกับอะไรสักอย่างหนึ่งตรงหน้านั้นคงไม่มีทางเกิดขึ้นได้ ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นตอนที่กำลังอาบน้ำ ไปเดินเล่น เดินดูงานศิลปะ อ่านหนังสือ หรือบางทีแค่นอนบนสนามหญ้า ดูใบไม้ปลิวไปมา มีเสียงนกร้องอยู่ไกล สายลมเย็น ๆ ของบ่ายฤดูหนาวที่พัดผ่านไปมา บางทีเป็นช่วงที่นั่งจิบกาแฟบนยอดดอย ตู้มมม...ไอเดียบังเกิด หลอดไฟสว่างว๊าบในหัว

มันมีเหตุผลว่าทำไมสมองจึงเลือกช่วงเวลาที่ไม่โฟกัส ช่วงเวลาที่เรา ‘ขี้เกียจ’ แบบนี้เพื่อเชื่อมโยงความคิดที่หมุนวนในหัวคนละทิศคนละทาง เพราะเมื่อเราไม่ได้โฟกัสที่จุดใดจุหนึ่ง ความคิดในหัวของเราจะลอยไปยังสถานเรื่องต่าง ๆ ได้เต็มที่ มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งซึ่งสุ่มตัวอย่างความคิดของผู้คนเป็นระยะในขณะที่จิตใจล่องลอยก็ได้ยืนยันสิ่งนี้เช่นกัน โดยสิ่งที่เรามักจะคิดถึงในช่วงเวลานั้นเป็นเรื่องของอนาคต (48% ของเวลา) ปัจจุบัน (28%) และอดีต (12% ของเวลา) สำหรับเวลาที่เหลืออยู่ จิตใจของเรามักจะน่าเบื่อหรือว่างเปล่า เปอร์เซ็นต์เหล่านี้ไม่สำคัญอะไรมากนัก แต่ที่อยากเน้นก็คือว่าสมองโล่ง ๆ สภาพจิตที่เกียจคร้านมีส่วนสำคัญมาก ๆ สามอย่างคือ

1.    ได้พัก : เมื่อเราไม่ต้องโฟกัส เราก็ได้พัก สมองและความคิดได้ปลดปล่อย ความตึงเครียดที่มีอยู่นั้นได้ผ่อนคลายลงบ้าง ซึ่งการได้พักแบบนี้จะช่วยทำให้เราโฟกัสได้ดีขึ้นในภายหลัง ใช้เวลากับงานอดิเรก นอนเล่น มองฟ้า เดินออกกำลังกาย ไปดื่มกาแฟโดยไม่ต้องถือโทรศัพท์มือถือไปด้วย

2.    ได้วางแผน : เมื่อเราไม่โฟกัส การขี้เกียจจะทำให้เราคิดไปเรื่อย ๆ ทำให้คิดถึงเรื่องที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้ดีกว่าการที่เรากำลังโฟกัสกับอะไรสักอย่างตรงหน้า การขี้เกียจอย่างเป็นระบบจะทำให้เราสามารถวางแผนได้ดีมากขึ้น

3.    ได้ไอเดีย : สมองเราจะเชื่อมต่อสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต สร้างไอเดียใหม่ ๆ ได้อย่างไม่รู้จบ อาจจะเป็นสิ่งที่คุณเห็นเมื่อสองสามสัปดาห์ก่อน บางอย่างที่เพิ่งอ่านไปเมื่อกี้ จนเกิดเป็นไอเดียใหม่ ๆ สำหรับอนาคตที่จะมาถึง ทุกอย่างเชื่อมต่อกันได้อย่างสร้างสรรค์เมื่อไม่มีขอบเขตของการโฟกัสเข้ามาตีกรอบเอาไว้

สำหรับใครก็ตามที่ชีวิตกำลังวุ่นวายอยู่ อยากให้ลองหันมา ‘ขี้เกียจ’ กันดูบ้างก็ได้ ภายนอกมันอาจจะดูเหมือนไม่ได้ทำอะไร เป็นสลอททำตัวเชื่องช้า เฉื่อย ๆ แต่ข้างในนั้นตรงกันข้ามเลย เพราะสมองของเราได้หยุดจากการทำงานหนัก ได้มีเวลาได้คิดได้วางแผนและอาจจะเจอไอเดียอะไรใหม่ ๆ ก็ได้ ลองหยิบเสื่อ หยิบหมอน ไปนอนบนสนามหญ้า ดูเมฆไหลไปบนท้องฟ้า ที่จริงแล้วเด็ก ๆ อาจจะฉลาดกว่าผู้ใหญ่ในเรื่องนี้ก็ได้ เพราะวันนั้นที่ลูกสาวผมชวนไปนั่ง ๆ นอน ๆ ที่สนามหญ้าหน้าหมู่บ้าน ผมก็ได้ไอเดียเรื่องการเขียนงานชิ้นนี้ขึ้นมา ได้นอนเล่น กลิ้งไปกลิ้งมา ไม่ต้องทำอะไร มีช่วงเวลาที่ดีกับเขาแต่กลับรู้สึกสดชื่น และวันต่อมาก็โฟกัสกับงานได้ดีขึ้นเยอะมาก

ตอนนี้ผมรู้แล้วว่านอกจากจะสอนให้ลูกขยันในห้องเรียนแล้ว ก็ควรสอนให้เขาอย่าลืม ‘ขี้เกียจ’ บ้างเป็นบางครั้งเมื่อโตขึ้น อย่าเอาแต่ทำงานงก ๆ เพราะกลัวว่าจะสำเร็จไม่ทันคนอื่น จนลืมไปว่าสมองเราก็ต้องการพักผ่อนบ้าง บางทีวิธีการที่ดีที่สุดในการสร้างสรรค์บางอย่างให้เกิดขึ้น อาจจะมาจากการไม่ทำอะไร นอนบนหญ้า แหงนหน้ามองฟ้า สูดหายใจให้เต็มปอดก็เป็นได้

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook