เพราะเหตุใดกัน? : ทำไมแบรนด์นาฬิกา OMEGA ถึงไปจับมือทำยานเก็บขยะจากบนอวกาศ

เพราะเหตุใดกัน? : ทำไมแบรนด์นาฬิกา OMEGA ถึงไปจับมือทำยานเก็บขยะจากบนอวกาศ

เพราะเหตุใดกัน? : ทำไมแบรนด์นาฬิกา OMEGA ถึงไปจับมือทำยานเก็บขยะจากบนอวกาศ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

หากพูดถึงชื่อของ OMEGA แบรนด์นาฬิกาสัญชาติสวิส หลายคนอาจมีภาพจำกับมหกรรมกีฬาอย่างโอลิมปิก เกมส์ ที่พวกเขาเป็นผู้สนับสนุนอุปกรณ์จับเวลามาตั้งแต่ปี 1932 และใช้งานต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

แต่นี่ไม่ใช่ผลงานชิ้นโบว์แดงเพียงหนึ่งเดียวของแบรนด์นาฬิกาสุดหรูรายนี้ เพราะนอกจากถูกสวมใส่โดยเหล่านักแสดงชั้นนำจากภาพยนตร์เรื่องต่าง ๆ แล้ว Omega ยังเป็นนาฬิกาแบรนด์เดียวที่ผ่านการทดสอบจากองค์การนาซา ให้นักบินอวกาศสามารถสวมใส่ไปลงดวงจันทร์ได้

บัซ อัลดริน นักบินยานลงสำรวจดวงจันทร์ของภารกิจอพอลโล 11 คือผู้สวมใส่นาฬิการุ่น Speedmaster Professional ที่ดัดแปลงตัวสายให้เป็นเทปเวลโคร (เทปตีนตุ๊กแก) ลงไปเดินบนดวงจันทร์เป็นคนแรกในประวัติศาสตร์ ทว่านาฬิกาของเขากลับสูญหายไปในปี 1971 ขณะเคลื่อนย้ายเพื่อนำไปจัดแสดง ส่วนนาฬิกาของ นีล อาร์มสตรอง นั้นถูกแขวนไว้เป็นตัวจับเวลาบนยานแทน เจ้าตัวเลยไม่ได้นำมาสวมลงไปที่ดวงจันทร์ด้วย 

Photo : monochrome-watches

แต่ก่อนที่ข้อมูลข้างต้นจะถูกนำไปอ้างอิงโดยเหล่านักทฤษฎีสมคบคิด เราก็ยังมีนาฬิกาจากภารกิจอพอลโล 12-17 ที่ถูกใส่ลงดวงจันทร์จริงมาจัดแสดงไว้ในปัจจุบัน เพราะนาฬิการุ่นดังกล่าวคือสิ่งที่ทางนาซาแจกให้กับนักบินอวกาศทุกคน เพื่อนำไปใช้จับเวลาระหว่างภารกิจ หรืออาจเอาไว้เช็คดูว่าตอนนี้บ้านของพวกเขาเป็นเวลากี่โมงแล้วก็ได้เช่นกัน

ถึงแม้มนุษย์จะยังไม่ได้กลับไปดวงจันทร์อีกครั้ง แต่ล่าสุดทาง Omega ได้แถลงข่าวว่าพวกเขาเตรียมกลับขึ้นสู่อวกาศอีกหน โดยรอบนี้ไม่ได้เป็นเพียงการส่งนาฬิกาขึ้นไปนอกโลกเพียงอย่างเดียว แต่เป็นการขึ้นไปช่วยเก็บกวาดเหล่าขยะอวกาศในวงโคจร

อาจฟังดูเป็นเรื่องที่ชวนให้ขมวดคิ้ว ว่าทำไมแบรนด์นาฬิกาต้องมาทำภารกิจเก็บขยะนอกโลกกันด้วย แต่ในความเป็นจริงแล้วภัยจากขยะอวกาศนั้นอยู่ใกล้ตัวเรา และอาจมีผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันมากกว่าที่คิดเลยทีเดียว

Photo : omegawatches
 
ระบบนำทางด้วยมือถือ เตือนภัยพิบัติ พยากรณ์สภาพอากาศ ต่างพึ่งพาอาศัยดาวเทียมในวงโคจรนอกโลก ซึ่งในปัจจุบันมีจำนวนของชิ้นส่วนขนาดใหญ่กว่า 10 เซนติเมตร มากกว่า 36,000 ชิ้น กระจายตัวอยู่รอบโลกของเรา แบ่งเป็นดาวเทียมที่ยังใช้งานได้ 3,400 ดวง และใช้งานไม่ได้อีกมากกว่า 5,000 ดวง

ให้นึกภาพว่านี่คือทางด่วนที่มีรถจอดเสียกระจายอยู่ทั่ว แต่ยังเคราะห์ดีที่ยังไม่เคยมีเหตุชนกันอย่างรุนแรงในรอบ 60 ปีที่ผ่านมา (เคยมีชนแบบตั้งใจและไม่ตั้งใจ ทว่าผลกระทบหรือความรุนแรงนั้นไม่ได้เป็นอันตรายมากนัก) แต่หากมีเศษขยะอวกาศชิ้นหนึ่งพุ่งไปชนเข้ากับชิ้นส่วนอีกชิ้น ไม่ว่าจะเป็นดาวเทียมที่ใช้ได้หรือใช้ไม่ได้แล้วก็ตาม อาจเกิดเป็นปฏิกิริยาลูกโซ่ หรือ Kessler Syndrome นั่นคือมันจะชนกันไปเป็นทอด ๆ แบบที่เคยปรากฏในหนังเรื่อง Gravity 

แม้ตอนนี้จะยังไม่มีเหตุการณ์ดังกล่าว แต่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าด้วยอัตราการปล่อยจรวดที่เพิ่มพูนขึ้นทุกปี โดยที่ยังไม่มีวิธีเก็บกู้หรือนำดาวเทียมที่พังแล้วไปทิ้งอย่างยั่งยืน ก็คงอีกไม่นานเกินรอที่ Kessler Syndrome จะเพิ่มจำนวนขยะอวกาศจากหลักหมื่นชิ้นให้กลายเป็นทรงกลมที่ปกคลุมไปด้วยเศษชิ้นส่วนนับล้าน และพันธนาการมนุษยชาติไว้ให้อยู่บนพื้นโลกไปอีกสักพักใหญ่ ๆ โดยไม่อาจใช้งานเทคโนโลยีใด ๆ ที่ต้องพึ่งพาอาศัยดาวเทียมได้อีก

Photo : omegawatches

นั่นจึงทำให้ Omega ประกาศจับมือกับ ClearSpace บริษัทสัญชาติเดียวกัน ที่ได้เซ็นสัญญามูลค่า 78 ล้านยูโร กับทางองค์การอวกาศยุโรป หรือ ESA เพื่อเก็บกู้ชิ้นส่วนจรวดที่ไม่ได้ใช้งานแล้ว และนำกลับมาเผาไหม้ในชั้นบรรยากาศโลกภายในปี 2025 นี้

ทางแบรนด์ได้ย้ำถึงจิตวิญญาณความเป็นนักบุกเบิกที่ลุยทั้งสมรภูมิรบ ลงไปใต้มหาสมุทร หรือบุกไปยังพื้นผิวดวงจันทร์ ผ่านความร่วมมือที่จะบุกเบิกภารกิจเก็บกู้ขยะอวกาศให้สำเร็จ โดย เรยโนลด์ เอสชิลมันน์ ซีอีโอของ Omega ระบุว่า "เป็นก้าวย่างที่สมเหตุสมผลของแบรนด์ที่เปี่ยมด้วยประวัติศาสตร์อันน่าภาคภูมิใจของทั้งการสำรวจอวกาศและการอนุรักษ์โลก" แถมยังเสริมว่าโครงการนี้เป็น "หนึ่งในโครงการที่สำคัญ เต็มไปด้วยแรงบันดาลใจ และน่าตื่นเต้นที่สุดตั้งแต่การไปดวงจันทร์ในสมัยโครงการอพอลโล" เลยทีเดียว

เช่นเดียวกับที่หลายหน่วยงานบนโลกที่กำลังรณรงค์เรื่องการจัดการขยะ อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ลดการปล่อยคาร์บอน และช่วยกันลดการใช้ทรัพยากรบนโลก ดังที่เห็นกันตามมหกรรมกีฬาใหญ่ ๆ อย่าง โอลิมปิก หรือ ฟุตบอลโลก เป็นต้น อวกาศก็เป็นอีกหนึ่งพรมแดนที่เต็มไปด้วยขยะ และการนำทรัพยากรต่าง ๆ ขึ้นไปปล่อยทิ้งไว้ โดยนอกจากยานที่มีมนุษย์เดินทางไปด้วยหรือภารกิจเก็บตัวอย่างกลับมาสู่พื้นโลกแล้ว เราแทบไม่มีแผนรองรับว่าจะเอายานหรือดาวเทียมที่หมดอายุเหล่านี้ไปเก็บหรือทิ้งไว้ตรงไหนเลย

Photo : monochrome-watches

ดังนั้นการจับมือของแบรนด์ผู้ผลิตนาฬิกาที่ต้องอาศัยความประณีตในการผลิตชิ้นงาน มารวมกับบริษัทที่ต้องอาศัยความประณีตในการเคลื่อนไหวบนอวกาศ เพื่อนำขยะน้อยใหญ่มาทิ้งให้ถูกที่ และป้องกันไม่ให้เกิดเหตุรถขยะพลิกคว่ำ จนกลายเป็นหายนะกลางเวหา จึงเป็นดีลที่น่าสนใจและน่าจับตามองอย่างยิ่งว่า เราจะได้เห็นเทรนด์การรักษ์โลกจากบนอวกาศของแบรนด์ไหนเพิ่มเติมอีก

นั่นเพราะภาพของอวกาศที่ดูเป็นเรื่องของยอดนักวิทย์สุดเนิร์ดและไกลห่างจากชีวิตประจำวันของคนธรรมดาอย่างเรา ๆ นั้น คือภาพจำที่กลายเป็นอดีตไปแล้ว

แหล่งอ้างอิง:

https://clearspace.today/omega-joins-clearspace-to-clean-up-space/
https://www.omegawatches.com/stories/omega-returns-to-space

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook