สอนลูกเรื่องความฉลาดทางอารมณ์ เริ่มง่าย ๆ ที่บ้านด้วยตัวคุณเอง

สอนลูกเรื่องความฉลาดทางอารมณ์ เริ่มง่าย ๆ ที่บ้านด้วยตัวคุณเอง

สอนลูกเรื่องความฉลาดทางอารมณ์ เริ่มง่าย ๆ ที่บ้านด้วยตัวคุณเอง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

สำหรับคนที่เป็นพ่อแม่นั้นไม่มีสิ่งไหนที่สำคัญไปกว่าการเตรียมพร้อมลูก ๆ ให้เติบโตมาอย่างมีคุณภาพ เข้มแข็งทั้งร่างกายและจิตใจ มีอารมณ์และความคิดที่มั่นคงมีเหตุผล ปรับตัวเข้ากับสังคมสภาพแวดล้อมที่ตัวเองอยู่ได้อย่างไม่มีปัญหา หน้าที่ของพ่อแม่นั้นหลายต่อหลายครั้งเป็นงานที่ดูหนักหนาและยิ่งใหญ่ บางครั้งเราก็รู้สึกว่าจะเป็นไปได้ยังไงกันที่จะเลี้ยงลูกให้เติบโตเป็นบุคคลที่มีคุณภาพของสังคม ต้องทำให้ยังไงลูกถึงจะปลอดภัย สุขภาพแข็งแรง มีความสุข และเชื่อมโยงกับโลกที่เขาอาศัยอยู่ได้กัน มันฟังดูเป็นงานที่ยากมาก ๆ เลยทีเดียว

แต่...สูดหายใจลึก ๆ ครับ เชื่อเถอะว่าคุณทำได้ พ่อแม่เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีความอึดมานานแล้ว คนยุคก่อน ๆ ก็ต้องผ่านมาแล้วเช่นกัน อาจจะเป็นเซ็ตปัญหาและความท้าทายที่แตกต่างกันออกไป แต่มีคนผ่านมันมาแล้ว และเราก็จะทำมันได้เช่นเดียวกัน

ในวันที่ไม่มีอะไรมาก เราอาจจะคิดว่าลูกก็แค่ต้องการความรัก ความเอาใจใส่ ทานอาหารที่มีประโยชน์ และคอยปกป้องเขาจากสถานการณ์ที่อันตรายต่าง ๆ

แต่ในวันที่ยากหน่อย วันที่ลูกงอแง อารมณ์ไม่ดี เกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันต่าง ๆ นานา สิ่งที่พ่อแม่ควรทำคือทำใจเย็น ๆ ไว้ก่อน และใช้โอกาสเหล่านี้เข้าใจลูกมากขึ้นและอธิบายเรื่องอารมณ์ความคิดความรู้สึกข้างใน พัฒนาเรื่องความฉลาดทางอารมณ์ (Emotional Intelligence) ให้เขาด้วย หลายคนอาจจะบอกว่ามันฟังดูยากจัง แต่ที่จริงแล้วมันการสอนลูกเรื่องอารมณ์นั้นเป็นสิ่งที่เราทำได้ตั้งแต่อยู่ที่บ้านเลย ด้วยขั้นตอนง่าย ๆ โดยการ ‘บอกถึงอารมณ์ความรู้สึกของตัวเองให้ลูกเข้าใจ’ ว่าตอนนี้กำลังรู้สึกอะไร ฟังดูไม่ยากเลยใช่ไหมหล่ะครับ

ดอกเตอร์ เอมิลี่ คิง (Dr. Emily King) ผู้เชี่ยวชาญเรื่องจิตวิทยาเด็กบอกว่า “เมื่อพ่อแม่บอกถึงความรู้สึกของตนเองต่อเด็ก ๆ มันก็คือการที่พวกเขาทำให้เห็นว่าความรู้สึกต่าง ๆ เหล่านี้ที่กำลังเผชิญอยู่เป็นเรื่อง ‘ปกติ’ มันเหมือนกับการบอกลูกว่า ‘พ่อ/แม่คือมนุษย์คนหนึ่ง มีความรู้สึก และนั้นเป็นเรื่องที่โอเคนะ’” ดอกเตอร์เอมิลี่บอกต่อไปว่าเมื่อเด็ก ๆ โตขึ้นก็จะได้รับอิทธิพลจากส่ิงรอบตัวมากขึ้น เพื่อน มีเดีย สื่อ ฯลฯ เพราะฉะนั้นจะได้รับสารและข้อความที่แตกต่างกันเกี่ยวกับเรื่องของการแสดงออกทางอารมณ์ มันจึงเป็นเรื่องสำคัญมากที่พ่อแม่จะอธิบายและบอกความรู้สึกที่ตนเองกำลังเผชิญอยู่ให้ลูกได้เห็น

เราทุกคนรู้ดีว่าเด็ก ๆ คือกระจกสะท้อนที่ชัดเจนของตัวเราเอง บางทีเราสบถคำพูดที่ไม่เพราะออกมา แป๊บเดียวเท่านั้นแหละลูกทำตามทันที เพราะฉะนั้นใช้นิสัยการเป็นกระจกแบบนี้ให้เป็นประโยชน์ ใช้มันให้เราได้เปรียบ ใช้มันให้ลูก ๆ ที่บ้านกล้าที่แสดงออกว่าตัวเองรู้สึกยังไง เมื่อเด็ก ๆ รู้จักอารมณ์และความรู้สึกที่อยู่ข้างใน เขาก็จะมีความสามารถที่จะรับรู้ถึงความรู้สึกของคนรอบข้างของเขาได้ดีมากขึ้นด้วย นี่คือสิ่งสำคัญพอ ๆ กับเรื่องความฉลาดด้านการอ่านหนังสือ หรือคณิตศาสตร์เลยทีเดียว การที่เขาสามารถเข้าใจอารมณ์ความรู้สึกของเพื่อน ๆ และคนรอบข้างได้จะทำให้เขาเห็นอกเห็นใจและเป็นคนที่มีความมั่นคงทางอารมณ์มากขึ้นด้วย รับมือเหตุการณ์ต่าง ๆ ในชีวิตได้ดีขึ้น และมีความมั่นใจมากขึ้นด้วย

ดอกเตอร์เอมิลี่แนะนำต่อว่าสิ่งที่พ่อแม่ควรทำต่อจากการบอกว่าตัวเองรู้สึกยังไงคือการแสดงออกถึงวิธีการรับมือที่เป็นผู้ใหญ่และมีเหตุผล เช่นสมมุติบอกลูกว่า “ตอนนี้พ่อรู้สึกเสียใจมากเลยที่วันนี้งานของพ่อออกมาไม่ดีอย่างที่ตั้งใจไว้” และสิ่งที่คุณจะทำต่อจากนั้นคืออะไร “เดี๋ยวพ่อว่าจะออกไปเดินเล่นที่สวนหน้าบ้านคลายเครียดสักหน่อย หนูไปเดินเล่นกับพ่อไหม?” นี่คือการรับมืออย่างมีเหตุผล แสดงให้เห็นว่าทุกคนมีอารมณ์ได้ และมีวิธีการรับมือแบบไหนก็สำคัญไม่แพ้กันเลย

การอธิบายถึงอารมณ์ความรู้สึกอาจจะไม่ได้เกิดขึ้นกับคุณเอง แต่ถ้าระหว่างที่ดูการ์ตูน หรืออ่านหนังสือ บางทีเราก็ใช้โอกาสเหล่านี้เพื่อคุยเรื่องอารมณ์ด้วยเลยก็ได้ อย่างเช่นนั่งดูการ์ตูนเรื่อง Finding Nemo แล้วจังหวะนีโมบอกพ่อว่าเขาเกลียดพ่อก่อนจะถูกจับไป ก็หยิบมาคุยได้ว่าตอนนั้นพ่อคงเสียใจมาก และนีโมก็ทำไปเพราะความโกรธ แต่ทั้งคู่ก็มาปรับความเข้าใจกันได้ในภายหลัง สิ่งสำคัญคือพ่อแม่อย่าเพิ่งไปด่วนตัดสินหรือหาทางแก้ไขให้กับลูก อย่าเพิ่งไปบอกว่าอารมณ์ของลูกไม่สำคัญ แต่ค่อย ๆ ถามให้เขาอธิบายออกมาแล้วให้ลูกนั้นลองหาวิธีแก้ไขด้วยตัวเองก่อนโดยเราก็จะแนะนำและอยู่ข้าง ๆ

สิ่งสำคัญคืออย่าไปสร้างความกดดันหรือความเครียดให้ลูกเพิ่มขึ้นไปอีก วิธีหนึ่งจะช่วยทำให้เขาเห็นว่าการขอความช่วยเหลือจากคนอื่นหรือคนที่ไว้ใจเป็นเรื่องปกติคือการที่เราแสดงให้เขาเห็นนั่นเอง อาจจะใช้จังหวะที่คุณรู้สึกเครียดหรือกังวล แล้วก็บอกลูกว่าเดี๋ยวจะไปคุยกับแม่เรื่องนี้ก่อน แล้วหาทางออกกัน ซึ่งวิธีการแก้ไขปัญหาแบบนี้จะแสดงให้เห็นว่าเมื่อวันหนึ่งที่เขามีปัญหา เขาไม่ได้อยู่คนเดียว เขาสามารถคุยกับครอบครัว คนที่เขาไว้ใจที่เขารักได้ บางทีเราอาจจะไม่ได้มีคำตอบสำหรับทุกอย่าง แต่วิธีแก้ไขปัญหาของเราคือการไปคุยกับคนอื่นก็ได้เช่นกัน

เราทุกคนคือมนุษย์ พ่อแม่หรือเด็ก ๆ ก็ไม่ต่างกัน ทุกคนมีอารมณ์ มีความรู้สึก เพราะฉะนั้นเราจะต้องทำให้เขาเห็นว่าเรื่องความรู้สึกเป็นสิ่งปกติ มีได้ทุกคน และเราก็มีวิธีรับมือกับมันได้ด้วยเช่นกัน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook