ปัญหาด้านสมาธิและจิตใจ ที่เกิดขึ้นได้กับคนวัยทำงาน
ตอนเด็ก ๆ หลายคนอาจจะบ่นกับตัวเองเสมอว่าเมื่อไรจะโต อยากเป็นผู้ใหญ่วัยทำงานเต็มแก่แล้ว แต่พอโตขึ้นมาจริง ๆ ก็พบว่าโลกในวัยเด็กอาจจะดีกว่าในหลาย ๆ แง่มุม ตรงที่ตอนเป็นเด็กไม่ได้มีอะไรมากมายต้องรับผิดชอบมากขนาดนี้ ไม่ได้มีอุปสรรคถาโถม ไม่ได้มีสารพัดเรื่องให้เครียดแบบที่เจออยู่ในปัจจุบัน ไม่ต้องไปแข่งขันอะไรกับใครมากมาย ไม่ต้องกระเสือกกระสนเอาตัวรอดมากขนาดนี้ และที่สำคัญไม่ต้องวางแผนว่าจากวันนี้จะเติบโตไปได้อย่างไร
เมื่อชีวิตที่โตมายังไม่เคยเห็นกลีบกุหลาบเลยสักกลีบ คนวัยทำงานจึงมักจะป่วยทางใจ โดนปัญหาสุขภาพจิตรุมเร้าได้ง่ายมาก รวมถึงปัญหาด้านสมาธิก็รบกวนการทำงานไม่น้อย ซึ่งอาการป่วยทางใจนี้ก็ไม่ได้กัดกินแค่สุขภาพใจ แต่ยังเล่นงานมาถึงสุขภาพกายด้วย เข้าตามตำรา “ใจเป็นนาย กายเป็นบ่าว” นั่นเอง แล้วคนวัยทำงานต้องต่อสู้กับความผิดปกติด้านสมาธิและจิตใจอะไรบ้าง
วิตกกังวล
อาการวิตกกังวล อาจเป็นปฏิกิริยาตอบสนองต่อความเครียดชนิดที่เบาที่สุด ทั้งนี้ในบางสถานการณ์ยังมีประโยชน์ที่ช่วยกระตุ้นให้เราตื่นตัวและเตรียมพร้อมรับมือกับปัญหาได้ดีกว่าในช่วงที่อารมณ์ปกติ แต่ถ้าความวิตกกังวลพัฒนาขึ้นมาจนกลายเป็นโรคชนิดหนึ่ง ก็นับว่าเป็นปัญหาที่น่ากังวลและต้องได้รับการรักษา เพราะระดับจะแตกต่างจากความวิตกกังวลทั่ว ๆ ไป มีอาการกลัวเกินเหตุ จนส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต
ลักษณะเบื้องต้นของอาการวิตกกังวล คือมีอาการฟุ้งซ่าน กระวนกระวาย รู้สึกหงุดหงิด ไม่มีสมาธิ ใจเต้นเร็ว ใจสั่น มือสั่น มือเท้าชา เหงื่อออก เจ็บหน้าอก รู้สึกสำลัก เวียนหัว คลื่นไส้ ปั่นป่วนในท้อง อาจรู้สึกหนาวสั่นหรือร้อนวูบวาบ ในรายที่เป็นโรควิตกกังวลอาการที่แสดงออกก็จะมากกว่าปกติ จนถึงขั้นที่ไม่สามารถควบคุมความรู้สึกกังวลของตนเอง จนอาจนำไปสู่ภาวะอันตรายต่อชีวิตได้ แบบที่กลัวหรือกังวลมากจนหมดสติ เกิดอาการช็อกหรือชัก
ความวิตกกังวลที่มากเกินเหตุก็รบกวนการทำงาน อาจทำให้เกิดความรู้สึกแบบย้ำคิดย้ำทำ เพราะยังกังวลว่างานที่ทำยังไม่ดีพอ รู้สึกเหมือนยังทำมันไม่เสร็จอยู่ตลอดเวลา หรืออาจเสพติดความสมบูรณ์แบบ จนต้องคอยคิดหาจุดบกพร่องเพื่อแก้ไขตลอดเวลา รวมถึงความกระวนกระวายในใจที่ทำให้ใช้ชีวิตอย่างไม่มีความสุข มีอาการตื่นตระหนก โดยไม่มีสาเหตุ กลัวมากจนควบคุมตัวเองไม่ได้ จนอาจนำไปสู่การฆ่าตัวตายได้เช่นกัน
เครียด
ความเครียด ถือเป็นศัตรูตัวร้ายต่อทั้งร่างกายและจิตใจ เพราะความเครียดมักจะเป็นจุดเริ่มต้นของโรคร้ายอื่น ๆ ตามมา โดยความเครียดเป็นภาวะที่พบได้ง่ายมากในคนวัยทำงาน ซึ่งมักจะมาพร้อมกับความรับผิดชอบที่มากขึ้น หรือการแข่งขันที่สูงขึ้น ไม่เพียงเท่านั้น ความเครียดยังเกิดขึ้นจากสาเหตุใดก็ได้ เมื่อเรารู้สึกว่าถูกคุกคามด้วยภัยบางอย่าง ความเครียดก็จะเกิดขึ้นได้เช่นกัน
ความเครียดในระดับน้อย ๆ หรือระดับปกติอาจหายไปได้เองเมื่อผ่านช่วงเวลานั้นไป รวมถึงคนเราก็มีวิธีในการจัดการความเครียดเฉพาะของตนเองอยู่แล้ว แต่สำหรับคนที่ถูกภาวะเครียดคุกคามในระดับที่มากผิดปกติ จะแสดงอาการที่น่าเป็นห่วงทั้งทางกาย ทางจิตใจ และทางอารมณ์ มีโรคทางกายหลายอย่างที่เกิดจากความเครียด ปวดหัวอย่างหนัก ปวดนาน กินยาแก้ปวดไม่หาย ปวดกล้ามเนื้อ ปวดท้อง หูอื้อ มือเย็น อ่อนเพลีย มึนงง ไม่มีสมาธิ เบื่ออาหาร นอนไม่หลับ ขี้ลืม ตัดสินใจได้ยาก สมาธิสั้น เบื่อหน่าย โกรธง่าย หงุดหงิด อารมณ์ไม่ดีตลอดเวลา
ความเครียดมีผลกระทบต่อการทำงานแน่นอนอยู่แล้ว นอกจากภาวะคุกคามทางร่างกายที่ทำให้ป่วยบ่อย ร่างกายอ่อนเพลียไม่ค่อยมีแรง ดูทรุดโทรมจนสังเกตได้ชัด ทำงานก็ไม่ค่อยมีสมาธิ โฟกัสงานไม่ค่อยได้ ทำงานผิดพลาดบ่อย ๆ อารมณ์ก็ฉุนเฉียวจนเพื่อนร่วมงานเข้าหน้าไม่ติด คนที่กำลังเผชิญกับปัญหาความเครียดต้องลองหากิจกรรมคลายเครียดที่เหมาะสมให้ตัวเอง ถ้าเริ่มรู้สึกว่าอาการหนักจนรับมือเองไม่ไหวแล้ว ควรรีบไปปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ ก่อนที่ภาวะเครียดจะหนักหนาจนนำไปสู่โรคอื่น ๆ
สมาธิสั้น
ความเสื่อมถอยของร่างกายเป็นสิ่งที่มนุษย์ทุกคนต้องเผชิญเมื่ออายุมากขึ้น ทั้งสมรรถภาพทางกายที่ถดถอยลงตามอายุ ความสมบูรณ์ของสมองก็จะค่อย ๆ เสื่อมลงตามอายุเช่นกัน เริ่มเผชิญกับปัญหาชัดเจนขึ้นเวลาที่ต้องใช้สมาธิในการทำงาน การพยายามจะมีสมาธิและโฟกัสกับอะไรหลาย ๆ ดูเป็นเรื่องยาก ทำงานได้นิด ๆ หน่อย ๆ ก็หลุดโฟกัสไปทำอย่างอื่น สับสนอยู่บ่อย ๆ ว่าตัวเองกำลังทำอะไร
อาการเบื้องต้นที่เห็นได้ชัด คือรู้สึกว่าตัวเองไม่สามารถโฟกัสกับงาน จดจ่ออยู่กับอะไรนาน ๆ ไม่ได้ สติหลุด เหม่อลอย ว่อกแว่กง่าย แค่มีอะไรมาขัดก็สมาธิแตก กว่าจะรวบรวมสมาธิได้อีกทีก็ยากและต้องใช้เวลา ทนฟังอะไรยาว ๆ ไม่ค่อยได้ อ่านหนังสือก็จับใจความสำคัญไม่ถูก ขี้หลงขี้ลืม และก็มักจะทำงานผิดพลาดอยู่บ่อย ๆ
ภาวะสมาธิสั้นในผู้ใหญ่ เกิดจากความผิดปกติของสมองส่วนหน้า ซึ่งจะทำหน้าที่ในการควบคุมสมาธิและพฤติกรรม และสารสื่อประสาทในสมองที่ชื่อว่าโดพามีน (Dopamine) และนอร์เอพิเนฟริน (Norepinephrine) ทำงานบกพร่องหรือมีปริมาณน้อยกว่าปกติ วิธีเบื้องต้นในการจัดการกับภาวะสมาธิสั้น คือต้องเริ่มที่ตนเอง ฝึกวางแผนอย่างเป็นระบบ ควบคุมเรื่องเวลา นอนหลับพักผ่อนอย่างมีคุณภาพ เสริมสร้างสมาธิ การจดจ่อ และความจำ ออกกำลังกายบำบัดอารมณ์ ฝึกสติ สมาธิ และการควบคุมอารมณ์ของตนเอง
ขี้หลงขี้ลืม
“เอ๊ะ! เมื่อกี๊เราจะทำอะไรนะ” หากเป็นบ้างในบางครั้งนาน ๆ ที สักพักก็นึกออกเอง ก็ถือเป็นเรื่องปกติที่ใคร ๆ ก็เป็นกันได้ แต่ถ้าเมื่อไรก็ตามที่มีอาการนี้ถี่ขึ้น มักจะลืมนั่นลืมนี่อยู่บ่อย ๆ สามารถลืมเรื่องสำคัญ ๆ แบบลืมยาวไปเลย นึกยังไงก็นึกไม่ออก มานึกออกอีกทีก็ตอนที่โดนถาม แบบนี้ก็เริ่มจะส่งสัญญาณที่ไม่ค่อยดีเท่าไรแล้ว เพราะนี่อาจจะไม่ใช่การลืมแบบชั่วคราว แต่อาจเป็นโอกาสเสี่ยงที่จะเป็นโรคสมองเสื่อมหรือเปล่า
ขี้หลงขี้ลืม เป็นสัญญาณปกติที่บ่งบอกว่าเรา “อายุมากขึ้น” แต่ถ้าเราอายุยังไม่ได้มากขนาดนั้น ก็เริ่มมีอาการขี้หลงขี้ลืม โดยเฉพาะลืมสิ่งที่ตนเองกำลังแบบอย่างกะทันหันอยู่บ่อย ๆ อาการขี้หลงขี้ลืมแบบชั่วครั้งชั่วคราวอาจมีสาเหตุมาจากการนอนน้อย การกินยาบางตัวเพื่อรักษาโรคบางโรค ภาวะขาดไทรอยด์ ความเครียด โรคทางจิตเวช ความผิดปกติทางจิตใจ รวมถึงในรายที่มักจะดื่มสังสรรค์แอลกฮอล์เป็นประจำ ผลกระทบที่น่าเป็นห่วงสำหรับภาวะขี้หลงขี้ลืมก็คือ การหลง ๆ ลืม ๆ เรื่องงาน จนทำให้งานมีปัญหาอยู่บ่อย ๆ
อาการขี้หลงขี้ลืมแบบชั่วคราวสามารถแก้ได้ นอกจากนี้วิธีพวกนี้ยังช่วยชะลออาการของโรคอัลไซเมอร์ได้อีกด้วย คือ พยายามอย่าทำอะไรหลาย ๆ อย่างพร้อมกัน และทำอะไรให้ช้าลง หาโฟกัสเพียงอย่างเดียวไม่ให้สมองทำงานหนักเกินไป หมั่นบริหารสมองด้วยเกมฝึกสมองต่าง ๆ การพักผ่อน การเลือกกินอาหารที่บำรุงสมอง ผ่อนคลายความเครียด หาอะไรใหม่ ๆ มาทำเพื่อกระตุ้นสมอง จำยากก็ใช้วิธีจดเพื่อช่วยจำ ควบคุมอารมณ์ให้เป็นปกติ ทำให้ตัวเองอารมณ์ดี ๆ บ้าง นึกอะไรออกก็ลองพูดออกเสียงกับตัวเอง แต่ถ้ารู้สึกว่าอาการหนักต้องไปพบแพทย์
ซึมเศร้า
ปัญหาใหญ่ที่พบได้ในคนทุกเพศทุกวัย และส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นกับคนช่วงวัยรุ่นและวัยทำงาน ซึมเศร้ากลายเป็นโรคชนิดหนึ่งที่มีสาเหตุมาจากความเครียดที่สะสมเป็นระยะเวลานาน จนทำให้สารเคมีในสมองทำงานผิดปกติ ส่งผลต่ออารมณ์และจิตใจของผู้ป่วย รู้สึกเศร้ากับชีวิตและสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นมากกว่าคนที่มีความเครียดในระดับปกติ ลักษณะที่สำคัญคือ การนำไปสู่ความคิดว่าไม่อยากจะมีชีวิตอยู่เพื่อทนทรมานแบบนี้อีกต่อไปแล้ว หลาย ๆ คนจบปัญหาด้วยการฆ่าตัวตาย
สำหรับคนที่เริ่มมีอาการของโรคซึมเศร้า จะสังเกตได้จากการที่คนคนนั้นเริ่มแยกตัวออกจากสังคมและเก็บตัวอยู่คนเดียว มักจะมีคำพูดในเชิงว่าท้อแท้ ไม่มีความหวัง เหนื่อย ทรมานกับการมีชีวิตจนอยากพักยาว ๆ หมดศรัทธา ไม่เห็นคุณค่าในตัวเอง ประกอบกับมีรู้สึกผิดและโทษตัวเองตลอดเวลา ทำอะไรก็ไม่มีความสุข ขาดความสนใจและความเพลิดเพลินจากกิจกรรมต่าง ๆ นอนไม่หลับ ไม่มีสมาธิ รวมถึงเริ่มเกริ่น ๆ ถึงการไม่มีแรงจูงใจที่จะมีชีวิตอยู่
สำหรับคนที่สงสัยว่าตนเองมีภาวะของโรคซึมเศร้า ควรไปปรึกษาจิตแพทย์เป็นการด่วน เพราะยิ่งได้รับการรักษาเร็วเท่าไรก็มีโอกาสที่จะกลับมาใช้ชีวิตมีความสุขแบบเดิมได้เร็วเท่านั้น ในขั้นตอนของการรักษาก็จะรักษาด้วยยา ควบคู่กับจิตบำบัด แต่ถ้าใครยังไม่อยากไปพบแพทย์ ลองทำแบบประเมินเบื้องต้นดูก่อนก็ได้ หรือโทรปรึกษาสายด่วนสุขภาพจิต 1323 หรือตัวช่วยด้านสุขภาพจิต