คุยกับเพจ SNEAKER ON SIGHT : เหตุใดรองเท้าวิ่งถึงกลายเป็นสนีกเกอร์สุดที่รักของคนไทย

คุยกับเพจ SNEAKER ON SIGHT : เหตุใดรองเท้าวิ่งถึงกลายเป็นสนีกเกอร์สุดที่รักของคนไทย

คุยกับเพจ SNEAKER ON SIGHT : เหตุใดรองเท้าวิ่งถึงกลายเป็นสนีกเกอร์สุดที่รักของคนไทย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา กระแสการออกกำลังกายได้รับความนิยมมากในประเทศไทย แต่ไม่มีกีฬาประเภทไหนจะได้รับความนิยมไปมากกว่าการวิ่ง ซึ่งเป็นกระแสที่มีแต่จะเพิ่มขึ้น โดยไม่มีวี่แววว่าจะลดน้อยลงเลยในบ้านเรา

กระแสของการวิ่งได้นำไปสู่ความนิยมของรองเท้าวิ่งด้วยเช่นกัน ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะเป็นแบบนั้น หากแต่ว่าความนิยมของรองเท้าวิ่งในประเทศไทยจะไม่ได้หยุดอยู่ที่แค่การออกกำลังกาย แต่ในชีวิตประจำวันวันทั่วไป เรายังคงเห็นคนใส่รองเท้าวิ่งไปทำกิจกรรมต่าง ๆ จำนวนมาก ทั้งไปเดินห้าง, ไปเที่ยวตามสถานที่ต่าง ๆ , ไปนั่งร้านกาแฟ, ไปกินข้าวกับเพื่อน สามารถใส่ไปได้ทุกทีที่อยากจะใส่ 

ถ้าคุณไม่เคยสงสัยก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าคุณเคยสงสัยเหมือนกับเราว่า ทำไมรองเท้าวิ่งถึงกลายเป็นสนีกเกอร์กระแสหลักในประเทศไทยเกินหน้าเกินตารองเท้าประเภทอื่นไปมาก Main Stand จะพาคุณไปหาคำตอบพร้อมกับ เอม – ธนาวัต นุตสถิตย์ เจ้าของเพจ Sneaker on Sight ที่มีผู้ติดตามทาง Facebook มากกว่า 150,000 คน 

หนุ่มผู้หลงรักรองเท้าผ้าใบจะมาหาช่วยเราหาคำตอบว่า เหตุใดคนไทยถึงรักรองเท้าวิ่งมากถึงเพียงนี้ ปรากฏการณ์บูมของรองเท้าวิ่งครั้งนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร และมันส่งผลอะไรกับโลกสนีกเกอร์บ้าง

จุดเริ่มต้นของรองเท้าวิ่งกับวงการสนีกเกอร์ เริ่มมาจากจุดไหน

จริง ๆ รองเท้าสนีกเกอร์คือรองเท้ากีฬานี่แหละครับ รากศัพท์ของมันมาจากรองเท้าที่ใช้เล่นกีฬา ซึ่งไม่ใช่รองเท้าไม้ เพราะสมัยก่อนเขาจะใช้รองเท้าที่พื้นเป็นไม้เล่นกีฬา ซึ่งมันทำให้พื้นสนามเป็นรอย เพราะพื้นไม้มันแข็ง 

จนกระทั่งบางบริษัทลองเราเอายางมาผลิตพื้นรองเท้าดูบ้าง เขาก็เรียกรองเท้าพวกนี้ว่า “สนีกเกอร์” ซึ่งคำนี้มันก็มีมานานแล้วละ แต่ว่าตอนนั้นรองเท้าพวกนี้มันก็คือรองเท้ากีฬา รองเท้า performance เพราะที่สหรัฐอเมริกาสมัยก่อน เขาห้ามเอารองเท้าเล่นกีฬาไปใส่ในชีวิตประจำวัน เพราะมันจะเอาฝุ่นเข้ามาในสนาม ทำให้รองเท้าเสีย 
 
ส่วนตัวผมมองว่าคำว่า สนีกเกอร์ กลายเป็นความหมายของรองเท้าไลฟ์สไตล์ตอนยุค 80s ที่เริ่มมีการตลาดเข้ามา มีการเล่าเรื่องของรองเท้า มีการบอกว่าทำไมรองเท้าคู่นี้ต้องใช้สีนี้ 

ผมคิดว่ามูฟเมนต์สำคัญของรองเท้าสนีกเกอร์คือปี 1987 ที่ ทิงเกอร์ แฮตฟิลด์ ออกแบบรองเท้า Nike Air Max 1 ขึ้นมา เป็นครั้งแรกที่เราเห็นอะไรแปลก ๆ ที่เป็นการเอาสิ่งที่ดูไม่เข้าท่าไปใส่ในรองเท้า ตอนนั้นเขาทะเลาะกับฝ่ายการตลาดหนักมากว่า รองเท้าแบบนี้ทำไปใครจะซื้อ รองเท้าที่มันแหว่ง ๆ แบบนี้ แต่ผลปรากฏว่ามันเป็นหนึ่งในรองเท้าที่ประสบความสำเร็จมาก 

 

อีกอย่างคือในปีนั้น Nike ออกรองเท้า Nike Air Safari คือการเอาตัว Air Max มาแล้วยกเทคโนโลยีออก ใส่ลวดลายของหนังสัตว์ลงไปแทน สำหรับผมนี่คือสนีกเกอร์คู่แรกที่เป็นรองเท้าไลฟ์สไตล์จริง ๆ มันเป็นเหมือนจุดเริ่มต้นของไอเดียที่ว่า เราต้องทำรองเท้าที่แคร์คนนอกสนามบ้าง

แต่ผมว่ากว่ารองเท้าสนีกเกอร์จะมาเป็นแฟชั่นจริง ๆ เริ่มมีคนสะสมจริงจังคือช่วงกลางยุค 90s ไปจนถึงยุคปลาย เพราะเหมือนช่วงกลางยุค 80s เป็นช่วงที่ประวัติศาสตร์เริ่มเกิด ไม่มีใครบันทึกเรื่องราวตรงนั้นไว้ว่า เราต้องเก็บอะไร สะสมยังไง แต่พอผ่านไป 10 ปี ผมว่ามันเริ่มมีข้อมูล มีแนวทางในการเก็บสะสม กลุ่มคนก็ขยายตัวมากขึ้น 

บวกกับมันจะมีเหตุการณ์ที่วง Boyz II Men ใส่รองเท้า Jordan 11 ไปขึ้นรับรางวัล (ปี 1995) มันก็เริ่มเป็นตัวจุดประกายให้คนเห็นว่า ใส่รองเท้ากีฬานอกสนามมันก็คูลดี

ช่วงนั้น adidas ก็มีสีสันของตัวเองเหมือนกัน จากที่เคยทำรองเท้าวิ่งแค่สีขาวกับสีดำ ก็เริ่มทำรองเท้าสีแปลก ๆ ออกมา แล้วบางคนก็เริ่มเอารองเท้าวิ่งพวกนี้มาใส่ในชีวิตประจำวัน 

ยุค 90s ณ เวลานั้น รองเท้าวิ่งได้รับความนิยมมากแค่ไหน

ผมคิดว่าในยุค 90s รองเท้าวิ่งยังเป็นตัวรอง ผมคิดว่ารองเท้าที่หวือหวาที่สุดมันคือรองเท้าบาส เพราะบาสเกตบอลตอนนั้นคือกีฬาระดับโลกจากฝั่งอเมริกา ตั้งแต่ ไมเคิล จอร์แดน ไปเล่นโอลิมปิก เกมส์ (ปี 1992) ทั้งโลกก็ได้รู้จัก ไมเคิล จอร์แดน ทำให้บาสเกตบอลกลายเป็นกีฬาที่เข้าถึงง่ายทันที ทุกอย่างมันก็ไปอยู่ตรงนั้นหมด เทคโนโลยี, การตลาด, อำนาจของรองเท้า

รองลงมาสำหรับผมคือรองเท้าสเกตบอร์ด เหมือนกับว่าบาสเป็นกระแสหลัก สเกตคือกระแสรอง ด้วยความที่กีฬาสเกตไม่มียูนิฟอร์มในการเล่น คนที่ใส่รองเท้าคือเขาใส่รองเท้าที่เป็นตัวตนของเขาจริง ๆ มันก็เลยกลายเป็นเอกลักษณ์ เป็นคาแร็กเตอร์ของแต่ละคนไปในตัว ซึ่งรองเท้าเป็นส่วนหนึ่งในนั้น

 

ส่วนรองเท้าวิ่งคือรองลงมากว่านั้นอีก เพราะยุคนั้นคนไม่ได้สนใจกีฬาวิ่ง ไม่มีใครมาสนใจว่านักวิ่งคนไหนจะทำลายสถิติโลก คนสนใจมากกว่าว่าทีมบาสทีมไหนจะได้แชมป์ 

ผมว่าในอดีตเราไม่เคยมีวัฒนธรรมการดูกีฬาวิ่งมาก่อน เราแทบไม่รู้เลยว่านักวิ่งชื่อดังมีใครบ้าง จำได้อย่างมากแค่ 2-3 คน ทั้งที่นักวิ่งมีเป็นหมื่นคน 

แต่ถ้าเราชอบฟุตบอลหรือบาสเกตบอล เราจำนักกีฬาได้อย่างน้อยเป็นร้อยคน เพราะมันมีวัฒนธรรมการเชียร์กีฬาอยู่ในนั้น 

ในยุคนั้นมีความการผลักดันให้รองเท้าวิ่งเป็นรองเท้าแฟชั่นไหม

จริง ๆ ก็มีอยู่ตลอดนะครับ สำหรับ Nike น่าจะเป็น Air Max 1 นี่แหละครับ 

หลายคนมาเข้าใจว่า Nike เพิ่งจะมาให้ความสนใจช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา แต่รองเท้าตระกูล Air Max ทาง Nike ทำออกมาขายใหม่ทุกปี เพียงแต่มันโดนเอาไปวางขายแบบธรรมดา ๆ ไม่มีการเล่าเรื่องใด ๆ คนก็เลยไม่สนใจมาก ยกเว้นคนที่สะสมรุ่นนี้จริง ๆ

ส่วน adidas ก็จะมี ZX หรือ Reebok ก็จะมี Reebok Instapump Fury แต่ว่าสุดท้ายแล้วมันก็ขึ้นอยู่กับแต่ละแบรนด์ว่าเขาจะให้ความสำคัญกับรองเท้ารุ่นไหน เขาจะมีมุมของเขาอยู่

 

ด้วยความที่กลุ่มลูกค้าของรองเท้าวิ่งไม่ได้เป็นกลุ่มใหญ่ เขาก็ไม่อยากใส่อะไรลงไปเยอะ ทั้งเรื่องการตลาด, เทคโนโลยี, การโฆษณา เพราะถ้าผลตอบรับกลับมาไม่ดี แบรนด์ก็เสียหาย

ในความรู้สึกส่วนตัวของผมนะ มันจะมีคนกลุ่มหนึ่งที่เขามองว่า กีฬาวิ่งคือกีฬาที่วัดศักยภาพของมนุษย์เต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ บางคนถึงเรียกร้องให้มีการแบนรองเท้าบางรุ่น เพราะเขารับไม่ได้ที่การวิ่งจะไม่ใช่การแข่งขันที่ตัวมนุษย์ร้อยเปอร์เซ็นต์ 

ผมมองว่านี่คือเหตุผลที่ทำให้สมัยก่อน คนไม่สนใจรองเท้าวิ่งเท่ากับรองเท้าบาสหรือรองเท้าสเกต 

เพราะคนที่ไม่เล่นกีฬายังรู้จักกับรองเท้าบาสหรือสเกต แต่ถ้าไม่ใช่คนที่วิ่งก็แทบไม่มีใครรู้จักรองเท้าวิ่งเลย

 
แม้แต่ตัวนักกีฬาเอง คนเล่นบาสหรือสเกตก็ใส่ใจ สนใจกับรองเท้าของตัวเองมากกว่านักกีฬาวิ่ง

จุดไหนที่รองเท้าวิ่งเข้ามามีบทบาทจริง ๆ กับรองเท้าสนีกเกอร์ 

ผมว่ารองเท้าวิ่งเข้ามามีบทบาทจริง ๆ ช่วงยุค 2010s ที่ผ่านมา หรือจะคิดว่าเป็นทศวรรษที่ผ่านมาก็ได้ครับ ซึ่งมันถูกจุดขึ้นด้วยกระแสการวิ่งที่กำลังมา 

แต่ผมว่ารองเท้าที่เซอร์ไพรซ์ผมมาก สำหรับประเทศไทยคือคู่นี้ Nike Roshe Run (วางจำหน่ายครั้งแรกปี 2012) เขาทำรองเท้านี้ขึ้นมาโดยบอกว่าได้แรงบันดาลใจมาจากรองเท้าวิ่ง แต่ทำมาในคอนเซปต์ของปรัชญาเซน คือต้องเรียบง่าย น้อยแต่มาก แล้วก็ทำให้มันถูกด้วย ราคาประมาณ 2,000 บาทเอง เพราะด้วยคอนเซปต์ของเขาคือ มันต้องเรียบง่ายตามปรัชญาเซน

 

ตอนผมฟังสตอรี่ที่ Nike เล่าทั้งหมด ตอนแรกผมงงมากว่าเขาทำมาทำไมวะ (หัวเราะ) รูปทรงธรรมดา ผ้าก็ธรรมดา พื้นรองเท้าเขาก็ไม่ได้เลือกเทคโนโลยีที่ดีมาทำ คือเขาก็พยายามเล่าเรื่องนะ เอามาสเตอร์ของปรัชญาเซนมาวาดรูป มันก็มีความเพ้อเจ้อนะ 

แต่ปรากฏว่าขายดีมาก โดยเฉพาะรุ่นที่เป็นสีขาว-ดำ เพื่อนผมมาถามเยอะมากว่า อยากได้รองเท้า Nike ขาว-ดำ ช่วยหาให้หน่อย ตอนแรกผมก็งงว่ารุ่นไหน มีเป็นร้อยรุ่น Nike สีขาว-ดำ (หัวเราะ) แต่ปรากฏว่าเป็นรุ่นนี้

ผมว่าตอนนั้นคือจุดเริ่มต้นที่ผมเห็นว่าคนตามหารองเท้าแบบนี้อยู่ รองเท้าที่เรียบง่าย ใส่ง่าย แต่งตัวง่าย คือรองเท้ารุ่นนี้มันก็ไม่ใช่รองเท้าวิ่งนะครับ แค่ได้รับแรงบันดาลใจมา 

แต่ด้วยความที่มัน 2,000 บาท ใส่สบาย แต่งตัวง่าย คนก็ซื้อ ๆ ไป ไม่ได้คิดมาก เพราะในยุคนั้นถ้าเป็นรองเท้าราคา 3,000 คนจะคิดมากแล้วครับ พวก Superstar กับ Stan Smith บางคนก็ไม่กล้าซื้อ มองว่ามันแพงไป

 
คือ Nike Roshe Run เป็นรองเท้าที่ใส่ง่ายมาก เหมือน Vans หรือ Converse เลย คือสมัยก่อนก็มีรองเท้าวิ่งที่คนเขาใส่กันนะครับ แต่มันไม่สบายเท่านี้ ซึ่งผมว่าคนไทยต้องการรองเท้าที่ใส่สบาย เป็นเรื่องของการใช้งานมากกว่า ซึ่งผมมองว่ารองเท้ารุ่นนี้ทำให้คนไทยยอมรับกับรองเท้าสไตล์นี้ 

แต่ว่ารองเท้าวิ่งที่เปลี่ยนโลกจริง ๆ คือ adidas Ultra Boost (วางจำหน่ายครั้งแรกปี 2015) นี่คือรองเท้าที่ขีดเส้นเลยว่าเป็นการเข้าสู่ยุคใหม่ของวงการสนีกเกอร์ คู่นี้คู่เดียวเลยไม่ใช่คู่อื่น

 

Ultra Boost คือรองเท้าที่ใส่สบายแบบไม่เคยมีมาก่อน ผมว่าตอนนั้นคนเริ่มติดรองเท้าที่ใส่สบาย เริ่มอยากหาตัวเลือกที่ใหม่ขึ้น ผมว่าคนพร้อมเปิดรับทันที

ตอนนั้นผมทำงานพาร์ตไทม์อยู่ที่ร้าน Ari Running ยุคนั้นรองเท้าวิ่งราคา 4,000 ก็ขายยากแล้วครับ จริง ๆ แค่ 3,000 บาท คนก็บ่นแล้ว พอ Ultra Boost เปิดตัวมาที่ 6,500 บาท ผมว่ามันแพงมาก ๆ แต่กลายเป็นว่าคนซื้อกันจนของขาดตลาดกันเป็นปีเลย 

 
ผมว่ามันเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้คนหันมาใส่รองเท้าแบบนี้จริงจังเลย ผมว่ารองเท้าคู่นี้แหละที่เปลี่ยนทุกอย่าง คนหยุดใส่รองเท้าแบบอื่น แบบว่าพอแล้วพักไว้ก่อน ขอมาใส่อะไรแบบนี้บ้าง 

อีกอย่างที่สำคัญคือ บางคนก่อนหน้านี้ไม่กล้าใส่รองเท้าวิ่ง เพราะไม่อยากดูเหมือนจะไปวิ่ง จนกระทั่ง คานเย เวสต์ เอา Ultra Boost ไปใส่ คนก็เลยรู้สึกว่า ถ้าเราจะแต่งตัวแบบคานเย ก็ใส่ Ultra Boost ได้เหมือนกัน มันก็ทำให้เราเขินน้อยลงเวลาเราใส่รองเท้าวิ่งกับการแต่งตัวทั่วไป 

ผมว่ามันเหมือนกับกรณีของ Boyz II Men ใส่ Jordan 11 คือไอคอนของยุคสมัยใส่รองเท้าสักคู่ จนทุกวันนี้การใส่รองเท้าวิ่ง เป็นเรื่องปกติไปแล้ว จากที่ในอดีตไม่มีใครอยากแต่งตัวเหมือนจะไปเข้ายิม แต่ทุกวันนี้การไปเข้ายิมก็กลายเป็นกระแสหลักในสังคมไปแล้ว ซึ่งเป็นกระแสที่ผมว่าน่ายกย่องนะ 

ผมมองว่า Ultra Boost มันทำลายกำแพงของการที่คนยอมจ่ายเงินซื้อรองเท้าวิ่งราคาแพง ผมว่ามันเป็นอย่างนั้นจริง ๆ ความต้องการของรองเท้ารุ่นนี้ไม่ได้ค่อย ๆ ขึ้นนะ แต่มันดีดขึ้นมาเลยแล้วไม่ลงด้วย ตอนนั้นคือ adidas ผลัก Nike ตกบัลลังก์ไปเลย

 

Nike เขาก็พยายามแก้เกมนะ ซึ่งผมว่ามันก็มีส่วนที่นำไปสู่การเกิดแคมเปญ Breaking2 ที่ผมมองว่าเป็นแคมเปญสำคัญที่ดึงกระแสของการวิ่งในประเทศไทยขึ้นมา

ตอนนั้นเขาทำโปรเจ็กต์ขึ้นมา ที่จะพานักวิ่งมาราธอนวิ่งให้จบภายใน 2 ชั่วโมง ผมว่าหลังจากนั้นมันเกิดสปิริตของการเชียร์กีฬาวิ่งขึ้นมา กับการลุ้นว่า เอลิอุด คิปโชเก้ จะวิ่งมาราธอนให้จบใน 2 ชั่วโมงได้จริงไหม 

คือถ้าคิปโชเก้ทำได้ง่าย ๆ ผมว่ามันคงไม่มาถึงขนาดนี้ แต่ตอนนั้นมันลุ้นมาก ๆ ว่าเขาจะทำได้หรือไม่ได้ และด้วยเวลาประมาณ 2 ชั่วโมง 1 นาที ซึ่งไม่เคยมีใครทำได้มาก่อนมันสุดยอดมาก ๆ (2:01:39 เป็นสถิติโลก ณ เวลานั้น) ผมคิดว่ามันทำให้คนสนใจมากขึ้น พอคนสนใจมากขึ้น คนก็อยากเป็นคิปโชเก้บ้าง อยากวิ่งให้ได้แบบคิปโชเก้ อยากรู้ว่าคิปโชเก้กินอะไร ซ้อมแบบไหน และใส่รองเท้าอะไร

มันก็เหมือนกับกีฬาบาสนั่นแหละครับ เราอยากซื้อรองเท้าบาสเพราะเราอยากสัมผัสตัวตนของ ไมเคิล จอร์แดน บางคนก็หันมาซื้อรองเท้าวิ่งเพราะอยากจะสัมผัสตัวตนแบบคิปโชเก้ หรือพี่ตูน (อาทิวราห์ คงมาลัย) บ้าง ซึ่งแตกต่างจากสมัยก่อนที่เวลาเราวิ่งเราไม่ได้มีไอดอลเป็นนักกีฬาเลยสักคน 

ผมคิดว่าพอเรามีอะไรสักอย่างให้คนเชื่อมโยง คนก็พร้อมที่จะอยู่กับตรงนั้น

เราสามารถพูดได้ไหมว่าการแข่งขันของแบรนด์เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดกระแสรองเท้าวิ่ง

ผมว่าการแข่งขันของแบรนด์สำคัญครับ คือปกติเวลาแบรนด์ไหนไปจับอะไรแล้วเริ่มมีกระแสขึ้นมา อีกแบรนด์เขาก็พร้อมจะเข้าไปตีตลาดเช่นกัน

อย่าง Nike เขาเสียตลาดให้ Ultra Boost ไปประมาณ 3 ปี เสียหายเหมือนกัน เพราะเขาไม่เคยเป็นรองแบรนด์ไหนนานขนาดนี้มาก่อนในทุกตลาด จนกระทั่งเขาสร้างโฟมที่ชื่อ React ออกมาเป็นตัวดึงลูกค้ากลับมา

Nike React คือรองเท้าที่ Nike เขากล้าพูดเลยว่ามี 4 คุณสมบัติ คือ นุ่ม, เด้ง, เบา, ทน ตอนนั้นผมก็คิดว่าเป็นไปได้เหรอ เพราะไม่เคยมีมาก่อน เคยเจอก็แค่ นุ่ม, เด้ง, ทน คือ Ultra Boost แต่ไม่เบา

 

แต่ Nike ทำได้จริง ๆ หลังจากนั้นเกมเปลี่ยนเลย คือรองเท้ารุ่นนี้เป็นรองเท้าที่ทำให้ผมรู้สึกว่า Nike มีความพยายามมากจริง ๆ กับการใส่อะไรลงไปในรองเท้ารุ่นนี้ ไม่ใช่แค่เรื่องเทคโนโลยี แต่ทุกอย่าง ทั้งโฆษณา แคมเปญ เยอะแบบไม่เคยมีมาก่อน

ปกติเวลาเปิดตัวรองเท้าใหม่ แบรนด์จะพยายามสร้างกระแส 2-3 สัปดาห์แล้วก็จบ แต่กับรองเท้ารุ่นนี้ Nike จัดอีเวนต์ทั่วโลกอยู่ประมาณ 3 เดือน ขนาดที่เมืองไทยก็ยังจัด BKK RUN ที่จนถึงตอนนี้ยังไม่มีงานไหนจัดสเกลนี้อีกเลย มันแสดงถึงความพยายามของ Nike ที่จะทวงบัลลังก์คืน และมันเวิร์กจน Nike React กลายเป็นรองเท้าสามัญประจำบ้าน กลายรองเท้าวิ่งที่ทุกคนอยากมี

ความนิยมของรองเท้าวิ่งและกระแสของการวิ่ง ช่วยเปิดประตูสำคัญให้คนหันมาใส่รองเท้าวิ่งในชีวิตประจำวันมากน้อยแค่ไหน

ผมว่าพอเป็นรองเท้าวิ่ง คนเลี้ยวมาตรงนี้ก่อนด้วยความสบาย จนมันกลายเป็นความเคยชิน ความสบายมันกลายเป็นไลฟ์สไตล์ของเขาไปแล้ว

ผมว่าโครงสร้างของรองเท้าวิ่งมันตอบโจทย์เรื่องการใช้งานของคนไทย คือรองเท้าสนีกเกอร์ ถ้าแบ่งตามกีฬาใหญ่ ๆ มันก็จะแบ่งเป็น 4 ประเภท รองเท้าบาส, รองเท้าเทนนิส, รองเท้าสเกต, รองเท้าวิ่ง

รองเท้าบาส มันอ้วน เทอะทะ ข้อสูงด้วย ใส่แล้วไม่ค่อยสบาย บางคนเขาก็ไม่เข้าใจรองเท้าบาสว่าทำไมต้องเป็นแบบนี้ ทำไมมันต้องอ้วน ทำไมมันข้อสูง มันดูล้ำสมัยเกินไป 

 

รองเท้าเทนนิส ในยุคหลังใส่เทคโนโลยีลงไปน้อยมาก และพื้นรองเท้าเทนนิสจะแข็งมาก ตามที่ผมเข้าใจเพราะกีฬาเทนนิสต้องเน้นการเบรกเยอะ ทุกวันนี้รองเท้าเทนนิสรุ่นใหม่ ๆ ก็ยังแข็งมาก 

ส่วน รองเท้าสเกต ผมมองว่ามันอยู่ในทุกจังหวะชีวิตของเราอยู่แล้ว และมันก็ไปของมันเรื่อย ๆ แต่ว่าด้วยข้อจำกัดของกีฬา ทำให้เทคโนโลยีมันโดนปรับแต่งได้น้อย ทั้งที่จริง ๆ เทคโนโลยีในรองเท้าสเกตมีการพัฒนาตลอดเวลา 

รองเท้าวิ่ง ผมว่ามันชนะทุกอย่าง หนึ่งคือข้อต่ำและด้วยความที่รองเท้าวิ่งต้องออกแบบให้น้ำหนักเบาเป็นสิ่งสำคัญเป็นอย่างแรก ก็ช่วยให้มันใส่ง่ายกว่าแล้ว เอามาปรับนู่นนี่นั่นนิดหน่อย เปลี่ยนผ้าใหม่ ก็กลายเป็นรองเท้าแฟชั่นได้แล้ว 

ทุกวันนี้บางคนมาใส่รองเท้าวิ่ง ไม่ใช่เพราะเขาวิ่ง แต่มาเพราะเรื่องของไลฟ์สไตล์ ซึ่งหลายคนไม่รู้หรอกว่า รองเท้าที่เขาใส่เป็นรองเท้าที่ได้แรงบันดาลใจจากรองเท้าวิ่ง เขาแค่อยากได้รองเท้ารุ่นนี้ รูปทรงแบบนี้ แต่มันคือรองเท้าวิ่ง 

ผมว่ารองเท้าวิ่งมันเป็นอะไรง่าย ๆ สำหรับคนไทย คนรุ่นคุณพ่อคุณแม่ก็ใส่ได้ ใส่ไปเที่ยวต่างประเทศ ใส่ไปเดินเล่น ใส่ไปทำงานได้ 

 

ผมเชื่อว่าทุกคนเขาลองรองเท้าสนีกเกอร์รูปแบบอื่นแล้วล่ะ เพียงแต่ว่ามันอาจจะไม่เข้ากับตัวเขาจริง ๆ

การเกิดของรองเท้าวิ่งเปลี่ยนอะไรในวงการสนีกเกอร์บ้าง?

ตอน Ultra Boost วางขาย เขาไม่บอกที่มาของสี แล้วก็ไม่ได้มีคอลแล็ปกับใคร ไม่ได้ผลิตมาเป็นลิมิเต็ด ผลิตมาเยอะเลยด้วย วางขายในทุกที่ แต่กลายเป็นว่าคนกลับแย่งกันไม่หวาดไม่ไหว

สมัยก่อนรองเท้าวิ่งมันธรรมดามาก ซึ่งความธรรมดาของมันทำให้ไม่มีใครมาแย่งอยากเป็นเจ้าของ แต่กลายเป็นว่าทุกวันนี้ความเป็นธรรมชาติของรองเท้า เช่น Ultra Boost สีเรียบ ๆ ง่าย ๆ คือสิ่งที่ทำให้คนรักมัน 

เมื่อก่อนเขาก็ไม่นิยมผลิตรองเท้าวิ่งมาทำให้เป็นรองเท้าเรโทรเท่าไหร่ มีอย่างมากก็พวก Air Max จะเป็น Air Max 1, 90, 95, 97 ประมาณนี้ 

แต่พอรองเท้าวิ่งมันบูม เขาเลยกล้าหยิบรองเท้าออกมา พวกรุ่นที่ผลิตมาแต่ไม่ได้ชื่อดังมาก เช่น Spiridon 2, Air max plus คือสมัยก่อนรองเท้าแบบนี้ไม่เคยมีใครคิดจะเอากลับมา เพราะเมื่อก่อนไม่มีใครคิดที่จะซื้อใส่เลย แต่ทุกวันนี้คนเริ่มสนใจกับรองเท้าวิ่ง ใส่ใจกับประวัติศาสตร์ของมันมากขึ้น 

รองเท้าวิ่งสามารถดึงดูดคนกลุ่มใหม่เข้าสู่วงการสนีกเกอร์ที่หลากหลายได้หรือไม่ สามารถดึงคนกลุ่มใหม่ให้ไปสนใจรองเท้าแนวอื่นได้หรือเปล่า

ผมว่าก็มีบางคนที่เปิดรับอะไรใหม่ ๆ แต่ส่วนใหญ่ยังไม่ค่อยเกิด ผมรู้สึกว่าคนที่รักการวิ่ง รักรองเท้าวิ่ง เขามีความสนใจที่จะศึกษา หาข้อมูลในเชิงลึกแค่เรื่องนี้อยู่มากเลย

 

ผมว่าคนที่เขาชอบในการวิ่ง เขามีการเสพกิจกรรมนี้ในเชิงลึกมากกว่า เหมือนกับว่าเขาไม่อยากจะหลุดออกจากตรงนี้ แต่เขาพร้อมที่จะลงไปลึกยิ่งกว่านี้ 

ผมว่ากระแสกีฬาวิ่งไม่ใช่สิ่งที่ฉาบฉวยนะ ด้วยความที่การวิ่งมันจับต้องได้ ทุกครั้งที่คุณวิ่งมันมีผลแสดงให้เห็น ทุกวินาทีมีความหมายกับคุณ ผมว่าเป็นสิ่งที่ทำให้คนพร้อมจะลงลึกไปกับมัน

การบูมของรองเท้าวิ่ง สะท้อนภาพอะไรของสังคมไทยออกมาบ้าง ?

ผมว่ากระแสของรองเท้าวิ่งในไทยมันมีเสน่ห์ที่แตกต่างมากนะ เพราะกระแสวิ่งของไทย สมัยก่อนไม่เคยเทียบกับต่างประเทศได้เลย สมมติเทียบกับญี่ปุ่นคือฟ้ากับเหว แต่ทุกวันนี้กระแสการวิ่งในเมืองไทยแซงประเทศอื่นไปเยอะมาก

มันจะมี community ใน instagram ของรองเท้า Nike Vaporfly ชื่อ Vaporfly Worldwide ผมไปคุยกับเขา เขาเอาข้อมูลมาให้ผมดูว่าคนไทยติดตามไอจีของเขาเยอะที่สุดแล้ว เขาก็ถามผมว่า “What’s up with Thailand ?”

ผมก็ตอบเขาไปว่าคุณรู้ไหมว่า ประเทศไทยคือประเทศเดียวที่ในช่วง 2-3 ปีแรกของ Vaporfly ขายหมดเกลี้ยงตลอด ผมก็ไม่รู้นะว่าคนไทยไปมีความต้องการที่เยอะขนาดนี้มาตั้งแต่เมื่อไหร่ 

สำหรับผม ผมมองว่าความเข้มข้นของความอยากรู้อยากเห็น ความต้องการข้อมูล หรือความต้องการอะไรใหม่ ๆ ของคนไทยมันไม่แพ้ประเทศอื่นเลยครับ ผมพูดจริง ๆ 

เวลาผมไปงานเปิดตัวรองเท้าที่ต่างประเทศ ผมว่าคนไทยมีความยากรู้อยากเห็นมาก มากกว่าใคร เวลาผมไปต่อคิวถามพวกดีไซน์เนอร์ คำถามที่เราถามมักทำให้ดีไซน์เนอร์ตกใจว่า ทำไมคุณถามอะไรลึกขนาดนั้น ซึ่งสิ่งที่ผมถามคือสิ่งที่แฟนเพจอยากรู้อยู่แล้ว และผมต้องหาคำตอบไปตอบพวกเขาให้ได้

ถ้าผมไม่ทำเพจ ผมคงไม่รู้อะไรแบบนี้นะ อย่างคนเก็บสนีกเกอร์ส่วนใหญ่เขาก็จำแค่ว่า รุ่นนี้ออกปีไหน สีนี้ออกปีไหน รุ่นนี้ใครใส่ แค่นี้ก็พอแล้ว

 

แต่พอคนไทยกับรองเท้าวิ่งมันไม่ได้หยุดแค่นั้น ผมว่าคนไทยจำได้ทั้งรุ่นนี้ใช้โฟมอะไร ตอนขายขายราคาเท่าไหร่ สเปคทางเทคนิคของรองเท้ารุ่นนี้เป็นยังไงบ้าง เขาจำได้หมดเลยนะว่ารองเท้ารุ่นนี้หนักเท่าไหร่ หรือแต่ล่ะรุ่นหนักกว่ากันเท่าไหร่ ถามอะไรคือตอบได้หมด

ผมดูคนที่รีวิวรองเท้าวิ่ง ซึ่งเขาก็รีวิวปกตินะ แต่เขาลงลึกเรื่องข้อมูลกันมาก ผมนึกว่าเขารีวิวพวกอุปกรณ์ Gadget แต่ไม่ใช่มันคือรองเท้าวิ่ง ซึ่งสำหรับผมถ้าเขารีวิวอะไรที่ลึกขนาดนั้น ก็แสดงว่าต้องมีคนที่อยากรู้สิ ผมว่ามันแสดงให้เห็นเลยว่า คนไทยต้องการข้อมูลของรองเท้าวิ่งมากจริง ๆ ซื้อของบางอย่างยังไม่ละเอียดขนาดนี้ 

ผมว่านี่คือนิสัยของคนไทย ที่เราไม่เคยรู้มาก่อน หลัง ๆ มันทำให้ผมไม่แปลกใจ เวลาที่คนไทยไปชนะอะไรแปลก ๆ ที่เมืองนอก เพราะความสนใจในบางสิ่งของเรามันมีเยอะมากกว่าที่เรารู้ตัวด้วยซ้ำ

สุดท้ายการบูมของรองเท้าวิ่ง มอบอะไรให้กับวงการสนีกเกอร์บ้าง 

ผมว่ายุค 2010s คือยุคของรองเท้าวิ่ง ผมว่ามันเป็นเหตุผลนะว่าทำไมวงการสนีกเกอร์ในปัจจุบันถึงโตได้ขนาดนี้ เพราะว่าในที่สุดโลกสนีกเกอร์ก็มาถึงกีฬาที่คนเข้าถึงได้ง่ายที่สุดสักที

สำหรับผมมันเปิดประตูหลาย ๆ อย่างนะ เพราะรองเท้าวิ่งในปัจจุบันมันใส่อะไรลงไปได้เยอะขึ้น มันแตกแขนงเป็นรองเท้าใหม่ ๆ ได้มากขึ้น 

 

รองเท้าประเภทอื่นปรับนิดปรับหน่อยเขาไม่เอากันเลยนะ แต่รองเท้าวิ่งมันได้ผล ปรับแต่งนิดเดียวผมว่ามันก็น่าสนใจ

สมัยที่ผมเริ่มวิ่งใหม่ ๆ รองเท้าวิ่งมีทางเลือกน้อยมาก ผมจำได้ทุกปีว่าผมชอบคู่ไหนมากที่สุด เพราะมีไม่เกิน 2 คู่ แต่ทุกวันนี้ผมเลือกไม่ได้ เพราะมันมีเยอะมาก

ผมพอใจกับทิศทางของวงการสนีกเกอร์ตอนนี้มากเลยนะ เพราะไม่ว่าสนีกเกอร์จะเปลี่ยนไปทางไหน ผมก็ยังชอบรองเท้ามาตลอด พอมันมาอยู่ในจุดที่เติบโตได้เร็ว และเยอะที่สุด ผมก็ไม่อยากให้ตรงนี้มันจบไป เพราะอยากให้มันโตขึ้นไปอีกนาน ๆ เลยครับ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook