5 ความผิดพลาดของพ่อแม่ที่จะทำให้ลูก ‘เห็นแก่ตัวและรู้สึกว่ามีสิทธิ์จะทำอะไรก็ได้’

5 ความผิดพลาดของพ่อแม่ที่จะทำให้ลูก ‘เห็นแก่ตัวและรู้สึกว่ามีสิทธิ์จะทำอะไรก็ได้’

5 ความผิดพลาดของพ่อแม่ที่จะทำให้ลูก ‘เห็นแก่ตัวและรู้สึกว่ามีสิทธิ์จะทำอะไรก็ได้’
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เมื่อพูดถึงการเลี้ยงดูเด็กสักคนหนึ่งให้เติบโตขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพของสังคมทุกอย่างก็เริ่มต้นจากครอบครัวที่เลี้ยงดูเด็กคนนั้นตั้งแต่วินาทีแรกที่ลืมตาดูโลก ครอบครัวที่รักใคร่กัน เห็นอกเห็นใจกัน ที่คำพูดและความเห็นของเด็ก ๆ ที่อยู่ในบ้านก็สำคัญไม่แพ้คนอื่น ๆ มีงานศึกษาหลายชิ้นที่บ่งบอกว่าเมื่อเด็กอายุได้สามขวบ เขาก็จะเริ่มแสดงความเห็นอกเห็นใจคนที่อยู่รอบข้างได้แล้ว แถมยังสามารถเข้าใจอารมณ์ความรู้สึกและประสบการณ์ที่เกิดขึ้นกับตัวเองนั้นอาจจะแตกต่างกับคนอื่นได้ด้วย

ดอกเตอร์ เทรซี่ แบคซ์ลี่ (Dr. Traci Baxley) ผู้ทำงานกับเด็กอายุต่ำกว่าสามสิบปีและเป็นผู้ให้คำปรึกษาพ่อแม่สำหรับการเลี้ยงลูกมาโดยตลอด เธอจบมาทางด้านพัฒนาการของเด็กโดยเฉพาะวัยประถม เชี่ยวชาญเกี่ยวกับเรื่องความแตกต่างและการเข้าสังคมของเด็กโดยเฉพาะ เธอเชื่อว่าช่วงเวลาและการเลี้ยงดูของครอบครัวนั้นสำคัญมาก ๆ ต่อการที่เด็กคนหนึ่งจะเติบโตขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพได้ และได้สรุปพฤติกรรมผิด ๆ ห้าอย่างของพ่อแม่ที่อาจจะส่งผลให้เด็กในครอบครัวนั้นเติบโตมาเป็นคนเห็นแก่ตัวและรู้สึกตัวเองมีสิทธิ์ที่จะทำอะไรก็ได้โดยไม่มีความผิด

1.    ได้หมดทุกอย่าง

มีงานศึกษาชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Science Daily (sciencedaily.com) ที่บ่งชี้ว่าเด็กๆ ที่เติบโตขึ้นมาพร้อมกับความรู้สึกถึงการมีสิทธิ์กับทุกอย่าง ซึ่งมาจากการโอ๋ลูกมากเกินไปและตามใจลูกเกินไป มักจะคิดถึงแต่ตัวเอง แสดงความเห็นอกเห็นใจผู้อื่นน้อยลง ขาดจรรยาบรรณในการทำงานที่เข้มแข็ง และอาจประพฤติตนราวกับว่ากฎเกณฑ์ไม่มีผลบังคับใช้กับพวกเขาได้

การสอนเรื่องความเห็นอกเห็นใจคนอื่นนั้นต้องมีการบอกว่า ‘ไม่ได้นะลูก’ บ้างบางครั้ง ‘ไม่ได้นะลูก อันนี้ลูกทำเลอะ หนูจะต้องเก็บกวาดเองนะลูก’ ‘ไม่นะลูก ของเล่นที่บ้านหนูมีเยอะมากแล้ว’ ‘ไม่นะลูก ของเล่นอันนี้ราคาแพงเกินไปและพ่อกับแม่ยังซื้อให้ไม่ได้’ ‘ไม่ได้นะลูก การพูดจากับผู้ใหญ่แบบนั้นไม่เพราะเลยนะ’

แน่นอนว่าตามใจมากเกินไปก็ไม่ดี จะบอกว่า ‘ไม่’ กับทุกอย่างก็ไม่ได้ เพราะฉะนั้นต้องหาจุดสมดุลย์ให้ดีด้วย แต่ที่สำคัญก็คือการแสดงให้เห็นว่าเมื่อมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม มันจะมีผลที่ตามมาเสมอ และเด็ก ๆ ก็ควรที่เห็นผลเหล่านั้นด้วย

สมมุติถ้าเราเห็นลูกตะโกนด่าเพื่อนในห้อง เรียกชื่อที่ไม่เหมาะสมอย่าปล่อยเลยตามเลยครับ ห้ามเด็ดขาด หรือเขาทำพฤติกรรมไม่ดีอย่างหยิบของเล่นจากโรงเรียนมา เราต้องทำให้เห็นเลยว่านี่เป็นสิ่งที่ไม่สมควรทำ พูดกับเขาด้วยเหตุผลเลยว่า ‘พ่อ/แม่ ไม่โอเค กับสิ่งที่หนูทำ การทำ...เป็นสิ่งที่ไม่สมควรและหนูจะโดนลงโทษโดยการ...’ ก็กำหนดบทลงโทษไปครับ ไม่ให้กินขนม ไม่ได้เล่นเกม ฯลฯ เป็นเวลานานเท่าไหร่ให้สมควร สิ่งสำคัญคือเขารู้ว่าสิ่งที่ทำนั้นมีผลที่ตามมา และผลที่ตามมาเขาก็ไม่ชอบสักเท่าไหร่

2.    ใช้ทุกโอกาสให้เป็นการสอนให้เขาคิดถึงคนอื่นด้วย

เรารู้ว่าเด็ก ๆ นั้นฟังเราอยู่ตลอดเวลา พวกเขาเฝ้าดูว่าเราจะตอบสนองต่อสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นยังไงบ้าง ทั้งเรื่องเล็กและเรื่องใหญ่ การจะสอนให้เขาคิดถึงจิตใจหรือความรู้สึกของคนอื่นนั้นสามารถเกิดขึ้นได้ในทุก ๆ วันเลย และเราก็สามารถที่ใช้โอกาสจากสิ่งที่เกิดขึ้นให้เป็นประโยชน์ได้ด้วย

ยกตัวอย่างเช่นเราอาจจะกำลังนั่งวาดรูปเป็นการ์ดกับลูกเพื่อเอาไปให้คุณครูเป็นการแสดงความขอบคุณ ระหว่างที่วาดก็อาจจะถามลูกไปด้วยว่าหนูอยากวาดรูปอะไรหล่ะ ลูกก็อาจจะตอบว่า เต่า นก (หรืออะไรก็ตามที่เขาชอบ) แล้วจังหวะนี้ก็อาจจะถามต่อไปได้เลยว่า ‘แล้วคุณครูชอบเต่าหรือนกไหมนะ? หรือคุณครูชอบอย่างอื่น?” ลูกก็อาจจะต้องคิดนิดหนึ่ง อย่างน้อย ๆ ตอนนี้เขาก็จะได้เห็นแล้วว่าแต่ละคนก็มีความชอบที่แตกต่างกัน รู้สึกแตกต่างกัน การสอนให้เขาเห็นใจคนอื่นนั้นสามารถเกิดขึ้นได้แม้ในบริบทที่เล็ก ๆ ในชีวิตประจำวันแบบนี้

3.    ไม่อธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริง

เมื่อเด็กอายุได้ประมาณ 8 ขวบ เขาจะเริ่มเข้าใจแล้วว่าความรู้สึกของคนอื่นนั้นอาจจะไม่ได้มาจากสิ่งที่เกิดขึ้นตอนนั้น แต่เป็นผลมาจากสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตโดยรวมต่างหาก พูดอีกอย่างหนึ่งคือเขาเริ่มจะแยกแยะออกแล้วว่าตัวเองอาจจะไม่เหมือนคนอื่นและทุกคนแตกต่างกัน อาจจะมีกลุ่มคนที่เขาได้พบเจออาจจะเป็นชนกลุ่มน้อยหรืออ่านเจอในข่าว ได้ยินจากโซเชียลมีเดีย หรือจากที่ไหนก็ตาม ให้เราใช้เวลาตรงนี้อธิบายให้ลูกเข้าใจถึงสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น การแสดงความเห็นใจ สนับสนุน หรือการเป็นปากเสียงแทนกลุ่มคนที่ถูกกดขี่นั้นไม่ใช่เรื่องผิด ยิ่งเราสอนเขาได้ดีเท่าไหร่ในช่วงนี้ ยิ่งทำให้เขาเห็นถึงความสำคัญของมันเมื่อโตขึ้นมาและเข้าสังคมที่แตกต่างมากขึ้นกว่าเดิม

4.    ให้ทุกอย่างโดยไม่ต้องรู้สึกขอบคุณ

การทำงานเล็ก ๆ น้อย ๆ ในบ้านเพื่อค่าขนม หรือการช่วยกันเก็บกวาดบ้านหลังเลิกเรียนเป็นการช่วยสอนเด็ก ๆ ให้เข้าใจความสำคัญของการทำงานเป็นทีมและการอยู่ในสังคมด้วย เด็ก ๆ เรียนรู้ที่จะขอบคุณก็ต่อเมื่อพวกเขาไม่ได้ทุกอย่างที่ต้องการ ต้องตั้งเงื่อนไขและบอกปฏิเสธบ้างในบางครั้ง สอนให้พูดคำว่า ‘ขอบคุณ’ เยอะ ๆ ไม่ว่าของจะเล็กน้อยแค่ไหนก็ตาม ทุกคืนก่อนนอนก็อาจจะถามลูก ๆ ซ้ำ ๆ ทุกวันว่า “วันนี้ลูกมีเรื่องที่จะขอบคุณอะไรบ้าง?” อาจจะเป็นเรื่องเล็กน้อยอย่างขอบคุณที่ได้ไปเล่นกับเพื่อนที่โรงเรียน ขอบคุณที่คุณครูสอนสนุก ขอบคุณที่ได้ไปวิ่งเล่นที่สวนข้างบ้าน ฯลฯ

5.    ไม่เคยให้ลองทำงานจิตอาสา

เราไม่มีทางที่จะรู้ได้หรอกว่าประสบการณ์ของแต่ละคนนั้นเป็นยังไง แต่เราสามารถที่จะแสดงความเห็นอกเห็นใจคนอื่นได้ในการทำงานจิตอาสาหรืองานอาสาสมัคร ซึ่งมีเต็มไปหมดเลยในบ้านเรา ซึ่งการได้ไปเห็นหรือทำงานจิตอาสาแบบนี้จะทำให้เขาเห็นโลกที่กว้างขึ้น เห็นว่าโลกยังมีปัญหาอีกมากมาย ยังมีอะไรคนที่ต้องการความช่วยเหลือ ต้องการการดูแล ทำให้เขาเห็นว่ามนุษย์ทุกคนนั้นแตกต่างกัน โลกจะหมุนรอบตัวเราไม่ได้ และที่สำคัญที่สุดคือให้เกียรติทุกคนอย่างเท่าเทียมกันไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม

เด็ก ๆ ที่เติบโตมาในยุคสมัยที่เต็มไปด้วยสิ่งล่อตาล่อใจ พ่อแม่เองก็ยุ่งวุ่นวายกับการทำงานหาเลี้ยงครอบครัว มันง่ายมากที่จะหลงลืมและมองข้ามการปลูกฝังสิ่งที่สำคัญอย่างการเห็นอกเห็นใจคนอื่นและผลของการกระทำบางอย่าง แต่อย่าลืมว่าเด็ก ๆ ที่เกิดมานั้นคือความรับผิดชอบที่ใหญ่หลวงที่สุดของเราต่อโลกใบนี้ เพราะพวกเขาคืออนาคต ที่จะกลายเป็นคนขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงต่อไป อย่าปล่อยปละละเลยและมองว่ามันไม่เป็นไร เราอยากสอนลูกว่าทุกอย่างที่ทำนั้นมีผลตามมาเสมอ เราเองก็ต้องเข้าใจจุดนั้นด้วยว่าทุกอย่างที่เราทำ...มีผลที่ตามมากับลูกเสมอ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook